8 Step หลักวิธีการใช้ Social Listening ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ
Social Listening หนึ่งในเครื่องมือที่นักการตลาดยุค Data-Driven Marketing ทุกคนน่าจะรู้จัก เพียงแต่จะมีสักกี่คนที่สามารถใช้เครื่องมือนี้เป็นด้วยตัวเองแบบจริงๆ บทความวันนี้เลยจะพามารู้จัก 8 Step Social Listening หลักวิธีการใช้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ที่สามารถอ่านแล้วทำตามได้ไม่ยาก จากหนังสือการตลาดแบบฉลาดฟังเสียงลูกค้า เล่มล่าสุดของผมครับ
8 Step Social Listening หลักการใช้ฟังเสียงลูกค้าให้เป็นด้วยตัวเอง
1. Research Keywords เรื่องที่เราอยากรู้ คนจะพิมพ์ถึงมันด้วยคำ หรือการสะกดแบบไหน
เพราะ Social Listening คือเครื่องมือที่ทำงานจาก Keyword หรือ คำ หรือ การสะกดคำนั้นเป็นหลัก เราเลยต้องไปทำการบ้านหาข้อมูลก่อนว่าเรื่องที่เราอยากรู้คนจะพิมพ์ถึงเรื่องนั้นด้วยคำแบบไหน
เช่น ถ้าผมทำร้านอาหาร ผมมีไอเดียอยากทำเมนูสิ้นคิดของคนไทยอย่าง กะเพรา เป็นเมนูหลักของร้าน แต่ผมไม่อยากสักๆ แต่ว่าทำตามความรู้สึกหรือความชอบส่วนตัว ผมอยากใช้ดาต้าเข้ามาช่วยตัดสินใจ เพื่อจะได้เอามาเป็นคอนเซปร้านกะเพราของผมให้ปังตั้งแต่เริ่ม หรืออย่างน้อยก็ไม่แป๊ก ไปจนถึงเมนูกะเพราหลักของร้านว่าควรใช้ส่วนผสมอะไร วัตถุดิบเนื้อสัตว์แบบไหน จะเป็นกะเพราหมูสับไข่ดาวแบบที่ผมชอบกินไหม นี่คือ Objective หลักที่ผมอยากรู้
หลักการ Research Keywords ที่ผมมักทำคือ เข้าไปไล่อ่านดูบนโซเชียลมีเดียต่างๆ ก่อนซิว่า ถ้าเราพิมพ์คำว่า “กะเพรา” เข้าไป เราจะเจอคนเขียนถึงเรื่องนั้นด้วยคำแบบไหนได้อีก
หรือผมอาจใช้หลักคิดว่า ถ้าผมเป็นคนที่จะโพสเรื่องกะเพรา ผมจะโพสด้วยคำแบบไหนบ้าง
- กะเพรา คำสะกดที่ถูกต้อง
- กระเพรา คำสะกดที่อาจผิดกันบ่อย เพราะผมเองก็เคยผิด
- กะเพา ไหนๆ ก็ผิดแล้ว ก็ผิดเพิ่มมันทั้งสองจุดเลยดีกว่า
- กระเพา เอาแบบผิดที่มี ร. ข้างหน้า แต่ถูกตรง ร. ข้างหลัง
ผมคิดว่า 4 คำนี้น่าจะเอาอยู่สำหรับการอยากรู้ Insights เรื่องการกินกะเพราเมนูแสนสิ้นคิดของคนไทย
จากนั้นก็ไปสู่ขั้นตอนที่ 2 นั่นก็คือการ Setting Campaign for Collecting Data
2. Setting Campaign for Collecting Data ตั้งค่าระบบเพื่อเก็บข้อมูลโพสที่ต้องการมา ตามแพคเกจความสามารถที่มี
เมื่อเรารู้คำชัดเจนว่าคนพูดถึงเรื่องนี้ด้วยการสะกดคำแบบไหนเวลาโพสลงโซเชียลมีเดีย ก็ถึงเวลาเปิดเครื่องมือ Social Listening ของเราขึ้นมา ถึงตรงนี้ผมคงไม่อธิบายวิธีการตั้งค่าต่างๆ มากนัก เพราะแต่ละเครื่องมือก็จะมีปุ่มที่อาจต่างกันไปบ้าง แต่ผมขอพูดถึงการตั้งค่าหลักๆ ที่เหมือนกันของ Social Listening ทุกตัว
- Keywords ใส่คำที่เราทำการบ้านรีเสิร์จมาแล้ว อย่างผมอยากรู้ Insigths การกินกะเพราะ ก็พบว่ามี 4 คำหลักที่คนใช้กันดังนี้ กะเพรา, กระเพรา, กะเพรา, กะเพา
- Select Channel เลือกช่องทางที่ต้องการให้ระบบดึงข้อมูลมา ส่วนใหญ่ก็จะมีแยกตาม Social media หลักๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, TikTok อาจจะมี Website, Blog หรือ E-Commerce อื่นๆ เพิ่มเติมตามแต่ละเครื่องมือ แต่ถือว่าเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก
- เลือกระยะเวลาที่ต้องการดึงข้อมูล Social Listening บางตัวไม่อนุญาตให้เราดึงข้อมูลย้อนหลังได้ ต้องเดินหน้าเท่านั้น บางตัวอาจให้ดึงย้อนหลังได้แค่ 3 เดือนบ้าง หรือถ้าใช้แพคเกจดีๆ หน่อยก็ดึงย้อนหลังได้สูงสุด 1 ปี นับจากวันที่สร้างแคมเปญ แต่ทั้งนี้เราสามารถดึงดาต้าย้อนหลังได้นานกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่ต้องติดต่อขอเป็นพิเศษกับทางเจ้าของเครื่องมือที่เราใช้ และแน่นอนว่าตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่แพงเป็นพิเศษด้วยครับ
เมื่อเราเซ็ตค่าระบบหลักๆ เรียบร้อยแล้ว ที่เหลือก็คือรอ อาจจะหลักนาที หรือสิบกว่านาที อย่างดีก็ไม่เกินชั่วโมง ถ้านานกว่านี้ลองปรึกษากับทางระบบดู ว่าเกิดปัญหาข้อผิดพลาดอะไรรึเปล่า
3. Cleansing Data คัดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวออก
หลังจากเราอดทนรอให้ดาต้าของโพสบนโซเชียลมีเดียหรือออนไลน์ ที่มีคำที่เราใส่เข้าไปไหลมาจนครบ ตอนนี้เราจะมีดาต้ามากมายเกินพอ หรือถ้าใช้คำให้ถูกคือเรามักจะมีดาต้ามากเกินไปด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใช่ว่าทุกดาต้าที่เราได้มาจะสามารถใช้งานได้ทันที เพราะถึงตอนนี้เรามักจะได้ดาต้าที่ไม่เกี่ยวเข้ามาด้วย
เช่น ผมดึงคียเวิร์ดคำที่เกี่ยวกับกะเพราไปทั้ง 4 คำ เพื่อให้ผมสามารถเก็บ Data ให้ครอบคลุมพฤติกรรมการกินกะเพราของคนไทยทั้งหมดที่กระจัดกระจายอยู่บนออนไลน์
แต่เมื่อผมเข้าไปดูในรายละเอียดของโพสที่ได้มา จึงได้เห็นว่ามันมีโพสที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่อยากรู้ติดมาด้วย ลองดูตัวอย่างจากสองโพสนี้ครับ
โพสที่ 1 ติดมาจากคำว่า “กะเพรา”
โพสที่ 2 ติดมาจากคำว่า “กระเพรา”
แต่ถ้าอ่านดูสักหน่อยจะเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า โพสที่ 1 แม้จะมีคำว่ากะเพราที่สะกดถูกต้องอยู่ในโพส แต่บริบทของโพสดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับ Objective ที่ผมทำดาต้าครั้งนี้เลย เพราะเนื้อหาของโพสที่ 1 พูดถึงเรื่องการปลูกต้นกะเพรา ไม่ได้พูดถึงเรื่องการกินเมนูข้าวผัดกะเพราแต่อย่างไร
แต่โพสที่สองนั้นชัดเจน แค่อ่านดูก็รู้ว่าหมายถึงเมนูข้าวกะเพราหมูกรอบ แถมยังดูเบิ้ล บ. เยอะมาก นั่นยิ่งหมายความว่าน่าจะชอบกินกะเพราหมูกรอบจริงๆ
ดังนั้นเราต้องทำการลบโพสหรือดาต้าที่ไม่เกี่ยวกับบริบทที่เราอยากรู้ออกให้หมด อย่างจาก 4 คำที่เกี่ยวกับเมนูกะเพราที่ผมใส่เข้าไป กวาดดาต้าถึงต้นปี 2023 ไปได้กว่า 120,000 โพสโดยประมาณ
นั่นหมายความว่าเราก็ต้องไล่อ่านทั้งหมดครับ อ่านไป ลบไป อ่านไป ลบไป ทำไปจนครบ 120,000 กว่าโพสที่ Social Listening เก็บมาให้ เพราะถ้าเราวิเคราะห์โดยมีดาต้าที่ไม่เกี่ยวอยู่ ทำให้วิเคราะห์ไปยังไงก็เพี้ยน แทบจะไม่ต่างจากการนั่งเทียนเดาเหมือนเดิมแต่อย่างไร
ส่วนการลบจะลบแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเครื่องมือ Social Listening ที่คุณใช้งาน จากภาพในโพสตัวอย่างผมก็จะเห็นว่ามีปุ่มถึงขยะมุมขวาล่าง ก็นั่นแหละครับ ค่อยๆ ลบไปทีละโพสเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
ง่ายคือไม่ซับซ้อน ไม่ได้ให้คุณทำอะไรท่ายาก แต่ต้องใช้ความพยายามอุตสาหะอย่างมาก ต้องอดทนทำให้สำเร็จ อ่านแล้วลบจนดาต้าที่มีนั้นคลีนจริงๆ เหลือแต่โพสที่เกี่ยวกับโจทย์ที่เราอยากรู้เท่านั้นจริงๆ ครับ
ขั้นตอนการ Cleansing Data นี้เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาเยอะที่สุด ใช้หลักเดือนเป็นปกติ เปรียบได้กับการลดน้ำหนัก ซึ่งวิธีการทำไม่ยาก แต่ที่ยากคือต้องใช้พลังใจความอดทนขั้นสูงจึงจะทำให้มันประสบความสำเร็จได้ครับ
4. Conversation Analysis วิเคราะห์บทสนทนา ทิศทางความเห็นของคนในเรื่องนั้น ว่ามีแง่มุมใดบ้าง
ระหว่างการ Cleansing Data เมื่อคุณอ่านไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าคนพูดถึงกะเพราในแง่มุมไหนบ้าง คนชอบกินกะเพราแบบไหนบ้างนะ พูดถึงเนื้อสัตว์ชนิดไหน หมู ไก่ กุ้ง ปลาหมึก หรือ ทะเล สักพักเจอหมูกรอบ หมูสับ หมูชิ้น หรือแม้กระทั่งหมูนุ่ม เรียกได้ว่าเจอหลากหลายแง่มุมองค์ประกอบในเรื่องนั้นที่มีทั้งคาดถึงและคาดไม่ถึงควบคู่กันครับ
หรืออาจเจอว่าคนชอบกินกะเพราะกับไข่ดาว กับไข่เจียว หรืออาจเจอไข่แบบอื่นๆ เช่น ไข่เค็มก็เป็นได้ และในขั้นตอนนี้คุณก็สามารถทำควบคู่กับขั้นตอนที่ 5 ของ 8 Step Social Listening ได้ นั่นก็คือการติด Tag นั่นเองครับ
5. Categorized Data โพสไหนพูดถึงเรื่องอะไร ติด Tag ให้เรียบร้อย
จริงๆ ผมอยากบอกว่าขั้นตอนที่ 3 4 และ 5 นั้นต้องทำไปพร้อมกัน แต่ผมเลือกที่จะแยกออกมาอธิบายให้ละเอียดๆ สำหรับมือใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานจริงนิดนึง
เพราะระหว่างคุณลบโพสที่ไม่เกี่ยวออก คุณก็จะได้อ่านผ่านตาว่าแต่ละโพสพูดถึงในแง่มุมไหนบ้าง แล้วคุณก็จะทำการสร้าง Category & Tags ไปพร้อมกัน เช่น สักพักคุณเจอว่าคนโพสถึงชนิดของเนื้อสัตว์เยอะ ก็เลยสร้าง Category เนื้อสัตว์ ขึ้นมาก่อน แล้วสร้าง Tag แยกย่อยว่าเป็น หมู หมูกรอบ ไก่ กุ้ง เป็นต้น
แล้วคุณก็ทำการติด Tag ที่อ่านเจอลงไปในโพสนั้น ซึ่งคุณสามารถสร้าง Category & Tag ใหม่ๆ ระหว่างทางการอ่าน Cleansing Data ได้ไม่ยาก (ขึ้นก็อยู่เครื่องมือ Social Listening ที่เลือกใช้) ก็เช่นเดียวกันกับขั้นตอนที่ 3 คือทำการติด Tag ทุกโพสที่เกี่ยวข้องให้ครบ ถ้าทำเสร็จทั้งหมดนี้ก็เท่ากับว่าคุณมี Qualitative Data ขั้นดีในรูปแบบ Quantitative Data ที่สามารถเอาไปบิดพลิกแพลงวิเคราะห์ได้เยอะมาก
6. Visualization เปลี่ยนดาต้าให้เป็นภาพที่อ่านเห็น Insights ได้ง่าย
ตอนนี้เราจะได้ดาต้าที่มีคุณภาพอย่างมากจากความพยายามทำของเราในระยะเวลาหลายวัน ไปจนถึงหลายสัปดาห์ เราจะรู้เลยว่าคนพูดถึงกะเพราะหมูกรอบ หรือหมูสับมากกว่ากัน ตกลงคนชอบกินกะเพราแบบไหน และคนไม่ชอบกินกะเพราแบบไหน เมื่อเราเปลี่ยนดาต้าตัวเลขมากมายให้กลายเป็นภาพที่อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ ครับ
อย่างภาพนี้เมื่อผมเปลี่ยนจากตัวเลขธรรมดา ให้กลายเป็น Pie chart ก็จะเข้าใจได้ง่ายๆ ทันทีว่า คนพูดถึงกะเพราไก่เยอะเป็นอันดับ 1 ถึง 37% โดยพูดถึงเนื้อไก่ธรรมดามากที่สุด ส่วนที่น่าสนใจคือมีกะเพราะที่ทำจากไก่ทอดถึง 17%
ส่วนกะเพราะที่ทำจากหมูก็มาถึง 31% ไม่น้อยหน้าอันดับ 1 สักเท่าไหร่ แต่เป็นหมูกรอบเท่าๆ กับหมูสับ และดูเหมือนกะเพราหมูชิ้นจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่นักครับ
เห็นไหมครับว่าเมื่อเราเปลี่ยนดาต้าให้เป็นภาพด้วยการทำ Data Visualization นั้นทำให้เราเข้าใจประเด็นสำคัญได้ง่ายขนาดไหน เราจะรู้เลยว่าอะไรที่คนให้ความสำคัญมากน้อยกว่ากัน เข้าใจทั้งหมดจบในภาพเดียว และนั่นก็นำมาสู่ข้อที่ 7 ใน 8 Step Social Listening ครับ
7. Insights Summary สรุปประเด็นสำคัญจากดาต้าออกมา
ปกติถึงตอนนี้คุณจะมี Data Research มากมายหลายสิบไปจนถึงหลักร้อยหน้า ปกติเวลาผมทำให้ลูกค้าหนึ่งประเด็นมักจะมีจำนวนหน้าอยู่ที่ 150-180 หน้าครับ เรียกได้ว่าอ่านกันจนตาแตก วิเคราะห์จนตาเปียก เราเลยต้องสรุปประเด็นสำคัญจากดาต้ามากมายที่เรามีว่ามีอะไรบ้างที่น่าสนใจ
เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เราได้รู้จะมีความสำคัญหรือน่าสนใจเท่ากันหมด และนั่นก็จะนำมาสู่ Step ที่ 8
8. Data-Driven Decision เมื่อดาต้าบอกแบบนี้แล้วจะตัดสินใจอย่างไรต่อ
เมื่อคุณทำดาต้ามาถึงตรงนี้ผมว่าไม่ต้องพูดอะไรมาก คุณจะเข้าใจด้วยตัวคุณเองว่าดาต้ากำลังบอกอะไรอยู่ และคุณควรจะตัดสินใจแบบไหนดี ร้านกะเพราเราควรเตรียมสต็อกเนื้อสัตว์อะไรมากที่สุด เราควรหยิบเมนูแบบไหนมาไฮไลท์ เราควรทำกะเพราวากิวดีหรือไม่ แม้คนจะดูพูดถึงน้อย แต่มันก็น่าสนใจอยู่นะ หรือเราควรโฟกัสกับแค่กะเพราไก่ หมูสับ กับหมูกรอบ ถ้าทำ 3 เมนูนี้ให้ดีก็น่าจะขายดีได้ไม่ยากแล้ว
ทั้งหมดคุณอยู่กับคุณ ว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไร ดาต้าเดียวกัน Dashboard เดียวกัน Visualization แบบเดียวกัน แต่เรามีมุมมองที่ต่างกันได้เสมอครับ
สรุป 8 Step Social Listening หลักวิธีการเริ่มต้นใช้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ โดยการตลาดวันละตอน
อ่านแล้วคงทำตามได้ไม่ยาก ทั้งหมด 8 ขั้นตอนนี้คือสิ่งที่ผมใช้กับงาน Data Research Insights ทุกโปรเจคที่เคยทำมา ตั้งแต่กับบริษัท SME ไปจนถึงบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงหน่วยงานข้าราชการของรัฐ และองค์กรนานาชาติครับ
แต่ถ้าอยากรู้แบบละเอียดลึกๆ ผมมีสองทางเลือกให้คุณตัดสินใจ หนึ่งซื้อหนังสือ Social Listening การตลาดแบบฉลาดฟังเสียงลูกค้า เป็นหนังสือเล่มที่ 5 เล่มล่าสุดที่ผมเขียน เขียนจากประสบการณ์ตรงและขัดเกลาผ่านการสอนจริงมาแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 30 คลาส คนเรียนรวมๆ น่าจะร่วมพันคนไปแล้ว
สามารถสั่งซื้อได้ที่ลิงก์เหล่านี้ครับ
https://shope.ee/9A1UM2cvC6
https://shope.ee/5V8BzKCKyh
https://shope.ee/5pl2NxJfc4
https://shope.ee/8pOdxTuRLJ
https://shope.ee/604SaIMYhp
ถ้าใครอยากเรียนรู้การใช้ Social Listening ด้วยตัวเอง หรืออยากให้ทีมของตัวเองใช้เป็น สามารถสมัครเรียนสดทางออนไลน์กับการตลาดวันละตอนด้วยตัวเองได้
คลาสเรียนออนไลน์ Social Listening Analytics
คลาสเรียนออนไลน์ Social Listening เน้น Workshop ลงมือทำจริงด้วยตัวเอง รุ่นล่าสุด ศุกร์สุดท้ายของเดือน เปิดแล้ว
เรียนสดทางออนไลน์ ผ่าน Zoom เต็มวัน 9:00 – 15:00
ค่าเรียนคนละ 9,900 บาท รับจำกัดรุ่นละ 20 คน (ถ้าเต็มรุ่นนี้ต้องขอให้รอรุ่นหน้า)
อ่านรายละเอียดและสมัครก่อนเต็มได้ที่ลิงก์นี้
https://bit.ly/sociallisteningclass
ขอแค่คุณใช้ Social Listening เป็นด้วยตัวเองก็จะพบว่ามี Data มากมายรอให้ใช้งาน และยังมี Consumer Insights ล่องลอยอยู่อีกมาก เหลือแค่ว่าใครจะหยิบมาใช้โอกาสได้ก่อนกัน