Transparency Card แคมเปญที่ใช้ Real-time Data ส่องค่าใช้จ่ายนักการเมือง

Transparency Card แคมเปญที่ใช้ Real-time Data ส่องค่าใช้จ่ายนักการเมือง

ในบทความนี้เตยจะพามารู้จักกับแคมเปญ Transparency Card หนึ่งในแคมเปญที่ได้รับรางวัลจาก Cannes Lions ที่น่าสนใจ ปรับใช้ Real-time Data ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของนักการเมือง เพื่อช่วยลดอัตราการคอรัปชั่นจากคนในสภาในประเทศบราซิล

English version: Here

เปิดโอกาสให้ประชาชนช่วยกันจับตาค่าใช้จ่ายนักการเมือง ลดอัตราการ Corruption

ก่อนการเลือกตั้งในบราซิล เว็บไซต์ข่าวอิสระ Congresso em Foco ได้ออกแคมเปญTransparency Card เพื่อช่วยจัดการกับการทุจริตในการเมืองบราซิล สาเหตุก็มาจากการที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลนั่นแหละค่ะ

โดยจากข้อมูลของ OECD ในปี 2020 มีชาวบราซิลเพียง 36% เท่านั้นที่ไว้วางใจรัฐบาลกลางของตน ซึ่งลดลง 2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2007

เมื่อความเชื่อมั่นลดลงอันเนื่องมาจากการคอรัปชั่นของนักการเมือง งบประมาณที่ควรถูกนำมาบริหารบ้านเมืองกลับถูกนำไปใช้แบบผิด ๆ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งของการจับผิดกระบวนการคอรัปชั่นนี้

แคมเปญนี้จึงถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหานี้นั่นเองค่ะ โดยTransparency Card หากแปลตรงตัวก็คือ การ์ดใส เสมือนบัตรเครดิตที่นักการเมืองใช้ แต่ในที่นี้เป็นฝ่ายประชาชนเองที่สามารถใช้เพื่อเข้าไปส่องค่าใช้จ่ายว่าพวกเขาใช้จ่ายกับอะไรไปบ้าง

Transparency Card เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ซิงค์กับข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-time Data) จาก Portal da Transparência ซึ่งเป็นไซต์ของรัฐบาลที่เผยแพร่ค่าใช้จ่ายของสมาชิกรัฐสภา เช่น เช่น ค่าเดินทาง อาหาร และค่าเช่ารถยนต์ ไม่ได้เป็นบัตรจริง ๆ ที่สามารถรูดใช้จ่ายได้ในชีวิตจริงหรอกนะคะ แค่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพเฉย ๆ

Real-time Data จับตาการใช้จ่ายที่เข้าถึงได้ง่ายผ่านปลายนิ้ว

ประชาชนคนไหนที่สนใจอยากจะจับตาการใช้จ่ายของนักการเมืองก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์Transparency Card.com เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญนี้ และเลือกนักการเมืองที่พวกเขาต้องการติดตาม จากนั้นก็เพิ่มการ์ดของนักการเมืองคนนั้น ๆ ลงในกระเป๋าเงินมือถือของพวกเขา

หากมีการเคลื่อนไหวทางบัญชี การใช้จ่ายของนักการเมือง ก็จะมีข้อความแจ้งเตือนว่านักการเมืองคนนี้ใช้จ่ายอะไรไปบ้างนั่นเอง

ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะอัปเดตแบบเรียลไทม์เพื่อสร้างความมั่นใจถึงขีดสุดให้กับประชาชน เป็นการใช้ Real-time Data ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ๆ ผ่านปลายนิ้วของพวกเขา

โดยสาเหตุที่ต้องใช้ผ่านมือถือก็เพราะว่าพฤติกรรมของผู้คนที่บราซิลในปัจจุบันมักใช้มือถือกันเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าบราซิลจะมีเว็บไซต์ที่เปิดเผยค่าใช้จ่ายของนักการเมืองอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงมันยากซะเหลือเกินที่จะให้คน ๆ นึงเปิดเว็บไซต์และเช็คการใช้จ่ายของนักการเมืองทุกวี่ทุกวัน

แถมตัวเว็บไซต์เองก็ไม่ได้มีความ Friendly กับผู้ใช้มากเท่าไหร่ ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการอ่านข้อมูลถึงจะพออ่านเข้าใจ ดังนั้น Congresso em Foco จึงปรับให้เข้ากับพฤติกรรมผู้คนมากที่สุด คนใช้/ติดโทรศัพท์ เปิดปุ๊บก็เช็คได้เลย ไม่ต้องเปิดหลากต่อเหมือนการใช้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นและเพิ่มจำนวนของการสอดส่องนั่นเองค่ะ

โดยแคมเปญนี้ได้มีการโปรโมททางสื่อโซเซียลมิเดียผ่านแฮชแท็ก #EyesOnTheExpenses นอกจากนี้ยังได้รับการโปรโมตในเมืองต่างๆ ของบราซิลโดยใช้การฉายภาพเป็นสื่อ OOH ใบเสร็จขาวดำที่เรียบง่ายพร้อม QR Code ใหญ่บึ้มให้คนที่ผ่านไปมาสามารถสแกนเข้าไปดูเนื้อหาของแคมเปญได้ง่าย ๆ อีกด้วยค่ะ

เรียกได้ว่า เรียกทัวร์มาลงนักการเมือง จับตากันแบบสุด ๆ ไปเลย

ใครที่ทำผิด คิดคดโกงไม่น่ารอดจากสายตาประชาชนไปได้ง่าย ๆ แน่นอน แถมยังเป็น Real-time Data ตามติดทุกฝีก้าว เตยว่าต้องมีหวั่น ๆ กันบ้างแหละถ้าจะตุกติกกับงบประมาณที่ได้รับ😂

สรุป Transparency Card แคมเปญที่ใช้ Real-time Data ส่องค่าใช้จ่ายนักการเมือง

จากรายงานของเอเจนซี่ มีการ์ดมากกว่า 43,000 ใบที่ถูกใช้ และมีการส่งการแจ้งเตือนมากกว่า 20 ล้านครั้ง แถมยังได้รับรางวัลจาก Cannes Lions ในหมวดหมู่ Real-time Data และ Data Visualization อีกด้วย!

เราจะเห็นได้ว่าเลย Data นั้นสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์และจุดประสงค์ได้หลากหลายรูปแบบ อย่างในบทความนี้ก็จะมาในเชิงของการนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเมือง และต่อให้ข้อมูลที่มีนั่นจะซับซ้อนและยุ่งยากมากเพียงใด หลักการทำ Data Visualization ให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ย่อมดึงดูดและช่วยให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ไม่มองเป็นเรื่องไกลตัว ความสำเร็จย่อมใกล้เข้ามานั่นเองค่ะ

หวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *