10 Healthcare Trend 2024 อัปเดตเทรนด์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ

10 Healthcare Trend 2024 อัปเดตเทรนด์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ

จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ดูเหมือนเราจะใช้ชีวิตกันหนักมาก ทั้งวิกฤติโรคระบาด ฝุ่นควัน หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ผลกระทบจากวิกฤติเหล่านี้ทำให้หลายคนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น นั่นทำให้นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ หรือ Healthcare เอง ต่างก็ได้รับความสนใจมากขึ้นจากภาคธุรกิจ วันนี้ผมเลยจะพาทุกคนมาอัปเดต 10 Healthcare Trend 2024 จะมีอะไรน่าสนใจในปีนี้ไปดูกันเลยครับ

สถานการณ์ในวงการ Healthcare 2024

เพื่อนๆ รู้ไหมครับ ว่าในปัจจุบันจากการที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นเนี่ย ทำให้เริ่มเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรจากปริมาณงานและผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นตามมา

อีกทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่กำลังบีบผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขทั่วโลก ต้องหาทางพัฒนาประสิทธิภาพ Workflow และคิดค้นรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันเหล่าผู้บริหารแถวหน้าในวงสาธารณสุข ยังหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับการเข้าถึงระบบสาธารณสุขให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม และการลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมเพื่อการรักษาสุขภาพของโลกอีกด้วย

จากสถานการณ์ที่กล่าวมา ทำให้ทาง PHILIPS ได้ออกมาอัปเดตความก้าวหน้าของ Healthcare Trend 2024 กับ 10 เทรนด์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่คาดว่าจะมาแรงในปี ค.ศ. 2024 นี้ ให้พวกเราได้ทราบโดยทั่วกัน

10 Healthcare Trend 2024

1.Workflow Automation การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการทำงานอัตโนมัติด้วย AI

จากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ ทำให้หลายองค์กรกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง 

ไม่ว่าจะเป็นการปรับ Workflow ให้มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อดึงดูดบุคลากรใหม่ๆ เข้ามา และรักษาบุคลากรเดิมไม่ให้ Burn Out หรือหมดไฟในการทำงานจากภาระงานที่มากขึ้น

รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการใช้ AI เข้ามา Automate ระบบการทำงาน ให้เป็นอัตโนมัติเพื่อลดภาระงานและเพิ่มประสิทธิภาพ workflow อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ในด้านรังสีวินิจฉัย (Diagnostic Imaging) ได้มีการนำ AI เข้ามาทำงานร่วมกับระบบเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT)ซึ่งช่วยลดเวลาการทำงานในขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุด โดยการใช้ AI สร้างภาพถ่ายรังสีที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้แพทย์ได้ใช้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น 

ซึ่งการเข้ามาของ AI ยังช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำ และมีแนวทางการดูแลรักษาหัวใจได้ดีมากขึ้น ช่วยลดความซับซ้อนของการอัลตราซาวด์หัวใจ ด้วยการจำลองภาพหัวใจแบบ 3 มิติ และการช่วยประเมินอวัยวะอื่นๆ แบบอัตโนมัติ

โดยคาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การเพิ่มขึ้นของ Generative AI ในด้านสาธารณสุข จะช่วยให้ระบบอัตโนมัติเหล่านี้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเราอาจเห็นการนำ AI มาใช้ในด้าน Healthcare มากขึ้นเรื่อยๆ

2.Virtual Healthcare การดูแลผู้ป่วยด้วยแบบ Virtual เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญ

เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จัก Virtual Influencer กันไปแล้ว ซึ่งในวงการ Healthcare เองก็มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยเช่นกัน เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปว่าปัจจุบันนั้นบุคลากรทางการแพทย์ยังคงขาดแคลน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่มากขึ้น

ดังนั้นการเข้ามาของระบบการทำงานแบบ Virtual จึงตอบโจทย์ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่วยให้แพทย์หนึ่งคน สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น อีกทั้งยังลดข้อจำกัดด้านระยะทางลงได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การเข้าถึงการดูแลในพื้นที่ห่างไกลและในชนบทได้ทั่วถึงมากขึ้น

โดยระบบที่มีการนำมาใช้ในปัจจุบันคือ Tele-ICU ซึ่งถูกนำมาใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบนี้ช่วยให้คุณหมอสามารถดูแลและให้คำแนะนำผู้ป่วยได้แบบใกล้ชิด รวมถึงเจ้าหน้าที่และพยาบาลเองก็สามารถดูแลผู้ป่วยวิกฤติแบบทางไกลได้ โดยมีระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนอัตโนมัติที่ทำงานด้วย AI สามารถลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้

รูปแบบการทำงานแบบ Virtual Healthcare นี้ ยังช่วยให้แพทย์เฉพาะทางที่มีอายุมากแล้ว สามารถถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญต่างๆ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์รุ่นน้องได้อย่างทั่วถึง

ซึ่งถือเป็นการรักษาองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีแพทย์จำนวนมากเลือกที่จะเกษียณอายุก่อนกำหนดมากขึ้น และกลุ่มพยาบาลเองก็มีแผนที่จะลาออกจากระบบสาธารณสุขจากภาระงานที่หนักและปัญหาด้าน Work Life Balance อีกด้วย

3.ระบบการทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการ

สำหรับระบบนี้แค่ได้ยินชื่อหลายคนอาจจะงง เดี๋ยวผมแปลไทยเป็นไทยให้เข้าใจง่ายๆ เองครับ โดยระบบนี้จะเป็นระบบที่ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ สามารถแชร์ Case Study ,องค์ความรู้ , เทคนิคทางการแพทย์ ,หรือประสบการณ์ในด้านต่างๆ ร่วมกันได้

ระบบนี้เปรียบเหมือนการสร้าง ‘ห้องนักบิน’ ที่ให้นักบินใช้ทำงานร่วมกัน โดยจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากโดเมนต่างๆ ในสภาพแวดล้อมดิจิทัลของ Vendor-agnostic นั่นเองครับ

ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยผู้ป่วยรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้น ลองนึกภาพว่าระหว่างการให้แพทย์คนใดคนหนึ่งมาวินิจฉัยเคสผู้ป่วย การเอาเคสนั้นเข้าห้องประชุมที่มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาร่วมกันวินิจฉัย เพื่อนๆ คิดว่าแบบไหนสร้างความสบายใจและความเชื่อมั่นในการรักษาให้ผู้ใช้บริการอย่างเราๆ มากกว่ากันหล่ะครับ 

4.การทำงานร่วมกันบนฐานข้อมูลและอินเทอร์เฟซเดียวกัน เพื่อยกระดับการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น

เพื่อนๆ รู้ไหมครับว่าความสามารถในการทำงานร่วมกันในวงการสาธารณสุขนั้น จัดว่าเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นในมาอย่างยาวนาน จากความซับซ้อนและกระจัดกระจายของ Information Technology ด้าน Healthcare ทำให้นำข้อมูลมาจับต้นชนปลายได้ยาก

สำหรับการยกระดับความสามารถในการทำงานร่วมกันแบบใหม่ สามารถรวบรวมอุปกรณ์และระบบทางการแพทย์ที่แตกต่างกันมาไว้ในหน้าจออินเทอร์เฟซเดียวกัน เพื่อสร้างมุมมองภาพรวมที่ครอบคลุมอาการของผู้ป่วย 

ซึ่งจะช่วยให้ไม่ว่าผู้ดูแลจะอยู่ที่ไหนก็ยังสามารถให้คำแนะนำการรักษาได้อย่างมั่นใจ และช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากภาวะที่มีข้อมูลมากเกินไป อีกทั้งยังมีนวัตกรรมล่าสุดอย่างการแสดงภาพเสมือนของผู้ป่วยแบบอวตาร ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมแก่ผู้ดูแลได้ โดยการแปลข้อมูลการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ก่อนจะแสดงผลผ่านอวตารนั่นเอง

5. การตรวจจับความเสี่ยง และการใช้ Healthcare Innovation ในการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า

สำหรับเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ในวงการการตลาดของเราก็มีการนำมาใช้ทำนายแนวโน้มของตลาด และความต้องการของลูกค้าอยู่เหมือนกันครับ โดยในวงการสาธารณสุขเอง เทคโนโลยีตัวนี้ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

โดยการได้รับ Insight ด้านการปฏิบัติงานแบบ Real Time บวกกับข้อมูลเก่าในอดีตที่มีอยู่ ช่วยให้เหล่าผู้ให้บริการในวงการสาธารณสุข สามารถรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที

ในปัจจุบันการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์เหล่านี้ถูกใช้ในการทำนาย และบริหารจัดการกระแสการเข้าใช้บริการของผู้ป่วยในแต่ละจุดบริการ และแต่ละช่วงเวลา ทำให้สามารถลดความแออัดลงได้ และช่วยให้บุคลากรสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั่วถึงมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้ในการตรวจสอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบ Real Time โดยช่วยระบุได้ว่าอุปกรณ์ชิ้นไหนถึงเวลาตรวจเช็ค หรือตัวไหนต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งช่วยลดอัตราการทำงานผิดพลาดของอุปกรณ์ระหว่างรักษาลงได้กว่า 30% ของเคสการให้บริการเลยทีเดียว

ในด้านการรักษาผู้ป่วย ระบบนี้ยังช่วยทำนายแนวโน้มสุขภาพของผู้ป่วยได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถหาทางรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยพิจารณาจากสัญญาณชีพและข้อมูลผู้ป่วยรายอื่นประกอบกัน 

ซึ่งจากการศึกษาหนึ่งแสดงให้เราเห็นว่า ระบบนี้สามารถใช้เพื่อช่วยทำนายภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ด้วยการตรวจจับความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์สามารถเปลี่ยนจากการดูแลเชิงรับเป็นการดูแลเชิงป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายจากการเกิดโรคลงได้เป็นอย่างดี

Healthcare Innovation 2024

6. การใช้ Healthcare Innovation จัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

สำหรับตอนนี้เพื่อนๆ หลายคนก็น่าจะพอเห็นมาบ้าง ว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษานั้นเป็นอย่างไร ดดนอาจดูได้จากคุณภาพการให้บริการระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชน ที่ต่างกันฟ้ากับเหว

มีประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการทางสาธารณะสุขที่พวกเขาต้องการได้ แม้กระทั่งในประเทศที่มีทุนสนับสนุนเครื่องมือแพทย์เป็นอย่างดี ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

แต่จากความร่วมมือกับองค์กร Heart of Australia ภายใต้โครงการโรงพยาบาลเคลื่อนที่ (Hospital on wheels) ได้นำ การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย เช่น X-ray และ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นในพื้นที่ห่างไกล

Healthcare Innovation 2024

7. Healthcare Innovation ที่ช่วยสร้างกิจวัตรประจำวันที่ดีต่อสุขภาพ

สำหรับเทคโนโลยีตัวนี้อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ไหนมีใครกำลังใช้ Smart Watch กันบ้างครับ นั่นแหละครับ ซึ่งเพื่อนๆ รู้ไหมว่า ตอนนี้เป็นเวลามากกว่า 15 ปีแล้ว ที่เจ้า Smart Watch ได้เข้ามาทำให้การออกกำลังกายเป็นกิจวัตรเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

และยังก่อให้เกิดอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อสุขภาพที่มีความหลากหลายมากขึ้นตามมา อีกทั้งอุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถตรวจจับสัญญาณชีพจรได้อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นความต้องการของผู้คน ต่อเทคโนโลยีด้านสาธารณสุขที่สามารถเข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว และสามารถปรับแต่งตามความชอบและความต้องการของผู้ใช้งานได้

ในปี 2024 นี้เอง ก็ได้มีคาดการณ์กันว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีด้าน Healthcare จะยังคงขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นตาม

Healthcare Innovation 2024

8. ผลกระทบด้านการดูแลสุขภาพจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ Digital Healthcare

จากเทรนด์เทคโนโลยีด้านสาธารณสุขที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบ Digatal เต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยให้เรามีพื้นที่มหาศาลในการให้บริการ

เนื่องจากการให้บริการแบบดิจิทัลสามารถปรับขยาย Scale การให้บริการได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้สามารถให้บริการในวงกว้างได้ทั่วถึงมากขึ้นขึ้น รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองและการดูแลผู้ป่วยลงได้ 

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ก็ยังสามารถได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องจ้างพยาบาลส่วนตัว ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้ เนื่องจากในปัจจุบันยังมีผู้คนกว่า 3.5 พันล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ ดังนั้นเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพบนระบบ Digital จึงมีส่วนช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์มีความทั่วถึงคนทุกกลุ่มมากขึ้น

Healthcare Innovation 2024

9. การรณรงค์ให้ระบบ Supply Chain ด้านสาธารณสุขมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เพื่อที่จะตอบสนองต่อความเร่งด่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนของวงการสาธารณสุข พวกเขาจึงมีความต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืน

ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืนเหล่านี้ กำลังมีผลกระทบโดยตรงกับ Supplier อย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากทางสาธารณะสุขมีการร่วมมือกับหลายฝ่าย ในการกำหนดให้ฝ่ายจัดซื้อของพวกเขาต้องใช้เกณฑ์การประเมินเหล่านี้ในการเลือก Supplier

  • กำหนดให้ Supplier ต้องรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวางนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • กำหนดให้ Supplier ต้องมุ่งเน้นการ Recycle อุปกรณ์ด้านสาธารณสุข
  • กำหนดให้ Supplier ต้องมีคำนึงถึงประสิทธิภาพ และ Eco-Design สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • กำหนดให้ Supplier ต้องคำนึงถึงการการใช้วัสดุและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
  • กำหนดให้ Supplier รายงานผลกระทบทางสังคมต่อสาธารณะ

ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไปการใช้มาตรฐานการจัดซื้ออย่างยั่งยืนนี้ จะเป็นนโยบายที่บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์จำเป็นต้องมี โดยอาจหมายถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับราคาของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ถือว่าเป็นราคาที่ไม่ว่ายังไงก็ควรต้องจ่าย เพราะสุดท้ายผลกระทบจะตกเป็นของทุกคน

10. การร่วมมือกันเพื่อลดผลกระทบด้านสาธารณสุขบนโลก

สำหรับกระบวนการต่างๆ ทางด้าน Healthcare นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมเช่นกัน ไม่ว่าจะ Supply Chain ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการกำจัดอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งาน 

ซึ่งทางสาธารณะสุขตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเริ่มกำหนดนโยบายการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดเกณฑ์ในการเลือก Supplier ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีด้านสาธารณสุขลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร หรือ การนำระบบดิจิทัลอัจฉริยะมาใช้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

และถึงแม้ว่านโยบายเหล่านี้จะสร้างความเสี่ยงด้านการเงิน เนื่องจากต้นทุนต่างๆ ที่ต้องใช้จะสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอะไรที่สำคัญกว่า เนื่องจากผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลกับทุกคนบนโลก ไม่ใช่เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น

สรุป Healthcare Trend 2024

จากเทรนด์ทั้ง 10 จะเห็นได้ว่าแนวโน้มส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ การจัดการปัญหาการขาดแคลนบุคลากร จากจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น การจัดการความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวด โดยมีการนำเทคโนโลยีจากหลายสาขาเข้ามาใช้ ในการจัดการปัญหาเหล่านี้

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน อย่างการคาดการณ์แนวโน้มด้านสุขภาพ หรือการสนับสนุนการสร้างกิจวัตรที่ช่วยให้มีสุขภาพดี และสำหรับการเข้ามา Automate วงการ Healthcare ของ AI ยังช่วยให้การให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถเข้าถึงได้ง่าย การวินิจฉัยมีความรวดเร็วและแม่นยำ อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพ Workflow ให้บุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะครับ

Pongsakorn Inrin

Hi~ I'm Mikey.. ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกงานเขียน หวังว่ามันจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนที่ผ่านมาทางนี้นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *