สรุป 11 ประเด็น Future of Thailand E-Commerce กับ CEO Lazada

สรุป 11 ประเด็น Future of Thailand E-Commerce กับ CEO Lazada

สวัสดีครับนักการตลาดและ นักอ่านทุก ๆ คน วันนี้ผมจะมาสรุป 11 ประเด็นสำคัญ จากไลฟ์ที่คุณหนุ่ย เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน (ผู้ดำเนินรายการ) คุยกับดร.วีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lazada ประเทศไทย ที่จะมาแชร์ความรู้กันในหัวข้อ “Future of Thailand E-Commerce” เปิดภาพรวมและอนาคตของตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย บอกเลยว่าแต่ละประเด็นน่าสนใจกันมาก ๆ สามารถติดตามในบทความนี้ได้เลยนะครับ

สรุป 11 ประเด็นสำคัญ

1. อนาคตตลาด E-commerce

ปัจจุบันตลาด E-commerce ในประเทศไทยมีมูลค่าคิดเป็น 15-16% ของมูลค่าตลาด Retail ทั้งหมดของประเทศไทย แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น จีน และ สหรัฐอเมริกา E-commerce ของประเทศเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 40% จากมูลค่าตลาด Retail เพราะฉะนั้นสามารถคาดการณ์ได้ว่า E-commerce ของประเทศไทยจะยังมีศักยภาพที่จะสามารถเติบโตมากขึ้นกว่านี้

เมื่อดูจากเทรนด์การเติบโตจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงสามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยยังมีพื้นที่ให้ตลาด E-commerce เติบโตได้มากกว่านี้

2. E-commerce ประเทศไทยจะเติบโตในอัตราที่ลดลง

สถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ทำให้ผู้คนไม่ค่อยมีทางเลือกในการซื้อของ ทำให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อของจากช่องทางออนไลน์และ E-commerce เป็นหลัก ส่งผลให้อัตราการเติบโตของตลาด E-commerce ในช่วงนั้นสูงมาก แต่ในปัจจุบันคนมีทางเลือกเยอะขึ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อแต่ E-commerce อีกต่อไป

อีกทั้งยังมีคนหลายกลุ่มที่คิดถึงบรรยากาศการเดินช้อปปิ้งซื้อของด้วยตัวเอง ทำให้ผู้คนออกมาซื้อของด้วยตัวเองแทนที่จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีคนไม่น้อยที่มักจะซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์อยู่

ข้อมูลสถิติมูลค่าตลาด E-commerce ประเทศไทยจาก Statista ชี้ชัดว่า E-commerce กำลังเติบโตในอัตราที่ลดลง อย่างไรก็ตาม E-commerce ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ขายและผู้ซื้อมากมาย เพียงแต่เติบโตในอัตราที่ลดลงแค่นั้นเอง

3. สินค้า 3 ประเภท ที่โตไวใน E-commerce ในช่วงที่ผ่านมา (ไม่เรียงลำดับ)

  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์: ด้วยเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรม การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วช่วยเสริมสร้างตลาดสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อขายออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย ๆ และมีความสะดวกสบายมากขึ้น
  • สินค้าแฟชั่น: สินค้าแฟชั่นเป็นสินค้าประเภทที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ตลาดส่วนใหญ่มีความต้องการที่สูงในการตามรอยแฟชั่นใหม่ ๆ และสินค้าที่ทันสมัย
  • สินค้าบิวตี้ สกินแคร์ และเมคอัพ: จากเทรนด์การดูแลตนเอง (Self-care trend) ผู้บริโภคมีการให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองมากขึ้น ดังนั้นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับบิวตี้ สกินแคร์ และเมคอัพ จึงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

4. ฟีเจอร์ Laz Go Global เปิดร้านที่ไทย ขายต่างประเทศ

Laz Go Global
ขอบคุณรูปภาพจาก: Lazada

ฟีเจอร์ Laz Go Global ผู้ขายที่เปิดร้านที่ไทย สามารถใช้ระบบหลังบ้านเดิม แต่ส่งขายสินค้าไปยังต่างประเทศได้เช่น เวียดนาม เมียนม่า สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น

  • ร้านค้าสามารถเลือกภาษาเองได้ว่า หน้าร้านที่แสดงอยู่ในต่างประเทศ จะใช้เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่น 
  • ทาง Lazada มีระบบแปลภาษาให้เป็นภาษาท้องถิ่นซัพพอร์ตผู้ขาย แต่อาจจะทำไม่ได้ดี 100%
  • การเข้ามาของ AI จะเข้ามาช่วยทลายเรื่องกำแพงภาษา

5. Gamification มีบทบาทอย่างไร

พฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ของคนไทยที่นิยม ถูกแบ่งออกเป็น 3 Stage ใหญ่ ๆ ดังนี้

  • 1. ซื้อโดยการ “F ของ” โดยการพิมพ์รหัสสินค้า และรอทางร้านทักมาเพื่อทำการซื้อขาย
  • 2. การซื้อขายแบบมีระบบหลังบ้าน ลูกค้าสามารถซื้อเองได้เลยโดยไม่ต้องรอทางร้านตอบ
  • 3. การซื้อของที่เน้น Engagement เช่นการไลฟ์สด

ซึ่ง Gamification จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ลูกค้ามี Engagement มากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้เวลาในพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น ผลลัพธ์จากการใช้ Gamification พบว่า ลูกค้าที่มี Engagement กับฟีเจอร์ Gamification จะใช้เวลาอยู่ในแพลตฟอร์มมากกว่าคนที่ไม่มี Engagement กว่า 3 เท่า อีกทั้งยังมีอัตราการ Revisit page ที่มากกว่า

Case Study Gamification เช่น เกม Lazland ที่จะให้ลูกค้าเข้ามารดน้ำต้นไม้ด้วยตัวเองทุกวัน เมื่อสำเร็จภารกิจทาง Lazada จะส่งข้าวสารจริง ๆ ไปให้ถึงที่บ้าน 

E-Commerce Lazada Gamification
ขอบคุณรูปภาพจาก: Lazada

6. Innovation ที่ Lazada กำลังพัฒนาอยู่

  • 1. Image Search: จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป พวกเขาจะไม่ค้นหาสินค้าโดยใช้ข้อความหรือตัวหนังสืออีกต่อไปแล้ว พวกเขาจะใช้รูปภาพในการค้นหาแทน ยกตัวอย่างเช่น ลูกไปเจอเสื้อผ้าตัวนึงในอีกแพลตฟอร์ม แล้วอยากจะเข้ามาซื้อใน Lazada แต่ไม่รู้ว่าต้องค้นหาด้วยคำว่าอะไร ดังนั้น Image Search จะสามารถเข้ามาแก้ไข Pain Point ในจุดนี้ได้
  • 2. Put in my room: เป็นฟีเจอร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตผู้ประกอบการที่ขายสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ฟีเจอร์นี้จะทำงานโดยที่ลูกค้าสามารถส่องกล้องไปมุมต่าง ๆ ในบ้านหรือในห้องของตนเอง และสามารถลากเฟอร์นิเจอร์จากร้านค้าที่เข้าร่วมฟีเจอร์นี้ เพื่อลองวางดูก่อนว่าชอบหรือไม่ ฟีเจอร์นี้ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ดีมากยิ่งขึ้น และสามารถลดอัตราการคืนสินค้าประเภทฟอร์นิเจอร์ที่เป็นสินค้าขนาดใหญ่ได้
  • 3. แลกเปลี่ยนมือถืออนไลน์ ลูกค้าสามารถเอามือถือเครื่องเก่ามาเทิร์นมือถือเครื่องใหม่ได้ผ่านวิธีการออนไลน์ โดยจะมีบริการขนส่งมารับมือถือลูกค้าถึงที่ ไม่ต้องไปถึงร้านขายมือถือก็สามารถเทิร์นมือถือเครื่องใหม่ได้

Innovation ที่ออกมาล้วนแล้วแต่จะทำให้ลูกค้าสะดวกสะบายมากยิ่งขึ้น ไม่เน้นความหวือหวา

7. Affiliate Marketing

ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ

  • 1. Affiliater ที่เป็น KOL
  • 2. Affiliater ที่เป็นคนธรรมดา
  • 3. Affiliater ที่เป็น Seller เอง

แต่ก่อนก็มีคนใช้หลักพัน แต่ในปัจจุบันมีเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล

8. เทรนด์การชำระเงินที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันคนจ่ายเงินแบบ COD (Cash on delivery) ลดลงมาก เนื่องจากช่วง Covid-19 ลูกค้าจำเป็นต้องลดการจ่ายเงินแบบ COD ลง ด้วยมาตรการเฝ้าระวังต่าง ๆ ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้นในการจ่ายเงินออนไลน์แบบทันที อีกทั้ง Lazada ก็มีมาตรการที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจในการชำระเงินออนไลน์ เช่น สามารถตีกลับสินค้าได้ สามารถเคลมสินค้าได้ เป็นต้น

9. Double Day กระทบยอดขายวันปกติหรือไม่

เป็นความจริงที่วัน Double Day คนจะซื้อสินค้าใน E-Commerce ที่เยอะขึ้น อย่างไรก็ตาม Lazada ก็มีแผนรับมือเพื่อไม่ให้ Double Day กระทบยอดขายวันธรรมดามากเกินไป เช่น การแจกคูปองเป็นประจำวันละประมาณ 10 ล้านใบ เพื่อกระตุ้นยอดขายวันธรรมดา อีกทั้งสินค้าที่มีราคาไม่แพงมากลูกค้าก็ยังคงจะซื้อในวันธรรมดาไม่ได้รอ Double Day เสมอไป

10. อนาคต  E-commerce จะเป็นอย่างไร

  • ฝั่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม: จะกลายเป็น Shoppertainment มาจาก Shopping + Entertainment เป็น ประสบการณ์ช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ ที่เชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภคด้วยความบันเทิง และเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง
  • ฝั่งผู้ขาย: ปัจจุบันหลาย ๆ แพลตฟอร์มขายของออนไลน์มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลซัพพอร์ตผู้ขายอยู่แล้ว แต่ยังมีผู้ขายน้อยรายที่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์และสร้างยอดขายให้มากขึ้นได้ เพราะฉะนั้นในอนาคตผู้ขายจะมีการวิเคราะห์ข้อมูล และนำเอามาใช้อย่างมีประสิทธิภาพกันเยอะขึ้นและทำให้การแข่งขันสูงขึ้น
  • ฝั่งผู้ซื้อ: ผู้ซื้อมีความคาดหวังว่าแพลตฟอร์มช้อปปิ้งในอนาคตจะเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มซื้อของ โดยสามารถเข้ามาหาอะไรสนุก ๆ ทำได้ แม้ว่าจะไม่ใช่การซื้อของ และต้องการ Personallized จากแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น

11. Lazada University

Lazada University เป็นแหล่งรวมคอร์เรียนสำหรับสอนการขายของออนไลน์ ที่ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนได้ฟรี ๆ มีการสอนที่ครอบคลุมในทุกกระบวนการเหมือนจับมือทำ สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ที่นี่เลยครับ

Lazada University
ขอบคุณรูปภาพจาก: Lazada

บทสรุป

Thailand E-Commerce จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจจะไม่ได้เติบโตในอัตราที่สูงเท่าเมื่อก่อน ด้วย Laz go global จะทำให้คนไทยสามารถส่งออกไปขายออนไลน์ที่ต่างประเทศได้ Gamification อาจเข้ามามีบทบาททำให้ผู้คน Engagement ในแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้นในอนาคต กิจกรรมวัน Double Day ไม่ได้มีผลกระทบต่อยอดขายในวันปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ Innovation แต่ละอย่างที่ Lazada พัฒนาเน้นความสะดวกสบายของลูกค้าเป็นหลัก ในอนาคตลูกค้ามีความคาดหวังว่าแพลตฟอร์มช้อปปิ้งจะเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มซื้อของ

บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ

เนื่องจากในบทความนี้เหมือนจะเน้น B2C เป็นหลัก ดังนั้นบทความที่ผมอยากแนะนำให้อ่านต่อจึงเป็นเรื่อง Trends E-Commerce ฝั่ง B2B ครับ ^^

Tlee Krit

ชื่อเติ้ลครับบบ นักเขียนน้องใหม่แห่งการตลาดวันละตอน ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *