MyHooman แก้ปัญหาสัตว์ไร้บ้านให้ตรงจุดด้วย Data-Driven Targeting

MyHooman แก้ปัญหาสัตว์ไร้บ้านให้ตรงจุดด้วย Data-Driven Targeting

MyHooman แก้ปัญหาสัตว์ไร้บ้านด้วย Data-Driven Targeting

หลายคนอาจจะมีคำถามในใจบ่อย ๆ ว่า เอ๊ะ เรามี data เราแล้วจะเอาไปปรับใช้ยังไง เอาไปแก้ปัญหาแบบไหน? แต่คิดไปคิดมาแล้วก็นึกไม่ออก วันนี้เตยเลยนำแคมเปญ MyHooman ที่ได้รับรางวัล Creative Data จาก Cannes Lions มาฝากกันค่ะ

เป็นแคมเปญที่เตยขุดคุ้ยมาแล้วว่า เขาใช้ data ได้เจ๋งสุด ๆ แก้ปัญหาชวนปวดหัวอย่าง สัตว์ไร้บ้าน ด้วยวิธีแบบง่าย ๆ แต่ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อยู่หมัด

https://www.youtube.com/watch?v=7gr2ifutM0U

เริ่มต้นที่ปัญหา ‘รับเลี้ยงแต่ส่งกลับคืน’

ในตอนนั้นมีสุนัข 200 ล้านตัวทั่วโลกที่เป็นหมาไร้บ้าน แบรนด์เกี่ยวกับสัตว์อย่าง Pedigree ที่เราคุ้นเคยกันดีก็ได้เข้ามาทำแคมเปญเพื่อช่วยลดจำนวนสัตว์ไร้บ้าน และอย่างแรกที่พวกเขาทำก็คือการตั้งคำถามกับปัญหา

คำถามคือ แล้วทำไมปัญหาสัตว์ไร้บ้านยังเพิ่มขึ้นอยู่อีก ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานต่าง ๆ ก็เข้าไปช่วยเหลือหาบ้านให้สัตว์แล้ว?

อย่างในประเทศไทย เตยไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่จำนวนสัตว์ไร้บ้านจะเพิ่มขึ้นทุกวิ เพราะเราไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการเลี้ยงสัตว์เหมือนกับต่างประเทศที่คุณจะต้องมีคุณสมบัติ ผ่านการคัดกรองต่าง ๆ มากมายเพื่อที่จะได้เลี้ยงสัตว์สักหนึ่งตัว กลับกันในต่างประเทศนี่สิ กฎหมายก็มี การคัดกรองก็จัดเต็ม ปัญหาก็ยังคงอยู่ที่เดิม

สรุปสุดท้ายแล้ว พวกเขาก็พบสาเหตุที่ทำให้ปัญหายังไม่หมดไป นั่นก็คือ รับเลี้ยงไปแล้ว แต่เอามาส่งกลับคืน เพราะเลี้ยงไม่ไหว สัตว์เลี้ยงไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิต หรือน้องหมา น้องแมวเข้ากับคนไม่ได้

เพราะ journey ในการรับเลี้ยงสัตว์ในตอนนั้นจะเป็นการเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และเลือกสัตว์ตามสายพันธุ์ที่ชอบ แต่ไม่ได้เลือกสัตว์ที่มีความสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้รับเลี้ยงเลย สุดท้ายก็ต้องเอากลับมาคืน วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นั่นเองค่ะ

เก็บ Data เพื่อหา ‘สัตว์’ ที่ใช่

จากคำถามสู่คำตอบ ทางแบรนด์ก็จับจุดได้แล้วว่าต้นตอมันคือ รับเลี้ยงแต่ส่งกลับคืน เพราะความเข้ากันไม่ได้ของผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยง เลยนำมาสู่การแก้ไขปัญหา โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘MyHooman‘ ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวกลางในการหาสัตว์ที่ใช่ กับคนที่ใช่มาเจอกัน เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็อารมณ์เหมือน ‘แม่สื่อ’ นั่นแหละค่ะ

อย่างที่เตยได้บอกไปในตอนต้นว่า journey ของผู้รับเลี้ยง ส่วนใหญ่จะรับเลี้ยง สายพันธุ์ที่ชอบก่อน ดูแล้วน่ารัก ถูกใจก็พุ่งเลย แต่ไม่ได้คำนึงว่านิสัย และพฤติกรรมของสัตว์สอดรับกับไลฟ์สไตล์หรือเปล่า MyHooman จึงเกิดมาเพื่อกำจัดไบแอสเหล่านี้ค่ะ

MyHooman แก้ปัญหาสัตว์ไร้บ้านให้ตรงจุดด้วย Data-Driven Targeting

โดยการถามคำถามง่าย ๆ ในตอนสมัครอย่าง คุณชอบออกไปเดินเล่นบ้างไหม ? ถ้าจะต้องออกไปข้างนอก คุณมักจะต้องปล่อยสัตว์เลี้ยงไว้ให้อยู่คนเดียวนานเท่าไหร่ ? บ้านของคุณเป็นแบบไหน ? คุณอาศัยอยู่กับใครบ้าง เป็นต้น เป็นการเก็บ data และนำมาประมวลผล เพื่อให้แมตช์กับน้องหมาน้องแมวที่นิสัยตรงกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราให้มากที่สุดค่ะ

ปัดขวา เพื่อหาเหมียวโฮ่ง ปักหลักเป็นบ้านหลังสุดท้ายของน้อง

MyHooman แก้ปัญหาสัตว์ไร้บ้านให้ตรงจุดด้วย Data-Driven Targeting

หลักการใช้จะเหมือนแอปหาคู่ชื่อดัง Tinder ที่ใช้การปัดขวา เพื่อแสดงเจตจำนงว่าเราชอบ เราสนใจนะ หลังจากนั้นระบบก็จะทำการประมวลผลและแสดงผลออกเป็น ‘การ์ดคะแนน’ เรียกง่าย ๆ ก็เหมือน ไพ่ ที่จะแสดงคะแนนความเข้ากันของเราและน้องว่าอยู่ที่เท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน ไพ่ที่มีคะแนนมากที่สุดจะเรียงอยู่ด้านบน ไล่ตามละดับ โดยจำนวนเต็มของคะแนนจะอยู่ที่ 100%

ซึ่งผลลัพธ์ออกมาดีมากค่ะ เพราะช่วยลดอัตราการส่งคืนจาก 16% เหลือแค่ 1% เพียงเท่านั้น และ 37% ของผู้ใช้ได้แมทซ์กับน้องหมา น้องแมวที่ใช่ รวมทั้งสัตว์ที่อยู่ในระบบ MyHooman ถูกรับเลี้ยงไปถึง 41%

แสดงให้เห็นว่า Data ที่นำมาปรับใช้นั้น ตอบโจทย์ และมีความแม่นยำ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี ถูกต้อง ถูกคนและตรงจุด สมแล้วกับรางวัลที่ได้รับในหมวดหมู่ Data-Driven Targeting จริง ๆ ค่ะ

สรุป MyHooman แก้ปัญหาสัตว์ไร้บ้านด้วย Data-Driven Targeting

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับแคมเปญ MyHooman เตยมองว่าเป็นแคมเปญที่ปรับใช้ data ได้ดีมาก ๆ ในการเข้าหากลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุดและตอบโจทย์จุดประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาสัตว์ไร้บ้าน เปลี่ยนบ้านหลังที่หนึ่ง สอง สาม ให้เป็นบ้านหลังสุดท้ายของน้องหมา น้องแมว

ใครยังที่ไม่ได้เริ่มเก็บ data หรือเริ่มแล้ว ลองนำ data ที่มีมาวิเคราะห์เพื่อหา Insight กันดูนะคะ เพราะเตยเชื่อว่า คุณจะเจอสิ่งเจ๋ง ๆ ทั้งคาดถึงและคาดไม่ถึงมาก่อน แล้วนำมาปรับใช้ในการเข้าหากลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้นค่ะ

เตยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาด หรือข่าวสารการตลาด แบบจัดหนักจัดเต็ม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

source

source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *