บทสัมภาษณ์พิเศษ CEO Zanroo กับเรื่องราวที่น้อยคนนักจะรู้ว่า Zanroo หายไปไหน

บทสัมภาษณ์พิเศษ CEO Zanroo กับเรื่องราวที่น้อยคนนักจะรู้ว่า Zanroo หายไปไหน

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าไปนั่งพูดคุยสัมภาษณ์กับคุณไฟท์ ชิตพล มั่งพร้อม ผู้เป็น CEO และ Founder ของ Zanroo หนึ่งใน social listening tools รายแรกๆของประเทศ และยังคงหนึ่งในเบอร์ใหญ่ของตลาด social listenning tools ของเมืองไทยในวันนี้ ว่าหลังจากเปิดตัว Zanroo X และ Zanroo Search แล้วหายไปไหน? หายไปทำอะไร? ถึงได้รู้คำตอบว่า Zanroo ไม่ได้หายไปไหน แต่กำลังออกไปเติบใหญ่ในต่างแดน และกำลังจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแรงอีกครั้งในบ้านเรา

คุณไฟท์ ชิตพล CEO ของ Zanroo บอกผมว่า ตอนนี้เขามีออฟฟิศอยู่ถึง 5 ประเทศแล้ว คือมีออฟฟิศอยู่ที่ประเทศไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงค์โปร และอินโดนีเซีย โดยออฟฟิศทั้ง 5 ประเทศก็อยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ของแต่ละประเทศทั้งนั้น ทำให้การที่ Zanroo ดูเหมือนเงียบหายไปนั้นเพราะต้องเดินทางไปออฟฟิศประเทศต่างๆตลอดเวลา เพราะในประเทศที่ขยายออกไปกำลังเติบโตแบบดับเบิ้ลเป็นอย่างน้อยครับ

และน้อยคนนักจะรู้ว่าออฟฟิศในแต่ละประเทศนั้นไม่ได้มีแค่การเติบโต แต่กำไรหมดแล้วทุกประเทศ เอาแค่ญี่ปุ่นเองก็กำไรตั้งแต่เข้าปีที่สองแล้วครับ ในญี่ปุ่นเองซึ่งจัดว่าเป็นตลาดที่โหดหินที่สุด เพราะด้วยวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยเปิดรับคนต่างชาติ แต่ทางคุณไฟท์เองก็บอกว่ามีลูกค้าใหญ่ๆมากกว่า 10 รายในมือแล้ว

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงตอนที่เคยได้พูดคุยกับคุณ Ro ผู้เป็น MD ของ Zanroo (อ่านบทสัมภาษณ์ตัวเต็มได้ที่นี่ครับ) ประเทศญี่ปุ่นที่บอกว่า business strategy ของ Zanroo คือการเข้าไปปิดดีลกับบริษัทใหญ่ที่มีสาขาทั่วโลกที่ญี่ปุ่นให้ได้ เพราะจากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นแล้ว ถ้าบริษัทแม่ใช้บริษัทลูกที่เป็นสาขาทั่วโลกก็ต้องใช้ตาม ทำให้ Zanroo สามารถสร้างความได้เปรียบในจุดนี้ได้ในระยะยาวครับ

Zanroo CEO Exclusive Interview

คุณไฟท์บอกว่าตอนนี้มอง 3 ประเทศหลักในโลกที่มองว่าเป็น key strategy คือ สหรัฐอเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น เพราะทั้ง 3 ประเทศนี้มีแบรนด์ระดับโลกมากมาย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และจีนนั้นมี GDP มากที่สุดในโลก ผมมองว่าถ้าสามารถเข้าหาแบรนด์ของประเทศเหล่านี้ได้ การจะเปิดตลาดทั่วโลกก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปครับ

คุณไฟท์ก็แอบบอกว่าสำหรับประเทศจีนตอนนี้ทาง Zanroo เริ่มจากเข้าไปเจาะที่ฮ่องกงก่อน แล้วหลังจากนั้นจะหาทางขยายเข้าไปยังแบรนด์ใหญ่ของพี่จีนอย่างไม่รอช้าแน่นอนครับ

แต่ความท้าทายก็คือแต่ละประเทศก็มี strategy ที่แตกต่างกันไป คุณไฟท์เล่าว่าเครื่องมือเดียวกัน แต่ถูกคาดหวังในการใช้งานไม่เหมือนกัน เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย ลูกค้าจะซีเรียสเรื่องการ tracking มาก เช่น ถ้าเมื่อวานมีคนพูดถึงแบรนด์ 10 ครั้ง แต่มาวันนี้พูดถึงแบรนด์น้อยลงเหลือ 4 ครั้ง ลูกค้าที่มาเลเซียจะเข้าไปดูแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนถึงพูดถึงแบรนด์เราน้อยลงครับ

Zanroo CEO Exclusive Interview

ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่นก็แปลกไปอีกอย่าง เค้าใช้ Zanroo Listening ในแง่ที่ว่าตามหา negative ก่อนจะกลายเป็น crisis เพราะประเทศญี่ปุ่นนั้นมีความ loyalty ต่อแบรนด์สูง น้อยนักจะเปลี่ยนแบรนด์ถ้าไม่รู้สึกแย่จริงๆ แต่ในขณะเดียวกันก็หมายความว่าถ้าลูกค้าไปแล้วก็แทบจะไม่มีวันได้กลับคืนมาเลย

ธุรกิจทางญี่ปุ่นเลยใช้ในการติดตาม comment ของลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อที่ถ้าลูกค้าเกิดไม่พอใจหรือแบรนด์ทำอะไรผิดพลาดแม้เล็กน้อย ก็จะรีบพุ่งเข้าไปขอโทษลูกค้าทันทีครับ ทางคุณไฟท์บอกว่าทีมงาน Zanroo มีทำเป็น scenario design ในการขอโทษของผู้บริหารไว้หลายสิบแบบมาก เช่น ถ้าลูกค้าไม่พอใจในระดับนี้จะต้องขอโทษในระดับไหน ทำให้การแก้ปัญหานั้นสามารถจบได้เร็วและไวขึ้นมากครับ

ส่วนพฤติกรรมการใช้ของฝั่งไทยก็ไม่เหมือนทั้งสองประเทศที่ผ่านมา ตรงที่ว่าจาก data พบว่า insight คนไทยขี้เบื่อ เปลี่ยนแบรนด์ง่าย loyalty ต่ำ ทำให้แนวทางการใช้ Zanroo ของลูกค้าจะเป็นในทางว่าเอามาใช้หา insight ใหม่ๆเพื่อทำ communication ที่ถูกใจกลับไปเรียกลูกค้าใหม่เข้ามา

พอผมวกถามกลับมาเรื่องที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความสงสัยว่าแล้วที่ญี่ปุ่นไม่มีเครื่องมือแบบ Zanroo อยู่แล้วหรอ ถ้ามีอยู่แล้วๆทำไม Zanroo ถึงเติบโตและกำไรในญี่ปุ่นได้ แถมยังมีลูกค้าเป็นสิบรายในตอนนี้ ทางคุณไฟท์บอกว่าที่ญี่ปุ่นก็มีเครื่องมือแบบนี้อยู่แล้วครับ เพียงแต่เครื่องมือของเค้านั้นใช้ได้กับแค่ภาษาญี่ปุ่น ทำให้เป็นข้อจำกัดของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาในต่างประเทศ ที่ต้องการเข้าใจข้อมูลของลูกค้าในต่างชาติต่างภาษา นั่นก็เลยเป็นโอกาสที่ดีของ Zanroo ในการเข้าหาบริษัท Global เหล่านี้ครับ

ที่สำคัญพอผมถามเรื่องกำแพงของภาษาล่ะ เพราะกว่าจะเทรนให้เครื่องมือเข้าใจภาษาต่างๆได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คุณไฟท์บอกว่าถ้าผ่านภาษาไทยได้แล้ว ภาษาอื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความยากของภาษาไทยคือ “คำติดกันเป็นประโยค” เมื่อคำติดกันก็ทำให้ยากจะตีความเข้าใจได้ ผิดกับภาษาส่วนใหญ่ในโลกที่ “เขียนเป็นคำๆ” เช่น “ฉันรักเธอ” ของเราจะเป็นประโยคเดียว แต่ถ้าของชาติอื่นๆจำเป็นคำๆแล้วเว้นวรรคมาต่อกันอย่าง I love you. ครับ

อย่างภาษาญี่ปุ่นเองทาง Zanroo ใช้เวลาให้เครื่องมือเรียนรู้แค่ภายใน 1-2 อาทิตย์เท่านั้น ด้วยการยกทีมมาช่วยกันเทรนให้ระบบเข้าใจความหมายของแต่ละคำ เข้าใจว่าประโยคแบบไหนคือดีหรือไม่ดี ทำให้อุปสรรคเรื่องภาษาไม่ใช่ปัญหาของ Zanroo ครับ

จากที่คุยมาในพาร์ทนี้ทำให้ผมรู้ว่า ที่ Zanroo หายไปนั้นวุ่นอยู่กับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ เพราะ Zanroo ในวันนี้ไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่มองการเป็นบริษัทในระดับ Global แต่คุณไฟท์ก็บอกว่าสำหรับประเทศไทยก็กำลังจะกลับมาเดินหน้าเต็มสูบในเร็วๆนี้ จาก 2 วิกฤตที่ทำให้คุณไฟท์และ Zanroo ได้เรียนรู้และแข็งแกร่งมากขึ้นหลังจากผ่านมาได้ นั่นก็คือไฟไหม้ออฟฟิศ และความน่ากลัวของเงิน

วิกฤตไฟไหม้ออฟฟิศ Zanroo ที่ทำให้สูญเงินไปกว่า 20 ล้านบาท จากที่เคยตั้งใจสร้างออฟฟิศที่สวยงามเพื่อพนักงานทุกคนภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่ เพื่อให้พนักงานมีความสุขและอยากตื่นมาทำงานทุกวัน แต่กลับถูกไฟไหม้หมดไปจนทำให้ Zanroo ไม่มีออฟฟิศนานถึง 6 เดือน

และจาก 6 เดือนนั้นก็ทำให้คุณไฟท์เรียนรู้ว่า การแยกกันอยู่แยกกันทำงานของพนักงานกว่า 100 คนนั้นเป็นอุปสรรคต่อทั้งคุณภาพงาน และคุณภาพทีมเวิร์คมาก เพราะมันเกิดช่องว่างที่เทคโนโลยีดีแค่ไหน็ไม่สามารถชดเชยการอยู่ใกล้ๆเพื่อนร่วมงานกันได้ จนมาได้ออฟฟิศใหม่ที่ Cosmo Park เมืองทองธานี จึงสามารถพาทุกคนให้มาอยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง

นี่คือวิกฤตที่หนึ่ง ความห่างของคนทำให้ทีมเวิร์คไม่แข็งแรง culture องค์กรหายไป และพอถามถึง Culture ขององค์กรที่คุณไฟท์อยากให้เป็นนั้นได้รับคำตอบที่ต้องบอกว่า “แปลก” นั่นก็คือ “อยากให้ทุกคนไฟท์กัน”

Zanroo CEO Exclusive Interview
Zanroo CEO Exclusive Interview

ไฟท์กันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงลุกขึ้นมาทำร้ายกันด้วยวาจาคำพูดที่รุนแรง แต่คุณไฟท์อยากให้พนักงานของ Zanroo นั้นกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดทั้งหมดออกมา โดยไม่ต้องเก็บเอาไว้ในใจ เพราะถ้าไม่กล้าพูดแล้วต้องเก็บเอาไว้ เรื่องที่ตามมาคือ “การนินทา” แต่เมื่อทุกคนกล้าพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาทั้งหมด คุณไฟท์ก็มองว่าปัญหาเรื่องการซุบซิบนินทากันลับหลังจะหมดไป เพราะไม่เหลืออะไรคาใจให้พูดแล้ว

ตรงนี้ผมยอมรับว่าเป็นมุมมองที่แปลก แต่น่าสนใจ และก็เข้าใจได้ แนวคิดนี้เหมือนสมัยก่อนที่ผมทำงานกับฝรั่งเพื่อนร่วมงานชาวตะวันตก ที่กระตุ้นให้ทุกคนพูดออกมา โดยเฉพาะเรื่องที่ตัวเองไม่พอใจ แล้วก็เคลียร์กันไปให้จบตรงนั้น พอจบแล้วทุกคนก็ไปกินข้าวกลางวันสนิทสนมกันต่อไป แม้ตอนประชุมจะดูเอาเป็นเอาตาย เถียงกันคอเป็นเอ็น แต่พอจบมีตติ้งก็หมดสิ่งที่ค้างคาครับ

และวิกฤตที่สองที่คุณไฟท์เล่าให้ฟังคือ “เงิน”

แต่วิกฤตนี้ไม่ใช่ว่าขาดเงินนะครับ แต่เป็นเพราะมีเงินมากเกินไป คุณไฟท์บอกว่าเงินนั้นมันน่ากลัว โดยเฉพาะกับการที่เพิ่งมีเงินมากๆเป็นหลักร้อยล้านเป็นครั้งแรก

คุณไฟท์บอกว่าหลังจากการระดมทุนได้เงินมากว่า 300 ล้าน ตอนนั้นทาง Zanroo ก็เร่งระดมจ้างคนโปรไฟล์ดีๆ ประสบการณ์มากๆ จากบริษัทใหญ่ๆมามากมาย ทั้งจ้างคนเร็ว และจ้างคนแพง ทำให้บริษัทตอนนั้นเต็มไปด้วยฝรั่งหัวทองเต็มไปหมด แล้วปัญหาที่ตามมาคือฝรั่งเหล่านั้นมักจะเลือกโปรโมตให้กับลูกน้องที่สามารถสื่อสารกับตัวเองได้ แต่ไม่ได้โปรโมตให้กับคนที่เก่งในเนื้องานแต่ไม่เก่งเรื่องภาษาได้ ทำให้บริษัทเติบโตไปอย่างที่ไม่ต้องการ และทำให้ต้องสูญเสียคนเก่งๆบางคนไปอย่างน่าเสียดายในวันนั้น

จากวิกฤตที่สองนี้คุณไฟท์และ Zanroo ได้เรียนรู้ว่า ต่อให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีแค่ไหนบุคลากรและทีมเวิร์คก็ยังสำคัญที่สุดครับ

Zanroo ในวันนี้โดยเฉพาะในประเทศไทยก็เลยตั้งเป้าว่าจะเติบโตให้ไวแต่รากแก้วต้องลงให้ลึก จะไม่มีการโตไวโดยไม่ใส่ใจรากแก้วเหมือนเดิมอีกต่ไป จะเลือกคนที่ใช่กับ culture ขององค์กร ไม่ใช่เลือกคนที่โปรไฟล์เหมือนเดิมครับ

ผมถามคุณไฟท์ต่อว่า ตอนนี้เราผ่านยุคโซเชียลมีเดียมาแล้ว เราผ่านยุคดิจิทัลมาแล้ว เรากำลังเข้าสู่ยุค data คุณไฟท์มีความเห็นว่าอย่างไร

คุณไฟท์บอกว่าในยุคนี้บรรดาเครื่องมือ social listening ก็ได้ data มาจาก source คล้ายๆกันหมด นั่นก็คือ public data แต่ความต่างที่แท้จริงคือใครจะเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ใน data นั้นต่างหาก

คุณไฟท์บอกว่าเมื่อก่อนเป็นยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก กลายมาเป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า และเรากำลังเข้าสู่ยุคปลาฉลาดกินปลาโง่ เพราะแค่เร็วอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องฉลาดในการเข้าหาคนที่ใช่ ให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกใจไปพร้อมกันครับ

คุณไฟท์ยกตัวอย่างว่า จากเดิมการทำโฆษณานั้นต้องทำหนังโฆษณาราคาแพง แล้วใช้สื่อทุ่มทุกช่องทางให้คนเห็น พอคนเห็นคนก็ซื้อ ทำให้ธุรกิจรายเล็กไม่มีที่ยืนในตลาด และก็ยากที่จะเติบโตได้ พอเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียหรือยุคดิจิทัล เราก็เข้าสู่ยุคปลาเร็วกินปลาช้า คือธุรกิจขนาดเล็กและกลางสามารถสื่อสารออกมาผ่านแพลตฟอร์มต่างๆได้ ทำให้องค์กรไหนที่สามารถทำงานได้เร็วกว่าก็จะเอาชนะองค์กรใหญ่ที่ทำงานได้ช้ากว่าอย่างไม่ยาก แต่ละคนสามารถสร้างพื้นที่ทางการตลาดของตัวเองขึ้นมาได้ครับ

และวันนี้เราอยู่ในยุค Data ความสำคัญคือเราต้องเป็นปลาที่ฉลาด ฉลาดในที่นี้คือต้องรู้ว่าใครที่ใช่ลูกค้าเรามากที่สุด แล้วรีบเข้าไปหาเค้าก่อนคู่แข่ง เข้าไปหาเค้าด้วยสิ่งที่เค้าต้องการ สิ่งที่เค้าสนใจ ไม่ใช่แค่วิ่งพรวดๆเข้าไปโดยไม่รู้จักลูกค้าเลย

และการจะทำอย่างนั้นได้ก็ด้วย data ที่มาจากหลายมิติของลูกค้าในวันนี้ ที่ทำให้ธุรกิจสามารถเลือกได้ว่าจะล่อปลาตัวนี้ด้วยเหยื่อหรือเบ็ดประเภทไหน ทำให้การออกแรงก็น้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำขึ้น

Zanroo CEO Exclusive Interview

และเรื่องนี้ก็สามารถตอบได้ Zanroo X หนึ่งใน product ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณไฟท์ช่วยอธิบายให้เข้าใจภาพของเครื่องมือตัวนี้มากขึ้นว่ามันน่าสนใจอย่างไร และในมุมมองของผมที่เคยเป็นคนโฆษณาและวันนี้มาเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดก็พบว่ามันน่าสนใจมาก เพราะ Zanroo X ทำให้ธุรกิจสามารถเป็นปลาที่ฉลาดได้อย่างเป็นกรด

ฉลาดที่หนึ่ง คือตัดงบโฆษณาส่วนเกินทิ้งไป

เช่น ถ้าผมกำลังจะหาซื้อบันไดซักอัน ผมอาจจะเริ่มจากการเสริช Google ดูก่อน ว่าบันไดแบบที่อยากได้นั้นมีขายที่ไหน และราคาเท่าไหร่ จากนั้นผมก็อาจจะปิดหน้าเว็บนั้นไป และก็ลืมว่าตัวเองอยากได้บันไดไปด้วยงานต่างๆที่รุมเร้า

แต่บรรดาธุรกิจที่ขายบันไดไม่อยากให้ผมลืมไปว่าผมเคยอยากได้บันได ก็เลยยิงโฆษณามาหาผมแบบ re-targeting แน่นอนว่าเรื่องนี้ใครๆก็ทำกัน คิดง่ายๆเวลาคุณเข้าเว็บ Agoda หรือ Airbnb เท่านั้นแหละ จะมีแบนเนอร์ตามหลอนคุณไปอีกหลายวันเลยใช่มั้ยครับ

พอผมเห็นโฆษณาบันไดมาคอยย้ำเตือนผมว่า “เฮ้ คุณหนุ่ย(ผมชื่อหนุ่ยครับ) คุณจำได้มั้ยว่าคุณเคยอยากได้บันไดน่ะ เรามีโปรโมชั่นพิเศษซือตอนนี้แถมแก้วน้ำสองใบนะ(สมมติครับ ใครจะบ้าจี้ซื้อบันไดแถมแก้วน้ำ) รีบแวะมาเร็ว เรามีสาขาอยู่หน้าปากซอยบ้านคุณด้วยนะ”

จากโฆษณาชิ้นนี้อาจทำให้ผมลุกขึ้นไปซื้อบันไดที่ห้างใกล้บ้านแล้วขนมันกลับมา ตรงนี้แหละครับคือจุดเปลี่ยนของการตลาด digital marketing แบบเดิมๆ กับการตลาดยุคใหม่ที่ต้องเป็นปลาฉลาดได้ด้วย Zanroo X เพราะปัญหาคือจากเดิมต่อให้เราซื้อบันไดกลับมาบ้านแล้ว เจ้าแบนเนอร์บันไดก็ยังไม่หยุดหลอนเราง่ายๆ คงจะตามให้เราเห็นไปอีกซักพักตามที่ marketer ตั้งค่าโฆษณานั้นเอาไว้ ทำให้เป็นการเผางบการตลาดโดยใช่เหตุ เพราะโฆษณาชิ้นนั้นนอกจากจะไม่จำเป็นยังอาจทำให้ลูกค้าเกิดความรำคาญจนไม่อยากกลับมาซื้อที่ห้างนี้อีกในอนาคตก็ได้ครับ

สิ่งที่ Zanroo X ทำก็คือ ถ้าธุรกิจไหนใช้ระบบนี้แล้วเชื่อมต่อกับ Zanroo X ถ้าลูกค้าคนไหนมาซื้อจะรู้ว่าลูกค้าคนนั้นซื้อของไปแล้วนะ เลิกแสดงโฆษณาเดิมได้แล้ว เอางบไปให้ลูกค้าคนอื่นเห็นดีกว่า นั่นคือการเป็นปลาฉลาดขั้นที่ 1 แต่ยังมีขั้นที่ 2 ที่เหนือกว่า นั่นคือการแนะนำลูกค้าต่อว่าซื้อบันไดไปแล้วควรให้เค้าซื้ออะไรต่อดี

Zanroo X สามารถช่วยลูกค้าวิเคราะห์ data ที่ลูกค้ามีเพื่อต่อยอดทางธุรกิจเพื่อเพิ่มยอดขายได้ เช่น ถ้าวิเคราะห์แล้วพบว่าลูกค้าที่ซื้อบันได “มักจะกลับมาซื้อหลอดไฟต่อ” โฆษณาชิ้นถัดไปที่จะขึ้นให้ลูกค้าซื้อบันไดจะก็จะกลายเป็นหลอดไฟแทน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ Amazon พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถเพิ่มยอดขายได้ จากการหาความสัมพันธ์ใน data ครับ

ด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มากในบ้านเรา จนทางคุณไฟท์เล่าให้ฟังว่า เมื่อลูกค้าเห็นว่าใหม่ แปลก ไม่แน่ใจ ทางลูกค้าเลยเสนอว่าให้ลองทำด้วยกันดู แต่ให้คิดเป็น sharing revenue หรือเอาง่ายๆภาษาชาวบ้านก็คือ ถ้าระบบนี้ทำให้ขายได้มากขึ้นก็เอาส่วนแบ่งไปแล้วกัน

ซึ่งทางคุณไฟท์ก็บอกว่า เป็นอะไรที่แฟร์ดีครับ และทาง Zanroo X ก็มั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ว่ายอดขายลูกค้าจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน

เพราะ Zanroo X สามารถใช้ data จากหลายด้านของลูกค้าแต่ละคนมาประกอบกันจนสามารถเดาใจลูกค้าล่วงหน้าได้ว่า ลูกค้าที่เพิ่งซื้อบันไดไปเคยบ่นว่าอยากได้อะไรต่อ ด้วย Listening Tool จนสามารถส่งโฆษณาที่ใช่ไปให้กับลูกค้าคนนั้นได้จนเพิ่มโอกาสในการขายในที่สุดครับ

Zanroo CEO Exclusive Interview

มาที่ในส่วนของ Zanroo Search บริการใหม่ที่เปิดให้ใครๆก็สามารถเข้ามาใช้ได้ฟรีในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนตัวผมใช้ตัวนี้เป็นประจำแบบ Advance ที่สามารถดึงข้อมูลย้อนหลังได้ถึง 1 ปี ในหาข้อมูล research เพื่อเอามาทำ insight ให้กับลูกค้าที่เข้ามาปรึกษาบ่อยๆ

คุณไฟท์บอกว่าจากที่เอาบางส่วนของ Listening มาเปิดให้ใช้เล่นๆ แต่ไม่คิดว่าจะมีคนเข้ามาเล่นจริงๆจังๆถึงเดือนละกว่า 100,000 unique ip ครับ ทำให้คุณไฟท์เห็นโอกาสใหม่ๆในการจะต่อยอดสิ่งนี้ว่า น่าจะเป็นอีกตัวที่สร้างรายได้ให้กับ Zanroo ได้อีกไม่น้อยในอนาคต

ทั้งหมดนี้คุณไฟท์บอกว่า ทุก product ที่ทำออกมาตั้งแต่ Zanroo Social Listening, Zanroo X และ Zanroo Search นั้นมีแนวคิดเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ consumer centric หรือเน้นที่ลูกค้าเป็นสำคัญ ให้ลูกค้าเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะ Listening คือช่วยให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากข้อมูลที่ดีที่สุด ส่วน Zanroo X ก็ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าโฆษณาที่ไม่จำเป็นออกไป และ Zanroo Search ก็ช่วยธุรกิจ SME หรือนักเรียนนักศึกษา หรือแม้แต่คนทั่วไปมากมาย

เพราะเป้าหมายของ Zanroo ในวันนี้ไม่ใช่แค่การสร้างกำไร แต่เป็นการสร้างอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าต่อผู้คน ต่อสังคม และต่อเศรษฐกิจในระดับ GDP ครับ

จากการพบกันครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการสัมภาษณ์กันแบบเป็นกันเองมาก มากจนหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัว Zanroo หรือในฐานะ CEO ของ Zanroo ก็มีมากมาย จนทำให้ผมคิดว่าผู้ชายที่ชื่อไฟท์คนนี้ไม่ได้ไฟท์แค่ชื่อ แต่ยังผ่านการไฟท์ชีวิตมามากมาย ใครจะรู้ว่าเค้าคนนี้เคยได้ไปพบองค์ทะไลลามะ ในวันที่ชีวิตเกิดวิกฤตมากมาย จนทำให้พบกับสัจธรรมของชีวิต (ซึ่งคุณไฟท์บอกผมว่าถ้าไปรอบหน้าจะชวนผมไปด้วย ผมเขียนไว้เป็นหลักฐานแล้วนะครับคุณไฟท์) และกลับมาไฟท์อีกครั้ง

แม้ภายนอกจะดูเป็นผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าจริงๆแล้วเค้ามีความฝันและวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่มากมาย จากการที่ได้มาคุยกันครั้งนี้ ก็ทำให้ผมรู้แล้วว่า Zanroo ไม่ได้หายไปไหน แต่กำลังเตรียมทำการใหญ่อยู่ครับ

Zanroo CEO Exclusive Interview

อยากรู้จัก Zanroo เพิ่มเติม เชิญตามลิงก์ไปดูได้เลยครับ https://enterprise.zanroo.com/contact/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *