Unified ID 2.0 ทางออกการตลาดยุค Privacy กับ Platform First-Party Cookies เพื่อทุกเว็บ

Unified ID 2.0 ทางออกการตลาดยุค Privacy กับ Platform First-Party Cookies เพื่อทุกเว็บ

Unified ID 2.0 ทางออกของนักการตลาดยุค Privacy กับ Platform First-Party Cookies เพื่อทุกเว็บ ยิ่งใช้ ยิ่ง Enrich เมื่อเบื้องหลังคำว่า Privacy ของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ อาจไม่ได้ทำเพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเราเสียทีเดียว แต่เป็นการแย่งชิงโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมโฆษณา Ad Tech แทน

ดูเหมือนว่าตั้งแต่นโยบาย Privacy ประกาศออกมา ทั้ง GDPR, PDPA หรือ ATT App Tracking Transparency ใน iOS 14.5 เป็นต้นมาของ Apple หรือการประกาศยกเลิก Third-Party Cookies ใน Chrome ของ Google ส่งผลกระทบต่อนักการตลาดออนไลน์ทั่วโลกและทุกธุรกิจไม่มากก็น้อย

ดูเหมือนทางรอดหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดเยอะมาก คือการเริ่มสะสม First-Party Data ของตัวเอง เริ่มสร้าง Customer Data Platform ของตัวเองเช่นกัน แต่นั่นก็ดูเหมือนจะเหมาะกับแค่บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ ที่จะได้ประโยชน์จากการเก็บสะสมและใช้ First-Party Data ที่ตัวเองมีมหาศาลกว่าธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กแบบ SME ครับ

และเมื่อมองเรื่อง Privacy ให้ลึกลงไปอีกหน่อยก็ดูเหมือนว่าบริษัทที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา จะไม่ได้ทำเพื่อต้องการปกป้องผู้บริโภคลูกค้าตัวเองเป็นหลัก แต่ดูเหมือนว่าบริษัทดังกล่าวไม่ว่าจะ Apple หรือ Google ต่างพยายามตัดทอนตัวกลางอย่างบริษัท Ad Tech ที่เคยเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานกับนักการตลาดออกไป ด้วยการสลับตัวเองมาอาสาทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ เพราะไหนๆ ผู้คนต่างก็ใช้อุปกรณ์หรือ OS ของตัวเองอยู่แล้ว แล้วจะปล่อยให้คนอื่นคาบกำไรไปกินคนเดียวทำไมหละครับ

Google เองก็เริ่มปรับตัวด้วยการสร้างระบบ Tracking แบบใหม่ที่ไม่ต้องอาศัยการเก็บ Personal Data ของผู้ใช้เหมือนที่บรรดาบริษัท Ad Tech ทำแต่ไหนแต่ไรมา ทำให้สบายใจได้ว่าจะไม่มีการรั่วไหลของข้อมูล หรือเกิดเหตุการณ์อย่าง Data Breach แน่นอน และจะไม่มีการแชร์ให้กับ Partner หรือ Third-Party รายใด ที่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ข้อมูลรั่วไหลเหมือนที่เคยเป็นมา

Photo: https://arstechnica.com/gadgets/2021/04/everybody-hates-floc-googles-tracking-plan-for-chrome-ads/

สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า FLoC ย่อมาจาก Federated Learning of Cohorts ที่จะติดตามพฤติกรรมการออนไลน์ของเราเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือข้อมูลทั้งหมดที่เป็น Digital Footprint ของเรานั้นจะถูกเก็บไว้บนอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือเราเท่านั้น ไม่ถูกส่งออกไปไหน สิ่งที่ถูกส่งออกไปเป็นแค่ Signal หรือสัญญาณยัง Server ส่วนกลางเพื่อบอกให้รู้ว่าเราจัดอยู่ในกลุ่ม Segments of Interest หรือ Behavioural แบบไหน

จากนั้นนักการตลาดที่ต้องการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ ก็สามารถทำการตลาดแบบ Targeted Marketing ได้เหมือนเดิม

เห็นไหมครับว่าวิธีการใช้งานเหมือนเดิม แต่วิธีการทำงานต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง นั่นหมายความว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้น โทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่อง จะมี AI Model Prediction ที่ปรับปรุงจากศูนย์กลางอยู่เสมอ จากนั้นมันก็จะวิเคราะห์พฤติกรรมเราออกมา แล้วค่อยส่งกลับไปจับกลุ่มรวมกับคนที่มีพฤติกรรมคล้ายๆ กันออกมาเป็น Segments ต่างๆ

แต่นั่นหมายความว่าการจะกลับมาย้อนระบุตัวตนว่า ID นี้คือใคร แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย

จากการทดลองพบว่าเทคโนโลยี FLoC นี้มีความแม่นยำถึง 95% เมื่อเทียบกับการใช้ Cookies แบบเดิม นั่นหมายความว่าบริษัท Google เดิมทีที่เคยแข็งแกร่งเรื่องโฆษณาออนไลน์อยู่แล้ว จะยิ่งแข็งแกร่งและกินรวบบริษัท Ad Tech เดิมไปอย่างมหาศาล

ซึ่งแน่นอนว่ากับ Apple ก็ไม่ต่างกัน เพราะเขาเองก็พยายามปิดกั้นบริษัท Ad Tech อื่นๆ ในการเข้าถึง Personal Data เจ้าของเครื่อง iPhone ให้ได้มากที่สุด ทาง Apple เองก็ประกาศว่าจะมีการปิดกั้นการพยายามเชื่อมโยงข้อมูลผู้ใช้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

เพราะแม้ App Tracking Transparency ใน iOS 14.5 จะถูกประกาศยกระดับเรื่อง Privacy ออกมา แต่บริษัทโฆษณามือถือต่างก็เรียนรู้จะหาทางปรับตัว ไม่ง้อการเชื่อมโยง Third-party data ข้ามแอพแบบเดิมที่เคยทำ

ไม่ง้อ IDFA ของ Apple ในการระบุตัวตน แต่พวกเขาหาวิธีการใหม่ในการระบุตัวเครื่องและการตั้งค่าของเครื่องแทน แล้วก็เอา ip มาเชื่อมโยงพฤติกรรมให้ได้ใกล้เคียงเดิมที่เคยทำ แต่ทาง apple ก็ออกมาแก้เกมด้วยการต่อไปนี้ ip ของผู้ใช้ iphone จะเป็นสร้างขึ้นมาใหม่แบบชั่วคราวทุกครั้ง

เพื่อให้ยากยิ่งกว่าในการติดตามตัวย้อนกลับไปว่าคนล่าสุดคนนี้เป็นใครจากก่อนหน้า เพราะไม่มีอะไรให้เชื่อมโยงได้ง่ายเหมือน ip

Photo: https://mobiledevmemo.com/how-apple-might-break-fingerprinting-in-ios-16/

เจ้าสิ่งนี้ Apple เรียกมันว่า Private Relay System ซึ่งน่าจะเริ่มประกาศใช้ใน iOS 16 ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี่แหละครับ

เพราะการระบุตัวตนด้วยการตั้งค่าบนอุปกรณ์ หรือ parameters device ถูกระบุว่าเป็น PII มานานแล้ว ดูเหมือนว่า ATT ของ Apple ยังมีอะไรให้ต้องปรับปรุงอีกมาก เพราะแค่เชื่อม ip ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ง้อ IDFA ของ Apple มีชื่อว่า PIAUDP ย่อมาจาก Probabilistic Install Attribution Using Device Parameters หรือ Probabilistic identification ก็คือระบุตัวตนจากการตั้งค่าเครื่อง การตั้งค่าโปรแกรม การใช้งานเครื่อง แทน IP แบบเดิม แต่มันก็ยังถือว่าเป็น PII อยู่ดี

และทั้งหมดนี้ก็บอกให้รู้ว่า ภายใต้นโยบายสวยหรูที่เรียกว่า Privacy ดูเหมือนจะเป็นเกมกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัท Apple กับ Google รวมถึง Device ต่างๆ ในรอบถัดไป นี่คือการพยายามตัดตัวกลางที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วผันตัวมาเป็นบริษัท Ad Tech ยุค Privacy แทน

และนั่นก็นำมาสู่ Solution ใหม่ที่ดูจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวในยุค Privacy กับ Universal Web Cookies ที่เปิดให้ทุกบริษัทสามารถเข้าร่วมและแชร์ข้อมูลกันได้แบบง่ายๆ (สองปีก่อนผมก็เคยมีไอเดียแบบนี้) กับ Unified ID 2.0

Unified ID 2.0 เมื่อ First-Party Data ของเราคนเดียวไม่มีค่า แต่เมื่อเอามารวมกับ Partner นับล้าน รับรองว่าคุณค่ามหาศาลแน่

Photo: https://www.thetradedesk.com/us/news/as-unified-id-2-moves-to-open-source-heres-what-it-means-for-the-ad-industry

ปัญหาอย่างหนึ่งของยุค Data-Driven Marketing คือ บริษัทส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ทำให้มี Data อยู่น้อยนิด เวลานำมาทำ Analytics วิเคราะห์ใช้งานก็จะไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ ผิดกับบริษัทใหญ่ที่มี Data มากมายหลากหลายมิติ นั่นหมายความว่า Data ของเขามีความ Enrich การจะหยิบจับมาบิดวิเคราะห์ก็ยิ่งเกิด Value หรือเห็น Insight มากมาย

จึงมีคนคิดอาสาเป็นตัวกลางทำ Universal Web Cookies ขึ้นมาให้ทุกคนที่ต้องการมาร่วมใช้ร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลงว่าเราจะแชร์ข้อมูลระหว่างเรากันเอาไม่ใช่ใครอื่น ดังนั้นนี่คือธุรกิจแบบ Network Effect ยิ่งมีเว็บไซต์เข้าร่วมมากเท่าไหร่ ความ Enrich ของ Data ก็จะยิ่งเกิดขึ้นมากมายเท่าทวีคูณ

The Trade Desk บริษัท Demand-side platform กำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า Unified ID 2.0 แถมยังเป็น Open-source ที่จะติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งานแม้จะข้ามเว็บ หรือข้ามหน้าจอ ให้รู้ว่าเป็นคนคนเดียวกัน

Photo: https://alikeaudience.com/alikeaudience-supports-unified-id-2-0-ushering-in-a-new-era-of-identity/

จะใช้การระบุตัวตนไม่ว่าจาก email หรือ เบอร์โทรศัพท์ แต่จะเอาข้อมูลทั้งหมดเข้ารหัสที่ถอดไม่ได้ โดย Unified ID 2.0 นี้ต้องการแค่ให้ผู้ใช้ล็อคอินเมื่อเข้าเว็บไซต์ อารมณ์ก็เหมือน login แห่งชาติบนออนไลน์ ที่ทำโดย Demand-side platform รายนี้ แต่เปิดให้ทุกเว็บเข้าร่วม

และเมื่อมีการเชื่อมโยงกันก็หมายความว่าเราจะวัด Conversion ได้เหมือนเดิม แต่ข้อดีคือเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ต้องทำ dmp หรือ data ของตัวเอง เราแค่เข้าร่วมแล้วก็รอรับส่วนแบ่ง แต่ส่วนแบ่งจะเป็นเท่าไหร่ก็ว่ากันอีกที

ไม่กี่ปีหลังมานี้เรามักจะเห็น Pop-up เว็บไซต์ต่างๆ ขอเก็บ Cookies แบบถี่มาก เพราะเราจะไม่มี Third-party cookies ให้ใช้แล้ว แต่คนทั่วไปอาจไม่รู้ว่า Cookies ที่เค้าขอเก็บนั้นคืออะไร มันทำงานอย่างไร และให้ไปแล้วจะเป็นอะไรไหม

Cookies มีความสำคัญมากกับโลกอินเทอร์เน็ต ส่วนหนึ่งมันคือค่าใช้จ่ายที่ทำให้เราได้ใช้งานเว็บหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ฟรี เพราะตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา Cookies คือหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ ผ่านโฆษณาออนไลน์ที่แม่นยำแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่ในอีกไม่นานนี้ นโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัวจะก้าวเข้ามา Disrupt โลกออนไลน์ ส่งผลให้ Cookies ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ Third-party cookies ไม่สามารถเก็บและใช้การได้อีกต่อไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และหาทางเลือกใหม่เพื่อมาชดเชยสิ่งที่หายไป

จึงเกิดสิ่งใหม่ที่เรียกว่า Unified ID 2.0 อัพเกรด Third-party cookies เดิมแต่ยังคงสามารถทำการตลาดแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมความชอบได้ดีเหมือนเดิม และที่สำคัญคือ Consumer ควบคุมได้ว่าจะให้หรือไม่ให้อะไรบ้าง

บางคนเชื่อว่า Unified ID 2.0 จะมาแทนที่ Third-party cookies เดิมที่ใช้กัน มาดูกันดีกว่าว่า Unified ID 2.0 ทำงานอย่างไร

แต่ก่อนอื่น Web Cookies คืออะไร?

Cookies คือโค้ด หรือรหัสชุดเล็กๆ บรรทัดสั้นๆ ที่ติดตั้งเข้าไปยัง web browser เราเมื่อเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้ผู้ให้บริการหรือเว็บสามารถจำได้ว่าเราเคยเข้ามาเมื่อไหร่ เข้ามาทำอะไรบ้าง

เช่น ถ้าเราเข้าเว็บซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ เราดูหน้ารองเท้าทิ้งไว้แต่ยังไม่กดซื้อ เมื่อคุณกลับเข้าไปอีกแล้วก็ดูรองเท้าคู่เดิมอีก แต่ก็ยังไม่กดซื้อ ระบบก็จะจดจำได้ว่าคุณคือคนเดียวกันกับคนก่อนหน้าที่เคยมาดูแล้วหนึ่งครับ จากรหัสใน cookie ที่บอกว่าคุณคือใคร

จากนั้นถ้า marketer ฉลาดหน่อยก็จะเริ่มคิดแล้วว่าจะทำการตลาดกับคุณแบบไหน ถ้าเห็นว่าคุณเข้ามาดูถึงสองครั้งในหนึ่งเดือนแต่ยังไม่กดซื้อ แสดงว่าคุณต้องมีความสนใจมากกว่าคนดูแค่ครั้งเดียว ก็อาจจะทำการตลาดกับคุณด้วยรองเท้าคู่นั้นที่คุณเพิ่งดูไป ให้ส่วนลดแบบจำกัดระยะเวลาเพื่อกระตุ้นให้คุณอยากซื้อเร็วขึ้น

แล้วก็อาจจะปรับแต่งเว็บไซต์รอว่าถ้าคุณเข้าครั้งหน้า คุณจะเห็นรองเท้าคู่ที่เคยดูโชว์หราตั้งแต่หน้าแรก

แต่นั่นคือ first-party cookies ลองมาทำความรู้จัก third-party cookies หน่อยดีกว่า

Third-party cookies ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทอื่นอย่าง advertising technology ที่ไม่ใช่เจ้าของ website เจ้าของเว็บไซต์ถ้าอยากหาเงินก็แค่เอาไปติด เช่น google ad sense

จากนั้นเราแค่ทำคอนเทนต์ดีๆ ให้คนเข้ามาดูเยอะๆ อ่านเยอะๆ แล้วบริษัท Ad tech ผู้สร้าง cookies ก็จะเก็บข้อมูลพฤติกรรมคนดูได้มากขึ้น โฆษณาที่ใช่ก็จะปรากฏขึ้น ส่งผลให้คนทำคอนเทนต์มีรายได้จากโฆษณาด้วยการทำคอนเทนต์ให้ดีเท่านั้นเอง

ดังนั้นข้อดีของ cookies คือมันทำให้เราได้ personalized marketing หรือโฆษณาที่ใช่ ที่รู้ใจแบบง่ายๆ เจ้าของเว็บไม่ต้องทำอะไร เพราะบริษัทเจ้าของ cookies ทำทุกอย่างให้หมดแล้ว เพราะยิ่งเก็บข้อมูลได้มากเท่าไหร่ บริษัทโฆษณาก็ยิ่งขายโฆษณานั้นได้แพงยิ่งขึ้น เพราะมันแม่นยำมากขึ้นนั่นเอง

ถ้ามันดีขนาดนี้แล้วทำไม web cookies ถึงกำลังจะหายไป

เพราะ cookies มันโบราณมาก ถูกสร้างขึ้นตอนปี 1994 ผู้สร้าง Netscape web browser ยุคแรกในวันนั้นตระหนักว่า เว็บไซต์เหมือนหูหนวกตาบอด ไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร เพราะไม่มีอะไรยืนยันตัวตน แต่พอมี cookies ทำให้รู้ว่าคนที่เข้ามาดูเคยเข้ามาก่อนหน้านี้หรือเปล่า ทำให้ทำเว็บไปก็หาเงินได้ยาก รู้ว่าแค่มีคนเข้ามาดูบ้าง แต่ไม่รู้ว่าคนที่เข้ามาเป็นใคร นั่นเลยเป็นจุดที่ cookies ถือกำเนิดขึ้นมา

แต่นับจากปีที่กำเนิดขึ้นใน 1994 มาวันนี้รูปแบบการใช้อินเทอร์เน็ตก็พัฒนาไปไกลมาก เราไม่ได้ใช้เน็ตแค่บนคอมพิวเตอร์นั่งโต๊ะอีกต่อไป แต่เรายังใช้บนมือถือ ทีวี และอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ทำให้การใช้ cookies ยิ่งทวีความสำคัญ เพราะ journey ที่ซับซ้อนผ่าน device ที่หลากหลาย ส่งผลให้อุตสหากรรม ad tech ที่ทำเรื่อง cookies มีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน

และด้วยความใหญ่ของธุรกิจส่งผลให้บริษัทเทคอย่าง Apple, Firefox และ Google ทำการจำกัด Third-party cookies แล้วหันมาสร้างระบบ targeting ของตัวเองขึ้นมาแทน

แล้วอุตสาหกรรม Ad Tech จะทำอย่างไรต่อไปหละ

ทางออกนั้นเรียบง่าย อุตสาหกรรม ad tech ต้องเปลี่ยนจาก alternative cookies หรือ third-party cookies ที่แอบเก็บมานาน สู่การเก็บ first-party cookie ที่ขออนุญาตเก็บอย่างเป็นทางการ ด้วยการอธิบายให้ audience เข้าใจว่าให้ data ไปแล้วจะได้อะไรกลับมา และให้ audience ควบคุม personal data ตัวเองได้ (จากเดิมทำอะไรไม่ได้เลย)

Unified ID 2.0 จะเข้ามาทำหน้าที่แทน cookies เดิม ซึ่งจะใช้ email เป็นตัวระบุตัวตนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บหรือแอปต่างๆ หรือแม้แต่ทีวีก็ตาม และก็จะเข้ารหัสเพื่อให้ระบุตัวตนกลับไปไม่ได้ 

ทำไมถึงชื่อ Unified ID

เมื่อผู้ใช้ล็อคอินเข้าเว็บไซต์ด้วยอีเมลของตัวเเอง ข้อมูลนั้นจะถูก Hashed and Salted เติมข้อมูลและเข้ารหัสอีกทีเพื่อให้ยากต่อการถอดรหัสมากขึ้น เพื่อทำให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ถูกเก็บไปประมวลผลปลอดภัยแน่นหนา

ในตอนเช็คอิน consumer จะได้อ่านและทำความเข้าใจว่าเขาจะขอเก็บข้อมูลอะไรเรา เก็บไปเพื่ออะไร เราจะได้อะไร เช่น ได้โฆษณาที่ไม่น่ารำคาญกลับคืนมา จากนั้น consumer จะมีสิทธิ์เข้ามาควบคุม personal data ของตัวเองเต็มที่ จะยกเลิกสิทธิ์การให้ข้อมูลก็ได้

ความสะดวกสบายคือเมื่อเข้าเว็บใหม่เราไม่ต้องล็อคอินอีกครั้ง ถ้าเว็บนั้นเข้าร่วมกับ Unified ID 2.0 ก็จะสามารถล็อคอินเข้าระบบเก็บข้อมูลโดยอัตโนมัติ อารมณ์แบบบัตรรถไฟฟ้าญี่ปุ่น ใบเดียวขึ้นได้ทุกสาย ทุกสี ทุกขบวน

ใครอยู่เบื้องหลัง Unified ID 2.0

ถ้าทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ใช้ Unified ID 2.0 ร่วมกัน ทำให้เป็นมาตรฐานใหม่ที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน แบรนด์ สื่อ คนดู ก็จะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น จะยิ่งทำให้สิ่งนี้แข็งแกร่ง

ตอนนี้หลายๆ บริษัทเทคจับมือกันแล้ว ตั้งแต่ index exchange, magnite, pubmatic, open, spots, criteo, live ramp, neuster ทั้งหมดนี้เข้าร่วม uid 2.0 แล้ว และก็มีสื่ออย่าง mediavine กับ fubotv และ the Washington post เข้าร่วมด้วย ยังมีสื่ออื่นๆ กว่า 100 รายที่พร้อมเข้าร่วมเทคโนโลยีนี้ แม้แต่ nielsen ก็เข้าด้วย จะเป็นการยกระดับการติดตามและระบุตัวตนกลุ่มเป้าหมาย

ถ้างั้น privacy คืออะไร

เมื่อ unified id 2.0 ก็ยังคงขอเก็บข้อมูลและติดตามเพื่อเอาไปประมวลผลทำโฆษณาให้แม่นยำ มันต่างกับ cookies เดิมอย่างไรหละ

  1. Pseudonymization นางแฝงแทนนามจริง ผู้ใช uid 2.0 จะไม่มีการเก็บข้อมูลจริงไว้ในระบบ จะเป็นแค่ชุดตัวเลขข้อมูลที่ระบุตัวตนกลับไปไม่ได้ ไม่ว่าจะอีเมล เบอร์โทร หรือข้อมูลอะไรก็ตาม และ uid 2.0 ก็ไม่มีการเก็บข้อมูลอีเมลผู้ใช้ด้วย
  2. เจ้าของข้อมูลควบคุมเองได้ uid 2.0 อนุญาตให้เจ้าของข้อมูลเข้าถึง ตรวจสอบ และควบคุมข้อมูลตัวเองได้เต็มที่ ดูได้ว่าข้อมูลถูกเอาไปใช้อย่างไรบ้าง
  3. โปร่งใส ทำให้ consumer รู้ว่าโฆษณาที่ตัวเห็นเลือกมาจากอะไร ทำให้เราได้ personalized marketing ที่ดียิ่งขึ้น และจะเป็นการกระตุ้นให้ publisher อ่านฟรีได้เยอะขึ้น เพราะยิ่งทำให้เก็บข้อมูลได้ดีขึ้น เอาไปต่อยอดทำเงินได้มากขึ้น ยิ่ง uid 2.0 สื่อสารผู้ใช้ว่าให้แล้วได้อะไรเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนอยากให้ข้อมูลมากเท่านั้น

สรุป Unified ID 2.0 ไม่ใช่การมาแทนที่ Third-party cookies แต่เป็นการยกระดับการเก็บ Personal Data ข้ามแพลตฟอร์ม

เพราะ Unified ID 2.0 เป็นการยกระดับการเก็บข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม และยังเป็นเครื่องมืออย่างถูกต้องในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แถมยังให้เจ้าของข้อมูลสามารถควบคุมข้อมูลตัวเองได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญกว่านั้นคือทำให้การติดตามวัดผล online advertising เป็นไปได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

อ่านบทความเรื่อง Privacy Marketing การตลาดยุค PDPA ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/privacy/

Source:
https://www.thetradedesk.com/us/news/what-the-tech-is-unified-id-2-0
https://mobiledevmemo.com/how-apple-might-break-fingerprinting-in-ios-16/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน