5 เทรนด์ โลจิสติกส์ประเทศไทยปี 2565

5 เทรนด์ โลจิสติกส์ประเทศไทยปี 2565

ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ตลาดโลจิสติกส์มีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การมียูนิคอร์นเจ้าแรกในประเทศไทย ไปจนถึงการที่ขนส่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้พัสดุค้างคลังสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดเกิดความล่าช้าในการส่งพัสดุ หรือแย่ที่สุดก็คือการที่บริษัทขนส่งที่มีชื่อเสียงต้องปิดตัวลง เป็นต้น 

ยิ่งในยุคที่การแข่งขันสูง บริษัทขนส่งจำเป็นต้องรีบปรับตัว เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้คำนึงถึงแค่เรื่องของราคาค่าส่งเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และต่อไปนี้คือ 5 เทรนด์สำคัญที่เราจะได้เห็นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ประเทศไทยในปี 2565 นี้ครับ

1. สงครามราคา แข่งขันกันดุเดือด

ปัจจุบันประเทศไทยมีขนส่งหลายรายที่ต่างก็ต้องแย่งชิงลูกค้ากัน ก่อนหน้านี้เราเห็นหลายขนส่งงัดกลยุทธ์มาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดึงดาราขึ้นแท่นพรีเซ็นเตอร์ เช่น

  • คุณติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี พรีเซ็นเตอร์ของ Flash Express
  • คุณมาริโอ้ เมาเร่อ พรีเซ็นเตอร์ของ J&T Express
  • คุณเวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ พรีเซ็นเตอร์ของ Kerry Express
  • คุณณเดชน์ คูกิมิยะ พรีเซ็นเตอร์ของ Best Express

แต่ในความจริงพรีเซ็นเตอร์กลับไม่ได้มีผลในด้านการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มคนที่เป็นคนขายของออนไลน์ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ขนส่งจาก “ราคาค่าส่ง” เป็นหลัก นั่นจึงเริ่มเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามราคา”

หลายขนส่งหันมาจัดโปรโมชั่นลดราคากันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การลดราคาเฉพาะวันที่กำหนด หรือการลดราคาเฉพาะช่วงน้ำหนักที่กำหนด เป็นต้น เมื่อการแข่งขันด้านราคาเริ่มดุเดือด ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์นั่นก็คือ “ผู้บริโภค” สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคเมื่อเจอขนส่งอื่นที่ราคาถูกกว่า ก็จะย้ายค่ายทันที แน่นอนว่าด้านขนส่งเองก็จะต้องทุ่มเงินกันมหาศาลเลย แต่ในขณะเดียวกันสำหรับขนส่งที่ไม่สามารถต่อสู้ในสงครามนี้ได้ ก็ต้องยกธงขาวพ่ายแพ้ไป ประกาศเลิกกิจการอย่างกระทันหัน เช่น Alpha Fast ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถต่อสู้ในอุตสาหกรรมนี้ได้อีกต่อไป

2. แฟรนไชส์ร้านรับฝากพัสดุ จะเกิดขึ้นใหม่อีกหลายแบรนด์

ในวันที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น การใช้งานขนส่งรูปแบบออนไลน์เป็นบริการพื้นฐานที่บริษัทขนส่งจำเป็นต้องพัฒนา เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า แต่รู้หรือไม่ ส่วนแบ่งการตลาดที่เป็นการขนส่งทางออฟไลน์ หรือร้านรับฝากนั้น กลับโตมากกว่าออนไลน์เสียอีก แสดงให้เห็นว่า ยังมีพื้นที่สำหรับร้านรับฝากพัสดุอยู่ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ต้องการส่งพัสดุกับสาขาโดยตรงมากกว่า ทำให้ขนส่งที่อยากครอบครองพื้นที่นี้  เริ่มหันมาทำธุรกิจรูปแบบ “แฟรนไชส์” กันมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์จากบริษัทขนส่งโดยตรง หรือแฟรนไชส์ตัวกลางที่รวบรวมขนส่งเอาไว้ในที่เดียว เกิดขึ้นมามากมายเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสก้าวเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจขนส่งที่กำลังมาแรงในช่วง COVID-19 


ลักษณะของแฟรนไชส์ขนส่งส่วนใหญ่จะทำออกมาเป็น 2 รูปแบบ 

  1. Shop : ร้านรับฝากพัสดุที่ทำหน้าที่รับพัสดุและสร้างรายการส่งของให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ รายได้มาจากส่วนต่างกำไรของค่าส่งพัสดุ + ค่าอุปกรณ์ หรืออาจจะมีบริการเสริมอื่นๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายของสำนักงานใหญ่
  2. Drop Point : จุดให้บริการรับ-ส่งสินค้าขนาดเล็ก ที่ เปิดให้บริการแบบกระจายตัวตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้บริการเป็นเพียงจุดรับพัสดุเพียงอย่างเดียว

ในแง่ของการตลาดนั้นการทำแฟรนไชส์ของบริษัทขนส่ง คือการขยายแบรนด์เข้าไปให้พื้นที่ชุมชนมากยิ่งขึ้น นอกจากสาขาแฟรนไชส์จะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าแล้ว การตกแต่งหน้าร้าน สี หรือโลโก้ที่ชัดเจน โดดเด่นจะช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ขนส่งแก่ผู้ที่ผ่านไปมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทขนส่ง 

เพราะเราจะเห็นได้ว่า บางบริษัทก็มีนโยบายลงทุนน้อย เปิดได้ทันที ที่ช่วยให้จำนวนสาขาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บางบริษัทมีค่าลงทุนสูง + มีการเก็บค่าแฟรนไชส์รายเดือน เพื่อนำไปพัฒนาระบบ และเป็นค่าการตลาดให้สาขาหรือแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้ “แฟรนไชส์” นับว่าเป็นอีกนึงเทรนด์ที่ขนส่งต้องให้ความสนใจ และเกิดการแข่งขันที่ดุเดือดในปีนี้อย่างแน่นอน แต่ในด้านของผู้บริโภคก็ถือเป็นโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ตอบรับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซได้เป็นอย่างดี ใครที่มีความฝันอยากเปิดร้านทำธุรกิจในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลห้ามพลาด แต่อย่าลืมศึกษารายละเอียดทุกครั้งก่อนเริ่มลงทุน 

3. สงครามเย็นมาแน่

ตลาดโลจิสติกส์มีแค่ส่งพัสดุด่วนอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว เนื่องจากปัจจุบันตลาดขนส่งสินค้าแบบ “ควบคุมอุณหภูมิ” กำลังจะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายขนส่งจะต้องทำ ในอดีตที่ผ่านมาหากเราจะเลือกส่งสินค้าแช่เย็น/แช่แข็ง จะมีขนส่งให้เลือกใช้บริการแค่ไม่กี่รายเท่านั้น เช่น Inter Express, SCG Express เป็นต้น แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ในการจัดส่ง รถที่ใช้ในการขนส่ง เทคโนโลยีการติดตามพัสดุ ฯลฯ

ในขณะเดียวกันแต่ละขนส่งมักจะมีจุดเด่นหรือจุดแข็งของตัวเองที่แตกต่างกัน เมื่อขนส่งต้องการลุยตลาดขนส่งควบคุมอุณหภูมิแต่รู้จุดด้อยของแบรนด์ตัวเอง การหันมาจับมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการจัดส่งจึงเป็นอีกทางออกที่สนใจ ยกตัวอย่างเช่น ‘FUZE POST’ ขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน ที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 แบรนด์ขนส่งเจ้าดังอย่าง ไปรษณีย์ไทย Flash Express และ JWD Express

4. ส่งในไทยอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องลุยต่างประเทศ

ผู้บริโภคหลายรายเวลาต้องการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ และมักจะไม่รู้จะต้องติดต่อกับขนส่งเจ้าใด ต้องดำเนินการเอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากปัจจุบันเรามีขนส่งที่ส่งไปยังต่างประเทศไม่มากเท่าไหร่นัก ผู้บริโภคหลายรายจึงเลือกส่งผ่านขนส่งเจ้าดังอย่าง DHL Express, Aramex ฯลฯ และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นตัวกลางรวบรวมขนส่งที่จัดส่งพัสดุไปต่างประเทศ เนื่องจากต้องการลดขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ 

แต่ปัจจุบันขนส่งเอกชนในไทย เมื่อจำนวนการจัดส่งพัสดุในไทยมียอดมากพอก็เริ่มต่อยอดด้วยการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ถือว่าได้เปรียบอยู่เหมือนกัน เนื่องจากผู้บริโภครู้จักแบรนด์และคุ้นชินกับแบรนด์ในระดับนึงแล้ว การเดินทางเข้าไปที่สาขาเพื่อจัดส่งพัสดุก็ทำได้ง่ายและสะดวกต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เช่น

  • Best Express  ให้บริการส่งพัสดุจากไทย ไปยังประเทศจีน, มาเลเซีย และมีแผนที่จะขยายไปยังประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาวในอนาคต
  • J&T Express ให้บริการส่งพัสดุจากไทย ไปยังประเทศจีน, มาเลเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, กัมพูชา และฟิลิปปินส์

ดังนั้นผู้บริโภคที่ต้องการส่งพัสดุไปยังต่างประเทศ จะมีทางเลือกกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย หรือประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนี้เราคงเห็นหลายขนส่งเจาะตลาดประเทศกันมากยิ่งขึ้น และจากเดิมที่มีแต่ส่งออก ก็อาจจะขยายไปสู่การนำเข้าสินค้าด้วยเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเจาะตลาดคนขายของออนไลน์ได้เป็นอย่างดี

5. ขนส่งลุยทำ Fulfillment เป็นตัวเอง เจาะคนขายออนไลน์อย่างครบวงจร

บริการเก็บ-แพ็ค-ส่ง หรือบริการคลังสินค้าออนไลน์ (Fulfillment) เป็นอีกหนึ่งบริการยอดฮิตสำหรับคนขายของออนไลน์ และแบรนด์ดังเจ้าใหญ่ที่ไม่อยากสต๊อกสินค้าเอง การให้บริการหลัก ๆ คือ

  • เก็บ : เก็บสินค้าไว้ที่โกดังสินค้า ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบทั้งแบบโกดังธรรมดา และโกดังแบบห้องควบคุมอุณหภูมิ
  • แพ็ค : เมื่อมีออเดอร์เข้ามา ทางโกดังจะหยิบสินค้า และแพ็คสินค้าลงกล่องพัสดุ
  • ส่ง : เมื่อแพ็คเสร็จแล้ว จะทำการจัดส่งพัสดุทันที

ปัจจุบันในไทยมีหลายบริษัทที่เปิดให้บริการ Fulfillment และทำการเชื่อมต่อระบบกับขนส่งรายใหญ่ในไทย แต่ในปีนี้จะแตกต่างออกไป เนื่องจากตัวขนส่งเองจะเข้ามาทำบริการ Fulfillment ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากกว่าเดิม เก็บ Data ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และสามารถเจาะกลุ่มคนขายของออนไลน์ได้ดี สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคและให้บริการได้อย่างครบวงจร

เมื่อขนส่งเข้ามาทำด้วยตัวเอง นั่นแปลว่าเขาจะสามารถควบคุมค่าส่งได้เองทั้งหมด หากลูกค้าเลือกใช้บริการ Fulfillment กับขนส่งตรงก็จะได้เรทค่าส่งราคาถูก ในขณะเดียวกันบริการ Fulfillment เจ้าเก่าที่มีอยู่ ก็อาจได้รับผลกระทบเรื่องของเรทราคาค่าส่งเช่นเดียวกัน เพราะขนส่งเองคงไม่ปล่อยให้ลูกค้าหันไปใช้บริการของคู่แข่งมากกว่าบริการตัวเองอย่างแน่นอน 

สำหรับขนส่งที่เปิดให้บริการแล้ว อาทิเช่น THP Fulfillment (ไปรษณีย์ไทย), Flash Fulfillment, SCG Fulfillment, JWD Fulfillment

Sutthikead Chantarachairoj

โมชิ จากโปรแกรมเมอร์ ต่างจังหวัด สู่นักธุรกิจ Startup SHIPPOP.COM ทำรายได้มากกว่า 500 ล้านต่อปี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา โค้ช และนักลงทุน ให้กับ SME และ Startup ชั้นนำหลายเจ้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *