Fear-Based Marketing สร้าง Awareness ฉบับ Dyson ชี้ไทยอากาศยอดแย่

Fear-Based Marketing สร้าง Awareness ฉบับ Dyson ชี้ไทยอากาศยอดแย่

สวัสดีนักการตลาดและนักอ่านทุกคนนะคะ บทความนี้จะพาทุกคนมาดู Fear-Based Marketing กัน ผสมการสร้าง Awareness ในแบบฉบับ Dyson ผ่านการชี้ให้คนเห็นว่าอากาศในอาคารของไทยนั้นมันช่างยอดแย่ติดอันดับโลกเลยทีเดียว

โดย Dyson เผยผลลัพธ์โครงการวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศระดับโลก (Global Connected Air Quality Data project) เป็นครั้งแรก โดยศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศภายในอาคาร ที่รวบรวมโดยเครื่องฟอกอากาศ Dyson กว่า 2.5 ล้านเครื่อง ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566

การศึกษานี้เก็บข้อมูลทั้งขนาดของเม็ดฝุ่น ชนิดของก๊าซ และอนุภาคมลพิษต่าง ๆ ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้มตามวัน เดือน ฤดู และตลอดทั้งปี โดยข้อมูลทั้งหมดเก็บรวบรวมมาจากเครื่องฟอกอากาศ Dyson ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน MyDyson™ 

ดังนั้นทุกคนมั่นใจได้ค่ะว่าปริมาณข้อมูลที่รวบรวมได้มากกว่าห้าแสนล้านชุด สามารถสะท้อนภาพรวมของสถานการณ์คุณภาพอากาศภายในครัวเรือนของเมืองใหญ่และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และที่สำคัญช่วยสร้างความเข้าใจและ Awareness ถึงปัญหามลพิษทางอากาศภายในอาคารแน่ ๆ

ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในไทย สูงเกินมาตรฐานที่ WHO ระบุไว้เกือบ 3 เท่า

เมื่อนำระดับ PM2.5 โดยเฉลี่ยของแต่ละประเทศมาจัดอันดับ ประเทศไทยนี่เรียกได้ว่าติดอยู่ใน 15 อันดับแรกของประเทศที่มีคุณภาพอากาศภายในครัวเรือนแย่ที่สุดในโลกเลยค่ะ

จากระดับ PM2.5 โดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 14.70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งประเทศไทยตรวจพบระดับ PM2.5 สูงเกินจากเกณฑ์มาตรฐานไปกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือพูดง่าย ๆ คือเกือบ 200% เลยทีเดียว

และจากข้อมูลดังกล่าวยังพบว่า ในทุกเดือนตลอดปีที่ผ่านมาจะมีระดับ PM2.5 ภายในครัวเรือนสูงเกินจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุไว้ โดยในปี 2022 พบระดับต่ำสุดอยู่ที่ 6.68 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในเดือนสิงหาคม และสูงสุดถึง 21.99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในเดือนเมษายน

เช่นเดียวกับระดับ PM2.5 ภายนอกอาคารโดยเฉลี่ยต่อปีของประเทศไทยตรวจพบอยู่ที่ 22.36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินจากค่ามาตรฐานที่ WHO ได้กำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 350% โดยประมาณ

ทั่วโลกรวมถึงไทย ไม่ชอบใช้โหมด Auto ในเครื่องฟอกอากาศ

แต่แม้ว่าอากาศทั้งภายนอกและภายในจะแย่ แต่จากสถิติทั่วโลกพบว่ามีเพียง 8% ของผู้ใช้งานเครื่องฟอกอากาศ Dyson ที่จะเปิดระบบโหมดอัตโนมัติมากกว่า 3 ใน 4 ของช่วงเวลาที่ใช้งาน ซึ่งการทำงานของโหมดนี้จะเป็นการช่วยตรวจสอบคุณภาพอากาศและช่วยกรองมลพิษที่ตรวจพบทันทีโดยอัตโนมัติ 

ชี้ให้เห็นว่าโดยทั่วไปแล้วคนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก เพราะไม่ได้มีการเปิดใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อกำจัดมลพิษภายในครัวเรือน แต่มีประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในลำดับต้น ๆ ในการเปิดใช้เครื่องฟอกอากาศในโหมดอัตโนมัติ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 14%

ผลสำรวจพบว่าเมืองบางแห่งที่มีอัตราการใช้งานเครื่องฟอกอากาศในโหมดอัตโนมัติต่ำ แน่นอนว่าจะมีค่าระดับมลพิษที่สูงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะค่า PM2.5 เช่น เชินเจิ้น (2.2%) เม็กซิโกซิตี้ (2.4%) และเซี่ยงไฮ้ (3%) ซึ่งเป็นเมืองที่มีการเปิดใช้งานเครื่องฟอกอากาศในโหมดอัตโนมัติต่ำที่สุด 

ส่วนในประเทศไทยของเรามีเพียง 4% เท่านั้น ที่เปิดใช้โหมด Auto แม้ว่าระดับมลพิษภายในครัวเรือนจะสูงมากแค่ไหนหรืออยู่ในช่วงของฤดูกาลที่มีหมอกควันมากก็ตาม

มาถึง Fear-Based Marketing ทำให้คนกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น

เปิดหัวข้อมาแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องผีแต่อย่างใดค่ะ แต่พูดถึงเรื่องฝุ่นหรือ PM 2.5 แน่นอนว่าอนุภาคเล็กจิ๋วเหล่านี้เราไม่สามารถจะมองมันเห็นแบบทะลุปรุโปร่งได้ด้วยตาเปล่า (เว้นแต่มันอยู่รวม ๆ กันในอากาศแล้วสงสัยกันทุกเช้าว่าฝุ่นหรือหมอก) แต่ความน่ากลัวก็คือมันสามารถเข้ามาในระบบทางเดินหายใจของเราได้ค่ะ

พวกอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากการเผาไหม้ เตาเผาไม้ การทำอาหารและทำความร้อนด้วยแก๊ส ขนสัตว์เลี้ยง เถ้าและฝุ่นต่าง ๆ

ส่วนสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ก็เป็นอีกมลภาวะที่อยู่ในสถานะก๊าซ รวมถึงพวกเบนซีนและฟอร์มัลดีไฮด์ อาจปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้านของเรานี่แหละค่ะ เช่น การทำความสะอาดหรือการทำอาหารด้วยแก๊ส ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย บอดี้สเปรย์ เทียน เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน

พูดแล้วความเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่เรากลับมองข้ามไปและไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองมากเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสุขภาพและโรคที่ร้ายแรงเฉียบพลันและเรื้อรังมากมาย รวมถึงโรคมะเร็งและผลกระทบต่อระบบเลือดได้เลยทีเดียว

ดังนั้น Dyson ในฐานะแบรนด์เทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มทำความสะอาด เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น สำหรับผู้เขียนจึงมีมุมมองว่าการที่ Dyson หันมาทำการวิจัยหรือศึกษาเรื่องนี้ พร้อมออกมาตีแผ่ให้ชาวโลกได้รู้ ก็เพื่อให้เกิด Awareness กันมากขึ้น ให้คนรู้สึกกลัวและต้องการหาสินค้าดี ๆ สักชิ้นมาป้องกันตัวเอง

ตัวอย่าง Fear-Based Marketing อื่น ๆ ที่ทุกคนคงเคยเห็นและนึกภาพออกง่าย ๆ คือการขายความกลัว เช่น กลัวผิวเหี่ยวก็ซื้อครีมบำรุง กลัวความเสี่ยงก็ซื้อประกัน เป็นต้น เรื่องนี้ก็เหมือนกันค่ะ ยิ่งรู้สึกว่า โห ไอสิ่งที่เรามองไม่เห็น อย่างฝุ่นผงเล็ก ๆ นี่หรอ ที่มีโอกาสทำให้เราถึงขั้นป่วยหรือเสียชีวิตได้เลยเช่นกัน

สร้าง Awareness เพราะยิ่งกลัวก็ยิ่งขายได้

เมื่อเกิดความกลัวแล้ว คงไม่กลัวอย่างเดียวแล้วไม่ทำอะไร เพราะ Step ต่อไปก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหา คนก็จะเริ่มคิดแล้วว่าฉันจะหาสินค้าหรือบริการตัวไหนมาช่วยป้องกันหรือรักษาความกลัวนี้ได้บ้าง

ดังนั้นข้อมูลคุณภาพอากาศที่รวบรวมโดย Dyson นี้ จะเป็นส่วนช่วยให้อย่างแรกเลยคือสร้าง Awareness ให้คนเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของมลพิษทางอากาศภายในอาคารทั่วโลก ล้างความคิดที่ว่าคุณภาพอากาศภายนอกอาคารต้องแย่กว่าภายในอาคารเสมอ แต่ช่วยสร้างความเข้าใจให้ผู้คนในมุมของมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือนด้วย 

อีกทั้งข้อมูลที่ Dyson รวบรวมมา ยังช่วยให้เจ้าของบ้านแต่ละคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ข้อมูลนี้จะถูกแบ่งปันผ่านแอปฯ MyDyson™ ในแบบเรียลไทม์และแบบรายงานประจำเดือนอีกด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้เครื่องฟอกอากาศ มีความเข้าใจคุณภาพอากาศในบ้านของตนได้ดีขึ้น

Fear-Based Marketing สร้าง Awareness ฉบับ Dyson ชี้ไทยอากาศยอดแย่

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับในบทความนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ Fear-Based Marketing สร้าง Awareness ฉบับ Dyson ด้วยการชี้ให้เห็นว่าไทยมีอากาศในครัวเรือนยอดแย่ เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการสื่อสารการตลาดที่เริ่มพื้นฐานด้วยการทำให้คนรู้สึกกลัว ในเคสนี้คือกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นอีกด้วย ดังนั้นการให้ข้อมูลความรู้ หรือผลวิจัยเป็นตัวเลขชัดเจน จะยิ่งเป็นวิธีที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้คนรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง น่ากลัวจริง ส่งผลต่อสุขภาพเราจริง 

เป็นการสร้าง Awareness ที่ดีในแบบฉบับของ Dyson ต้องขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ ด้วยค่ะ สำหรับใครหรือธุรกิจไหนที่เกิดไอเดียใหม่ ๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน แต่ก็อย่าลืมดูความเหมาะสมและสื่อสารมันอย่างจริงใจด้วยนะคะ

และทุกคนสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter Youtube และ Blockdit ได้เลย

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

One thought on “Fear-Based Marketing สร้าง Awareness ฉบับ Dyson ชี้ไทยอากาศยอดแย่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *