สรุป Insight & Digital Stat Thai 2022 พฤติกรรมการออนไลน์ของคนไทย We Are Social

สรุป Insight & Digital Stat Thai 2022 พฤติกรรมการออนไลน์ของคนไทย We Are Social

กลับมาอีกครั้งเป็นประจำทุกต้นปีกับรายงาน Digital Stat 2022 สรุป Insight & Bahaviour ภาพรวมบนโลกดิจิทัลหรือพฤติกรรมการออนไลน์ของผู้คนที่เปลี่ยนไปในปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าข้อมูลชุดนี้สำคัญต่อนักการตลาดออนไลน์หรือ Digital Marketer อย่างมาก เพราะเรามักอ้างอิงการตัดสินใจต่างๆ ในการวางแผนการตลาดจากข้อมูลของรายงานชุดนี้เป็นประจำ จากรายงานกว่า 300 หน้า ผมขอคัดแต่หน้าที่คิดว่าสำคัญต่อวางการการตลาดออนไลน์ไทย เพื่อให้เราได้เห็นว่า Digital Consumer ไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน และเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับทั่วโลกครับ

ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลยดีกว่าครับ รับรองว่ามีอะไรให้ต้องอ่านแล้วเอาไปคิดต่อเยอะมากเลยปีนี้

1. Digital Users โตแซงหน้าประชากรเกิดใหม่ถึง 4 เท่า!

ดูเหมือนว่าอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือ Digital Uses จะยังคงเติบโตได้อีก และเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโลที่เพิ่มขึ้นแค่ 80 ล้านคน ซึ่งนับเป็นแค่ 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกลับเพิ่มขึ้นถึง 4% เมื่อเทียบกับจำนวน Internet Users เดิมเมื่อปีที่แล้ว แถมจำนวนผู้ใช้งาน Social media users ที่ยังเติบโตได้อย่างมหาศาลกว่า 10.1% เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เกิดใหม่ที่มีแค่ 1% ก็นับว่าสูงกว่าถึง 10 เท่าเลยทีเดียว

2. ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไปแล้ว

ด้วยค่าเฉลี่ยอายุของประชากรของไทยที่สูงถึง 40.9 แล้วในปี 2022 นี้ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่แค่ 31.4 เรียกได้ว่าประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยไปแล้ว ตัวเลขนี้มีความน่าเป็นห่วงเพราะประเทศไทยในวันนี้ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และก็ดูเหมือนจะเป็นแบบนั้นไปอีกยาวนาน

น่าสนใจว่าในอีกสัก 10 ปีข้างหน้าตัวเลขนี้ก็คงขยับปรับฐานขึ้นไปอีก และด้วยเทคโนโลยีหรือความพร้อมของประเทศไทยเองคงทำให้ภาพรวมของประเทศลำบากไม่น้อย

แต่ในขณะเดียวกันถ้าเรามองวิกฤตให้เป็นโอกาสก็บอกให้รู้ว่านักธุรกิจที่ฉลาดๆ เริ่มมองหาโอกาสจากตลาดสังคมผู้สูงวัยกันแล้ว การเกิดขึ้นของเพจที่รวมความรู้ของธุรกิจเจาะกลุ่ม Silver Age 50+ ที่มีมากขึ้นทุกวัน

3. GDP Per Capita รายได้ต่อหัวคนไทยปี 2022 อยู่ที่ 18,236 ดอลลาร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกนิดนึง

น่าสนใจเมื่อได้เห็นว่ารายได้ต่อหัวประชากรไทยต้นปี 2022 นี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและจีนอยู่นิดนึง อยู่ที่ 18,236 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบเป็นเงินไทยก็ราวๆ 600,000 บาท ฟังดูสูงอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะครับเมื่อดูจากสภาพความเป็นจริงของคนไทยที่ยังต้องหาเช้ากินค่ำมากมาย เลยไม่แน่ใจว่าข้อมูลนี้อาจสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างคนจนกับคนรวยหรือเปล่า

แต่ที่สูงที่สุดในโลกก็ยังคงเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราสิงค์โปร นำโด่งไปถึง 98,526 ดอลลาร์ หรือปีละสามล้านกว่าบาท ตามมาติดๆ ด้วย Ireland ครับ (อยากรู้เลยว่าประเทศนี้รวยจากอะไร)

4. สัดส่วนการเป็นเจ้าของ Digital Device ในปี 2022

Smartphone กลายเป็นอุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่บนโลกมีเป็นของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เพราะตัวเลขการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนสูงถึง 96.2% (ตัวเลขคนไทยอยู่ที่ 98.9% ในปีก่อน) ตามมาด้วยคอมพิวเตอร์ก็สูงถึง 63.1% ที่น่าสนใจคือการเป็นเจ้าของอุปกรณ์อย่าง Smart watch หรือพวก Apple Watch ที่สูงถึง 27.4% โตขึ้นจากปีก่อนถึง 17.6% Smart TV 15.5% โตขึ้นจากปีก่อน 7.6% และอุปกรณ์อย่างแว่น VR ที่มากถึง 4.8% สูงขึ้นจากปีก่อน 9.1% ครับ

ซึ่งน่าติดตามว่าตัวเลขนี้ในปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะมันจะสะท้อนถึงความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุค Metaverse มากขึ้นทุกที

5. การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 2022 กลับมาเป็นปกติ

ถ้าเราดูจากเทรนด์การเติบโตจะเห็นว่าตัวเลขระหว่างปี 2020-2021 นั้นเป็นอะไรที่โตอย่างก้าวกระโดดถ้าเทียบกับปีก่อนกว่า 50% แต่พอปีล่าสุดนั้นตัวเลขการเติบโตดูจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เหตุผลน่าจะมาจากคนที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตโกออนไลน์หมดแล้ว ที่เหลือที่ยังเติบโตได้ก็คือกลุ่มคนใหม่ๆ ที่ต้องเข้าสู่อินเทอร์เน็ตตามปกติครับ

สรุปออนไลน์ทั่วโลกยังโตได้ แต่ไม่ก้าวกระโดดต่อเนื่องแบบปีก่อนครับ

6. อัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือกลับมาเป็นปกติ

เช่นเดียวกันกับข้อมูลของการเติบโตผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยก้าวกระโดดอย่างมากในช่วงปี 2019-2020 จากการล็อกดาวน์พร้อมกันทั่วโลก แต่เมื่อเริ่มคลายล็อกดาวน์และเรารู้วิธีที่จะใช้ชีวิตท่ามกลางภาวะโรคระบาดนี้แล้วก็พบว่า ตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่แน่ว่าอาจใกล้ถึงจุดอิ่มตัวของตลาดผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกแล้วครับ

7. คนไทย 77% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว

ต้นปี 2022 นี้จะเห็นว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 77% ไม่ขยับจากปีก่อนมาก แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 62.5% แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นกลุ่มประเทศที่ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้กว่า 90% เยอะขึ้นมาก จนดูเหมือนว่าเรายังมีช่องว่างอีกมากให้พัฒนา ต้องรอดูว่าอีกนานแค่ไหนกว่าคนไทย 90% อัพจะกลายเป็น Internet users เสียที

8. คนไทยปี 2022 ติดอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 7 ของโลก ใช้วันละ 9.06 ชั่วโมง

จากรายงาน Data Report Digital Stat 2022 ล่าสุดบอกให้รู้ว่าคนไทยเองใช้อินเทอร์เน็ตไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก เพราะสูงถึง 9:06 ชั่วโมง จนกลายเป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งที่หนึ่งคือประเทศเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ บราซิล โคลอมเบีย อาร์เจนตินา และมาเลเซีย ก่อนจะเป็นไทยเรา ซึ่งตัวเลขค่าเฉลี่ยโลกก็อยู่ที่แค่ 6:58 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ถือว่าเป็นพัฒนาการที่น่ายินดีครับ

9. คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

แม้ตัวเลขการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมคนไทยจะอยู่อันดับที่ 7 แต่พอเป็นตัวเลขจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือกลับสูงเป็นอันดับสองของโลก อยู่ที่ 5:28 นาที ตามอันดับหนึ่งของโลกอย่างฟิลิปปินส์แค่ 19 นาทีเท่านั้นเอง

10. คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์เป็นอันดับ 18 ของโลก ในปี 2022

แม้อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมเราจะไม่น้อยหน้าใคร แต่พอเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะ Desktop หรือ Notebook กลับมีจำนวนชั่วโมงที่น้อยแค่ 3:38 ชั่วโมง จนอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลกครับ

นั่นหมายความว่ายังมีประชากรอีกมากที่ยังขาดเครื่องมือในการเรียนรู้หรือใช้ทำงานที่โทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำได้ นี่ยังคงเป็นช่องว่างในตลาดที่บริษัทคอมพิวเตอร์ต่างๆ สามารถเข้าไปทำยอดขายให้เศรษฐกิจออนไลน์ของไทยโดยรวมโตขึ้นได้อีกเยอะ

11. ตัวเลขการใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละ Genetation

ถ้าดูจากข้อมูลนี้จะเห็นว่ายิ่งอายุน้อยเท่าไหร่ยิ่งใช้อินเทอร์เน็ตมากเท่านั้น ในกลุ่มคนวัย Gen Z มีแนวโน้มจะใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 8 ชั่วโมงกว่า เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย ส่วนในช่วง Gen X กลับเป็นผู้ชายที่ใช้มากกว่าผู้หญิงนิดหน่อย แต่ในวัย 55+ เองก็มีจำนวนการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้น้อยแต่อย่างไร เพราะสูงถึง 5 ชั่วโมงหน่อยๆ เลยทีเดียว

12. คนเราใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไร?

จากข้อมูลบอกให้รู้ว่าอันดับหนึ่งคือเพื่อหาข้อมูลที่ตัวเองอยากรู้ อันดับสองยังคงเป็นเพื่อติดต่อกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว อันดับสามคืออัพเดทข่าวคราวต่างๆ อันดับสี่คือเอาไว้ใช้ดูวิดีโอหลายๆ ประเทศ อันดับห้าเอาไว้สำหรับหาข้อมูลเวลาอยากทำอะไรสักอย่างให้ได้

13. อินเทอร์เน็ตบนมือถือไทยเร็วเป็นอันดับที่ 29 ของโลกในปี 2022

ในปี 2022 ตัวเลขค่าเฉลี่ยของความเร็วอินเทอร์เน็ตบนมือถือทั่วโลกอยู่ที่ 29.06 MBPS แต่ของไทยเราสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่นิดหน่อย อยู่ที่ 31.91 MBPS แต่เมื่อเทียบกับทั่วโลกแล้วเราอยู่อันดับที่ 29 และประเทศที่อินเทอร์เน็ตมืออถือเร็วสุดในโลกปีนี้คือ U.A.E. ทะลุไปถึง 136.42 MBPS ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 104.98 MBPS

ไม่อยากคิดภาพเลยว่าถ้าเน็ตมือถือบ้านเราเร็วได้ขนาดนี้บวกกับมีราคาที่ถูกลงมาก บรรดาสายโทรศัพท์หรือสายเคเบิ้ลอินเทอร์เน็ตที่ระโยงระยางทั่วเสาไฟให้อายชาวโลก คงสูญหายไปเพราะไม่มีใครต้องใช้อินเทอร์เน็ตแบบมีสายอีกต่อไปครับ

14. ความเร็วอินเทอร์เน็นบ้านไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2022

แม้ความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเราจะดูด้อยกว่าหลายชาติบนโลกมาก แต่ความเร็วเน็ตบ้านของไทยไม่น้อยหน้าใครมานาน ในปีล่าสุดก็เร็วติดอันดับสองของโลก ที่ 171.37 MBPS (ซึ่งเอาเข้าจริงเห็นขั้นต่ำไป 500 MBPS เรียบร้อยแล้ว) แต่นี่ก็ทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีเน็ตบ้านกับเน็ตมือถือ อยากให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่กลายเป็นปัจจัย 5 ของคนไทยนั้นสะดวก ง่าย และถูกมากกว่านี้จริงๆ ครับ

อีกด้านหนึ่งความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านของเราก็พัฒนาจากปีก่อนถึง 46% เรียกได้ว่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว น่าชื่นชมและภาคภูมิใจกับวงการธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยครับ

แต่ช่วยเอาสายรกๆ ลงให้หมดได้ไหม

15. สัดส่วนของ Web Traffic แยกตามอุปกรณ์ในปี 2022

แม้โทรศัพท์มือถือจะคลอดสัดส่วน Web Traffic เป็นอันดับหนึ่ง แต่คอมพิวเตอร์อย่าง Desktop หรือ Lapto ก็ตามมาไม่ห่างมาเป็นอันดับสอง ด้วยสัดส่วน 53.96% กับ 43.53% ส่วนสัดส่วนที่มาจาก Tablet นั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ลดจากปีก่อนไป 12.4% เหลือ 2.47% เท่านั้น

16. สัดส่วนการเข้าเว็บจากมือถือของไทย 55% ในปี 2022

หลายคนที่ทำ SEO หรือทำเว็บไซต์มักอยากรู้ว่าสัดส่วนการเข้าของเว็บเรานั้นเมื่อแยกตามอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนั้น เมื่อเทียบกับคนอื่นแล้วเราทำได้ดีหรือด้อยกว่า ในภาพรวมของทั่วโลกสัดส่วนของ Mobile’s Share of Web Traffic อยู่ที่ 54% ของคนไทยในปี 2022 มีการเข้าเว็บผ่านมือถืออยู่ที่ 55%

แต่ประเทศที่มี Web Traffic จากมือถือเยอะที่สุดคือไนจีเรีย สูงถึง 83.5% เลยทีเดียวครับ

ดังนั้น Mobile Experience สำคัญมาก อย่าทำเว็บให้อ่านยากเมื่ออ่านจากโทรศัพท์มือถือหน้าจอเล็กๆ กันนะครับ

17. สัดส่วน Web Browser ยอดนิยมทั่วโลกในปี 2022

อันดับหนึ่งยังคงเป็น Chrome จาก Google ได้ส่วนแบ่งไปมากถึง 64% ทิ้งขาดเบอร์สองอย่าง Safiri อย่างไม่เห็นฝุ่น ที่มีสัดส่วนแค่ 19.22% เท่านั้น ตามมาด้วย Microsoft Edge 4.19% ที่แม้ตัวเลขจะดูน้อยแต่อัตราการเติบโตจากปีก่อนก็สูงถึง 39.2% เลยทีเดียว

ตามมาด้วย Firefox ที่ใกล้เคียงกับ Edge อยู่ที่ 3.91%, Samsung Internet 2.80% ส่วนตัวผมใช้ Brave เป็น Web Browser 3.0 ที่เหมือน Chrome แต่รู้สึกชอบมากกว่าครับ

18. เหตุผลหลักที่คนใช้เว็บหรือแอปในปี 2022

เมื่อเทียบกับการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปโดยรวมก็จะเห็นว่าต่างกันพอสมควร การใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปเป็นไปเพื่อหาข้อมูลที่ตัวเองสนใจ หรือติดต่อกับคนที่ตัวเองอยากสนิท แต่เมื่อเจาะลึกมายังเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงใช้เว็บหรือแอปในวันนี้กับเรียงลำดับได้ตามนี้ครับ

  1. แชท 95.6%
  2. โซเชียลมีเดีย 95.2%
  3. Google 83.6%
  4. ช้อปปิ้ง 58.1%
  5. เปิดแผนที่หรือ Google Maps 56.9%
  6. Email 50.4%
  7. ฟังเพลง 46.9%
  8. อ่านข่าว 42.3%
  9. เช็คสภาพอากาศ 41.9%
  10. Entertainment 40.5%

จะเห็นว่าเหตุผลการใช้งานมีความเฉพาะเจาะจงจริงๆ ครับ

20. เว็บที่ได้ Traffic มากที่สุดในปี 2022, Pornhub ติดอันดับ 10 ของโลก

อันดับหนึ่งยังคงเป็น Google ระยะเวลาในการใช้งานสูงกว่า YouTube อันดับสองอย่างน่าสนใจ ตามมาด้วย Facebook และ Wikipedia แต่เว็บอย่าง Amaozon ช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมของคนอเมริกาและอื่นที่อื่นๆ ของโลกก็สูงเป็นอันดับ 5 ตามมาด้วย Instagram ส่วน Yahoo ยังคงอยู่อันดับ 7 น่าสนใจคือ Pornhub เว็บ 18+ ติดอันดับ 10 เว็บยอดนิยมของคนทั่วโลกครับ

น่าสนใจว่าเว็บไซต์ 18+ ติดถึง 3 ใน 20 อันดับของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก แต่น่าแปลกใจว่า Onlyfans กลับไม่ติด สงสัยด้วยความต้องเสียเงินเลยมีความเฉพาะกลุ่มนิดนึงครับ

ขอเพิ่มข้อมูลจากฝั่ง Similarweb ให้ดูบ้างว่า 20 อันดับแรกของเว็บไซต์ยอดนิยมประจำปี 2022 ก็มีความคล้ายกันพอสมควร จะต่างก็ตรงลำดับ ก็ข้อมูลวางเว็บจริงๆ ที่อีกฝ่ายไม่มีอย่าง Baidu.com ส่วนเว็บ 18+ กลับเป็น xvideos.com ที่แซงหน้า Pornhub พอสมควร และ Zoom.us ก็ติดอันดับกับเขาด้วยในฝั่งนี้ รวมไปถึง Netflix ครับ

21. Search Engine อันดับ 1 ของโลกในปี 2022 ยังคงเป็น Google เหมือนเดิม

สำหรับ Search Engine ยอดนิยมของคนทั่วโลกไม่ต้องเดาก็ตอบได้ว่าต้องเป็น Google ด้วยการครองอันดับหนึ่งแบบทิ้งขาดอันดับสองไม่เห็นฝุ่น ระหว่าง 91.42% กับ 3.14% สรุปได้ว่า Google น่าจะยังครองอันดับหนึ่งของ Search Engine ชาวโลกไปอีกนาน แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าโลก Metaverse นั้นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนครับ

22. คนไทยใช้ Voice Search หรือ Voice Assistant เป็นอันดับ 11 ของโลก

ข้อมูลน่าสนใจตรงที่ว่าไม่กี่ปีก่อนสัดส่วนการใช้ Voice Search ของคนไทยสูงกว่านี้มาก แต่ในปีล่าสุดที่ผ่านมาคนไทยมีสัดส่วนการใช้ Voice Search ที่คล้ายกับ Google Assistant ถึง 20.1% สูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

แม้ค่าเฉลี่ยการใช้ Voice Search ทั่วโลกจะอยู่ที่ 24.1% และประเทศที่นำเป็นอันดับ 1 คือจีน (ไม่แปลกใจเพราะคนจีนถัดพูดส่งข้อความเสียงมากกว่าพิมพ์บน WeChat มานานแล้ว) ตามมาด้วยอินเดียอันดับสอง ตัวเลขใกล้กันมากคือ 32% ครับ

23. ผู้ชายมีอัตราการใช้ Voice Search มากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคน Gen Y

เมื่อดูจากข้อมูลเจาะลึก Insight การใช้ Voice Search อีกนิดจะเห็นว่าผู้ชายมีสัดส่วนการใช้ Voice Search หาข้อมูลด้วยเสียงมากว่าผู้หญิงพอสมควร แต่ช่วงวัยที่ใช้เยอะสุดกลับไม่ใช่วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ แต่กลับเป็นคนวัยทำงานอย่าง Gen Y นับว่าเป็น Insight ที่น่าสนใจครับ

24. Insight การใช้ Image recognition หาข้อมูลด้วยภาพของคนไทยในปี 2022

การค้นหาข้อมูลด้วยภาพหรือ Image Recognition เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เราอยากรู้ว่านี่คืออะไรก็แค่ถ่ายรูปแล้วรอข้อมูลปรากฏออกมา หรือถ้าเราอยากแปลกข้อความตรงหน้าก็ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์ให้ยุ่งยาก แค่เปิดกล่องถ่ายแชะเดียวแล้วรอคำตอบเลย

ซึ่งความน่าสนใจคือคนไทยมีสัดส่วนการใช้ Image Recognition สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก อยู่ที่ 37.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกพอสมควร ที่มีตัวเลขแค่ 29.5% เท่านั้น

และอันดับหนึ่งของโลกในด้านการค้นหาด้วยรูปภาพคือชาวโคลอมเบียและบราซิล ตามมาด้วยเม็กซิโกกับอาร์เจนตินา เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์ยอดนิยมอย่างมากในทวีปอเมริกาใต้เหลือเกินครับ

25. คนไทยรักการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือแปลภาษาติดอันดับ 6 ของโลก

ใครที่คิดว่าคนไทยไม่ขยัน ไม่ใฝ่รู้ ผมว่าถ้าเห็นข้อมูลรายงาน Digital Stat 2022 หน้านี้ต้องคิดใหม่โดยไวครับ เพราะคนไทยมีสัดส่วนการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยแปลภาษามากเป็นอันดับ 6 ของโลก อยู่ที่ 45.6% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่แค่ 31.9% เท่านั้น

26. Insight พฤติกรรมการดู Video Content ทั่วโลกในปี 2022

เมื่อคอนเทนต์แนววิดีโอเป็นที่นิยมจนกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว เมื่อเจาะดูรายละเอียดว่าวิดีโอประเภทไหนที่ผู้คนชอบดูกัน พบว่าอันดับหนึ่งคือวิดีโอทุกประเภท 91.9% ตามมาด้วย Music Video หรือ MV 51.4% ตามมาด้วยวิดีโอตลก 37.1% ตามด้วย Video ประเภท How-to สูงถึง 31.3% และวิดีโอประเภท Live Streaming 30.4% ครับ

ส่วนวิดีโอประเภท Influencer นั้นกลับได้รับความนิยมน้อยสุด อยู่ที่ 26.7% เท่านั้น

27. คนไทยใช้ Video เป็นแหล่งข้อมูลในการเรียนรู้ถึง 41.7%

เมื่อคอนเทนต์ประเภทวิดีโอกลายเป็นที่นิยมขึ้นมาทั่วโลก และเมื่อดูจาก Data จะเห็นว่าคนไทยมาการเรียนรู้ผ่านวิดีโอสูงถึง 41.7% แม้ตัวเลขจะดูสูงแต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่สูงกว่าอยู่ที่ 46.8% และสูงสุดของโลกคือชาฟิลิปปินส์ที่เรียนรู้ด้วยวิดีโอสูงถึง 70.6% ครับ

28. คนไทยยังไม่นิยม VLOG

ตัวเลขการดูวิดีโอประเภท VLOG หรือที่ Influencer ชอบมาถ่ายวิดีโอบอกเล่าชีวิตประจำวันนั้นสำหรับคนไทยไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ เพราะตัวเลขสัดส่วนผู้ดูมีแค่ 19.7% เท่านั้น

ดังนั้นนักการตลาดคนไหนที่วางแผนจะทำการตลาดแบบ VLOG ในปีนี้ อาจจะต้องพิจารณาใหม่ให้รอบคอบครับ

29. คนไทยดูรายการทีวีทาง Streaming หรืออินเทอร์เน็ตมากถึง 97.1%

วันนี้การชมรายการทีวีสดๆ ไม่ได้เกิดขึ้นที่หน้าทีวีเป็นหลักอีกต่อไป เพราะคนจำนวนมากขยับมาดูรายการทีวีสดผ่านทาง Internet หรือออนไลน์แทน ถ้าเราเห็นพวกรายการข่าวยอดนิยม LIVE แต่ละทีมีคนดูหลักหมื่นหลักแสนเป็นปกติ

ดังนั้นต้องปรับตัวเวลาจะรับโฆษณาให้เข้ากับบริบทใหม่ของการรับชมทีวีของคนไทย ที่เปลี่ยนไปอย่างมากในปี 2022 ด้วยครับ (ผมก็ชอบดูโหนกระแส เรื่องเล่าเช้านี้ และข่าวใส่ไข่ทางแอปดูทีวีที่ต่อกับทีวีที่บ้านนะครับ)

30. การดูทีวีสดทางออนไลน์แบบ Streaming กินส่วนแบ่งการดูทีวีปกติไป 44% แล้ว

จากข้อมูลจะเห็นว่าการดูทีวีรายการสดทั่วไปไม่ได้หายไปไหน แต่แค่ย้ายไปสู่การดูผ่านอินเทอร์เน็ตบนออนไลน์มากกว่า และในวันนี้สัดส่วนก็สูงขึ้นไปถึง 44% ในภาพรวมทั่วโลก เรียกได้ว่ารายการทีวีดูรับชมในรูปแบบ Streaming เรียบร้อยแล้ว

31. ซีรีส์หรือรายการยอดนิยมทาง Netflix ในปี 2022 Squid Game มาเป็นอันดับ 1

กระแสของ Squid Game เกมจอมโหดกลายเป็นที่พูดถึงและไวรัลไปทั่วโลก และเมื่อดูจากชั่วโมงที่รับชมใน 28 วันแรกก็กินขาดทิ้งอันดับไปสองเท่าครึ่ง หรืออยู่ที่ 1,650 ล้านชั่วโมง ซึ่งอันดับสองอย่าง Bridgerton ได้แค่ 625 ชั่วโมงเท่านั้น

ส่วนภาพยนต์หรือหนังยอดนิยมของ Netflix ในปี 2021 อันดับหนึ่งคือ Red Notice (ยอมรับว่าสนุกจริง) ตามมาด้วย Don’t Look Up ภาพยนต์สะท้อนเสียดสีการเมืองอเมริกา แต่ทำไมถึงดูเหมือนกับประเทศไทยจัง

32. คนไทยฟัง Podcasts 19.2%

ในปี 2021 ที่ผ่านมาคนไทยที่ฟัง Podcasts มีสัดส่วน 19.2% จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 20.4% ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก ส่วนประเทศที่มีการฟัง Podcasts มาเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้แก่บราซิล 37% อินโดนีเซีย 35.6% และเม็กซิโก 34.5% ครับ

33. คนไทยเล่นเกมเป็นอันดับ 2 ของโลก 94.7%

น่าสนใจคืออัตราการเล่นเกมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกล้วนสูงเหมือนกันหมด เรียกได้ว่าไม่มีใครทิ้งห่างกันมากนัก และนิยามของคำว่าเกมในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงแต่เกมที่ซีเรียสจริงจัง แต่หมายรวมถึงเกมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเกมเล่นง่ายๆ สบายๆ แก้เบื่อฆ่าเวลาสั้นๆ หรือเกมแบบซีเรียสจริงจังในระดับที่แข่ง Esports กันก็ตาม

ดังนั้นการตลาดผ่านเกมจึงดูเป็นช่องทางชั้นดีที่จะเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมากในวันนี้ครับ

34. คนไทยเป็นเจ้าของอุปกรณ์ Smart Home IoT แค่ 6.9% เท่านั้น

อุปกรณ์จำพวก Smart Home หรือ IoT ต่างๆ เริ่มก้าวเข้ามาอยู่ในบ้านเรามากขึ้น ประเทศที่เป็นเจ้าของสูงสุดคืออังกฤษ มากถึง 23.8% ตามมาด้วย Ireland 22.4% และ Canada กับ USA 20.7% ส่วนค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 14.1% ส่วนคนไทยเรานั้นมีที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์อัจฉริยะพวกนี้แค่ 6.9% เท่านั้น

แต่ถ้ามองในแง่ดีนั่นหมายความว่ายังมีโอกาสอีกมากที่ในบ้านคนไทยจะมีอุปกรณ์ Smart Home เพิ่มขึ้น ตู้เย็นที่ต่อเน็ตได้ เครื่องซักผ้าที่กดสั่งผ่านแอป หลอดไฟแบบกดรีโมสั่งการ กลอนประตูดิจิทัล หรือแม้แต่ระบบไฟฟ้าที่สั่งได้ทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟนครับ

35. คนไทยใช้บริการทางการเงินออนไลน์แค่ 31.4% เท่านั้น

ตัวเลขนี้น่าแปลกใจเพราะเมื่อดูจากบริบทการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านแอปต่างๆ ดูจะสูงกว่านั้นมากนัก แต่จากข้อมูลของ Digital Stat 2022 จาก We Are Social กลับบอกว่ามีแค่ 31.4% เท่านั้นครับ

แสดงว่านายยังไม่รู้จักแอปไทยชนะ เป๋าตัง หรือโครงการคนละครึ่งเราเสียแล้ว

36. คนไทยถือครองคริปโตมากเป็นอันดับ 1 ของโลก!

พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ไม่คิดฝันว่าคนไทยจะคลั่งคริปโตมากจนเป็นชาติที่มีสัดส่วนประชากรถือครองคริปโตเป็นอันดับ 1 ของโลก มากถึง 20.1% เรียกได้ว่าทุก 1 ใน 5 เราล้วนเคยดอยกันมาไม่มากก็น้อย (เหมือนผมในเวลานี้) ทั่งที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่แค่ 10.2% เท่านั้น เรียกว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยชาวโลกกันถึงเท่าตัวทีเดียว

หรือจะเปลี่ยนไปทำคริปโตวันละตอนดีนะ

และเมื่อเจาะ Insight เพศและวัยของคนที่ถือครองคริปโตในวันนี้ จะเห็นว่าเป็นผู้ชายมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (สาวๆ อาจสะสมชาแนลแทน พุ่งขึ้นยิ่งกว่าคริปโตอีก) และก็จะหนักไปทาง Gen Y ที่เริ่มมีกำลังทรัพย์มากพอจะถือครองมองเป็นการลงทุนได้

37. คนไทยหาหมอออนไลน์ 18.7% ในปี 2022

เทรนด์ TeleMed หรือการหาหมอออนไลน์ของคนไทยนั้นเติบโตอย่างมากตั้งแต่เกิดการล็อกดาวน์มา เพราะจากตัวเลขล่าสุดบอกให้รู้ว่าคนไทยกว่า 18.7% เคยหาหมอทางออนไลน์แล้ว (บ้านผมก็เป็น) แต่ก็ยังจะเห็นว่าถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมทั่วโลกมาก ที่สูงกว่า 26.9% ส่วน 3 ชาติที่มีการหาหมอออนไลน์มากที่สุดคือ เคนย่า โคลอมเบีย และเม็กซิโก มากกว่า 40% ขึ้นไปทั้งนั้น

38. คนไทยมีการกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลแค่ 26.1% เท่านั้น

ปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Personal data กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงหลังมา บวกกับข้อบังคับทางด้านกฏหมายควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าจะ GDPR, PDPA หรือ CCPA ก็ตาม

แต่ในประเทศไทยเราเองกลับมาคนที่กังวลเรื่องนี้น้อยกว่าที่คิดมาก เพราะมีแค่ 26.1% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ในขณะที่ภาพรวมทั่วโลกอยู่ที่ 33.8% และ 3 ชาติที่ดูกังวลมากที่สุดในเวลานี้คือกรีซ สเปน และบราซิลครับ

39. คนไทยใช้ VPN 25.1%

VPN หรือ Virtual Private Networks สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงมักจะเลือกใช้กัน เพื่อปกปิด IP ไม่ให้ใครตามสืบรู้ได้ว่าเราใช้งานจากที่ไหน ซึ่งบางครั้งก็เอาไว้เข้าถึงข้อมูลที่ประเทศเราปิดกั้น เช่นในตอนที่ประเทศไทยประกาศบล็อก Pornhubs ก็ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเรียนรู้ที่จะใช้ VPN เพื่อมุดออกนอกประเทศกันเยอะขึ้น

ซึ่งคนไทยที่ใช้ VPN เล่นเน็ตวันนี้มีอยู่ 25.1% ดูเหมือนเยอะแต่ความจริงน้อย เพราะค่าเฉลี่ยการใช้ VPN ทั่วโลกอยู่ที่ 28.3% และชาติที่สูงสุดคืออินเดีย 42% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 40.8% ครับ

สรุป Insight & Digital Stat Thai 2022 สรุปภาพรวมการออนไลน์และพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลกจาก We Are Social

จากข้อมูลในส่วนของ Insight การใช้อินเทอร์เน็ตจะเห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจ คนไทยไม่ได้ออนไลน์น้อยกว่าใคร อาจจะมีแค่บางเรื่อง บางหัวข้อ บางประเด็น แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ทำได้อย่างโดดเด่นจนน่าสนใจ

แต่เราจะเห็นว่าความเท่าเทียมของการเข้าถึงดิจิทัลของผู้คนมากมายทั่วโลกเกิดความห่างชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่เราเห็นข่าวว่าเด็กบางคนจากบางครอบครัวไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือใช้เรียนออนไลน์ แต่ขณะที่อีกครอบครัวมีทั้งโทรศัพท์มือถือและ iPad แยกกันคนละเครื่องพร้อมกับ Wifi ที่เล่นได้ไม่จำกัด แต่เด็กอีกมากที่ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แบบจำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน

แล้วไหนจะเทรนด์ของ Web 3.0 ที่ก้าวเข้ามาเป็นกระแสหลักในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เกิดจากผู้คนเบื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Facebook หรือ Google ที่กุมอำนาจทางดิจิทัลมากเกินไป แล้วไหนจะกุม Personal data เราไว้มหาศาล

บวกกับการมาของ Metaverse ที่มาจากผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตจริงบนออนไลน์กับเพื่อนฝูงมากขึ้นทุกวัน จากประชุมออนไลน์แบบเดิมมาสู่การประชุมในรูปแบบเกม จนพาลให้เกิดการตั้งคำถามว่าถ้าเราย้ายเกมใหม่ไปเราจะต้องเริ่มใหม่ทุกครั้งในการตั้งค่าต่างๆ หรือเปล่า ทำไมเราไม่เป็นเราคนเดียวแล้วกระโดดเข้าไปจอยได้กับทุก Universe หละ

เราเริ่มเห็นเทรนด์การใช้ Social Commerce ที่สูงขึ้นพร้อมกันทั่วโลก แม้ไทยเราจะเคยชินมานาน แต่ฝรั่งเขาเพิ่งจะปรับตัวให้เข้ากับการค้าขายบนโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้เอง

เราเริ่มเห็นกระแสที่แบรนด์ไม่ได้เน้นขายของมาก แต่เน้นการสื่อสารบอกกับกลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาห่วงใยและใส่ใจเราในช่วงเวลาที่ต้องล็อกดาวน์หรือยากลำบากนะ เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันให้ได้ เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ของแบรนด์เพราะถ้าเราไม่สามารถพาลูกค้าให้รอดได้ แล้วถ้าโรคระบาดผ่านไปจะเหลือใครให้เป็นลูกค้าของเราหละ

Gen Z ก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่ใหญ่อันดับต้นๆ อย่างเห็นได้ชัด จากเดิมถูกมองว่าเป็นแค่เด็กวัยรุ่น คนที่ไม่ค่อยมีกำลังซื้อ แต่เมื่อเทรนด์การหาเงินเปลี่ยนไป เกิดกระแสวัยรุ่นคริปโตแทนวัยรุ่นเงินล้าน เพราะถ้าเลือกเหรียญดีๆ ไม่กี่วันก็สามารถมูนเป็นเศรษฐีได้ไม่ยาก แล้วไหนจะช่องทางใหม่ๆ ในการหาเงินโดยไม่ต้องง้อแบรนด์ อย่างการเป็น Content Creator แล้วรับเงินสนับสนุนตรงจากคนดูไปเลย

แต่ในขณะเดียวกันการ Bully ก็มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ บนโลกออนไลน์ แบรนด์ที่ดีต้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้ เพราะการ Bully ในวันนี้สามารถสร้างแผลให้กับใครคนหนึ่งตลอดชีวิตได้สบายๆ

บวกกับการมาของเศรษฐกิจทางเลือกผ่าน Cryptocurrency ด้วยการลงทุนในเหรียญต่างๆ หรือสกุลเงินดิจิทัลมากมายของนรุ่นใหม่ แน่นอนว่าไทยเองก็เป็นชาติอันดับหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในคริปโต

สรุปภาพรวมได้ว่า Internet & Digital Trends 2022 ในปีนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดต่างจากทุกปีที่ค่อยๆ ขยับไปทีละนิดอย่างมากครับ

แต่เนื้อหาของ Digital Stat 2022 ยังไม่หมดแค่นี้ ในตอนหน้าเราจะมาเจาะดูพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยเมื่อเทียบกับคนทั่วโลกโดยละเอียดกันครับ

อ่านต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/we-are-social/

Source

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน