พาส่อง สถิติมิจฉาชีพออนไลน์ คนไทยถูกหลอกด้วยมุกไหนมากที่สุด?

พาส่อง สถิติมิจฉาชีพออนไลน์ คนไทยถูกหลอกด้วยมุกไหนมากที่สุด?

สวัสดีนักการตลาดและนักอ่านทุก ๆ คนครับ วันนี้ผมจะพาทุกคนมาส่อง สถิติมิจฉาชีพออนไลน์ กันครับ ปีนี้เป็นปีที่แก๊งมิจฉาชีพโดยเฉพาะมิจฉาชีพออนไลน์ ระบาดกันเยอะมากกกก และสร้างความเสียหายแก่ชาวไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

สถิติจากตำรวจ Cyber รายงานว่าตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัย Cyber รวมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ตัวผมเองก็เกือบโดนเหมือนกันครับ บอกเลยว่าแนบเนียนและแยบยลสุด ๆ

วันนี้ผมจะพามาส่องสถิติต่าง ๆ และลองวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ จากสถิติที่เกิดขึ้นครับ และมาดูกันว่าทางผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออย่าง AIS จะมีมาตรการสำหรับช่วยผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้ยังไงบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ ^^

สถิติอันดับรูปแบบการหลอกของมิจฉาชีพ

อันดับที่ 1 การหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ 41.23%

ส่วนมากมิจฉาชีพในรูปแบบนี้จะมาจากกลุ่มขายของในโซเชียลมีเดีย เช่น กลุ่มซื้อขายฟิกเกอร์ รองเท้า เสื้อผ้า และอื่น ๆ บอกได้เลยว่ามีหลายวงการมาก ๆ สำหรับรูปแบบนี้มิจฉาชีพอาศัยการเติบโตของ E-commerce และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปที่หันมาทำการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้สถิติผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นรูปแบบที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครับ

อันดับที่ 2 หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริม 12.96%

การหลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ในรูปแบบง่าย ๆ เช่นการดูวิดีโอเพื่อเพิ่มยอดวิว กดไลค์ กดแชร์ รับออเดอร์ หรือ ทำสต็อกสินค้า และสุดท้ายมิจฉาชีพจะให้โอนเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าค้ำประกัน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันนี้ก็แนบเนียนมาก ๆ ระวังกันไว้ด้วยนะครับ ต้องบอกว่าการหางานเสริมเป็นสิ่งที่ไม่เคยตกเทรนต์ไปจากคนไทยเลยครับ

จากสถิติ Google Trend เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่ามีการค้นหาคำว่า “งานเสริม” อยู่ตลอด ๆ ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ที่มิจฉาชีพจะอาศัยช่องทางนี้ในการหลอกลวงผู้บริโภคครับ

อันดับที่ 3 หลอกให้กู้เงิน 11.07%

การหลอกให้กู้เงิน แต่ไม่ได้เงินจริง โดยเป็นการหลอกเอาข้อมูล ค่าธรรมเนียม หรือ เลขที่บัญชีธนาคาร โดยปกติแล้ววิธีการกู้เงินของคนไทยมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ที่นิยมกัน

  • 1. การกู้เงินจากธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ที่เปิดให้เงินกู้
  • 2. กู้จากบุคคลธรรมดาด้วยกันเอง

ปัจจุบันมีบริการกู้เงินออนไลน์เกิดขึ้นมา มีทั้งแบบกู้ได้จริง ๆ และแบบมิจฉาชีพก็เยอะครับ สถิติจาก Google Trend 1 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าคนไทยค้นหาการกู้เงินออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว จึงทำให้เป็นโอกาสของมิจฉาชีพอีกหนึ่งช่องทาง ดังนั้นใครคิดจะกู้เงินออนไลน์อย่าลืมตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการดี ๆ นะครับ  

อันดับที่ 4 หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 8.33%

เป็นการหลอกลวงให้ลงทุนในโครงการ หุ้น หรืออื่น ๆ มิจฉาชีพมักจะอ้างว่าไม่มีความเสี่ยง และให้ผลตอบแทนสูง โดยแท้จริงแล้วอาจเป็นธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง ไม่กี่ปีที่ผ่านมาคนไทยตระหนักรู้เรื่องการลงทุน และมีความสนใจในการลงทุนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวหรือการลงทุนระยะสั้น ทำให้มีผู้ให้บริการเรื่องการลงทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมิจฉาชีพเลยอาศัยโอกาสนี้ในการหลอกลวงผู้บริโภคผ่านการลงทุน

อันดับที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ 7.08%

ข่มขู่ทางโทรศัพท์ เช่น มีคอลเซ็นเตอร์โทรมาบอกว่าโดนอายัดบัญชีธนาคาร โดนกล่าวหาว่ามีการเกี่ยวข้องกับพัสดุผิดกฎหมาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ร้ายตกเป็นผู้ต้องสงสัย และอื่น ๆ ที่ออกแนวข่มขู่ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่และหลอกให้โอนเงินเพื่อนำมาตรวจสอบ อันนี้ผมเคยโดนมาแล้วกับตัวเลยครับ บอกเลยว่าเนียนมาก ๆ เอาซะเกือบจะเชื่อเลย เพราะมิจฉาชีพมีทั้งข้อมูลชื่อ เลขบัตรประชาชนของเรา และมีวิธีการพูดที่น่าเชื่อถือมาก ๆ เล่นเอาเคลิ้มไปเลยครับ

จากการวิเคราะห์ สถิติมิจฉาชีพออนไลน์ รูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพว่าทำไมมิจฉาชีพใช้วิธีการ ช่องทางเหล่านี้ และทำได้สำเร็จ ทำให้ผมได้เข้าใจดีเลยหล่ะครับว่ามิจฉาชีพมีความเข้าใจ Customer behavior ของเราเป็นอย่างดีทำให้วางแผนหลอกเป็นขั้นเป็นตอนได้แนบเนียนสุด ๆ เดาใจเราถูก รู้ว่าเราคิดอะไร ทำยังไงเราถึงจะเชื่อจะคล้อยตาม

ทุกอย่างวางแผนมาดีมาก ๆ จากการศึกษาพฤติกรรมของเรา และจาก Data ส่วนตัวของเราที่รั่วไหลออกไป อย่างไรก็ตามอนาคตไม่รู้ว่า มิจฉาชีพออนไลน์ จะมีวิธีการแบบไหนที่ล้ำสมัยกว่านี้ปรากฏขึ้นมาอีกไหม เพราะในปัจจุบันตรงไหนมีช่องทางก็เอาหมดเลย ยังไงก็ระวังกันด้วยนะครับ

สถิติพฤติกรรมและความเข้าใจของชาวไทยต่อภัย Cyber ในมิติต่าง ๆ

  • กลุ่มผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อภัย Cyber มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และทักษะการใช้งานด้านดิจิทัล
  • จากผลการศึกษาถึงระดับทักษะดิจิทัลพบว่า คนไทยภาคเหนือ และภาคตะวันตก มีความเสี่ยงต่อภัย Cyber มากกว่าภาคอื่น ๆ
  • คนไทยส่วนใหญ่กว่า 87.97% มีความเข้าใจ และรู้ทันปัญหาการกลั่นแกล้งทาง Cyber หรือ Cyberbully
  • ขณะที่ยังมีทักษะสำคัญต่อการรับมือกับภัย Cyber ที่คนไทยยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าการมีทักษะดิจิทัลเหล่านี้จะทำให้ามีภูมิคุ้มกันและสามารถรับมือกับภัย Cyber ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานได้
    • 48.60% ด้านความเข้าใจในสิทธิทางดิจิทัล
    • 49.83% ด้านการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล
    • 51.80% ด้านการสื่อสาร และ การทำงานร่วมกับบนดิจิทัล

จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ประกอบกับตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงจากการโดนหลอกลวง ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเสริมสร้าง พัฒนาทักษะดิจิทัล เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในทุกมิติ ทั้งทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration), ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทาง Cyber (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทาง Cyber (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) เพื่อยกระดับสุขภาวะและทักษะดิจิทัลของคนไทย ให้สามารถใช้งานบนออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยเพิ่มเติม คลิ๊ก ได้เลยครับ

มาตรการรับมือจาก AIS

AIS มีโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ที่จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการสร้างเครือข่ายร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย ทำให้เห็นถึงพฤติกรรมและข้อมูลที่น่าสนใจในการนำไปต่อยอด เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ เสริมภูมิคุ้มกันภัย Cyber จาก มิจฉาชีพออนไลน์ ให้กับลูกค้าและคนไทย สามารถ คลิ๊ก อ่านแคมเปญของโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ได้เลยนะครับเขียนไว้ให้แล้ว ^^ 

คำแนะนำสำหรับนักการตลาด และเจ้าของธุรกิจ

สถิติรูปแบบมิจฉาชีพ
การตลาดวันละตอน

สำหรับนักการตลาด หรือเจ้าของธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้โดยเฉพาะธุรกิจขายของออนไลน์ แบรนด์ควรมีการ Educate ลูกค้าเกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น แนะนำวิธีการตรวจสอบว่ากำลังซื้อสินค้าจากแบรนด์จริง ๆ หรือไม่ มีวิธีการสังเกตุอย่างไรว่าจริงหรือเป็นมิจฉาชีพ และแบรนด์ต้องหาวิธี Verified account ของแบรนด์เพื่อช่วยไม่ให้ลูกค้าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เป็นต้นครับ

เป็นอย่างไรกับบทความนี้กันบ้างครับ มีความคิดเห็นกันยังไงสามารถพูดคุยกันมาได้เลยน๊าาา

Tlee Krit

ชื่อเติ้ลครับบบ นักเขียนน้องใหม่แห่งการตลาดวันละตอน ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *