ภูธรมาร์เก็ตติ้ง กลยุทธ์พิชิตใจชาวท้องถิ่น จากเอเจนซี่ไทยแจ่มจรัส

ภูธรมาร์เก็ตติ้ง กลยุทธ์พิชิตใจชาวท้องถิ่น จากเอเจนซี่ไทยแจ่มจรัส

สวัสดีนักการตลาดและนักอ่านทุกคนนะคะ ในบทความนี้จะพาทุกคนมาดู ภูธรมาร์เก็ตติ้ง กลยุทธ์พิชิตใจชาวท้องถิ่น จากเอเจนซี่ไทยแจ่มจรัส พร้อมชวนดูนิยามใหม่ของตลาดภูธรอย่าง ‘Cultural Brand Insight’ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการพาแบรนด์เจาะใจตลาดมวลชนได้แบบไร้พรมแดน แต่จะมีความน่าสนใจยังไงนั้น ตามมาดูกันต่อค่า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยก็ได้เจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่าง Covid-19 เป็นต้น ที่ทำให้พฤติกรรมและความต้องการของคนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ ‘ตลาดภูธร’ ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกันนั่นเองค่ะ 

แบรนด์และนักการตลาดต้องเริ่มกลับมาวิเคราะห์กันใหม่ พูดง่าย ๆ คือ

ก้าวออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ ที่เคยยึดติดว่าตลาดภูธรเป็นพื้นที่ตลาดในต่างจังหวัดที่ถูกกำหนดตามภูมิศาสตร์ เป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

ซึ่งแนวคิดนั้นอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วค่ะ พื้นที่ไม่ควรเป็นข้อจำกัดขอบเขตการสื่อสาร ดังนั้นตลาดภูธรในปี 2567 ควรถูกนิยามใหม่ให้สอดรับตามพฤติกรรมและความเป็นอยู่ เพราะคนเราก็มีปัจจัยที่หลากหลายในการใช้ชีวิต ทั้งการเรียน การทำงาน ทำให้การย้ายถิ่นที่อยู่กลายเป็นเรื่องปกติ 

เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่นี้ อาจไม่ใช่คนพื้นที่นั้นโดยกำเนิด อย่างคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีการกระจายตัวอาศัยอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงไปอยู่อาศัยรวมทั้งทำงานในหลายประเทศทั่วโลกเลยก็มี

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำนิยามใหม่อย่าง ‘Cultural Brand Insight’ ที่อธิบายว่าตลาดภูธรไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อีกต่อไปแล้ว แต่ควรโฟกัสที่ ความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อ และความคิดเฉพาะบุคคลมากกว่า

ทุกวันนี้เรื่องของความเป็นอยู่ พฤติกรรม ความต้องการ และค่านิยมของผู้บริโภค สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทุกชั่วโมง ทุกวัน ทุกเวลา ซึ่งเป็นความท้าทายของแบรนด์และนักการตลาด แต่จริง ๆ แล้วหนึ่งสิ่งที่แทบจะไม่เปลี่ยนเลย คือ “รากฐานชีวิต” หรือความเชื่อและค่านิยมที่มาจากถิ่นกำเนิดนั่นเอง

‘แจ่มจรัส’ บริษัทเอเจนซี่ ในเครือ บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ก็ได้มีมุมมองและให้ความสำคัญกับจุดเปลี่ยนของตลาดภูธร ในปี 67 นี้เช่นกัน ที่ตลาดภูธรไม่ควรถูกนิยามด้วยพื้นที่ แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมและความคิด หรือ “Cultural Brand Insight” มากกว่า

จึงเกิดความตั้งใจในการดึงข้อมูลอินไซต์ผู้บริโภค มาเป็นเข็มทิศที่ใช้นำทางแบรนด์และนักการตลาด บนโจทย์ท้าทายคือการจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีวัฒนธรรมต่างกัน แต่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 

จึงเป็นที่มาสู่การเปิด Roadmap ในปีนี้ ในการหันมาเดินเกมตลาด แแบบไม่มีข้อจำกัดการสื่อสารระหว่างคนในเมืองกับคนต่างจังหวัดแบบเดิม 

คำนิยามใหม่ โจทย์ใหม่ แจ่มจรัสในฐานะเอเจนซี่ก็อยากจะช่วยให้แบรนด์ก้าวข้ามข้อจำกัดการสื่อสารเฉพาะพื้นที่แบบเดิม ๆ แต่มุ่งสื่อสารระหว่างคนในเมืองกับคนต่างจังหวัดแบบวงกว้างไปพร้อมกัน และสามารถจับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

กลยุทธ์ แจ่มจรัส จับภูธรมาร์เก็ตติ้ง พิชิตใจชาวท้องถิ่น

ดังนั้นผู้เขียนจะขอพาทุกคนมารู้จักกับ ภูธรมาร์เก็ตติ้ง กันต่อค่ะ โดยขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลจาก Primal เดิมทีคนต่างจังหวัดหรือคนภูธรนั้น ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่มีจำนวนมากถึง 54 ล้านคน หรือคิดเป็น 84% ของประชากรรวมในประเทศไทยเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการจับจ่ายใช้สอย

ดังนั้นกลับมาที่ภูธรมาร์เก็ตติ้ง หากอธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ การทำการตลาดเพื่อมัดใจกลุ่มคนพื้นที่ท้องถิ่นนั่นเองค่ะ เป็นเหมือนการทำ Personalized Marketing ให้ตอบโจทย์กับคนท้องถิ่นโดยเฉพาะ 

เช่น การใช้ภาษาท้องถิ่นที่เขาคุ้นเคย การใช้เสียงเพลงที่คนพื้นที่นั้น ๆ มีความชื่นชอบ รวมถึงการเลือก KOL หรือ Influencer ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ เป็นต้น

ภูธรมาร์เก็ตติ้ง หรือกลยุทธ์เจาะตลาดภูธรแบบใหม่แบบสับ คือเน้นจับผู้บริโภคเป็นกลุ่มบุคคล จากการเข้าใจตัวตนของผู้บริโภคจริง ๆ ไม่ใช่แค่ดูตามพื้นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว ซึ่งการจะจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีวัฒนธรรมต่างกัน แต่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ก็จำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์ที่เน้นความครีเอทีฟ สดใหม่ เรียลไทม์ มีสตอรี่ที่หลากหลายค่ะ

รวมถึงควรที่จะให้ความสำคัญกับการมีทีมงานที่เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค และเข้าใจบริบทในแต่ละพื้นที่ เพื่อสามารถจะวางกลยุทธ์ได้อย่างตรงจุดต่อไป

ที่สำคัญคือการเน้นสื่อสารอย่างจริงใจ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และหาบุคคลที่มีอิทธิพลในการสื่อสาร เช่น เลือก KOL ที่มีบ้านเกิดในท้องถิ่น มีความคิดและความเชื่อบนพื้นฐานวัฒนธรรมเดียวกับกลุ่มเป้าหมาย 

เรื่องการวางกลยุทธ์ภาษา ก็ให้เน้นการใช้ภาษาพื้นบ้าน ดนตรี เสียงร้อง ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภาค หรือนำเสนออาหารพื้นบ้านที่ผู้บริโภคคุ้นเคยและภาคภูมิใจในบ้านเกิด เป็นต้นค่ะ

สรุปแล้วคือทำการตลาดด้วยการเข้าใจแก่นแท้ของผู้บริโภค เข้าถึงตัวตนผู้บริโภคอย่างจริงใจ โดยไม่ต้องเขินอายกับการใช้ภาษา อาหาร หรือการแต่งกายท้องถิ่นนั่นเอง 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เคยเขียนเรื่องของ Samsung Galaxy A05 x ก้อง ห้วยไร่ ใช้ Presenter นำเสนอความแรง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ ภูธรมาร์เก็ตติ้ง ได้เช่นกัน ผ่านการทำโฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านการเลือกใช้บุคคลที่เหมาะสมกับสินค้า

และยังถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์ของชาวภาคอีสาน เช่น การแต่งกาย กระติ๊บข้าวเหนียว เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังถ่ายทอดออกมาผ่านไอเดียสถานการณ์ที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ในวงกว้างนี่ล่ะค่ะ

รวมถึงมีการใช้ Music Marketing แต่งเพลงท่อนสั้น ๆ เข้ามาในโฆษณา ด้วยทำนองและภาษาอีสาน ให้คนที่มาดูมาฟัง หรือได้ยินผ่าน ๆ ต้องหลอนหูกันไป ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวอีสานแต่เป็นการสร้างการรับรู้ที่ดีได้ในวงกว้างอีกด้วย ดึงดูดความสนใจของคนได้ บางครั้งถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจฟัง รู้ตัวอีกทีอาจเผลอร้องตามได้แล้วก็เป็นได้เด้อ~

สรุป

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับในบทความนี้ที่ได้พาทุกคนมาดู ภูธรมาร์เก็ตติ้ง กลยุทธ์พิชิตใจชาวท้องถิ่น จากเอเจนซี่ไทยแจ่มจรัส พร้อมชวนดูนิยามใหม่ของตลาดภูธรอย่าง ‘Cultural Brand Insight’ เรียกได้ว่าลบล้างการทำการตลาดแบบเดิม ๆ จากการแบ่งแยกด้วยพื้นที่เท่านั้น แต่หันมาโฟกัสที่การดู Insight ความชอบ ตัวตน พฤติกรรม รวมถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแทน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศและในโลกนี้ก็ตาม

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้แน่นอนว่าจะสามารถดึงดูดความสนใจ สร้างความใกล้ชิด ความเป็นกันเอง ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับแบรนด์มากยิ่งขึ้นได้ นำไปสู่ความผูกพันระยะยาว และขับเคลื่อนแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จในตลาดภูธรทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อไปได้

หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้ดี ๆ และประโยชน์กลับไปไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่า และสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter และ Youtube ได้เลย

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *