จุดประกายความคิดใหม่ ใครว่าผู้หญิงเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้!

จุดประกายความคิดใหม่ ใครว่าผู้หญิงเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้!

คิดว่าผู้หญิงหลายคนคงเคยเจอกันมาบ้างใช่ไหมคะกับความคิดที่ว่าอาชีพแบบนี้ผู้หญิงที่ไหนเขาทำกัน? มันเป็นอาชีพของผู้ชายโน่น ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ วิศวกรคุมงานก่อสร้าง หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ 

แต่ยุคนี้มันไม่ใช่ยุคไดโนเสาร์อีกต่อไป! อย่าทนให้ใครมาล้อมกรอบ หรือชี้นิ้วสั่งได้ว่าอาชีพไหน เหมาะกับเพศอะไร เพราะไม่ว่าอาชีพไหนหากมีความรู้ความสามารถมากพอก็สามารถทำได้ทั้งนั้น วันนี้แบมเลยจะพามาดูสารคดีหนึ่งที่จะช่วยจุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้สาวๆ เห็นว่า แค่เราตั้งใจ และมุ่งมั่นมากพอ เราจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้นค่ะ

จุดประกายความคิดสร้างนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่

3เอ็ม องค์กรด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ระดับโลก จัดทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Not the Science Type” ซึ่งเป็นการจุดประกายความฝันและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตนเอง เพื่อเข้าสู่โอกาสที่หลากหลายในชีวิต อีกทั้งยังมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับทัศนคติแบบเหมารวมเชิงลบและการยอมรับความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมให้มากขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (Science, Technology, Engineering and Math, STEM) 

โดยในครั้งนี้ 3เอ็ม ได้ร่วมมือกับ Generous Films และสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน หรือ American Association for the Advancement of Science (AAAS) ผลิตสารคดีที่นำเสนอเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์หญิง 4 คน ที่ได้ท้าทายทัศนคติเหมารวม และเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติในระหว่างเส้นทางสู่ความสำเร็จบนเส้นทางสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ของพวกเธอ 

ผู้หญิงถูกกีดกันด้านการศึกษามากกว่าผู้ชาย

สารคดีเรื่องนี้สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากข้อมูลเชิงลึกของ 3M State of Science Index ซึ่งผลงานวิจัยระบุว่าเด็กผู้หญิงและสตรี ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคอันเกิดจากเพศกำเนิดของพวกเขาและอุปสรรคอื่นๆ 

โดยผลการศึกษาพบว่าผู้คนจำนวน 59% กล่าวว่าสตรีและเด็กผู้หญิงถูกกีดกันจากการศึกษาด้านสะเต็มมากกว่าบุรุษและเด็กผู้ชาย นอกจากนี้ ผู้คนจำนวน 87% เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องส่งเสริมและเพิ่มการมีส่วนร่วมด้านสะเต็มศึกษาในสตรีและเด็กผู้หญิงให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

เพราะผู้หญิงสามารถเป็นได้ทุกอย่างที่อยากเป็น

“Not the Science Type” ถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับความหวังและแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้ได้เอาชนะอคติและกรอบความคิดเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ 

สารคดีเรื่องนี้เปิดตัวครั้งแรกในการฉายแบบส่วนตัว ในเทศกาลภาพยนตร์ทริเบก้า (Tribeca Festival) ประจำปี 2564 โดยมีโลนี เลิฟ (Loni Love) นักแสดง พิธีกรรายการโทรทัศน์ นักเขียน และอดีตวิศวกรไฟฟ้า เป็นพิธีกรภายในงาน 

ตัวอย่างผู้หญิงที่สามารถทลายกำแพงทางเพศ

สารคดีเรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยการนำเสนอเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ปราดเปรื่องทั้ง 4 คนนี้ 

นักวิทยาศาสตร์หญิงเจ้าของเรื่องราวทั้ง 4 คน ได้แก่

กิทันจาลี ราวด์ เด็กสาวชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย วัย 15 ปี ที่นิตยสาร TIME ยกย่องให้เป็นเด็กแห่งปี 2563 ซึ่งกำลังทำภารกิจสร้างแรงบันดาลใจและสร้างชุมชนนักประดิษฐ์รุ่นใหม่จากทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในทั่วทุกมุมโลก

ดร. เซียรา ซีเวลส์ วิศวกรนิวเคลียร์ประจำห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins Applied Physics Laboratory) และเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ในสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และทูต If/Then ของ สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AAAS)

ดร. เจสสิก้า ทาฟเฟ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพระดับโลก นักจุลชีววิทยา และทูต If/Then ของ สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AAAS)

ดร. เจชรีย์ เซท นักวิศวกรเคมีและหัวหน้าหน่วยวิทยาศาสตร์ของ 3เอ็ม โดยเธอมีชื่อในสิทธิบัตรถึง 72 รายการ

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่สามารถทลายกำแพงความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับงานในสาขาของตน ได้แก่ ชีววิทยา วิศวกรรม วิทยาศาสตร์และแอปพลิเคชันด้านเทคโนโลยี ตลอดจนความหวังของพวกเขาที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์และนักการสื่อสารสตรีรุ่นต่อไปในอนาคต

จำไว้นะคะสาวๆ ผู้หญิงเรามีพลัง และศักยภาพมากพอที่จะเป็นอะไรที่เราต้องการจะเป็น อย่าปล่อยให้คนอื่นมาตัดสินว่าเราควร หรือไม่ควรจะเป็นอะไรเด็ดขาด!

Read more: อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดในแง่มุมอื่นๆ จากการตลาดวันละตอนได้ ที่นี่

ในบทความหน้าแบมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitterและ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะคะ

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน