การตลาดแบบคิดต่าง – เมื่อแบรนด์บอกให้คนซื้อน้อยลง แต่กลับได้ส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น

การตลาดแบบคิดต่าง – เมื่อแบรนด์บอกให้คนซื้อน้อยลง แต่กลับได้ส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น
Sadia

ได้อ่านชื่อบทความแล้วหลายคนคงกำลังขมวดคิ้วสงสัยอยู่แน่ๆ ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร กับการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดจะมากขึ้น ในขณะที่บอกให้ลูกค้าซื้อน้อยลง เอ้า !!! อย่างนี้ก็ได้เหรอ??

ได้ไม่ได้อยากรู้ต้องมาหาคำตอบกันดูพร้อมกันในบทความนี้ครับ

กล้าที่จะต่างด้วยกลยุทธ์การตลาดที่บอกลูกค้าให้ซื้อน้อยลง

วันนี้การตลาดวันละตอนจะขอยก Case Study ที่น่าสนใจในการคิดมุมกลับ และกล้าที่จะแตกต่างของ Sadia แบรนด์อาหารแช่แข็งในแถบซาอุดีอาระเบีย สินค้าหลักก็เน้นเป็นสินค้าแช่แข็ง เพื่อให้คนซื้อไปทำอาหารทานต่อกันที่บ้าน

แต่แทนที่จะทำแคมเปญให้คนมาซื้อสินค้าของตัวเองเพิ่มขึ้น ทางแบรนด์กลับได้โปรโมตและโฆษณาให้คนมาซื้อของตัวเองน้อยลง เพื่อรณรงค์ไม่ให้คนกินทิ้งกินขว้าง และเห็นค่าของอาหารมากขึ้น 

เข้าใจแก่นแท้ของปัญหา และเปลี่ยนมาเป็นกลยุทธ์

ถึงแม้แบรนด์จะบอกให้คนมาซื้อน้อยๆ แต่ที่น่าแปลกใจคือส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นไม่ได้ลดน้อยตามไปด้วย ในทางกลับกันผลลัพธ์จากแคมเปญนี้กลับทำให้ทางแบรนด์มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอีกตั้ง 3% 

สำหรับที่มาที่ไปของแคมเปญนี้นั้นเกิดจากช่วงเทศกาลถือศีลอด หรือรอมฎอน ในแถบตะวันออกกลางหรือประเทศมุสลิมนั้นเป็นช่วงที่หลายแบรนด์แข่งกันโฆษณารัวๆ อย่างกับเทศกาล Super Bowl ของอเมริกาเลย 

เพราะข้อปฏิบัติในเทศกาลนี้คือ การงดดื่มน้ำและทานอาหารในช่วงกลางวัน โดยจะเริ่มกินได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อตะวันตกดินแล้ว เพื่อให้เข้าใจหัวอกคนอดอยากที่ไม่มีข้าวกินจะแม้จะหมดวัน จะได้เข้าใจเราใจเขารู้จักบริจาคแบ่งปันให้กันและกันบ้างนั่นเอง 

ในช่วงนี้แหละครับที่หลากแบรนด์โดยเฉพาะแบรนด์อาหารทั้งหลายแข่งกันโฆษณากระตุ้นให้คนซื้อวัตถุดิบกลับไปทำกินกันที่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันยกใหญ่ ผลที่ตามมาก็คือซื้อไปเยอะเกินจนทำกินไม่หมดหรือไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องทิ้งกันไปมหาศาล ตกเป็นเงินค่าอาหารที่เททิ้งกันไปวันนึงกว่า 10,000,000 บาท ใช่ครับสิบล้านบาทคุณอ่านไม่ผิดหรอก

แบรนด์ Sadia มองเห็นปัญหานี้ก็เลยหยิบเอามาสร้างเป็นกลยุทธ์กระตุ้นให้คนมองเห็นและเข้าใจปัญหาซะเลย

บอกคนให้ซื้อน้อย แต่กลับได้ส่วนแบ่งการตลาดมาก

ในเมื่อทุกคนไปทางกระตุ้นให้คนซื้อไปเยอะๆ แต่ Sadia เลือกที่จะสวนทางกับทุกเจ้าในตลาดด้วยการทำให้คนตระหนักคิดว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่อดอยาก แล้วการจะทำอาหารกินกันทั้งครอบครัวอย่างอิ่มท้องและมีความสุขนั้นแท้จริงแล้วกลับใช้วัตถุดิบแค่นิดเดียว

ตรงนี้แหละคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกบริโภคนิยมทั้งหลายตาสว่าง ส่งผลให้การซื้อของไปทำกินทั้งหมดลดลงกว่า 8% แต่ตัว Sadia เองนั้นกลับได้ส่วนแบ่งทางตลาดเพิ่มขึ้นมากว่า 2.7%

นี่แหละครับคือผลของการคิดต่าง คิดสวนทาง หรือลองไม่ทำตามกระแส เพราะการได้ใจผู้ซื้อก็การได้เงินในกระเป๋านั้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะตามมา

ถ้าเรามัวแต่ทำธุรกิจโดยเอาแต่เงินหรือผลกำไรเป็นที่ตั้ง แล้วในระยะยาวผู้คน โลก และแบรนด์จะอยู่รอดได้ยังไงจริงไหมครับ

ส่วนใครที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การทำตลาดในรูปแบบอื่นๆ แนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

ในบทความหน้าผมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะค​รับ

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *