เศรษฐกิจ สังคม โลก และมนุษยชาติหลัง COVID-19 ผ่านไป จากผู้เขียน Sapiens

เศรษฐกิจ สังคม โลก และมนุษยชาติหลัง COVID-19 ผ่านไป จากผู้เขียน Sapiens

สภาพเศรษฐกิจโลกและสังคมหลังโคโรนาไวรัสหรือ COVID-19 จะเป็นอย่างไร จากมุมมองของ Yuval Noah Harari ผู้เขียน Sapiens, Homo Deus และ 21 Lessons for 21 Century ที่จะฉายภาพให้เห็นความเป็นอยู่ของมนุษยชาติหลังจากนี้ครับ

ท้ายที่สุดวิกฤตนี้จะผ่านไป แต่สิ่งที่เราเลือกกันวันนี้จะส่งผลต่อวิถีชีวิตเราหลังจากนี้ไปอีกนาน

มนุษยชาติตอนนี้กำลังเจอวิกฤตครั้งร้ายแรง และอาจจะเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดในยุคของเราทุกคนที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้อยู่ แล้วการตัดสินใจของพวกเราและรัฐบาลในระยะไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้อาจจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตเราหลังจากนี้ไปอีกนานแสนนาน เพราะสิ่งที่เรากำลังจะเลือกทำต่อจากนี้จะไม่ได้ส่งผลต่อแค่เรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในทุกระดับชั้น ส่งผลต่อเรื่องการเมืองการปกครองต่อจากนี้ และก็ยังจะส่งผลต่อวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของมนุษยชาติเราหลังจากนี้ด้วย

แน่นอนว่าในช่วงเวลาแห่งวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ทำให้เราต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและรวดเร็วมากที่สุดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง เพื่อลดการเสียชีวิตของมนุษยชาติลงไปให้ได้เร็วที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวที่จะตามมาจากการตัดสินใจในวันนี้ให้ดีด้วยครับ

ดังนั้นในช่วงเวลาแห่งการเลือกที่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วและฉับไว เรายิ่งควรถามตัวเองให้ไกลกว่าแค่การเอาชนะการแพร่ระบาดของ COVID-19 เท่านั้น แต่เราต้องถามตัวเองด้วยว่าเมื่อวิกฤตทุกอย่างผ่านไปแล้วนั่นจะยังเป็นโลกที่เราอยากอยู่จริงๆ มั้ย

เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างก็จะผ่านไปเหมือนพายุที่จะสงบลงและกลายเป็นแค่สายลมพัดผ่าน มนุษยชาติก็ยังคงจะต้องอยู่ต่อไป และพวกเราส่วนใหญ่ก็น่าจะยังมีชีวิตอยู่มากกว่าจะตายหายไปจนหมดโลก แต่โลกหลังโรคที่เราจะต้องอยู่ต่อไปจะต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากโลกเมื่อปี 2019 ที่เราทุกคนเคยรู้จักอย่างแน่นอนครับ

เราจะเห็นภาครัฐต่างๆ ออกมาตรการฉุกเฉินระยะสั้นเพื่อพยายามรักษาชีวิตผู้คนออกมาอย่างมากมาย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปกติของเวลาเกิดวิกฤตฉุกเฉินขึ้นมา และนั่นก็จะทำให้ประวัติศาสตร์ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมาก เพราะจากเดิมเรื่องใหญ่ เรื่องร้ายแรง หรือเรื่องที่เซนซิทีฟการจะตัดสินใจแต่ละทีมักจะใช้เวลากันเป็นปีๆ ในระดับนโยบายปฏิบัติ แต่ในวันนี้การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ กลับลดเหลือแค่หลักชั่วโมงเท่านั้น พอสั่งลงไปปุ๊บก็ทำปั๊บนั่นจึงทำให้เรื่องราวของมนุษยชาติต่อจากนี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนครับ

และนั่นก็รวมไปถึงการเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะยังอันตรายหรือไม่พร้อมใช้งานอย่างเต็มที่ถูกนำมาใช้ก่อนเวลาอันควร ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าการไม่ตัดสินใจทำอะไรเพื่อแก้ไขอาจส่งผลร้ายแรงกว่าตัดสินใจทั้งที่ยังไม่พร้อม แล้วค่อยเอาฟีดแบคที่ได้มาปรับปรุงให้ดีขึ้นหลังจากนั้น และนั่นก็หมายความว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศทั่วโลกพร้อมที่จะเอาประชาชนในประเทศเป็นหนูทดลองในการทดลองทางสังคมขนาดใหญ่โดยที่ประชาชนคนทั่วไปไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือไม่เข้าร่วมการทดลองนี้ได้ครับ

ไม่ว่าจะเป็นการประกาศมาตรการบังคับให้ Work from home กันทุกประเทศทั่วโลกกันถ้วนหน้าแล้ววันนี้ และนั่นก็ทำให้การสื่อสารทั้งหมดกลายการประชุมทางออนไลน์เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมหรือที่เรียกว่า Social distancing แล้วไหนจะการปรับตัวครั้งใหญ่อย่างรุนแรงของการเรียนการสอนทางออนไลน์ของทุกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วไป ทำให้ผู้ปกครองหลายคนที่เคยส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ราคาแพงเริ่มไม่แน่ใจว่ายังจำเป็นต้องจ่ายแพงๆ ให้โรงเรียนเหล่านั้นเหมือนเดิมมั้ย หรือมหาวิทยาลัยที่ต้องเคยแข่งขันกันสอบเข้ากลายเป็นออนไลน์เต็มตัวนั่นหมายความว่าพื้นที่ห้องเรียนที่เคยถูกจำกัด กลายเป็นถูกจำกัดด้วยสิ่งเดียวนั่นก็คือ Bandwidth ของอินเทอร์เน็ตเท่านั้นเอง

เพราะถ้าเป็นในช่วงเวลาปกติที่ไม่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 อย่างทุกวันนี้ เรื่องนี้ก็คงไม่มีใครเอาด้วยแน่ บรรดารัฐบาล หน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ รวมถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็คงไม่ได้ให้ความสำคัญและสนใจ และก็จะยังคงทำเหมือนเดิมอย่างที่เคยทำมาตลอดเพราะเชื่อว่า “ดีอยู่แล้ว” และการพูดคุยเรื่องนี้ก็คงยืดยาวออกไปเป็นปีๆ จนถึงสิบปีได้ แต่อย่างที่บอกว่านี่คือช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือในไม่กี่วันก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากเหมือนการที่ทุกคนต้อง Work From Home กันเกือบหมดโลกแล้วครับ

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตแบบนี้เราต้องเผชิญกับสองทางเลือกสำคัญมากๆ สองประการ

  1. เราจะเลือกอะไรระหว่างการเปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้มาตรการตรวจตราอย่างเผด็จการ หรือเราจะเลือกการเสริมสร้างพลังของพลเมืองให้แข้มเข็งยิ่งขึ้น
  2. เราจะเลือกอะไรระหว่างการแบ่งแยกชาติใครชาติมันกลับไปเป็นชาตินิยมอีกครั้ง หรือเราจะเลือกประสานความช่วยเหลือและร่วมมือกันในระดับโลกอย่างจริงจังให้มากขึ้น

เรามาสำรวจทีละทางเลือกกันว่าแต่ละทางเลือกนั้น Yuval Noah Harari ให้ความเห็นว่าอย่างไร

เบื้องหลังการเฝ้าระวังของภาครัฐที่ประชาชนอย่างเราอาจไม่ทันได้เฝ้าระวังตัว

This 31-Year-Old Built A Billion-Dollar Business By Developing AI ...

รัฐบาลแต่ละชาติต่อจากนี้อาจอ้างเรื่องความปลอดภัยในการเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ติดตามทุกฝีก้าว การกระทด ลิงก์ที่กด ไปจนถึงจังหวะการต้นของหัวใจเราทุกคนตลอด 24 ชั่วโมงไปจนตาย

เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ ภาครัฐจะออกมาตรการกำกับหรือแนวทางต่างๆ แล้วบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในสังคม และเรื่องนี้ก็มีสองแนวทางที่จะทำให้มันสำเร็จ หนึ่งคือให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสอดส่องดูแลทุกคนว่าต้องทำตามแนวทางที่ประกาศไปอย่างเคร่งครัด แล้วถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะลงโทษในทันที อย่างที่ฟิลิปปินส์มีการประกาศห้ามฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว ใครฝ่าฝืนและทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ยากขึ้นก็มีสิทธิ์ถูกวิสามัญได้ทันที!

แม้การพยายามสอดส่องและติดตามประชาชนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทำเรื่องนี้ทำให้สำเร็จได้ยากเพราะเทคโนโลยีไม่เอื้ออำนวย อย่างเมื่อ 50 ปีก่อนสมัยนั้นรัฐบาลโซเวียตสร้างหน่วยงานพิเศษที่ชื่อว่า KGB ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสอดส่องดูแลประชาชนในโซเวียตกว่า 240 ล้านคนตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในเวลานั้นสิ่งที่ KGB ทำได้คือการใช้เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนด้วยกันไปคอยเฝ้าติดตามและจดบันทึกผู้คนอีกทีหนึ่ง แล้วจากก็ค่อยเอาข้อมูลมานั่งวิเคราะห์ ส่งข้อมูลกระดาษเข้าไปรวมกันที่ศูนย์กลาง แล้วกว่าจะได้แนวทางการทำงานจากศูนย์กลางมาก็สายเกินไปเสียแล้ว

แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้น โลกเรามีเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยต่อการติดตามคนเป็นพันล้านคนได้ไม่ยาก ทั้งการใช้เซนเซอร์ต่างๆ มากมาย ใช้ Algorithm การคำนวนที่แสนจะทรงพลัง แทนที่จะต้องใช้คนด้วยกันมาเฝ้าติดตามเก็บข้อมูลแล้ววิเคราะห์ประมวลผลแบบเดิมที่ KGB เคยทำเมื่อ 50 ปีก่อนครับ

ซึ่งในช่วงเวลาแห่งการสู้รบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 หลายรัฐบาลได้เอาเครื่องมือใหม่ๆ เทคโนโลยีล้ำๆ มาใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามประชาชนเรียบร้อยแล้ว เราลองมาดูกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนกัน

ในประเทศจีนตอนนี้รัฐบาลได้ทำการติดตามประชาชนของพวกเขาใกล้ชิดผ่านแอปหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือ ให้ประชาชนหลายร้อยล้านจนถึงพันล้านคนของพวกเขาทำการสแกนใบหน้าผ่านกล้องมือถือให้เรียบร้อย จากนั้นก็ให้ประชาชนทุกคนรายงานอุณหภูมิตัวเองทุกวันแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของรัฐ เพื่อให้ทางการจีนสามารถเห็นสัญญาณของการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเพื่อที่จะเข้าไประงับยับยั้งการแพร่ระบาดอีกครั้งได้อย่างทันท่วงที

แต่สิ่งที่ทางการจีนทำยังไม่หมดแค่นั้น พวกเขายังติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชนทุกคน ติดตามว่าแต่ละคนไปเจอกับใครมาบ้าง และแอปของทางการตัวนี้ยังจะทำการแจ้งเตือนประชาชนทุกคนที่อาจจะอยู่ใกล้หรือบอกให้ผู้คนไม่เข้าใกล้คนที่ติดเชื้อโควิด19 อีกด้วยครับ

และที่ประเทศอิสราเอลก็ทำเช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรี Benjamin Netanyahu ของอิสราเอลประกาศให้เอาเทคโนโลยีที่เคยใช้ติดตามเฝ้าระวังผู้ก่อการร้าย เอามาใช้ติดตามเฝ้าระวังประชาชนคนที่ติดโควิด19 ครับ แล้วเมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการแต่ถูกคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องปฏิเสธคำขอที่จะอนุมัติ เราก็ทำการประกาศ พรก. ฉุกเฉินขึ้นมาทันที ทำให้คำสั่งต้องเป็นผลบังคับใช้ในทันทีครับ

บางคนอาจคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรที่รัฐบาลกับเอกชนร่วมมือกันในการพยายามใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เฝ้าติดตามและตรวจสอบรวมถึงพยายามทำการชี้นำประชาชนอยู่เสมออยู่แล้วหนิ

ใช่ครับเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าเราไม่ระวังการกระทำเรื่องนี้ของรัฐบาลก็อาจทำให้พวกเขากล้าทำทุกอย่างที่เคยแอบทำมาและอยากทำอยู่ได้อย่างเปิดเผยกับประชาชนทุกคนในประเทศ(หรืออาจจะถูกยกเว้นแค่บางคน) เพราะเครื่องมือเหล่านี้จะไม่ถูกใช้แค่กับการเฝ้าระวังโรคระบาดร้ายแรงในตอนนี้หรืออนาคตข้างหน้าเท่านั้น แต่พวกเขากำลังเข้ามาตรวจสอบและเฝ้าระวังประชาชนเข้าไปลึกถึงข้างในนอกจากแค่ที่แสดงออกภายนอกอีกต่อไปครับ

เพราะทุกวันนี้ ทุกครั้งที่คนคลิ๊กหรือกดหน้าจอมือถือไปยังลิงก์เพื่ออ่านบางอย่าง พวกเขาก็รู้อยู่แล้วว่าคุณกำลังกดดูอะไรบ้าง แล้วชอบกดดูอะไรบ่อยๆ เป็นประจำ แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนี้ พวกเขาจะไม่ได้แค่ติดตามนิ้วที่กดของคุณเท่านั้น แต่พวกเขาจะยังอยากรู้ว่าตอนที่คุณกดนั้นคุณมีอุณหภูมิเท่าไหร่ ความดันเลือดใต้ผิวหนังที่กดของคุณเป็นอย่างไร นั่นหมายความว่าพวกเขามีโอกาสที่จะรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดได้มากกว่าแค่การคลิ๊กแบบเดิมที่เคยเป็นมาครับ

ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยหรือเสริมอำนาจใครในรัฐบาล

1984 : ครบรอบ 70 ปี Big Brother is watching you! (ตอนที่ 2) - salika

รัฐบาลอาจไม่ได้ขอติดตามเราเพื่อความปลอดภัยจากไวรัส แต่อาจขอติดตามดูต่อว่าคุณมีความคิดที่จะเป็นอันตรายต่อรัฐบาลมั้ย

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการใช้งานมาตรการติดตามและเฝ้าระวังประชาชนคือเมื่อมันเริ่มทำงานแล้วไม่มีใครรู้ว่ามันทำงานแล้ว นอกจากคนส่วนน้อยที่เป็นคนเฝ้าดูข้อมูลหรือหน้าจอเท่านั้น และหลังจากระบบนี้ใช้งานแล้วเราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อไหร่มันจะหยุดลงหรือจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แล้วเจ้าเทคโนโลยีที่ติดตามเฝ้าระวังนี้ก็พัฒนาไปอย่างเร็วมากเกินกว่าที่คนทั่วไปคิด (ถ้าคุณรู้จัก MEGVII ผมเชื่อว่าคุณคงเข้าใจเรื่องนี้ดี) แล้วสิ่งที่เราเคยเห็นผ่านหนัง Sci-fi เมื่อปีก่อนที่ว่าล้ำแล้วจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเลยในวันนี้ เพราะรัฐบาลอาจสั่งให้ประชาชนทุกคนใส่สายรัดข้อมือตลอดเวลา เพื่อที่จะได้คอยติดตามว่าอุณหภูมิของแต่ละคนเป็นอย่างไร อัตราการเต้นของหัวใจเป็นอย่างไรตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน

แล้วข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คำว่า Big Data กลายเป็นเล็กไปเลย ข้อมูลมหาศาลหรือ Huge Data ในส่วนนี้จะถูกวิเคราะห์ด้วย Algorithm อันทรงพลังของภาครัฐออกมาเป็นผลลัพธ์ให้รู้ว่าตรงไหนที่มีแนวโน้มว่ากำลังจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่นั่นเองครับ

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ทำทางการรู้ว่าคุณกำลังจะป่วยก่อนที่คุณจะรู้สึกว่าตัวเองป่วยอีก แล้วพวกเขาก็รู้อีกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาคุณไปที่ไหน แล้วใช้เวลากับที่ไหนมาเป็นพิเศษบ้าง พวกเขารู้ด้วยว่าคุณไปเจอกับใครมาบ้างในแต่ละวัน แล้วคุณกับแต่ละคนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และนั่นก็ทำให้การแพร่ระบาดถูกยับยั้งได้อย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อรู้ว่าคนที่กำลังจะป่วยนั้นคือใคร และ 7 วันที่ผ่านมาเขาไปเจอกับใครมาบ้าง ทางรัฐก็แค่เข้าถึงตัวคนเหล่านี้ให้รวดเร็วแล้วก็รีบทำการเฝ้าระวังหรือรักษาได้ทันท่วงทีก่อนจะที่วิกฤตเกินไป จะเห็นว่าระบบเฝ้าระวังติดตามที่เล่ามาทั้งหมดนี้ช่วยทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 และไวรัสใหม่ๆ ในอนาคตนี้จบลงได้อย่างรวดเร็วซึ่งฟังเป็นเรื่องวิเศษใช่มั้ยครับ แต่ในขณะเดียวกันถ้ามองอีกด้านที่จะมองข้ามเลยก็ไม่ได้

อีกด้านมืดของเทคโนโลยีที่ใช้ติดตามเฝ้าระวังประชาชน มันจะทำให้ความชอบธรรมที่รัฐบาลจะเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างในการกระทำเราได้ตลอดอย่างที่ไม่เคยมีมา เช่น ถ้าเรากดอ่านเว็บข่าวออนไลน์อย่าง Fox News แล้วก็กดเข้าไปอ่าน CNN ต่อ พวกเขาก็พอจะรู้แล้วว่าเรามีมุมมองทางการเมืองเป็นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันถ้าพวกเขาสามารถเอาข้อมูลอย่างอุณหภูมิร่างกายเราเข้ามาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลความดันเลือด และก็บวกด้วยอัตราการเต้นของหัวใจขณะที่เรากำลังอ่านข่าวไหน หรือดูคลิปวิดีโอใดอยู่ พวกเขาจะสามารถรู้ได้เลยว่าเราชอบที่จะหัวเราะกับเนื้อหาหรือวิดีโอแบบไหน หนังหรือเนื้อหาแบบใดที่ทำให้เราเศร้าจนร้องให้ และเนื้อหาแบบไหนบ้างที่ทำให้เรารู้สึกโกรธมากได้จริงๆ

สรุปได้ว่าจากเดิมคือรู้แค่เราอ่าน รู้แค่ว่าเราอ่านนานเท่าไหร่ แล้วเราอ่านอะไรต่อไปบ้าง ตอนนี้พวกเขารู้ถึงข้อมูลหลายๆ ด้านอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนได้ครับ

เพราะคุณต้องเข้าใจว่าปฏิกิริยาการโกรธ มีความสุข หัวเราะ เบื่อ หรือรัก นั้นเป็นปฏิกิริยาทางชีววิทยาเป็นหลัก ก็เหมือนกับอาการไม่สบายหรือไอเท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าเทคโนโลยีนี้สามารถระบุได้ว่าเราเริ่มไอเมื่อไหร่บ้าง มันก็สามารถรู้ได้เหมือนกันว่าเราหัวเราะหรือร้องให้ตอนไหน ดังนั้นถ้ารัฐบาลหรือบริษัทเหล่านี้เริ่มทำการสะสมรวบรวม Biometric data ของเราไว้ พวกเราก็จะรู้จักตัวเราดียิ่งกว่าที่เราคิดว่าเรารู้จักตัวเราเองดีแล้วเสียอีกครับ และนั่นก็ทำให้พวกเขาสามารถคาดการณ์ได้ว่าเราน่าจะรู้สึกอย่างไรกับตัวแปรที่ใส่เข้ามาให้เราในครั้งถัดไป เช่น อาจจะส่งคลิปสักอย่างเพื่อกระตุ้นให้เรารู้สึกโกรธก่อนจะเห็นโฆษณาจากแบรนด์คู่แข่งหรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม แล้วพวกเขาก็จะสามารถทำให้เราอยากได้ทุกอย่างที่พวกเขาต้องการได้โดยที่เราไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกชี้นำอยู่นั่นเอง

และความน่ากลัวที่สุดคือรัฐบาลสามารถออกนโยบายที่เราไม่มีน่าจะเห็นชอบด้วยวิธีการที่ทำให้เรายอมรับและคล้อยตามได้ไม่ยาก นั่นแหละครับความน่ากลัวคือพวกเขาปล่อยให้เราคิดว่าเรากำลังคิดสิ่งนั้นด้วยตัวเองโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นการติดตามข้อมูลชีวภาพหรือ Biometric data นั้นจะทำให้เคส Cambridge Analytica ที่แฮก Data กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยทีเดียว

คุณลองคิดภาพดูง่ายๆ ก็ได้ครับถ้ารัฐบาลเกาหลีเหนือเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการติดตามและตรวจสอบประชาชนทุกคนตลอด 24 ชั่วโมงมุกวัน พวกเขาจะรู้เลยว่าเวลาท่านผู้นำออกทีวีกล่าวคำปราศัย ประชาชนคนไหนบ้างที่รู้สึกชื่นชมสุดซึ้งจนน้ำตาไหล ประชาชนคนไหนบ้างที่ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไร และประชาชนคนไหนบ้างที่รู้สึกโกรธแค้นเบื่อหน่ายแต่เก็บกดกลั้นคำพูดไว้ในใจได้แต่แสดงออกมาผ่านอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดเดือดปุดๆ

ฟังดูน่าขนลุกใช่มั้ยครับ

แน่นอนว่าการเอาเทคโนโลยีการเฝ้าติดตามแบบนี้มาใช้กับประชาชนในช่วงที่เกิดเหตุฉุกเฉินอย่างทุกวันนี้ย่อมเป็นเรื่องดี และมันจะดีที่สุดถ้าวิกฤตนี้หายไปแล้วเทคโนโลยีนี้ถูกถอดออกไปตามความฉุกเฉินเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีรัฐบาลไหนหรือผู้มีอำนาจคนไหนที่ได้คืบแล้วจะไม่เอาศอก ได้อำนาจแล้วจะยอมคืนอำนาจให้ มันก็เป็นไปได้มากกว่าว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะยังคงเทคโนโลยีการเฝ้าติดตามประชาชนทั้งหมดที่เล่ามาไว้แม้ว่าทุกอย่างจะกลับไปเป็นปกติแล้วก็ตาม

หรือพวกเขาเหล่าผู้มีอำนาจพวกนี้อาจจะอ้างด้วยเหตผลทำนองว่า “เราต้องคงการเฝ้าระวังและติดตามนี้ไว้เผื่อจะเกิดวิกฤตใหม่ในครั้งหน้า และทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคน!”

จ้ะ เหมือนที่บอกว่าจะมาแค่แป๊บเดียวแต่กลับอยู่ยาวไม่รู้กี่ปีแล้ว

Yuval Noah Harari ผู้เขียนบทความนี้บอกว่า เขาคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศตัวเองเมื่อตอนปี 1948 ตอนนั้นอิสราเอลมีสงครามแล้วทางรัฐบาลก็ได้ประกาศมาตรการชั่วคราวหลายอย่างในตอนนั้น ตั้งแต่การเซนเซอร์ข่าวสารไปจนถึงการยึดที่ดินทรัพย์สินประชาชนแล้วก็ครอบคลุมไปถึงกฏระเบียบต่างๆ ที่อ้างว่าเพื่อความจำเป็นอีกมากมาย และแม้ตอนนี้สงครามประกาศอิรสภาพของอิสราเอลจะจบมานานแล้ว แต่ทางการก็ยังไม่เคยประกาศยกเลิกประกาศฉุกเฉินในภาวะสงครามตั้งแต่วันนั้นแต่อย่างไร ดังนั้นจะเห็นว่าคำว่า “มาตรการชั่วคราว” อาจกลายเป็นชั่วคราวแบบไม่มีกำหนดจนน่าจะเรียกว่า “ถาวร” ได้แล้วจะถูกต้องกว่า เพราะตั้งแต่ปี 1948 ที่ประกาศออกมาก็เพิ่งจะมายกเลิกเอาตอนปี 2011 หรือกว่า 63 ปีผ่านไปครับ

และเช่นเดียวกันกับวิกฤตโคโรน่าไวรัสในครั้งนี้ แม้ในอนาคตการระบาดจดหมดไปจนกลายเป็นศูนย์ แต่คุณคิดว่าทางรัฐบาลจะหยุดเก็บข้อมูลคุณเหมือนก่อนหน้าหรือ? ถ้าคุณได้ทำการใส่สายรัดข้อมูล Biometric แล้ว หรือต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว พวกเขาก็จะยังคงให้พวกคุณทำต่อไปเพื่อเหตุผลที่ว่าเผื่อจะมีการแพร่ระบาดในครั้งหน้าแม้การแพร่ระบาดที่ว่าจะหายไปหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสตัวใหม่หรือเชื้ออีโบราใหม่ที่อาจกลายพันธุ์ไปก็เป็นได้

ดังนั้นการต่อสู้ในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล หรือความเป็นส่วนตัวที่เคยมีมาอย่างยาวนานก็จะกลายเป็นสูญไปในทันที เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดของ Coronavirus ได้เข้ามาทำให้ความ Privacy นั้นกลายเป็นไม่ปลอดภัยต่อสังคมส่วนใหญ่อีกต่อไปครับ

ดังนั้นคำถามสำคัญต่อจากนี้คือเมื่อประชาชนถูกบีบให้ต้องเลือกระหว่าง Privacy กับสุขภาพ แน่นอนว่าทุกคนต้องเลือกสุขภาพมาเป็นอันดับหนึ่งก่อนสิ่งอื่นใดครับ

ถ้าประชาชนเข้าใจว่าทำไมกฏหมายบังคับใช้ใดๆ ก็ไม่จำเป็น

คุณไม่จำเป็นต้องไปสั่งให้ใครรักษาความสะอาดหรือมั่นล้างมือหรอกวันนี้ เพราะทุกคนอยากล้างมือด้วยตัวเองทุกครั้งที่ทำได้เพราะเข้าใจว่าทำไม

ถ้าคุณไปถามใครว่าระหว่าง Privacy กับ Health จะเลือกอะไร แน่นอนอยู่แล้วว่าทุกคนต้องเลือก Health สุขภาพความปลอดภัยของชีวิตมาก่อน นั่นก็เพราะตัวเลือกนี้มันผิดตั้งแต่แรกแล้ว เราควรยังมีพื้นที่ส่วนตัวหรือ Privacy ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดีไปด้วยกัน ไม่ใช่ต้องถูกบังคับให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราควรได้เลือกได้รับการปกป้องสุขภาพและชีวิตให้ปลอดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 แต่ไม่ใช่ด้วยการเอาเฝ้าระวังแบบเผด็จการทุกฝีก้าวเข้ามาใช้ติดตามชีวิตเราไปตลอดทาง แต่ต้องเป็นการที่รัฐบาลทำให้ประชาชนสามารถปกป้องตัวเองได้ดีขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงค์โปร ประเทศเหล่านี้ได้ออก Application เพื่อติดตามและเฝ้าระวังให้กับประชาชน ให้ประชาชนช่วยกันกรอกข้อมูลที่ซื่อสัตย์ด้วยตัวเอง และก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดีจนกลายเป็นข้อมูลชั้นดีที่ทุกคนได้รับรู้และเฝ้าระวังไปด้วยกัน

เพราะการที่รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการจะเป็นศูนย์กลางในการติดตามและเฝ้าระวังประชาชนเพียงฝั่งเดียวผ่านการบังคับใช้กฏหมายลงโทษที่รุนแรงนั้นดูจะไม่ใช่ทางออกเดียวที่มีในตอนนี้แล้ว เพราะถ้าทางการออกมาบอกข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนรู้อย่างเข้าใจได้(เน้นย้ำว่าต้องพูดให้ประชาชนเข้าใจได้ ไม่ใช่พูดแล้วเข้าใจอยู่คนเดียวแต่ประชาชนคนฟังทีวีไม่เข้าใจ) ประชาชนก็จะเชื่อข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นแล้วปฏิบัติตัวตามไม่ยาก สิ่งสำคัญคือรัฐต้องกล้าบอกความจริง ไม่ใช่มุบมิบๆ เผยทีละนิดแล้วก็ปฏฺิบัติกับพวกพ้องตัวเองให้พิเศษกว่าชาวบ้าน เพียงเท่านี้ประชาชนคนส่วนใหญ่ก็จะยินดีที่จะปฏิบัติตามโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาจับตามองเหมือนอย่างนิยาย 1984 ที่ต้องมีพี่เบิ้มคอยจับตาดูประชาชนทุกฝีก้าวเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะทำตามที่รัฐบาลต้องการเสมอไป

เพราะการทำให้ประชาชนเกิดแรงจูงใจที่จะร่วมมือกันทำด้วยตัวเองนั้นต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจ และนั่นก็ต้องมาจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเข้าใจคนฟัง สิ่งนี้จะมีพลังกว่าการบังคับใช้กฏหมายหรือกฏระเบียบใดๆ หลายเท่าเพราะประชาชนชนไม่ยอมปฏิบัติตามที่มีส่วนสำคัญมาจากการไม่เข้าใจว่าสถานการณ์จริงเป็นอย่างไรในตอนนี้

ลองเปรียบเทียบง่ายๆ กับเรื่องล้างมือทุกวันนี้ก็ได้ จะเห็นว่าทุกวันนี้คนมากมายหรือน่าจะเรียกได้ว่าแทบทุกคนต่างล้างมือกันเป็นประจำทุกครั้งที่มีโอกาสด้วยตัวเอง จะเห็นว่าแต่ไหนแต่ไรมามนุษยชาติไม่เคยใส่ใจเรื่องความสะอาดปลอดภัยของสุขอนามัยมากขนาดนี้มาก่อน เพราะพวกเขารับรู้และเข้าใจด้วยตัวเองว่าการล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดการติดไวรัสโควิด19 ได้ และการทาเจลแอลกอฮอล์ที่มือเป็นประจำก็เป็นการกำจัดเชื้อไปในตัวด้วย จะเห็นว่าทุกวันนี้ใครๆ ก็มีเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวไว้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับว่าต้องทำเลยด้วยซ้ำครับ

พอเราลองย้อนกลับไปดูเมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อร้อยกว่าปีมานี้ ในตอนนั้นมีนักวิทยาศาสตร์บางคนเพิ่งค้นพบว่าการที่บรรดาแพทย์และพยาบาลล้างมือด้วยสบู่นั้นสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยมากขนาดไหน แต่ในตอนแรกก็ไม่มีใครเชื่อและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วยตัวเอง จนพวกเขาต้องออกกฏขึ้นมาว่าถ้าจะมีการรักษาคนไข้โดยเฉพาะการผ่าตัดต้องมาการล้างไม้ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังให้เรียบร้อย

และนั่นก็ทำให้มีเพียงแค่หมอและพยาบาลเท่านั้นที่ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ให้สะอาดเป็นประจำ แต่ทุกวันนี้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกต่างมองหาเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งเวลาออกจากบ้านไปไหนมาไหนครับ เห็นมั้ยครับว่าการสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องทำ แล้วสิ่งนี้นั้นมันสำคัญกับตัวเขาอย่างไร ทำให้ไม่ต้องมีรัฐบาลไหนออกกฏหมายมาบังคับใช้ให้ทุกคนต้องล้างมือแต่อย่างไร ไม่ต้องมาใครมาคอยจับหรือติดตามคนที่ไม่ล้างมือเลย

เพราะถ้าประชาชนทุกคนหรือเอาแค่คนส่วนใหญ่เชื่อใจและไว้ใจแล้ว พวกเขาก็จะปฏิบัติตามด้วยตัวเองอัตโนมัติ ถ้ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือจากคนที่น่าเชื่อถือในด้านนั้นบอกมา บวกกับการใช้สื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการที่ทุกคนเข้าใจได้ เรื่องมันก็จะง่ายอย่างนั้นแหละครับ

แต่ถ้าถามว่าทำไมประกาศจากทางการมักไม่ได้ผลหรือคนไม่เชื่อ ก็เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานักการเมืองต่างๆ แถลงข่าวหรือออกประกาศให้ข้อมูลโดยขาดความรับผิดชอบและน่าเชื่อถือมาตลอด เหมือนที่เวลารัฐบาลมาแถลงข่าวอะไรก็มักจะทำให้เราเกิดคำถามในใจว่า “นี่มันอะไรว้า?” ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมเวลาหน่วยงานรัฐหรือราชการพูดแล้วคนไม่ค่อยเชื่อหรือไม่ค่อยฟัง ผิดกับถ้าให้หมอมาพูดในช่วงเวลานี้นั้นทุกคนต่างอยากฟังและเฝ้ารอที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดครับ

แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าความน่าเชื่อถือหรือความไว้ใจนั้นต้องใช้เวลาในการสร้าง เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ในชั่วเวลาข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ให้คนเกิดความเชื่อถือในตัวเรา แต่ในช่วงเวลาที่ไม่ปกตินี้เองทุกอย่างก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วถ้ากลับตัวกลับใจทำได้อย่างถูกต้อง ก็เหมือนกับพี่น้องท้องเดียวกันที่แม้จะไม่ถูกกันมานานปี แต่พอมีวิกฤตบางอย่างเข้ามาถ้าพวกเขากลับตัวกลับใจด้วยกัน พวกเขาก็จะสามารถร่วมมือกันเอาชนะอุปสรรคได้ไม่ยากครับ

ดังนั้นแทนที่รัฐบาลต่างๆ จะเร่งใช้ระบบติดตามและเฝ้าระวังกับประชาชนทั้งประเทศเพื่อควบคุมให้สถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นลดลงไป ในตอนนี้ก็ยังไม่สายไปที่จะเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจในแง่วิทยาศาสตร์ผ่านช่องทางที่น่าเชื่อถือต่างๆ ออกมา และแน่นอนว่าเราควรเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในเวลานี้ แต่ควรใช้เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อเสริมอำนาจการควบคุมของภาครัฐที่จะเป็นคอยจัดการประชาชนทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว

เพราะคนส่วนใหญ่อยากที่จะรู้ข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวเองอยู่แล้ว เหมือนที่เราคอยวัดอุณหภูมิร่างกายทุกวันในตอนนี้ เราพยายามดูอัตราการเต้นของหัวใจอยู่บ่อยๆ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลทั้งหมดของตัวเราที่เป็น Biometric data ควรจะเอาไปให้รัฐบาลใช้เพื่อปกครองเราให้ได้ดั่งใจเขาได้ยิ่งขึ้นครับ

เพราะ Data ของเราควรมีไว้เพื่อให้เรารู้เท่าทันตัวเอง ให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นที่จะเลือกในครั้งหน้า สรุปได้ว่า Data ของเราควรมีไว้เพื่อเราไม่ใช่เพื่อใครคนอื่นครับ

แล้วถ้าเราทุกคนต้องถูกติดตามข้อมูลสุขภาพร่างกายของเราตลอด 24 ชั่วโมงจริง เราก็ควรได้รู้มากกว่าแค่เมื่อไหร่ที่เรามีแนวโน้มว่าจะติดไวรัสหรืออยู่ใกล้กับคนที่เป็นอันตรายเท่านั้น แต่เราควรรู้ด้วยว่าเราจะต้องทำอย่างไรบ้างให้เราปลอดภัยละมีสุขภาพที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ควรได้เข้าถึงข้อมูลสถิติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าที่รัฐบาลออกมาประกาศต่างๆ นั้นเป็นเรื่องจริงหรือแค่โกหกสร้างภาพว่ายังไม่วิกฤต และเราจะได้รู้ว่านโยบายต่างๆ ที่ทางการประกาศออกมานั้นตรงกับ Data ที่เราเองก็ได้รับมาจริงๆ มั้ย

เพราะเมื่อถึงเทคโนโลยีระบบการติดตามและตรวจสอบนั้นไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ประชาชนเอาเทคโนโลยีนี้ไปตรวจสอบรัฐบาลกลับ ว่าพวกเขารู้มั้ยว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ กำลังตัดสินใจเพื่อพวกพ้อง เพื่อความปลอดภัยในตำแหน่งอำนาจ หรือทำไปเพื่อประชาชนจริงๆ ครับ

ดังนั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของประชาชนพลเมืองโลก จะเลือกเชื่อข้อมูลข่าวสารที่เป็นวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพตัวจริง หรือจะแพ้ให้กับนักการเมืองที่ต้องการใช้อำนาจเพื่อเสริมอำนาจของตัวเองในวันหน้าหรือไม่ ถ้าเราเลือกกันพลาดในครั้งนี้ นั่นหมายความว่าเราจะไม่มีคำว่าอิสรภาพใดๆ เลยในวันหน้า เพราะเท่ากับว่าเรายอมมอบอิสรภาพที่มีค่าที่สุดในชีวิตเราให้กับกลุ่มคนไม่กี่คนมาคอยกำกับดูแลชีวิตเราตลอดไป เราต้องเลือกที่จะปกป้องชีวิตตัวเองในวันนี้และรักษาอิสรภาพในการใช้ชีวิตของเราในวันหน้าให้ได้ด้วยครับ

ถ้าทุกชาติไม่ร่วมมือกันวันนี้ก็อาจไม่เหลือใครให้ร่วมมืออีกในวันหน้า

Pres. Donald Trump Order 3M Not To Supply Mask To Canada - YouTube

อย่าปล่อยให้ความกลัวมาทำให้เราเห็นแก่ตัวและไม่ยอมหยิบยื่นความช่วยเหลือที่ทำได้ให้แก่กันตั้งแต่วันนี้

ทั้งหมดทั้งมวลที่อ่านมาเป็นแค่ข้อแรกจากสองข้อเท่านั้น นั่นก็คือเราจะเลือกอะไรระหว่างให้รัฐบาลเข้ามาดูแลทุกอย่างในชีวิตเรานับจากนี้ หรือเราต้องการให้รัฐมาช่วยทำให้เราเลือกได้ดีขึ้นร่วมกันในวันข้างหน้า ส่วนในข้อที่สองที่เป็นตัวเลือกสำคัญในวันนี้คือ เราจะเลือกโดดเดี่ยวชาติตัวเองโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร หรือจะเรียกว่าตัดช่องน้อยแต่พอตัวก็ได้ หรือเราจะเลือกเปิดประตูช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ แชร์ทุกอย่างที่เรามีให้ทุกคนได้รับรู้ไปด้วยกัน

เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในวันนี้ส่งต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาลจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกินกว่าใครจะคาดการณ์ไว้ แต่ Yuval Noah Harari ก็บอกว่าปัญหานี้จะผ่านไปได้โดยไม่สาหัสมากถ้าเราทุกชาติร่วมมือกันอย่างจริงจังในระดับโลก

เรื่องและที่สำคัญที่สุดคือทุกชาติทั่วโลกต้องแชร์ข้อมูลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 กันให้มากที่สุด เพราะนั่นจะทำให้เราได้เปรียบเจ้าไวรัสตัวนี้ได้ในทันที ถึงแม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ในจีนกับการแพร่ระบาดของอเมริกาจะไม่สามารถแชร์กันได้ทุกอย่าง แต่ทางจีนเองก็สามารถแชร์สิ่งที่ตัวเองรู้ให้กับอเมริกา โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นบทเรียนที่สำคัญมากๆ ที่พบเขาพบเจอแล้วผ่านมันมาได้ให้ทางอเมริกาหรือชาติอื่นได้รู้เพื่อจะได้รับมือกับการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

เพราะสิ่งที่ทีมแพทย์ในประเทศหนึ่งค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อตอนเช้า อาจสามารถช่วยทีมแพทย์ของอีกประเทศหนึ่งให้รักษาชีวิตผู้คนได้มากมายในตอนเย็น อย่างที่ตอนคณะรัฐบาลประเทศอังกฤษกำลังลังเลกับการประกาศใช้นโยบายใหม่หลายอย่าง ถ้าพวกเขาสามารถขอรับคำแนะนำจากรัฐบาลเกาหลีใต้ที่เจอกับปัญหาเดียวกันมาแล้วเมื่อเดือนก่อนได้ก็จะสามารถช่วยให้การตัดสินใจนั้นง่ายขึ้นมาก แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จริงเราต้องการความไว้วางใจกันอย่างแท้จริงในระดับโลกว่าเราทุกคนเต็มใจช่วยเหลือกันจริงๆ โดยไม่มีผลประโยชน์ใดทางการเมืองแอบแฝง

ทุกประเทศบนโลกในตอนนี้ควรแชร์ทุกสิ่งที่ตัวเองรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ออกไปให้มากที่สุด และในขณะเดียวกันก็ควรเปิดใจและรับฟังความเห็นของนานาประเทศอย่างไม่ถือยศถืออย่าง ทุกคนต้องเชื่อใน Data ว่า Data ที่ได้รับการแชร์มานั้นเชื่อถือได้ และในขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ข้อมูลทางการแพทย์เท่านั้นที่เราต้องการการแบ่งปันกัน แต่ยังหมายถึงความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการสู้กับไวรัสนี้ รวมไปถึงยา ชุดทดสอบ แล้วก็เครื่องช่วยหายใจอีกด้วยครับ

เพราะสถานการณ์ในตอนนี้คือทุกประเทศต่างพยายามสะสมเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ไว้กับตัวเองให้มากที่สุด อย่างที่เราเห็นหลายประเทศออกกฏหมายห้ามส่งออกหน้ากาก ชุดและเครื่องมือป้องกัน ชุดทดสอบ รวมไปถึงยา นั่นทำให้ทุกอย่างเกิดการสะดุดแต่ติดขัด ทำให้ประเทศที่ขาดแคลนอยู่แล้วยิ่งขาดแคลนหนัก และนั่นก็ทำให้เกิดความไม่เชื่อใจไม่กล้าช่วยเหลือกันแต่อย่างไรครับ

เพราะถ้าทุกประเทศต่างช่วยเหลือกันส่งสิ่งที่ตัวเองมีเกินความจำเป็นในตอนนี้ออกไปให้กับชาติที่ต้องการ ถึงเวลาที่ชาติอื่นมีในสิ่งที่ชาติตัวเองขาดพวกเขาก็จะกล้าส่งกลับคืนมาให้เราเพราะมั่นใจว่าทุกชาติจะส่งต่ออุปกรณ์หรือยาที่มีเพื่อช่วยเหลือกันครับ

แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้คือหลายชาติเริ่มประกาศใช้กฏอัยการศึกหรือเข้าสู่ช่วงภาวะสงคราม และก็ทำให้ชาติต่างๆ สั่งโรงงานให้ผลิตสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ขึ้นมาสำหรับใช้ป้องกันไวรัสภายในประเทศของตัวเองเท่านั้น เหมือนที่สหรัฐอเมริกาทำสั่งประกาศให้บริษัทต่างๆ ที่เป็นของชาติอเมริกาห้ามส่งสินค้าออกไปนอกประเทศ หรือต่อให้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศก็ต้องส่งกลับมาในประเทศตัวเองเท่านั้น

อย่างที่ตอนนี้กำลังเป็นข่าวเรื่องหน้ากากอนามัยที่ทางเยอรมันสั่งบริษัท 3M ผลิตเป็นจำนวน 200,000 ชิ้น แต่กลับถูกสหรัฐยึดไปทั้งที่สินค้ายังถูกวางไว้ที่บ้านเราก่อนจะต้องส่งต่อด้วยเหตุผลที่ว่าตอนนี้กฏหมายในช่วงภาวะสงครามของสหรัฐอเมริกาสั่งให้ทำแบบนั้น

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วประเทศที่ร่ำรวยและมีระบบสาธารณสุขที่ดีที่มีคนเจ็บป่วยน้อยควรจะส่งสิ่งของเหล่านี้ออกไปช่วยเหลือประเทศยากจนที่อะไรๆ ไม่พร้อมและเต็มไปด้วยคนเจ็บป่วยให้มากกว่านี้ครับ

แล้วประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าก็ควรจะส่งทีมแพทย์ของตัวเองไปช่วยเหลือประเทศที่กำลังสาหัส เหมือนที่ทีแรกญี่ปุ่นส่งทีมแพทย์มาเพื่อช่วยจีน จากนั้นจีนก็ส่งทีมแพทย์ของตัวเองไปเพื่อช่วยอิตาลี นี่คือช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดของมนุษยชาติที่จะพิสูจน์ว่าเราเป็น Sapiens ที่เจริญในทุกด้านแล้วจริงๆ

เพราะถ้าเราช่วยเหลือกันและกันน้อยเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น การแพร่ระบาดในครั้งนี้ก็อาจจะกลับมาทำร้ายเราทุกคนในที่สุดก็ได้ครับ

และการร่วมมือกันในระดับโลกที่ว่ามานี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในเรื่องเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เพราะหัวใจของเศรษฐกิจโลกที่มั่งคั่งมาจากการไหลเวียนของทรัพยากรอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ถ้ารัฐบาลของแต่ละประเทศพยายามตัดขาดจากโลกภายนอกแล้วจัดการทำอย่างด้วยตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะยิ่งสาหัสไปกว่าเดิม จะเกิดการฝืดเคืองทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่อย่างที่ไม่สามารถจินตนาการไหว ดังนั้นนี่คือเหตุผลว่าทำไมในช่วงเวลาที่วิกฤตแบบนี้เรายิ่งต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกันให้มากขึ้นยิ่งกว่าตอนทุกอย่างยังราบรื่นด้วยซ้ำครับ

แล้วเรื่องกฏระเบียบข้อบังคับเรื่องการเดินทางก็เช่นเดียวกัน การระงับการเดินทางทางระหว่างประเทศเป็นเวลานานจะทำให้การต่อสู้กับ Coronavirus ยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น เพราะบรรดาหัวหอกในการสู้รบอย่างนักวิทยาศาสตร์ หมอ นักข่าว นักการเมือง หรือนักธุรกิจสำคัญๆ พวกเขาเหล่านี้จำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อช่วยทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด สิ่งที่ Yuval Noah Harari แนะนำคือยังเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันได้อยู่ แต่ต้องใช้การคัดกรองนักเดินทางเป็นอย่างดีเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ไปแพร่เชื้อเพิ่มเติมให้ที่ประเทศปลายทางครับ

แต่น่าเสียดายที่หลายประเทศในตอนนี้ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ การร่วมมือกันในหลายๆ ด้านระหว่างประเทศนั้นหยุดชะงักเหมือนเป็นอัมพาท เหมือนกับไม่มีใครมาเป็นประธานในการกำกับดูแลเรื่องนี้แล้ว เราต่างก็คาดหวังว่าจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกร่วมกันเพื่อช่วยกันรับมือกับแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้แต่ก็เปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือเหล่าสุดยอดผู้นำชาติ G7 ทำแค่จัดประชุมกันทางออนไลน์แล้วก็ไม่ได้แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมร่วมกันแต่อย่างไรที่จะมาช่วยให้โลกทั้งใบผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ครับ

เมื่อย้อนดูวิกฤตระดับโลกครั้งก่อนเมื่อตอนปี 2008 ตอนที่เกิดวิกฤตทางการเงินจาก Hamburger Crisis หรือตอนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Ebola ทางสหรัฐเองออกมาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างเต็มที่ แต่ในเวลานี้เรากลับเห็นประเทศสหรัฐที่เคยได้รับฉายาว่าตำรวจโลก หรือผู้นำโลก นั้นไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นอีกต่อไป ตอนนี้ผู้นำของเขาได้ละทิ้งตำแหน่งบารมีที่ประธานาธิบดีคนก่อนๆ เคยสร้างสมไว้ ด้วยการชัดเจนว่ากลับไปยังนโยบายตอนหาเสียงของประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง Donald Trump ที่ประกาศว่าเขาจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการไม่สนใจใยดีชาติใดๆ ในโลกที่ไม่ใช่อเมริกาอีกต่อไป

อเมริกาในวันนี้ละทิ้งแม้แต่พันธมิตรที่เคยใกล้ชิดที่สุด เริ่มตั้งแต่การห้ามผู้คนจากสหภาพยุโรปเดินทางเข้ามาโดยไม่แจ้งให้ทาง EU ทราบล่วงหน้า และก็ยังมีการออกประกาศอื้อฉาวว่ารัฐบาลสหรัฐจะทุ่มเงินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการจ้างบริษัทยาเยอรมันให้คิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโควิด19 เพื่อประชาชนชาวสหรัฐเท่านั้น และก็จะไม่ยอมให้ชาติใดในโลกได้เข้าถึงไวรัสนั้นเพราะจะเอาไว้ให้เป็นสิทธิพิเศษของคนสัญชาติอเมริกาเท่านั้นครับ แต่โชคดีที่ทางบริษัทยาเยอรมันออกมาแถลงข่าวว่าไม่เอาด้วย เพราะวัคซีนนี้ควรจะเป็นของทุกชาติทั่วโลกไม่ใช่แค่อเมริกาชาติเดียวอย่างเดียวเหมือนอย่างที่ Trump วาดฝันไว้

แม้ว่าปัจจุบันท่าทีของ Trump จะเริ่มเปลี่ยนไป และก็เริ่มมีนโยบายที่จะช่วยเหลือหรือแก้ไขให้กับชาติอื่นๆ ในโลกกลับมาเหมือนอย่างที่อเมริกาควรจะเป็นในทุกที แต่นั่นก็ทำให้น้อยชาติที่จะเห็นอเมริกาเป็นผู้นำอีกต่อไป เพราะไม่มีใครอยากจะติดตามคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รู้จักเสียสละ และก็ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองผิด แถมยังเป็นคนประเภทที่เอาแต่ดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่นอยู่เสมอครับ

และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในครั้งนี้ก็ยากจะถูกหยุดยั้งได้ถ้าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาไม่รีบเข้ามาอุดรูรั่วของชาติเล็กๆ ต่างๆ มากมาย การแพร่ระบาดก็จะคงยังกระจายต่อไปจนยากจะรู้ว่าจะจบลงที่ตรงไหนครับ

แต่ก็อย่างที่เค้าว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ในวิกฤตการแพร่ระบาดในครั้งนี้ก็ทำให้มนุษยชาติได้ตระหนักถึงการร่วมมือกันในระดับโลกอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะช่วยให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหรือเสียหายน้อยที่สุด เพราะยิ่งเราแยกตัวออกจากกันมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเปราะบางมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงเนื้อหาในหนังสือ Homo Sapiens ที่โด่งดังของ Yuval Noah Harari นะครับ ในช่วงหนึ่งที่เขาบอกว่า Sapiens อย่างมนุษย์เรานั้นด้อยกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นมากมาย หรือแม้แต่มนุษย์สายพันธุ์ที่แข็งแรงตัวใหญ่กว่าอย่าง Neanderthal แต่เราสามารถขึ้นมาครองโลกได้ก็เพราะเรามีการร่วมมือกันที่ดีกว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น Neanderthal อาจรวมตัวกันได้หลักสิบหรือหลักร้อย แต่ Sapiens อย่างเราสามารถรวมตัวกันได้จนถึงหลักพัน และนั่นก็ทำให้เรายิ่งใหญ่มาด้วยกันจนถึงทุกวันนี้

แต่ถ้าเจ้าไวรัสตัวนี้ทำให้มนุษย์เราแยกออกจากกันได้ ก็คงไม่แปลกใจถ้าทำไมเราจะถึงคราวล่มสลายในที่สุด

นี่คือช่วงเวลาสำคัญของเราทุกคนที่จะต้องเลือก ว่าเราจะเลือกโดดเดี่ยวเพื่อรอดอยู่คนเดียวชาติเดียว หรือเราจะหันหน้าร่วมมือกันถึงที่สุดอย่างไม่มีกำแพงใดมาขวางกั้นจนกลายเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ ขึ้นมา ถ้าเราเลือกที่จะแยกตัวออกจากกัน มันอาจจะช่วยแค่ยืดเวลาของวิกฤตนี้ออกไปให้นานอีกหน่อย แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็จะรออยู่ตรงหน้าของมนุษยชาติทุกคน

แต่ถ้าเรารวมใจกันที่จะเลือกความร่วมมือร่วมใจกันเป็นปึกแผ่น นี่จะเป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติได้ร่วมมือกันอย่างแท้จริงเพื่อเอาชนะภัยพิบัติบางอย่าง เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นผ่านหนังฮอลลีวู้ดมามากมาย คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันสร้างหนังที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าฮอลลีวู้ดหรือใครจะสร้างขึ้นมาได้

เพราะถ้าเราร่วมมือกันเพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าไปได้ มันจะส่งผลต่ออนาคตของมนุษยชาติทั้งหมดและโลกทั้งในของศตวรรษที่ 21 ในแบบที่เราไม่เคยนึกถึงได้มาก่อนเลยจริงๆ

และนั่นก็คงทำให้ Yuval Noah Harari ต้องเขียนหนังสือ 21 Lessons for the 21 Century ใหม่อีกครั้งครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวกับ COVID-19 หรือ Coronavirus ต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/covid-19/

Source > https://www.ft.com/content/19d90308-6858-11ea-a3c9-1fe6fedcca75

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

One thought on “เศรษฐกิจ สังคม โลก และมนุษยชาติหลัง COVID-19 ผ่านไป จากผู้เขียน Sapiens

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่