ทำไมแบรนด์ถึงควรทำการตลาดโดยใช้ มีม ?

ทำไมแบรนด์ถึงควรทำการตลาดโดยใช้ มีม ?

วันนี้ปลื้มไปเจอวิธีที่ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้คนบนโซเชียลได้ง่ายๆ เลยเอามาเล่าสู่กันฟังค่ะ โดยวิธีดังกล่าวก็คือการใช้ ‘มีม’ ในการสื่อสารกับผู้บริโภคนั่นเอง ปลื้มเองยังชอบเก็บมีมตลกๆ ไว้ในใช้คอมเมนต์หรือคุยกับเพื่อนแทนการพิมพ์ธรรมดาๆ เพราะมันช่วยถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีกว่า ซึ่งนี่เป็นโอกาสในการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคที่ง่ายมากจริงๆ เพราะใช้งบน้อย และมีแนวโน้มที่ผู้คนจะแชร์มีมตลกๆ มากกว่าใช้เวลาอ่านโฆษณาที่อธิบายสินค้ายาวๆ เสียอีกค่ะ 

มีใครอยากรู้บ้างคะ ว่ามีมมาจากไหน? ก่อนอื่นต้องบอกว่ามีคนคิดค้นมันขึ้นมานั่นก็คือ Richard Dawkins เป็นนักชีววิทยา โดยเขาได้ดัดแปลงคำว่า mimieme ในภาษากรีก มาเป็นคำว่า meme ในหนังสือ ‘The Selfish Gene’ ปี 1976 เขาบอกว่ามันเป็นทฤษฎีการแพร่กระจายข้อมูลทางทางอารมณ์และกระแสทางวัฒนธรรมจากสิ่งที่ติดตาและผู้คนรับรู้ตรงกันในบริบทนั้นได้นั่นเองค่ะ

หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นกับคำว่า มีม แต่ปลื้มเชื่อว่าถ้าเห็นภาพทุกคนจะอ๋อขึ้นมาทันทีเลยค่ะ ซึ่งมีมหรือ meme เนี้ยโดยทั่วไป ถูกใช้กันบนโซเชียล ในรูปแบบภาพนิ่งและ GIF มันเป็นสัญลักษณ์ผ่านการเขียน การพูด วลี ประโยคเด็ด ท่าทาง หรือภาพล้อเลียนแนว Pop Culture เอามาทำให้ดูตลกๆ ทำให้ผู้คนนิยมใช้กันเยอะมากบนอินเทอร์เน็ตเพราะมันเป็นสิ่งที่เก็ทง่ายมากๆ

อย่างมีมตัวนี้ เกิดจากพ่อแม่ของเด็กน้อยโพสต์คลิปที่ลูกสาวคนพี่ดีใจที่จะได้ไปดิสนีย์แลนด์จนร้องไห้ แต่เด็กน้อยคนนี้ที่ชื่อ Chloe เธอกลับทำหน้างงๆ เหมือนคิดว่าทำไมพี่สาวของเธอต้องดีใจขนาดนั้น จนตอนนี้เธอกลายเป็นคนดังบนโซเชียลไปแล้ว เพราะผู้คนเอามีมของเธอไปใช้แทนการแสดงอารมณ์ของตัวเองผ่านแชทหรือคอมเมนต์กันอย่างสนุกสนาน และมีอีกหลายมีมที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ทำไมแบรนด์ถึงควรมี มีม

ซึ่งอย่างแรกที่แบรนด์ควรทำมีมขึ้นมาเพราะว่ามันใช้งบที่น้อยมากในการทำการตลาด อีกทั้งสามารถสร้างการรับรู้ได้ของแบรนด์แบบใหม่ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงง่ายขึ้นจากความตลกขบขัน เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่โน้มน้าวให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้ง่ายกว่าคอนเทนต์รูปแบบอื่นๆ ค่ะ

และแน่นอนค่ะว่ามีมใช้ในการพูดคุยสนทนากับเพื่อนหรือแสดงความคิดเห็นบางอย่างบนโซเชียล ทำให้มีมของเราอาจจะถูกแชร์ต่ออย่างรวดเร็วถ้าหากว่ามีมตลกมากพอคนก็จะหยิบเอาไปใช้ต่อ มันเป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้ influencer ในการโปรโมตให้เสียเงินเพิ่มอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการสื่ออารมณ์ของแบรนด์ที่ทำให้ผู้คนคล้อยตามและรู้สึกกับมีมนั้นมากน้อยแค่ไหน เพราะว่ามันไม่มีแคปชั่นคำอธิบายที่ยาวเหยียดถึงความหมายของมีมนั้น ดังนั้นมีมที่เราสร้างมาจะต้องแสดงความรู้สึกที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้คนเข้าใจในบริบทนั้นแม้ว่าเราจะไม่ได้ใส่ข้อความลงไปเลยก็ตาม 

มีมในตอนนี้ไม่ใช่แค่ภาพตลกๆ บนโซเชียลอีกต่อไปแล้วนะคะ หากนักการตลาดเข้าใจและใช้เป็น มันคือโอกาสในการทำการตลาดบางอย่างที่คนดูไม่กดเลื่อนผ่านหรือมองข้ามเหมือนโฆษณา แถมผู้คนเหล่านั้นอาจจะเก็บมีมของเราไว้เล่นหรือส่งต่อให้เพื่อนๆ ของเขา

อย่างแบรนด์แฟชั่น Gucci เขาได้ใช้ประโยชน์จากการทำมีมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าแบรนด์นี้จะเป็นแบรนด์ระดับ luxury fashion ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและมี Brand personality ที่ชัดเจนถึงความหรู เขาก็ใช้วิธีนี้ในการสร้างการมีส่วนร่วมบนช่องทางโซเชียล แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นแบรนด์ระดับ Hi-End และมีมที่เขาทำออกมาก็เข้าใจง่ายแถมแอบขายของไปด้วยปังมากจริงๆ ปลื้มเองก็เคยใช้มีมที่อวดนาฬิกาของ Gucci ส่งเล่นขำๆ กับเพื่อนด้วยนะคะ 

นอกจากนี้การใช้มีมจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับแบรนด์โดยที่ใช้ต้นทุนต่ำมาก แต่ก็ต้องระวังเรื่องการสื่อความหมายของมีมที่ผิด นั่นจะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์แบรนด์  ดังนั้นเราต้องรักษาภาพลักษณ์ควบคู่ไปด้วย โดยกุญแจสำคัญในการทำการตลาดแบบมีมอยู่ที่การรู้จักผู้ชมของเรา และฟังสิ่งที่พวกเขาต้องการ แล้วนำมาคิดต่อยอดแบบสนุกและสร้างสรรค์อาจจะดึงดูดผู้ชมได้ดีไม่แพ้รูปแบบการโฆษณาตรงๆที่เหล่านักการตลาดเคยทำเลยหละค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source : https://www.thedrum.com/opinion/2021/07/23/the-meme-theory-how-brands-can-tap-internet-culture

Yoswimol

🎡PLEUM | Data Research Executive ในเครือการตลาดวันละตอน | สนใจเรื่องการตลาด ชอบดูการแข่งขันทางการตลาด และเป็นทาสตลาด... ทุกบทความตั้งใจเขียนมาก ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคะ มันเป็นกำลังใจที่ทำให้อยากเขียนต่อไปเลย☺️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *