Pratfall Effect การตลาดไม่สมบูรณ์แบบ

Pratfall Effect การตลาดไม่สมบูรณ์แบบ

Pratfall Effect การตลาดไม่สมบูรณ์แบบ

ไม่มีใครเพอร์เฟกต์อยู่แล้วจริงไหม? 

คำตอบของอาจแยกได้เป็นสองส่วนคือ ใช่ และ ไม่ใช่ แต่ส่วนตัวเตยตอบว่า ‘ใช่’ ค่ะ แม้กระทั่งแบรนด์เองก็เช่นกันที่ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ เพราะยังมีสิ่งที่เรียกว่า Pain point หรือช่องโหว่ของสินค้าหรือบริการ คนที่ทำธุรกิจคงรู้ซึ้งถึงสิ่งนี้ดี ทำดีแทบตายสุดท้ายก็ยังมีจุดบอด 

หากใครที่กำลังประสบปัญหาจากเจ้าสิ่งนี้แล้วล่ะก็ คุณมาถูกที่แล้วค่ะ เพราะในบทความนี้เตยจะพามารู้จักกับ Pratfall Effect การตลาดไม่สมบูรณ์แบบ พร้อมตัวอย่างแบรนด์ให้เห็นภาพ ทั้งคำแนะนำที่สามารถเอาไปปรับใช้ได้จริง! 

Pratfall Effect คืออะไร 

เป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายถึง คนที่มีความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือสูง กลับทำอะไรที่ผิดพลาด หรือผิดไป แต่แทนที่จะโดนตำหนิ ล้อเลียน กลับกลายเป็นว่าทำให้ชอบคน ๆ นี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก หรือสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ เรื่องที่ควรจะออกมาแย่…กลับกลายเป็นดีนั่นเองค่ะ 

ถ้าเคยดูละครรักโรแมนติกที่นางเอกเปิ่น ๆ เด๋อด๋า ซุ่มซ่าม แต่พระเอกยังตกหลุมรักนางเอกได้ หรือเราไปเจอใครสักคนที่เข้าใกล้กับความเฟอร์เฟ็คสุด ๆ เราก็อาจรู้สึกเกร็ง ๆ เข้าถึงได้ยาก ใช่ไหมคะ แต่เมื่อไหร่ที่คนคนนั้นทำพลาด เช่น ทำน้ำหก เราจะรู้สึกสบายใจขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าคนแบบนี้ก็ทำพลาดได้เหมือนกัน นั่นแหละค่ะคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของปรากฏการณ์นี้

ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับแบรนด์ในทางธุรกิจอีกด้วย 

ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Pratfall Effect ทำ ‘การตลาด’

#Volkswagen Beetle

การตลาด Pratfall Effect ชนะใจลูกค้า ด้วยเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์แบบ
ที่มา: https://bit.ly/3XwoSQS

Volkswagen Beetle เปิดตัวในอเมริกายุค 1960s มันเป็นรถที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่คนอเมริกันยุคนั้นต้องการเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะทั้ง เล็ก รูปทรงน่าเกลียด และที่สำคัญเป็นรถสัญชาติเยอรมัน ซึ่งทีมการตลาดรู้ดีว่าพยายามเอาชนะใจลูกค้าด้วยจุดเด่น ไม่น่ารอด จึงตั้งใจเปิดเผย “จุดด้อย” แต่แรก ถือเป็นการโชว์ความ “จริงใจ” แก่ผู้บริโภค

โดยใช้เทคนิค “เล่นตัวเอง” เปิดก่อนได้เปรียบ และใช้ถ้อยคำที่คนอเมริกันพูดถึงรถรุ่นนี้มาใช้ในการโฆษณา เช่น สิ่งเดียวที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของรถคันนี้คือได้ขายมันทิ้งไป” “ถ้ามันน้ำมันหมดก็ง่ายที่จะเข็น” หรือ “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ” ผลลัพธ์กลับดีเกินขาด เพราะมันกลับขายดีถล่มทลายกันเลยทีเดียว!

#Guinness

การตลาด Pratfall Effect ชนะใจลูกค้า ด้วยเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์แบบ
ที่มา: https://www.adsoftheworld.com/campaigns/good-things-come-to-those-who-wait

Guinness เบียร์สัญชาติอังกฤษ มี Pain Point ที่นักดื่มประสบเจอนั่นคือ “ใช้เวลารินนาน”  ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้บริโภคไม่ชอบหรือแม้กระทั่งคนขายเองก็ไม่ชอบ แบรนด์อื่นอาจพยายามหาทางทำให้รินเบียร์ได้เร็วขึ้น

แต่กลับแบรนด์นี้ไม่ใช่ค่ะ เพราะหันมาใช้  Pratfall Effect เพื่อปรับทัศนคติผู้บริโภค โดยการใช้ 

“Good things come to those who wait” 

Guinness Tagline

ส่งผลให้ความคิดผู้บริโภคเปลี่ยนไปทันที แถมยังรู้สึกดีกับสินค้าของแบรนด์มากขึ้นไปอีกด้วยค่ะ

#McDonald’s

การตลาด Pratfall Effect ชนะใจลูกค้า ด้วยเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์แบบ
ที่มา: https://bit.ly/3Xx9sf5

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยในช่วงกรกฎาคม 2565 ในตอนนั้น McDonald’s ออกมาประกาศบนเฟซบุ๊กแฟนเพจประมาณว่า “แฮชบราวน์ที่ขายกับอาหารเช้าขาดตลาดชั่วคราว เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบทั่วโลก และปัญหาเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ โดยจะทดแทนให้ด้วยเฟรนช์ฟรายส์ขนาดเล็กแทน” 

จากการกระทำนี้ก็ทำให้ลูกค้าเข้าใจ และรู้สึกดีกับแบรนด์ที่ไม่นิ่งเฉย ปล่อยให้ลูกค้ามารู้ทีหลังเมื่อมาเข้าใช้บริการ บางคนถึงกับเข้ามาคอมเมนต์ว่าจะตั้งตารอแฮชบราวน์ให้กลับมาพร้อมเสิร์ฟอีกครั้ง

เราจะใช้ Pratfall Effect ใน การตลาด ได้อย่างไร

โดยก่อนที่เราจะใช้การตลาด Pratfall Effect สิ่งแรกที่ต้องคำนึ่งเลย คือ แบรนด์คุณต้องอยู่ในฐานะที่เหนือคนอื่นหรือมีความมั่นใจ ความเชื่อมั่นสูงขึ้นมาก่อน เพราะหากไม่แล้วล่ะก็ ภาพลักษณ์และความเชื่อใจจะไม่เหลือกันเลยทีเดียวค่ะ

โดย 3 วิธีนี้ในการสร้าง Pratfall มีดังนี้

  1. ใช้จุดอ่อน: โดยการที่คุณมีสินค้าที่ดี ขายดีในตลาด กับกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว ลองเอาจุดอ่อนของแบรนด์สินค้าของคุณมาสร้างจุดเด่นในการสื่อสารและสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้แบรนด์คุณดูดีขึ้นมาอีกเหมือนกับกรณีของ Volkswagen Beetle หรือขายสินค้าของคุณมีราคาแพง ลองเอาความแพงมาทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าทำไมถึงแพงเพื่อปรับความเข้าใจของลูกค้าค่ะ
  2. ใช้การขอโทษ: หลาย ๆ แบรนด์มักทำผิดพลาดอยู่แล้ว ยิ่งเวลามีแคมเปญหรือทำการตลาดแต่ผลลัพธ์หรือประสบการณ์ที่ต้องการส่งมอบให้ลูกค้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ การขอโทษตรง ๆ ก็เป็นการทำ Pratfall Effect เช่นกัน
  3. ความสมบูรณ์แบบที่น้อยลง สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคมองหาคือ ความเป็นจริง: ความไม่สมบูรณ์แบบนี้แสดงถึงความเป็นจริงของแบรนด์ และความซื่อสัตย์ของแบรนด์ต่อผู้บริโภคขึ้นมา เช่น คุณอยากขายคุ้กกี้โฮมเมด แต่สินค้าของคุณมีรูปร่างเบี้ยวๆ ไม่กลม คุณอาจคิดว่ามันขายไม่ได้แน่ เพราะมันไม่สวย แต่ใครจะรู้ว่านี่แหละคือแต้มต่อให้กับสินค้า เพราะสัญลักษณ์ของสินค้า โฮมเมด คือความธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าไม่ต้องพยายามให้กลมสวยเหมือนใช้เครื่องจักรแค่นี้ก็ชนะใจลูกค้าได้แน่นอนค่ะ ทำด้วยใจแต่อร่อยแน่นอน!

อย่าเพิ่งเข้าใจผิด! พลาดมากก็ไม่ดีเสมอไป 

อ้าววว หลายคนอาจบอกว่าก็เตยเป็นคนบอกเองว่าความผิดพลาดทำให้เราน่าดึงดูดขึ้น นั่นมันก็ใช่ค่ะ แต่! พลาดมากไปมันก็ไม่ดี เพราะนอกจากจะภาพลักษณ์ของแบรนด์หมดเสน่ห์แล้ว ยังแสดงถึงระบบการจัดการและการรับมือกับปัญหาที่ไม่ดีพออีกด้วยค่ะ แทนที่คนจะเห็นใจและชื่นชอบในความเปิ่นโก๊ะ เขาอาจเอือมหรือเกลียดไปเลยก็ได้ เอาเป็นว่าพลาดให้น้อยเข้าไว้จะดีที่สุดค่ะ 

ใครที่อยากทำให้แบรนด์ดู ‘เป็นคน’ มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของคนหมู่มากได้ง่ายขึ้น เข้าถึงง่าย และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของแบรนด์ ลองหันมาปรับใช้ Pratfall Effect ทำ การตลาด เพื่อ ‘ชนะใจลูกค้า’ กันดูนะคะ 

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source: https://www.einsteinmarketer.com/pratfall-effect-marketing/

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *