เสน่ห์มีผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค จริงหรือไม่? ‘100 Humans’ – EP. 1

เสน่ห์มีผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค จริงหรือไม่? ‘100 Humans’   – EP. 1

‘100 Humans’ เป็นรายการเรียลลิตี้ของ Netflix ที่ปล่อยมาตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ รายการนี้ได้รวมผู้คนจำนวน 100 คน ที่มาจากพื้นที่ทั่วอเมริกัน ทั้งเพศหญิงและชาย มาทดลองให้เห็นความแตกต่างของพฤติกรรมมนุษย์ ว่าจริงๆ แล้วความคิดสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่คนอื่นคิดจะตรงกันไหม จากการตั้งสมมุติฐานในรายการค่ะ ซึ่งใน Season 1 นี้มีกว่า 8 Episode ดังนั้นปลื้มจะทยอยเล่า เป็นตอนๆ ไป โดยเริ่มต้นจาก Episode แรกที่เกี่ยวกับ เสน่ห์ที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค นั่นเองค่ะ

Episode 1 เสน่ห์ดึงดูดเกิดจากอะไร  เป็นการสำรวจในแง่มุมที่ลึกของจิตใจคน ให้เห็นถึงการใช้เสน่ห์จากหน้าตา อาชีพ ในการดึงดูดผู้คน โดยรายการจะตั้งสมมุติฐานไว้ แล้วมาทดลองให้เห็นว่า 100 คน ส่วนใหญ่มีความคิดหรือพฤติกรรมแบบไหน ซึ่งปลื้มได้เลือกข้อสมมุติฐานใน Ep.นี้มา 3 คำถามด้วยกัน เป็นคำถามที่ทุกคนต้องอยากรู้คำถามเหมือนกันแน่ๆ 

 ใครที่เคยดูรายการดังกล่าวมาแล้ว เรามาตั้งข้อสันนิฐานไปด้วยกัน แต่ถ้าใครยังไม่เคยดูก็เข้าอ่านก่อนได้นะคะ เผื่อจะอยากดูขึ้นมา ถ้าเช่นนั้นเรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า เสน่ห์มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค จริงหรือไม่ และคุณจะคิดเหมือนพวกเขากันไหม

คำถามที่ 1 : ผู้ชายที่เต้นเก่งๆ แปลว่าเขามีสเปิร์มมากจริงหรือ?

คำถามแรกก็ชวนคิดซะแล้ว สมมุติว่าถ้าหากเราไปเที่ยวกลางคืน แล้วเจอผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่ได้หล่อระดับดาราดัง แต่เขาเต้นเก่งมาก นั่นจะทำให้เขามีเสน่ห์ที่ดึงดูดมากขึ้นไหม จากท่าเต้นพริ้วๆ จะสื่อถึงศักยภาพในการสืบพันธ์หรือเปล่า คำถามที่กล่าวมาทุกคนคิดเห็นกันอย่างไรคะ จะเป็นไปได้ไหมที่คนเต้นเก่งๆ จะมีจำนวนสเปิร์มมากที่สุด เพราะคนที่เต้นเก่ง เต้นนานๆ ได้ โดยที่ไม่เหนื่อย แสดงว่าร่างกายของเขาแข็งแรง และก็เป็นไปได้ที่จำนวนสเปิร์มจะมีมากนะคะ

สำหรับการทดลอง ที่เขาได้เก็บตัวอย่างสเปิร์ม จำนวน 10 คน แล้วนำผลตรวจสเปิร์มมาพิสูจน์ พร้อมกันนี้จัดแข่งเต้น โดยให้ผู้ชมที่เหลืออีก 90 คน เป็นผู้ให้คะแนนการเต้น หลังจากนั้นก็เอาข้อมูล 2 อย่างนี้มาเรียงดู

ผู้ชายที่เต้นเก่งๆ แปลว่าเขามีสเปิร์มมากจริงหรือ?

ผลที่ออกมา คนที่เต้นเก่งที่สุดมีสเปิร์มน้อยเป็นอันดับ 2 นั่นก็หมายความว่าผู้ที่ได้คะแนนการเต้นเยอะที่สุดไม่ได้มีสเปิร์มมากที่สุด อีกทั้งยังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเต้นกับจำนวนสเปิร์มเลย ทำให้ผลการทดลองเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ดังนั้นถ้าจะไปหาผู้ชายที่มีสเปิร์มแข็งแรงพร้อมเป็นพ่อของลูกอย่าไปตามผับเลยค่ะ ให้ไปที่แล็บสเปิร์มแทน

เอาหละค่ะ ข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับ พฤติกรรมผู้บริโภค อย่างไร ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าความชอบของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป อย่างการเต้นที่กล่าวไปเราอาจจะชอบ G แต่เพื่อนอาจจะชอบ C ซึ่งไม่มีผิดไม่มีถูก ซึ่งแบรนด์สามารถสร้างเสน่ห์ที่น่าดึงดูดกับลูกแบบเจาะจง จากการสร้างประสบการณ์แบบ Personalized experience เพื่อให้ลูกค้าประทับใจและเลือกแบรนด์เราในที่สุดค่ะ

คำถามที่ 2 : เครื่องแบบทำให้ เราดูมีเสน่ห์มากขึ้นจริงหรือ?

ในการหาคำตอบให้กับคำถามนี้เขาได้จัดหานักแสดงมาสวมชุดในเครื่องแบบ ได้แก่ ตำรวจ คนทำความสะอาด ศัลยแพทย์ พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด ทหาร และ นักบิน ค่ะ ซึ่งคนเหล่านี้แสดงตามคาแรคเตอร์ที่วางไว้ โดยที่กลุ่มคนที่จะมาทดลองจะรู้เพียงว่าพวกเขาจะได้พบกับคนโสดเท่านั้น 

ซึ่งวิธีสร้างความสัมพันธ์คือให้ผู้ทดลองกลุ่ม A ได้ทำความรู้จักกับนักแสดงที่ได้จัดเตรียมไว้ โดยพวกเขาจะเล่าเรื่องราวตัวเองให้เราฟัง ในเวลา 3 นาที โดยที่ผู้ทดลองไม่มีสิทธิ์ถาม แต่สามารถใส่ความพึ่งพอใจในแบบสอบถามให้ทีมงานให้ไว้แทน และทำการหมุนเวียนให้ผู้ทดลองได้รู้จักกับคนที่เตรียมมาครบทุกคน 

นอกจากนี้ทีมงานก็ได้ทำแบบเดิมอีกครั้งแต่ให้นักแสดงที่เตรียมมาเปลี่ยนจากชุดในเครื่องแบบเป็นชุดลำลอง บทพูดแบบเดิม และอาชีพเดิม ให้ผู้ทดลองกลุ่ม B ได้ทำแบบสอบถามเหมือนกับกลุ่มA

สำหรับผลการทดลองข้อนี้คือ ผู้หญิงรู้สึกว่าผู้ชายในเครื่องแบบมีเสน่ห์น่าดึงดูดน้อยกว่าผู้ชายในชุดลำลอง แต่ผู้ชายกลับรู้สึกว่าผู้หญิงในเครื่องแบบหรือในชุดลำลองในสายตาผู้ชายอยู่ในระดับที่เท่ากัน ดังนั้นไม่ว่าผู้หญิงจะสวมชุดเครื่องแบบหรือไม่ ผู้ชายก็หลงเสน่ห์ได้อยู่ดีค่ะ จากกราฟก็จะเห็นว่าสัดส่วนก็ไม่ได้ต่างกันมาก 

สรุปคือเครื่องแบบไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ เว้นแต่บางอาชีพ นั่นก็คืออาชีพตำรวจและนักบิน ที่ผู้หญิงรู้สึกว่าสวมชุดในเครื่องแบบดูดีกว่านอกเครื่องแบบ ส่วนในกรณีของคนทำความสะอาดและพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด คนมองว่าในเครื่องแบบมีเสน่ห์ดึงดูดน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชุดลำลอง นั่นก็แสดงให้เห็นว่าฐานะการเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเสน่ห์คุณ เท่ากับว่ายิ่งรวยคนอื่นยิ่งมองว่าคุณมีเสน่ห์นั่นเองค่ะ

ดังนั้น หากเรามองในแง่มุมของ Consumer Behavior จะเห็น insight จากการเลือกคู่ในข้อนี้ว่าผู้ชายมีความละเอียดอ่อนน้อยกว่าผู้หญิง เพราะเมื่อลองเปรียบเทียบกับการซื้อของ ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะเลือกอะไรก็ตามที่คุ้มค่าที่สุด เวลาเลือกซื้อของก็มักจะศึกษาข้อมูลมาก่อนหรือโปรโมชันที่โดนใจ ณ จุดขาย แต่ส่วนใหญ่ผู้ชายจะเลือกแค่ว่ามันใช้ได้ก็โอเคแล้ว เมื่อเขาซื้อของมักหยิบจากสิ่งที่เห็นตรงหน้าเลย ดังนั้นนักการตลาดสามารถสร้างกิจกรรมทางการตลาดที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นได้จากพฤติกรรมที่แตกต่างในเรื่องเพศก็ได้เหมือนกันค่ะ

คำถามที่ 3 : การที่หน้าตาดีจะช่วยให้ไม่ติดคุกได้จริงหรือ?

เขาทำการแบ่ง 100 Humans เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน โดยที่กลุ่ม A จะได้ภาพคนร้ายชุดที่หนึ่ง ส่วนกลุ่ม B จะได้ดูภาพคนร้ายอีกชุดที่ไม่เหมือนกัน แต่เป็นอาชญากรรมที่ก่อขึ้นเหมือนกัน ซึ่งกลุ่มคนทดลองนี่แหละจะได้รับบทเป็นผู้พิพากษา ตัดสินคดีจากเรื่องที่ก่อและหน้าตาคนกระทำความผิดนั้น ว่าควรติดคุกรับโทษกี่ปี? ทุกคนว่าเป็นไปได้ไหมที่คนหน้าตาดีจะทำให้พวกเขาสงสารและลดโทษให้ แต่คนหน้าทรงโจรอยู่แล้วพวกเขาอยากจะลงโทษให้หนัก

และผลการทดลองก็เป็นอย่างที่คิดจริงๆ ค่ะ ฝั่งคนหน้าตาดี ได้โทษเบากว่าทุกคดีเลย แสดงให้เห็นว่า เสน่ห์มีผลบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคจริงๆ เพราะคนยังตัดสินคนจากหน้าตาเป็นอันดับแรก และยังบอกเป็นนัยยะ Mindset ของคนมองว่าคนหน้าตาดีเท่ากับเป็นคนดี เป็นคนฉลาด ทั้งที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ก็ได้  

ถ้าเปรียบเทียบข้อนี้ง่ายๆ ก็เหมือนกับแบรนด์ที่ทำความดี ทำ CSR ช่วยเหลือชุมชน บริจาคของ ทำบุญกับวัดวาอาราม ทั้งที่แบรนด์เหล่านี้จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับแอกอฮอล์ ของมึนเมาต่างๆ ทำให้คนขาดสติ รถชน และอาจถึงขั้นทำร้ายกัน แต่คนก็มองเพียงว่าแบรนด์นี้ดีเพียงเพราะเขาทำความดี ทำให้ผู้บริโภคพยายามหาข้อขัดแย้งเพื่อให้แบรนด์นี้ไม่ใช่แบรนด์ที่เลวร้ายนั่นเองค่ะ

รายการดังกล่าวทำให้คนได้เห็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมและความคิดของคน 100 คน สำหรับนักการตลาดแล้ว หากได้ดูรายการนี้ จะเห็นว่าเราไม่สามารถคิดแทนผู้บริโภคได้ จนกว่าจะมีการทดลองกับผู้บริโภคจริงๆ เพราะคำตอบที่ได้มาอาจจะได้ตรงตามสิ่งที่เราวางไว้หรืออาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไว้เลยก็ได้ ดังนั้นการมีข้อมูลของผู้บริโภคจะทำให้สินค้าหรือบริการของธุรกิจเราตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน Episode แรก สำหรับรายการ ‘100 Humans’ เท่านั้น จะเห็นว่าผลการทดลองมีความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตั้งข้อสันนิฐานและทำการทดลอง ที่จะทำให้เราสามารถได้เข้าใจพฤติกรรมคนได้มากขึ้น ถ้าใครอยากให้ปลื้มมาเล่า Episode ถัดไป รอติดตามในเพจการตลาดวันละตอน  รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนได้เลยค่ะ

Yoswimol

🎡PLEUM | Data Research Executive ในเครือการตลาดวันละตอน | สนใจเรื่องการตลาด ชอบดูการแข่งขันทางการตลาด และเป็นทาสตลาด... ทุกบทความตั้งใจเขียนมาก ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคะ มันเป็นกำลังใจที่ทำให้อยากเขียนต่อไปเลย☺️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่