ถอดบทเรียนความสำเร็จที่เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาของ MK สุกี้

“กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกิน MK”
แม้ทุกวันนี้จะมีแบรนด์สุกี้แบรนด์อื่นเกิดขึ้นมากมาย แต่แบรนด์ที่ผูกขาดในความรู้สึกของคนไทยก็คงหนีไม่พ้น “MK สุกี้” ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ในแทบทุกห้างสรรพสินค้าเลยทีเดียว
แต่รู้หรือไม่คะว่า กว่าที่ MK จะก้าวมาสู่จุดนี้นั้น MK กลับมีปัญหาให้แก้กันตั้งแต่ก้าวแรกเลยทีเดียว
เรามาลองถอดบทเรียนความสำเร็จของ MK กันหน่อยดีกว่าค่ะว่าเขามีวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ถึงได้กลายเป็น Top of Mind ครองใจผู้บริโภคจนถึงทุกวันนี้
ปัญหาแรก “เตาไฟฟ้า”
แรกเริ่มเดิมทีนั้น MK เปิดเป็นร้านอาหารไทยเล็กๆ ในย่านสยามสแควร์ ก่อนที่จะได้รับการชักชวนให้ไปเปิดร้าน MK สุกี้สาขาแรกในเซ็นทรัล ลาดพร้าว แต่มีข้อแม้ว่าทางร้านจะต้องเปลี่ยนเตาทั้งหมดจากเตาแก๊สเป็นเตาไฟฟ้า เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
แล้วจะทำยังไงกันดีล่ะทีนี้?
เมื่อหม้อเตาแก๊สก็ถือว่าอันตราย จึงกลายเป็นปัญหาให้ต้องมาคิดต่อว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างไร แม้จะมีการปรับและพัฒนา “หม้อสุกี้เตาไฟฟ้า” อยู่หลายครั้งจนได้เวอร์ชั่นที่ทำงานได้ดี แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น เพราะถึงจะแก้ไขเรื่องความปลอดภัยได้แล้ว แต่ก็ยังคงมีปัญหาที่ความเร็วอยู่ดี
เนื่องจากเตาไฟฟ้านั้นร้อนช้ากว่าเตาแก๊สจึงทำให้ซุปเดือดช้ากว่า โดยถ้าใช้เตาแก๊สจะใช้เวลาประมาณ 6 นาที แต่ถ้าใช้เตาไฟฟ้านั้นต้องใช้เวลาถึง 11 นาทีเลยทีเดียว ซึ่งทาง MK มองว่านานเกินไป
การแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถเร่งให้ซุปเดือดเร็วกว่านี้ได้ จนกระทั่งทาง MK ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ซุปอุณหภูมิห้องก็ได้นี่น่า ถ้าเราอุ่นซุปไว้ก่อน แล้วค่อยปล่อยให้มาเดือดต่อในเตาไฟฟ้า ก็น่าจะช่วยร่นระยะเวลาลงได้
ซึ่งหลังจากการทดลองพบว่าการใช้ซุปอุ่นๆ แทนซุปอุณหภูมิห้องนั้น สามารถร่นระยะเวลาการได้ถึง 4 นาที ช่วงเวลาเดือดก็ใกล้เคียงกับการใช้เตาแก๊ส แก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัย และความรวดเร็วได้ในเวลาเดียวกัน บอกเลยค่ะว่า… จีเนียส!
ปัญหาต่อมา “ระหว่างรออาหาร”
แม้เมนูชูโรงของ MK จะเป็นสุกี้ แต่ในขณะเดียวกัน MK ก็พยายามที่จะเพิ่มวาไรตี้ของอาหารให้มากขึ้น เพื่อที่ระหว่างรอหม้อร้อน ลูกค้าจะได้มีอาหารให้ทานได้ ไม่ขาดตอน ไม่ต้องรอจนเกินไป ลองคิดจากใจคนหิวดูว่าถ้าหิวแล้ว 1 นาที ก็เดินช้าเหมือน 10 นาที
เพราะฉะนั้น MK ก็เลยพยายามนำเสนอเมนูเสริมมาให้ลูกค้าได้เลือกรับประทานระหว่างรอสุกี้ในหม้อเดือด นั่นจึงเป็นที่มาของไลน์อาหารอย่างเมนูติ่มซำ บะหมี่ เป็ดย่าง ที่ทุกวันนี้หลายมาเป็นเมนูฮอตฮิตขายดีไม่แพ้เมนูหลักอย่างสุกี้เลยทีเดียว
ปัญหาเรื่อง “การจัดการพื้นที่”
คิดว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับภาชนะที่เป็นเหมือนซิกเนเจอร์ที่หลายคนเรียกกันว่า “จานคอนโด” ซึ่งจานนี้ไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อความสร้างสรรค์หรือแปลกใหม่เพียงเท่านั้น แต่จุดประสงค์หลักในการสร้างภาชนะในรูปทรงนี้ขึ้นมาก็เพื่อแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่บนโต๊ะ
เนื่องจากพื้นที่โต๊ะค่อนข้างมีจำกัด และเกินครึ่งของโต๊ะก็เป็นพื้นที่สำหรับวางเตาไฟฟ้าและหม้อสุกี้ จึงทำให้ถ้าสั่งเมนูต่างๆ มาเยอะ ก็จะวางไม่พอ แต่ถ้าสั่งมาทีละน้อยก็จะลงหม้อได้ช้า สุกได้ไม่ทันใจ
ทาง MK ก็เลยแก้ไขปัญหาด้วยการ ถ้าขยายแนวกว้างไม่ได้ ก็ต่อให้สูงขึ้นไปเลยสิคะ วิธีนี้นอกจากจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่บนโต๊ะไม่พอวางอาหารได้แล้ว ยังทำให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้ครั้งละจำนวนมากๆ แบบไม่ขาดตอนอีกด้วย
ปัญหาสำคัญ “ความเร็วและการจัดการออเดอร์”
ในช่วงเริ่มต้นนั้น MK ก็เหมือนกับร้านอาหารอื่นๆ คือเป็นการจดออเดอร์ด้วยกระดาษ แต่ปัญหาการจดออเดอร์ด้วยกระดาษนั้น ทำให้การจัดเรียงออเดอร์ในครัวทำได้ช้า เนื่องจากบางครั้งลูกค้าก็ไม่ได้สั่งออเดอร์แบบเรียงลำดับตามเมนู ทาง MK จึงได้แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมาเป็นเมนูอาหารให้ลูกค้าติ๊กเอง เพื่อให้ง่ายและเร็วต่อการจัดเสิร์ฟ
ถึงแม้จะแก้ปัญหาได้แล้ว แต่ทาง MK ก็ยังไม่หยุดพัฒนา โดยในปี 2546 ก็ได้นำเครื่อง PDA มาใช้ในการรับออเดอร์ลูกค้า เพื่อทำให้บริการเร็วยิ่งขึ้น และปี 2552 ก็ได้มีการใช้ iPad มาไว้ให้ลูกค้ากดสั่งอาหารที่โต๊ะได้เอง ซึ่งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้นั้น นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความเร็วและการจัดการออเดอร์แล้ว ยังเป็นการช่วยลดงานของพนักงานได้ด้วย เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัวเลยทีเดียว
อย่างที่เรารู้กันดีว่าการทำธุรกิจกับปัญหานั้นเป็นของคู่กัน เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจมองว่าปัญหาเป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจหงุดชะงัก หรือเดินต่อไปไม่ได้ ซึ่งการคิดอย่างนั้นยิ่งเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการผลักธุรกิจให้เดินหน้าต่อ
แต่ MK กลับไม่คิดอย่างนั้น แม้จะเจออุปสรรคตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำร้าน แต่ MK กลับมองว่านั่นเป็นโอกาส และเมื่อไหร่ที่เราแก้ปัญหาได้ล่ะก็ เราก็จะเป็นผู้ชนะ
ส่วนใครที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การทำตลาดในรูปแบบอื่นๆ แนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ในบทความหน้าแบมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะคะ
Credit: หนังสือ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ Series เล่มที่ 12 - ไม่ตั้งใจแต่ทำไมจึงสุข