สรุปงาน The Secret Sauce Summit 2023 เผยกับดัก SMEs ไทยที่ต้องก้าวข้ามเพื่อยกระดับ GDP

สรุปงาน The Secret Sauce Summit 2023 เผยกับดัก SMEs ไทยที่ต้องก้าวข้ามเพื่อยกระดับ GDP

ตลอด 2 วันที่ผ่านมา ของเวที The Secret Sauce Summit 2023 : Infinite Growth หลากหลายเวทีที่นำเสนอบทเรียนหรือแนวคิดการบริหารธุรกิจจากเหล่าผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน), ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้งและ Creative Director ไอเบอร์รี่ กรุ๊ป และผู้บริหารชั้นนำอีกกว่า 20 ท่าน

พร้อมเผยข้อมูลเกี่ยวกับ SMEs หรือ ‘วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’ จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ที่ระบุว่า SMEs ไทยมีส่วนต่อการจ้างงานถึง 71.7% ของการจ้างงานทั้งระบบ โดยประเทศไทยมี SMEs มากถึง 99.5% ของวิสาหกิจโดยรวม แต่กลับพบว่าไทยประสบปัญหา ‘ขาดแคลนธุรกิจที่มีศักยภาพ’ (Missing Middle) หรือต้องเร่งเสริมกำลัง ‘วิสาหกิจขนาดกลาง’ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีบทบาทหลักต่อการสร้าง GDP ของประเทศไทย 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD กล่าวเปิดงานด้วย 4 ปัญหาที่ทำให้ SMEs ไทยไม่เติบโต หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกับดักที่ทำให้ SMEs ยังไม่สามารถขยับจาก SMEs รายเล็กขึ้นมาเป็น SMEs ระดับกลางได้ ได้แก่ 

1. แหล่งเงินทุน 

SMEs ไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบได้เท่าที่ควร ธปท. ระบุว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 สินเชื่อ SMEs จากธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3,292,457 ล้านบาท หรือแค่ 19% จากวงเงินสินเชื่อทั้งระบบ 

หากเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลจาก Financing SMEs and Entrepreneur 2020: An OECD Scoreboard พบว่า สัดส่วนของสินเชื่อคงค้างของ SMEs ในปี 2560 ของเกาหลีใต้และมาเลเซียมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% และ 50% ตามลำดับ 

2. หน่วยงานผลักดัน SMEs แบบ ‘ต่างคนต่างทำ’ และงบอยู่ในหลายแผน

ข้อมูลจาก สสว. ระบุว่า 5 ปีที่ผ่านมามีหน่วยงานส่วนกลางที่มีหน้าที่สนับสนุน SMEs มากกว่า 20 หน่วยงาน แต่มากกว่า 10 กระทรวงกลับพบว่าการดำเนินงานยังเป็นลักษณะ ‘ต่างคนต่างทำ’ และมี ‘คนละเป้าหมาย’ 

3. ช่องว่างระหว่าง ‘รัฐ’ กับ ‘เอกชน’

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ผู้ประกอบการขนาดย่อยซึ่งเป็น 81.9% มักไม่ค่อยเข้าสู่ระบบ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดแรงจูงใจ เช่น การออกนโยบายที่จะนำ ‘จำนวนธุรกรรมออนไลน์’ มาใช้ประเมิน ‘ภาษี’ ทำให้ SMEs ลังเลที่จะใช้ e-Payment อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ส่งผลให้ความช่วยเหลือของภาครัฐอาจไม่ครอบคลุมไปถึงได้ 

4. ขาดองค์ความรู้ (Knowledge) 

The Secret Sauce Summit

เรื่องแรกคือ องค์ความรู้ด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ยิ่งมีผู้ประกอบการที่ขาดทักษะดิจิทัลมากเท่าไร ยิ่งเป็นฝันอันไกลที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจทำ Digital Transformation และขาดองค์ความรู้การบริหารและแต้มต่อของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายกลางหรือรายใหญ่ได้ ทั้งจากการที่ไม่เห็นเคสจริง กรณีศึกษาจริง ไม่มี Community เข้าไม่ถึง Solutions, Tools และอื่นๆ

หนึ่งใน Session ที่ตราตึงใจ

ขอบอกว่าทุก ๆ สเตจต่างมีความน่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยความรู้ไปแพ้กัน แต่จะขอหยิบ session ที่ตราตึงใจมาเป็นตัวอย่างเพื่อฝากนักการตลาดกันเล็กน้อย อย่างในงานวันที่ 2 Main Stage ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ ประสบการณ์ และกลยุทธ์มากมายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโต โดยมีเนื้อหาไฮไลต์เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน 

5 เมกะเทรนด์ที่นักกลยุทธ์ต้องโฟกัสในปี 2024

ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ที่ปรึกษาและวิทยากรด้านกลยุทธ์ วิเคราะห์ 5 เมกะเทรนด์ในปี 2024 ซึ่งภาคธุรกิจต้องสำรวจและปรับตัวดังนี้

1. Long-Term Thinking 

แม้การมองไปข้างหน้ายากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราจำเป็นจะต้องประเมินสถานการณ์ หมั่นมองการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เกิดขึ้น และตั้งคำถามว่าธุรกิจของเราในอีก 5-20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่สามารถมองแค่ความสำเร็จในอดีตได้อีกต่อไป 

2. Attention Economy

เดิมทีเรามักมองแค่ว่าสินค้าคุณภาพดี บริการดี ก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับแนวโน้มปี 2024 แค่มีสองเรื่องนี้ไม่พอแล้ว เพราะธุรกิจของเราจำเป็นต้องได้รับความสนใจด้วย โดยเราสามารถสร้าง Attention ขึ้นมาได้ตามที่กลุ่มเป้าหมายของตัวเองสนใจ และรักษาฐานแฟนไว้ให้ได้

3. Climate Action

เชื่อว่าไม่เกินไตรมาส 4 นี้ ร่างกฎหมาย Carbon Tax จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นการตอกย้ำว่าสังคมต้องการ ลูกค้าต้องการ และผู้ประกอบการต้องทำสิ่งนี้ และผู้ประกอบการที่ทำไม่ได้จะถูกลงโทษ 

4. AI และ Technology Tool 

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า AI สามารถช่วยอะไรเราได้บ้าง ไม่ได้หมายถึงการลดคนงาน แต่พูดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยคนทำงาน  

5. Energy (คนทำงาน) 

หนึ่งในวิธีรักษาคนทำงานคือการสร้าง Engaged Employee ซึ่งจะสามารถสร้างผลประกอบการได้ดีกว่าบริษัททั่วไปถึง 26% แต่หลายที่เจอปัญหาว่าคนในองค์กรยังไม่ค่อย Engaged ทีมทำงานที่ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งคนทำงาน คนอยู่เฉยๆ และคนที่ไม่ทำอะไรเลย เราต้องแก้ด้วยการสร้างโอกาสในการเติบโต และการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนในบริษัท 

4 หลักคิดเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก Bluebik

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แนะนำว่าความสำคัญในระยะเริ่มต้นของธุรกิจ 3 ปีแรกคือการทำธุรกิจให้อยู่รอดให้ได้ เมื่อธุรกิจสามารถผ่านจุดนั้นมาได้ ต่อมาในระยะถัดๆ ไปคือการสร้างฐานที่แข็งแรง โดยมีทั้งหมด 4 เรื่อง

1. การวางกลยุทธ์ เพราะ 3 ปีแรกยังต้องโฟกัสกับการอยู่รอดและอาจจะไม่มีกลยุทธ์ชัดเจน แต่ในระยะต่อไปหัวใจหลักของธุรกิจคือการหา Niche ตัวเองให้เจอ เพราะมักเป็นจุดที่เล็กเกินไปสำหรับบริษัทใหญ่และไม่คุ้มค่าที่จะเข้าไปทำตลาด ช่องทางเหล่านั้นคือโอกาสของธุรกิจขนาดเล็ก

2. การวางระบบให้มีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องหาคอขวด (Bottleneck) ให้เจอ เพราะความสามารถในการเติบโตสูงสุดของบริษัทขึ้นอยู่กับคอขวด เช่น บริษัทอยากจะเน้นการขาย แต่คอขวดอยู่ในฝั่งของการผลิตที่ทำไม่ทัน ไม่ว่าเราจะทุ่มงบกับการตลาดมากเท่าไรก็โตไม่ได้อยู่ดี เพราะแก้ปัญหาผิดจุด

3. การบริหารคน เป็นอีกส่วนสำคัญของธุรกิจ และองค์กรส่วนใหญ่อาจจะต้องเจอกับความยากในการบริหารคนกลุ่มที่ ‘ไม่เก่งแต่พยายาม’ คนกลุ่มนี้มักจะคิดว่าเขาพยายามที่สุดแล้วและมองไม่ค่อยเห็นจุดอ่อนของตัวเอง ถ้าองค์กรเปลี่ยนคนกลุ่มนี้ได้ พวกเขาจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญมาก

4. การบริหารตัวเอง เพราะสุดท้ายคนที่จะตัดสินชะตาการเติบโตธุรกิจคือตัวของผู้นำ สิ่งที่เรามักจะเปลี่ยนช้าและลังเลจะเปลี่ยนที่สุดคือการเปลี่ยนตัวเอง แต่เมื่อบริษัทโตขึ้น บทบาทของผู้นำจะเปลี่ยนอยู่ตลอด

สูตรลับ iberry Group ขยายอาณาจักร 1,000 ล้าน

ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้ง และ Creative Director ไอเบอร์รี่ กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังยอดนิยมหลากประเภทอย่างอาหารไทย ‘กับข้าว’ กับปลา’, ก๋วยเตี๋ยว ‘ทองสมิทธ์’, ยำ ‘เบิร์นบุษบา’ หรืออาหารเช้าสไตล์นอกอย่าง ‘FRAN’S’ เปิดเผยสูตรลับ 4 ข้อ ‘สร้าง รักษา ต่อยอด ตรวจสุขภาพ สร้างแบรนด์ 1,000 ล้านบาท ดังนี้

1. สร้าง 

สร้างแบรนด์ให้เหมือนการสร้างลูก แต่ละแบรนด์มีเรื่องราวและบุคลิกที่ชัดเจน และที่สำคัญ ‘การมีลูกหลายคน แต่ละคนต้องไม่ตีกันเอง’ ไม่เกิดการแย่งฐานลูกค้ากันเอง

2. รักษา

การรักษามาตรฐานรสชาติให้เสถียรเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องสร้าง นอกจากนั้นการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องใส่ใจในทุกมิติ สุดท้ายต้องรักษาความนิยม เข้าใจพฤติกรรมในการบริโภคของลูกค้า และปรับเปลี่ยนเมนูอยู่ตลอด 

3. ต่อยอด

หมั่นมองหาโอกาสเพื่อการต่อยอดสิ่งที่ทำมานานหรือมีความเข้าใจแล้ว Spin-off เมนูที่ขายดี อีกหนึ่งเคล็ดลับในการต่อยอดคือการหาแฟรนไชส์หรือหาพันธมิตรผ่าน Joint Venture ซึ่งต้องไม่ลืมเรื่องการตระเตรียมระบบหลังบ้านให้พร้อม ศึกษาตลาด เพื่อประเมินความคุ้มค่า

4. ตรวจสุขภาพ

สูตรลับข้อสุดท้ายคือการตรวจสอบภายในอยู่เสมอ ทำให้พบปัญหาที่ซ่อนไว้ในโครงสร้าง เช่น การตั้งราคาผิดพลาด ค่าใช้จ่ายส่วนที่บวมต้องตัดออก

งาน The Secret Sauce Summit 2023 มุ่งยกระดับ SME ไทย

งานครั้งนี้มุ่งยกระดับ SMEs ด้วยการสร้าง Entrepreneurial Spirit ผ่านทักษะการบริหารจัดการให้องค์กรเติบโต พร้อมพัฒนาทีมงานด้วยความรู้และชุดทักษะที่สอดคล้องกับความรู้ในปัจจุบัน ปิดท้ายด้วยการวางรากฐานระบบให้ดีขึ้น นำนวัตกรรมหรือหาวิธีการมาสร้างการบริหารจัดการองค์กร โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้าน Marketing & Sale / Finance Tax / Human Resources (HR) / Internal Control / Digital และ Logistic & Supply Chain Management

สามารถรับชมย้อนหลังผ่านระบบออนไลน์ พร้อมสิทธิ์รับชมตลอด 3 เดือนเต็ม ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566 และรับสรุป Key Takeaway ทุก Session เปิดจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่ Zipevent

อ่านข้อมูลการทำการตลาดอื่น ๆ เพิ่มเติม  คลิกที่นี่ได้เลยค่ะ

อัพเดทข่าวสาร เพื่อติดปีกให้คุณเป็นนักการตลาดที่ไม่ OUT !!!  อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม คลิกที่ลิ้งค์นี้ได้เลยค่ะ เพจการตลาดวันละตอน เว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนค่ะ

การตลาดวันละตอน

การตลาดวันละตอน เว็บรวมความรู้การตลาดด้าน Data และ Personalization

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *