เลย์ Fortune Telling Chips ใช้ Emotional Marketing จับใจ Gen Z ด้วยแคมเปญทำนายดวงจากขนม

เลย์ Fortune Telling Chips ใช้ Emotional Marketing จับใจ Gen Z ด้วยแคมเปญทำนายดวงจากขนม

เลย์ Fortune Telling Chips ตัวอย่าง Emotional Marketing จับใจ Gen Z ด้วยแคมเปญทำนายดวงจากขนม

สวัสดีค่าทุกคน วันนี้จะพามาดู ตัวอย่าง Emotional Marketing แคมเปญที่สายมูน่าจะชอบกัน ปกติเวลาคนเราเกิดอยากรู้อนาคตตัวเองขึ้นมา หลาย ๆ คนคงนึกถึงการไปเสี่ยงเซียมซีเอย หรือจองดูดวงกับแม่หมอเอย ใช่มั้ยล่ะคะ 

แต่ในแคมเปญนี้ เลย์ในไต้หวันในช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้สร้างรูปแบบการทำนายอนาคตแบบใหม่แบบสับ ทำแคมเปญสนุก ๆ สร้างประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย Gen Z โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ผสานเข้ากับเทคโนโลยี ให้คนได้ทำนายดวงของตัวเองผ่านชิ้นขนมเลย์แทน?! แต่จะมีวิธีเล่นและมีความน่าสนใจยังไงนั้นต้องตามมาอ่านกันค่าาา

เลย์ Fortune Telling Chips แคมเปญดิจิทัลที่รวมความคิดสร้างสรรค์เข้ากับเทคโนโลยี จับใจชาว Gen Z

แคมเปญนี้สร้างขึ้นโดยบริษัทเอเจนซี่ Leo Burnett ในไต้หวัน ไทเป โดยการอ่านโชคชะตาของผู้คนในปีขาล (1 กุมภาพันธ์ 2565 – 21 มกราคม 2566) ในการทำนายนี้จะบอกถึงสิ่งที่ผู้คนคาดหวังในชีวิต 5 ด้าน ได้แก่ ความร่ำรวย สุขภาพ ความรัก ครอบครัว และการเรียน

ในแต่ละด้านก็จะแบ่งออกเป็นสี่ระดับของความโชคดี และมีคำทำนายที่เป็นไปได้มากกว่า 1 ล้านชุด เช่น คุณจะหัวเราะตลอดทั้งปี หรือคุณจะได้เป็นเทพเจ้าของการลงทุนในหุ้น เป็นต้น และยังมีคำที่ให้ผู้คนเกิดการกระตุ้นให้ทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมดวง เช่น สารภาพรักกับคนที่แอบชอบ หรือล้างจานเป็นเวลา 1 สัปดาห์

โดย PepsiCo บริษัทเจ้าของเลย์ ก็ได้วิเคราะห์การสร้างประโยคทำนายโชคชะตาเหล่านั้นด้วย โดยศึกษาดูจากคำศัพท์ยอดนิยมในหมู่กลุ่มเป้าหมาย Gen Z ที่เขาน่าจะสนใจ เช่น พวกเรื่องเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงิน รวมถึงเนื้อเพลงต่าง ๆ ซึ่ง AI นำมารวมกันเพื่อสร้างคำทำนาย

การร่วมเล่นก็ง่ายมาก ๆ สามารถส่งภาพถ่ายชิ้นขนม Lay ผ่านทางเว็บไซต์ Fortune Telling Chips โดยเฉพาะ จะมีเครื่องมือ AI ที่ให้การทำนาย ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและรูปร่างเฉพาะของขนมมันฝรั่ง โดย Lay ได้สแกนชิ้นมันฝรั่งกรอบไว้มากกว่า 5,000 ชิ้น และป้อน AI มากกว่า 1,500 ถึง 2,000 จุด เพื่อให้แน่ใจว่าระบบจะสามารถระบุได้ว่าวัตถุที่คนถ่ายภาพมานั้นเป็นขนมมันฝรั่งหรือไม่

Yuan Chuang ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัทเอเจนซี่ Leo Burnett Taiwan กล่าวว่า ไม้เสี่ยงทายเป็นประเพณีตรุษจีนที่รู้จักกันดี แต่นำมาปรับปรุงประเพณีนี้ให้ทันสมัยและเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ ด้วยวิธีที่ช่วยให้เลย์มีส่วนร่วมกับชาวดิจิทัล Gen Z มากยิ่งขึ้น

ทางด้าน Hao Tseng นักเทคโนโลยีสร้างสรรค์ก็ได้กล่าวว่า เลย์เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลับถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่ขาดความแปลกใหม่ จึงเกิดเป็น Fortune Telling Chips แคมเปญดิจิทัลที่สำคัญครั้งแรก และเป็นการรวมความคิดสร้างสรรค์เข้ากับเทคโนโลยีเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์คลาสสิกที่สุดของเลย์ในรูปแบบใหม่

จนส่งผลให้ของแคมเปญ Fortune Telling Chips ที่อัปเดตเมื่อ 30/01/2023

  • มีการทำนายโชคชะตามากกว่า 200,000 ครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์
  • กว่า 80% ของผู้เยี่ยมชมคลิกร่วมเล่นประสบการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
  • ผู้ติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียของแบรนด์เพิ่มขึ้น 18% ในขณะที่ 85% ของผู้ติดตามใหม่เป็นตัวแทนของตลาด Gen Z ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเลย์
  • สร้างการแสดงผลบนโซเชียลมีเดียรวม 2.4 ล้านครั้ง
  • ส่วนแบ่งการตลาดของเลย์สูงสุดในรอบสามปี

สิ่งที่เรียนรู้จากแคมเปญ เลย์ Fortune Telling Chips

ช่วงเทศกาลคือเวลาที่เหมาะสม

ช่วงเทศกาลถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภค ยิ่งพวกแบรนด์ของว่าง หรือผลิตภัณฑ์ FMCG ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการเฉลิมฉลองประจำปี

มีการสำรวจผู้บริโภคชาวจีนในปี 2019 โดยบริษัทวิจัย iiMedia พบว่า 53.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ของว่างแบบสบาย ๆ เป็นสินค้าที่ขาดไม่ได้ที่สุดในช่วงเทศกาล 

เลย์จึงเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ของตน หยิบมาสร้างความสนุกสนานในรูปแบบใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นและแปลกใหม่กว่าเดิม เป็นผลให้สามารถแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในการสนทนาและกระตุ้นยอดขายได้อีกด้วย ตอกย้ำความเป็นที่หนึ่งในใจของช่วงเวลาการขายที่สำคัญแบบนี้

กระตุ้นการซื้อด้วยอารมณ์ความรู้สึก

แทนที่จะพยายามดึงดูดผู้บริโภคด้วยราคาหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่เลย์กลับใช้อารมณ์เพื่อกระตุ้นการซื้อ การวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ไร้เหตุผลนั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ในหนังสือ How Customer Think ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School Gerald Zaltman บอกว่าการตัดสินใจซื้อมากถึง 95% ถูกควบคุมโดยอารมณ์ 

แม้ว่าในแคมเปญนี้โชคชะตาที่เลย์ทำนายออกมาให้ทุกคนได้อ่านกันอาจจะไม่ได้เป็นจริง แต่การเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของตนกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของผู้บริโภค เช่น เรื่องอนาคตของตัวเองที่เขาอยากรู้ เป็นต้น ทำให้แบรนด์สามารถดึงดูดความสนใจและทำให้คนต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อมาลุ้นดูว่าจะได้รับคำทำนายอะไร

คนใช้เวลากับแบรนด์มากขึ้น

ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จคืออยากเล่นกับดวง เพราะมีจำนวนการคาดการณ์หรือคำทำนายที่เป็นไปได้อยู่มากมาย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้คนเล่นแล้วอยากจะลองอีกครั้ง หรือหลายครั้งกันเลยทีเดียว ทำให้คนใช้เวลากับแบรนด์มากขึ้น 

เราเคยเห็นกลวิธีที่คล้ายกันนี้กับแบรนด์ช็อกโกแลต Twirl (ซึ่งทางการตลาดวันละตอนเคยได้เล่าถึงไปแล้ว สามารถอ่านต่อได้ ที่นี่ ) คล้าย ๆ กันคือเป็นแคมเปญทำนายอนาคตจากลาย Chocolate ที่เราได้ ซึ่งทั้งแคมเปญนี้และแคมเปญ เลย์ Fortune Telling Chips ตัวอย่าง Emotional Marketing ที่บอกได้เลยว่าช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้ดีเลยทีเดียวค่ะ

ทุกคนสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram TwitterYoutube และ Blockdit ได้เลยค่า

Source

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *