พฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไป(อวดชีวิตน้อยลง)ในช่วง COVID-19

พฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไป(อวดชีวิตน้อยลง)ในช่วง COVID-19

วันนี้ผมมีข้อมูลพฤติกรรมการใช้ Social media ของผู้คนที่เปลี่ยนไปในช่วง COVID-19 มาแชร์ให้เพื่อนๆ นักการตลาดได้ทราบกัน แม้ข้อมูลนี้อาจจะดูไม่ค่อยทันเทรนด์ไปสักนิด แต่ผมคิดว่าเนื้อหานี้มีความน่าสนใจตรงที่ถ้าเกิดวิกฤตที่คล้ายกันในครั้งหน้าจนทำให้คนต้อง Social distancing อยู่บ้านไปไหนไม่ได้ พฤติกรรมของผู้คนจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และแบรนด์อย่างเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างนั่นเองครับ

เดิมทีต้องบอกก่อนว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ในการอวดชีวิตของใครหลายคนมากมาย เรามักจะเห็นดาราหรือ Influencer ต่างๆ โพสชีวิตดี๊ดีบนโซเชียล บางคนโพสแต่รูปไปร้านอาหารเก๋ๆ คาเฟ่แนวๆ หรือไปเที่ยวทะเล ภูเขา ต่างประเทศตลอดทั้งปี จนทำให้เราหลายคนมักเกิดความสงสัยว่า “ตกลงชีวิตคนพวกนี้เค้าทำมาหากินกันบ้างมั้ยนะ?” หรืออาจจะเกิดคำถามทำนองว่า “ทำไมชีวิตพวกเค้าดี๊ดีเมื่อเทียบกับเราที่ต้องนั่งทำงานงกๆ หลักขดหลังแข็งอยู่หน้าคอมเช้าจรดค่ำ!”

ก็นั่นแหละครับ Way of social ที่เราใช้กันมาแต่ไหนแต่ไร คือมีไว้เพื่ออวดชีวิตดีๆ ส่วนถ้าชีวิตไม่ดีไม่ค่อยมีใครกล้าโพสลงโซเชียลกันหรอกครับ

แต่พอ COVID-19 เข้ามาเปลี่ยนทุกสิ่งบนโลกไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนถูกขนานนามว่า COVID Disruption เปลี่ยนให้ทุกองค์กรต้องพร้อมออนไลน์ภายใน 3 วัน 7 วัน เปลี่ยนให้ธุรกิจต้องพร้อมออก NPD (New Product Development) ใหม่ให้ได้ภายในไม่ถึงสัปดาห์ จากเดิมที่เคยต้องวางแผนกันแทบจะข้ามปี และจากรายงานของ We Are Social ที่ผมได้อ่านมานี้ก็พบว่าเจ้า COVID-19 ยังเข้ามา Disrupt การใช้โซเชียลมีเดียของเราทุกคนถ้วนหน้าไปอย่างไม่น่าเชื่อ และนั่นก็เป็นเหตุเป็นผลได้ว่าทำไม TikTok ถึงได้มาแรงพุ่งแซงในช่วงโควิดทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็พยายามดันมานานแต่ไม่เคยเกิดจนกลายเป็น Mass ได้ไม่น้อยหน้าแพลตฟอร์มรุ่นพี่แล้ว

COVID-19 ทำให้คนส่วนใหญ่งดโพสอวดชีวิต และโพสในสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตจริงๆ มากขึ้น

หรือทางรายงานต้นทางใช้คำว่า Social media users “showing off less” during pandemic ซึ่งผมก็ขอหยิบมาแปลแบบบ้านๆ ว่า งดโพสอวดชีวิตในช่วงนี้ ซึ่งเมื่อผมเอามานั่งคิดวิเคราะห์ต่ออีกนิดก็ทำให้เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังได้ไม่ยากว่ามี 2 ข้อ

1. ต่อให้ไม่เดือดร้อนก็ไม่มีชีวิตดีๆ ให้อวด

พฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไป(อวดชีวิตน้อยลง)ในช่วง COVID-19

เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตขนาดหนักจนเราต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ(ใครชาติมัน) หรือต้อง Social distancing เพื่อลดการแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 ก็ทำให้บรรดาร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่ท่องเที่ยว หรือธุรกิจ Lifestyle ทั้งหมดต้องหยุดตัวลงชั่วขณะ เพราะหน่วยงานราชการแทบทุกประเทศทั่วโลกสั่งปิดและเหลือให้เปิดแค่ธุรกิจที่ยังจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตจริงๆ เช่น ร้านขายของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร หรืออะไรจำพวกนี้เท่านั้น

หลายคนถึงขนาดโพสว่า “แค่ได้ไปเซเว่นหน้าปากซอยบ้านก็รู้สึกเหมือนิพพานแล้ว” เห็นมั้ยครับว่าชีวิตเราส่วนใหญ่ในช่วงนั้นเรียบง่ายขนาดไหน ขนาดตัวผมครั้นจะหาร้านกาแฟดีๆ กินยังยาก แค่ได้กินกาแฟอะไรก็ได้ช่วงนั้นรู้สึกชีวิตมีความสุขมาก หรือครั้นที่แอบเจอร้านกาแฟดีๆ ที่ยังพอเปิดอยู่บ้างแล้วได้แอบย่องไปหน่อยก็ยังไม่กล้าโพส เพราะขนาดแค่โพสว่าออกจากบ้านไปทำงานไปทำธุระยังโดนเพื่อนในเฟซเข้ามาคอมเมนท์ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เอาทำนองว่าผมถูกด่ากลายๆ นั่นแหละว่าจะออกจากบ้านไปไหน เรียกได้ว่าไม่กล้าโพสว่าออกจากบ้านไปไหนเลยทีเดียว

ดังนั้นชีวิตในช่วงนั้นจึงเหมือนอุดอู้มาก ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตก็ไม่ได้ ครั้นจะโพสว่าใช้ชีวิตที่ได้แอบออกจากทำธุระสักหน่อยก็ไม่ได้

ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงทำให้หลายคนไม่กล้าโพสอวดชีวิตดีๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะอาจจะทำให้ถูกสังคมบนโซเชียลรุมประนามได้นั่นเองครับ และทั้งหมดนี้ก็มาจากอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญข้อที่ 2 ถัดไปที่ผมวิเคราะห์ออกมาว่า…

2. ผู้คนเดือดร้อนมากมายแล้วใครจะไปกล้าอวด

พฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไป(อวดชีวิตน้อยลง)ในช่วง COVID-19

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด19 ทำให้ชีวิตคนมากมายเดือดร้อนเพราะไม่สามารถออกจากบ้านไปทำมาหากินได้ตามปกติ หรือต่อให้สามารถออกไปทำมาหากินตามปกติเหมือนทุกวันแต่ก็ไม่ได้ลูกค้าตามปกติเหมือนเช่นเคย เพราะหน่วยงานต่างๆ ล้วนกันประกาศให้ Work from home บ้าง หรือ Learn from home บ้าง ทำให้ลูกค้าหายหน้ากันไปหมด ดังนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่ธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนลำบาก เพราะไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมโกออนไลน์ในทันที

เมื่อคนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลำบากก็ยิ่งเป็นแรงกดดันให้คนไม่กล้าโพสบนโซเชียลที่เป็นการอวดชีวิตดีๆ เหมือนเดิมอีกต่อไป และเรายิ่งเห็นหลายคนออกมาระบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ธุรกิจบางคนเดือนดร้อนหนัก บางคนกำลังจะล้ม บางคนล้มไปแล้ว บางคนตกงานทันที บางคนไม่มีแม้ข้าวจะกิน ทั้งหมดนี้เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้คนส่วนใหญ่ถึงไม่กล้าโพสอวดชีวิตบนโซเชียลเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็น

และจากรายงานของ We Are Social ที่ออกไปสอบถามผู้คนมากมายก็บอกให้รู้ว่า พวกเขาเลือกที่โพสอะไรที่สำคัญและมีความหมายจริงๆ เท่านั้น และการโพสส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิดจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่การโพสเพื่อให้คนแปลกหน้าเข้ามากดไลก์หรือชื่นชมเหมือนเดิมอีกต่อไป

จากรายงานพบว่ามีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียแค่ 23% เท่านั้นที่ยังโพสอวดชีวิตดี๊ดีเหมือนก่อนหน้าโควิดมา

เพราะกว่า 4 ใน 10 ของผู้ให้ข้อมูลที่เป็นชาวอังกฤษและอเมริกาบอกว่า พวกเขารู้สึกไม่กดดันเท่าไหร่ถ้าจะกล้าโพสถึงปัญหาจริงๆ ในชีวิตว่าพวกเขากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรจริงๆ กันแน่ จากเดิมที่การโพสเรื่องพวกนี้ดูเป็นเรื่องน่าอายที่คนบนโซเชียลทั่วไปไม่ทำกัน แต่พอโควิดเข้ามาล็อคดาวน์ทุกอย่างก็พลิกผัน กลายเป็นว่าทุกคนก็ล้วนเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่เศร้าได้ ท้อได้ ร้องให้ได้

จากการสำรวจโดย We Are Social และ GlobalWebIndex พบว่ามีแค่ 23% เท่านั้นที่รู้สึกว่าพวกเขายังจำเป็นต้องโพสในแบบที่อวดชีวิตดี๊ดีเหมือนก่อนโควิดจะมา เพราะรู้สึกว่านั่นยังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป

46% ของผู้ชายกล้าที่จะโพสถึงปัญหาตัวเองแบบ Public บนโซเชียล

พฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไป(อวดชีวิตน้อยลง)ในช่วง COVID-19

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของเพศชายที่เปลี่ยนไปจากวิกฤตโควิด19 และการล็อคดาวน์ในครั้งนี้ เพราะกว่าครึ่งหรือ 46% บอกว่าพวกเขากล้าที่จะโพสถึงปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญอย่างตรงไปตรงมาลงบนออนไลน์ แถมยังกล้าที่จะโพสแบบ Public ให้โลกรู้ว่าตัวเองก็อ่อนแอเป็น ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้หญิงแล้วกลับมีแค่ 31% หรือไม่ถึง 1 ใน 3 ดีที่กล้าโพสปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญแบบตรงไปตรงมาให้โลกรู้

Insight นี้น่าสนใจว่าลึกๆ แล้วผู้ชายก็เก็บงำปัญหามากมายไว้ไม่กล้าบอกให้ใครรู้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ชายส่วนใหญ่เมื่อเป็นเด็กมักถูกสอนให้อดทน ให้เก็บอารมณ์ไว้ อย่าให้ใครเห็นว่าตัวเองร้องให้หรืออ่อนแอ ดังนั้นลึกๆ แล้วผู้ชายส่วนใหญ่ก็คงเครียดไม่น้อยจนถึงจุดที่ทนไม่ไหวก็ต้องปล่อยออกมา แบรนด์ไหนหรือธุรกิจใดสามารถเข้ามาตอบ Insight ตรงนี้ของผู้ชายได้ น่าจะได้ทั้งใจและเงินจากผู้ชายไปไม่น้อยทีเดียว

ซึ่งเดิมทีโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการแตกแยกทางการเมืองและสังคม แถมยังถูกชี้นำให้ผู้ใช้ต้องแข่งขันกันอวดชีวิตดี๊ดีมากมายโดยใช้ค่า Like Comment และ Share เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จบนโซเชียล

เชื่อหรือไม่ครับว่าจากการรีเสิร์จพบว่ามีคนบางกลุ่มที่เลือกจะลบโพสนั้นถ้าพบว่ามีคนกดไลก์น้อยเกินไป เห็นมั้ยครับว่าการได้รับการยอมรับบนออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการใช้ชีวิตเราส่วนใหญ่ไปแล้ว

แถมยังมีงานวิจัยจากสถาบันและนักรณรงค์มากมายที่บอกว่าโซเชียลมีเดียส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้คนในวันนี้มาก เพราะมันเหมือนภาพสะท้อนมาตรฐานชีวิตดีที่ควรจะเป็นของคนทุกวันนี้ ทำให้หลายคนไม่อาจมีชีวิตที่ดีเหมือนเพื่อนที่เห็นอวดชีวิตดีๆ ในเฟซได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วเค้าอาจจะไปเที่ยวครั้งเดียวแล้วถ่ายรูปเผื่อไว้ลงทั้งปีได้สบายในชุดที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเพศหญิงยุคใหม่ที่อาจจะถูกคุกคามด้วยคอมเมนต์ไม่ดีบนโซเชียลเป็นประจำ หรือที่ถูกเรียกว่า Cyberbullying ได้ครับ

ประเด็นสำคัญของรายงานฉบับนี้ที่ We Are Social ค้นพบจากพฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไปในช่วงล็อคดาวน์กักตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันโควิด19 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ครับ

ช่วง COVID-19 ตัวแปรที่ทำให้คนอยากโพสหรือแชร์ตามมีดังนี้

พฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไป(อวดชีวิตน้อยลง)ในช่วง COVID-19
  • 74% ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียบอกว่าเพื่อนและคนในครอบครัวคือแรงบันดาลใจของโพสต่างๆ ในช่วงเวลานั้น(ไม่ใช่แบรนด์หรือดาราคนดังนะ)
  • 52% บอกว่า Local community คือสิ่งที่กระตุ้นให้พวกเขาโพส ก็ไม่แปลกถ้าเราจะโพสเพื่อช่วยร้านค้ารายเล็ก หรือร้านอาหารท้องถิ่นให้ขายได้ในช่วงเวลานั้น ผมเองก็เป็นคนนึงที่แชร์ทุกสินค้าหรือบริการให้เพื่อนๆ เต็มหน้าฟีดไปหมดช่วงนั้น
  • 35% บอกว่าเลือกที่จะโพสหรือแชร์จากมูลนิธิต่างๆ หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไร สรุปง่ายๆ คือโพสช่วยได้ก็ช่วยกันนั่นเอง
  • 23% โพสตาม Influencer ต่างๆ ที่ตัวเองให้ความสนใจ
  • 21% โพสตามแบรนด์
  • 20 โพสตามดารานักร้องที่ตัวเองสนใจ

ที่น่าสนใจไม่น้อยคือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูล หรือ 45% บอกว่านักการเมืองคือตัวแปรที่ทำให้พวกเขาอยากโพสหรือแชร์ตาม

ส่วนคอนเทนต์ที่คนเลือกโพสหรือแชร์ในช่วงล็อคดาวน์เพราะ COVID-19 มีดังนี้

  • 40% แชร์เรื่องราวข่าวคราวอัพเดทส่วนตัว
  • 36% แชร์วิดีโอตลกๆ
  • 29% แชร์มีม Memes ขำขัน

ที่น่าสนใจเมื่อเจาะลึกลงไปในการแชร์โพสประเภท Memes จะพบว่าเป็นกลุ่ม Gen Z สูงถึง 44% และตามมาด้วยชาว Millennials อยู่ที่ 34% ส่วนกลุ่มสูงวัย Baby boomers กลับมีการแชร์โพสประเภทมีมแค่ 12% เท่านั้น (อาจเป็นเพราะคนรุ่นก่อนไม่ค่อยเก็ตกับมุขตลกใหม่ๆ มั้ง)

ทาง Mobbie Nazir ผู้เป็น Chief Strategy Officer ของ We Are Social กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า เพราะโควิด19 เข้ามาทำให้ผู้คนเปลี่ยนวิธีการโพสหรือใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งหลายทั้งปวงออกไปใหม่ ที่เคยโพสกันแบบนี้มานานหลายปี ถูกเปลี่ยนพฤติกรรมไปในไม่กี่วันหลังจากเราต้องล็อคดาวน์อยู่บ้าน หรือจากเดิมที่เคยโพสเพื่ออวดชีวิตดี๊ดี กลายเป็นโพสอะไรบางอย่างที่มีความหมายและสำคัญจริงๆ ต่อคนรอบตัว ไม่ว่าจะช่วยเหลือกันหรือเป็นกำลังใจให้กันและกันก็ตาม

เราได้เห็นผู้ชายกล้าที่จะโพสแบบเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึก หรือปัญหาในชีวิตตัวเองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากช่วงกักตัวอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อโควิด19 กัน ผู้คนรู้สึกกดดันน้อยลงถ้าชีวิตไม่มีดีอะไรให้โพส และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งให้ TikTok​โตเอาๆ เพราะการจะถูกยอมรับใน TikTok ได้คือคุณต้องกล้า บ้า และเพี้ยนเข้าไว้นั่นเอง

สุดท้ายนี้ในช่วงวิกฤตจากการล็อคดาวน์หลายประเทศทั่วโลกหรือแม้แต่เมืองไทยเองก็ตาม ทำให้เราได้เห็นแง่มุมที่สวยงามของผู้คนมากมายโดยเฉพาะบนโซเชียล ช่วงเวลานั้น Influencer หลายคนยินดีช่วยโพสให้แบรนด์ต่างๆ โดยไม่คิดเงิน หรือโดยเฉพาะแบรนด์เล็กๆ SME ที่เป็นความรู้สึกว่าเราต้องช่วยเหลือกันให้มากที่สุด

วันนี้เรากลับมาใช้ชีวิตค่อนค้างจะเป็นปกติเหมือนเดิมก่อนหน้าโควิด19 ทุกอย่าง เราเริ่มเห็นพฤติกรรมการกลับมาโพสชีวิตดี๊ดีแบบเดิมเพิ่มมากขึ้น เราเห็นเพื่อนๆ หลายคนออกไปใช้ชีวิตเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศมากมาย แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีคนอีกมากมายที่ยังลำบากจากพิษโควิด19 ไม่น้อย

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปยากจะบอกได้ แต่เชื่อได้ว่าถ้าเกิดวิกฤตที่คล้ายกันในครั้งหน้า มนุษยชาติก็จะกลับมาพึ่งพาและพึ่งพิงกันเหมือนช่วงต้นปี 2020 ช่วงที่เราทุกคนต้องจับมือกันไว้ให้แน่นที่สุด เพื่อที่เราจะผ่านพ้นหายนะครั้งนี้ไปได้ครับ

ผมมีคำถามทิ้งท้ายสำคัญไว้สำหรับคนที่เป็นนักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจ ถ้าคุณรู้ว่าพฤติกรรมผู้คนบน Social media จะเป็นแบบนี้อีกครั้งถ้าเกิด COVID-19 ระบาดระลอกสองหรือโรคระบาดอื่นที่ทำให้เราต้องหดหู่อยู่กับบ้านเหมือนที่เกิดขึ้นมาในต้นปีนี้ คุณจะเปลี่ยนวิกฤตนั้นให้กลายเป็นโอกาสอย่างไรครับ?

อ่านบทความในการตลาดวันละตอนที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/covid-19/

พฤติกรรมการใช้ Social media ที่เปลี่ยนไป(อวดชีวิตน้อยลง)ในช่วง COVID-19

Source > https://www.campaignlive.co.uk/article/social-media-users-showing-off-less-during-pandemic/1687180

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *