“พฤติกรรมการช้อปปิ้ง” แบบใหม่ แสวงหาความหลากหลายไม่รู้จบ

“พฤติกรรมการช้อปปิ้ง” แบบใหม่ แสวงหาความหลากหลายไม่รู้จบ

พฤติกรรมการช้อปปิ้ง ของนักช้อปไทย ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในปัจจุบันนี้การช้อปปิ้ง ไม่ใช่แค่ช้อปตามเทรนด์ตามกระแสอีกต่อไปแล้วนะคะ แต่ถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานในการใช้ชีวิตประจำวันเลยล่ะค่ะ เมื่อผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อของออนไลน์กันมากขึ้นแล้ว แน่นอนว่า “พฤติกรรมการช้อปปิ้ง” นั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย มีการค้นพบสำคัญ นั่นก็คือ “นักช้อปไทยมีพฤติกรรมการแสวงหาความหลากหลาย” คือ กระจายตัวใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างหลากหลายและทั่วถึง แสวงหาตัวเลือกใหม่ ที่ไม่ซ้ำซากจำเจอีกต่อไปนั่นเองค่ะ ใครที่กำลังอยากรู้ว่า เอ๊ะ?! พฤติกรรมการช้อปปิ้ง ของนักช้อปยุคนี้เป็นยังไงกันนะ มาดูกันเลยค่าาา

นักช้อปรุ่นใหม่แสวงหาความหลากหลาย

รายงาน Thailand’s Future Shopper 2023: Divergence and Disruption of the Status Quo ของ Wunderman Thompson ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,014 คน จากกลุ่ม Baby Boomers, Gen X, Gen Y และ Gen Z เพศชาย 47% เพศหญิง 52% อายุ 16 – 55 ปี จากกรุงเทพมหานคร 60% ต่างจังหวัด 40% หลังการระบาดของ Covid-19 ผู้คนออกไปนอกบ้าน ซื้อของในร้านค้ามากขึ้น แต่ดิจิทัลก็ยังคงแข็งแกร่ง นักช้อปรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความพึงพอใจในทันที ส่วนคนอายุมากกว่าให้ความสำคัญกับข้อเสนอและความคุ้มค่า 

โดยพฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนไทย Consumer Journey ตั้งแต่ แรงบันดาลใจ – การค้นหา – การซื้อ ส่วนใหญ่ 60 – 70% เกิดขึ้นบนออนไลน์ที่มีความหลากหลายและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แรงบันดาลใจ: MOTIVATE ME! เห็นแล้วกระตุ้นความต้องการซื้อ

พฤติกรรมการช้อปปิ้งของนักช้อปไทย เริ่มนิยมหาแรงบันดาลใจในการซื้อของ จากเว็บไซต์เปรียบเทียบสินค้าและราคา, แบรนด์เว็บไซต์ และจากหน้าร้านมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าลูกค้าบางกลุ่มกว่าจะมีความรู้สึกซื้อของชิ้นหนึ่งใช้เวลามากขึ้น นักการตลาดต้องศึกษาเพิ่มเติมแล้วพยายามหาคำตอบให้ได้ว่าลูกค้าของเราเป็นแบบนี้หรือเปล่านะคะ

ค้นหา: CONVINCE ME! หาจากช่องทางที่ใช่!

ผู้บริโภคกว่า 20% กล่าวว่าพวกเขาใช้เวลา 91 – 100% เพื่อค้นหาในออนไลน์ ซึ่งการค้นหาก็จะมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า อย่างถ้าเป็นตลาดเสื้อผ้าและของใช้ในบ้านก็ค้นหาใน Marketplace หรือถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและยา ผู้คนก็ยังคงสอบถามที่ร้านค้า ส่วนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จะค้นหาจาก Search Engine เป็นส่วนใหญ่

การซื้อ: TAKE MY MONEY! ราคาดี จัดส่งฟรี มีของถูกใจ

สถิติที่น่าสนใจคือ ปี 2566 พฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคนั้นซื้อสินค้าจากแบรนด์เว็บไซต์ บ่อยกว่าโซเชียลมีเดียเสียอีก! เป็นเพราะผู้คนชอบเนื้อหาและข้อมูลที่มีคุณภาพถูกต้องชัดเจน รวมถึงราคาที่ดีกว่าและจัดส่งฟรีทั้งนี้พบว่า KOL มีอิทธิพลมากที่สุดในการกระตุ้นการซื้อถึง 28% ตามด้วยครอบครัว 17% 

ยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้ง

โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการช้อปปิ้ง โดยจำนวนผู้ซื้อของบนโซเชียลเติบโตจาก 62% ในปีที่ผ่านมา ขึ้นมาอยู่ที่ 80% แล้วค่า!

ซึ่ง Facebook ยังคงเป็นผู้นำในโซเชียลแพลตฟอร์ม แต่มีทิศทางลดลงจาก 61% เป็น 38% เพราะผู้คนหันไปช้อปปิ้งออนไลน์ทาง TikTok กันมากขึ้น จาก 8.11% เป็น 29.8% ในปีนี้ ซึ่งรูปแบบ Live Shopping ยังเป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างยอดขาย 

แต่สิ่งที่จะมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่จะสร้างลูกค้าประจำให้กับแบรนด์ได้ นั่นก็คือการมี ข้อเสนอที่ดี ประสบการณ์ที่ดี และการจัดส่งที่รวดเร็ว นักการตลาดจึงควรยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้ง เพราะสิ่งที่นักช้อปต้องการในปัจจุบันนั้นมันมากขึ้นไปอีกขั้นแล้วค่ะ 

อย่างประสบการณ์การจัดส่งที่สะดวก ส่งทุกที่ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น มีคนส่วนใหญ่ (42%) คาดหวังว่าจะได้รับสินค้าภายใน 2 – 3 วัน แล้วยังมีนักช้อปที่คาดว่าจะได้รับสินค้าภายใน 12 ชั่วโมงเพิ่มสูงขึ้นถึง 30% ส่วน Gen Z อีก 30% ก็คาดหวังการจัดส่งภายใน 1 ชั่วโมง! เลยด้วย

และความหลากหลายในการชำระเงิน ต้องการประสบการณ์ที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี และมีความสนุกสนานมากขึ้น เพราะการช้อปปิ้งออนไลน์ไม่ใช่การซื้อแค่เพราะความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว แต่เป็น “Retail Therapy” ที่ให้ความรื่นรมย์เติมเต็มความสุขและความบันเทิงในแต่ละวัน~

โดยในแต่ละแพลตฟอร์มก็มีจุดเด่นในการยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งให้กับลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • Shopee และ Marketplace อื่น ๆ >> ราคาที่ดีที่สุด และความง่ายต่อการค้นหาผลิตภัณฑ์
  • Retail Website >> การบริการลูกค้าที่แข็งแกร่ง และของที่ต้องการมีอยู่ในสต็อก
  • แบรนด์เว็บไซต์ >> การเข้าถึงแบรนด์ที่ผู้บริโภคต้องการ
  • Social Media >> เนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และรีวิวและคำแนะนำผลิตภัณฑ์

พฤติกรรมการชอปปิ้งที่เปลี่ยนไป แล้วต้องทำไงต่อ?

1. การช้อปปิ้งออนไลน์มีความหลากหลายมากขึ้น

แบรนด์ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่า แบรนด์และผลิตภัณฑ์มีอยู่ทุกช่องทาง ไม่ใช่แค่บนแพลตฟอร์มหลักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแพลตฟอร์มเฉพาะ เช่น เว็บไซต์เปรียบเทียบราคา แบรนด์เว็บไซต์ ผู้ค้าปลีก และ Marketplace อื่น ๆ

2. ผู้บริโภคต้องการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น แต่ก็มีความคาดหวังมากขึ้นเช่นกัน

แบรนด์ต้องตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเพิ่มขึ้น ด้วยข้อเสนอที่ดีที่สุด ความหลากหลายของสินค้า เน้นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ และการจัดส่งที่รวดเร็วมีคุณภาพ

3. ใช้ประโยชน์จากแบรนด์เว็บไซต์ให้มากที่สุด

แบรนด์ต้องแน่ใจว่าเว็บไซต์ของตนเองมีความน่าดึงดูด เป็นมิตรกับผู้ใช้ มีข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ ให้พิจารณาข้อเสนอพิเศษหรือโปรโมชันสำหรับผู้บริโภคที่ซื้อโดยตรงจากเว็บไซต์ด้วย

4. ต้องสนุกและน่าดึงดูดตลอดเส้นทางการช้อปปิ้ง 

ทำความเข้าใจพฤติกรรมการช้อปปิ้งในทุก ๆ Touchpoint ตลอดเส้นทางการช้อปของผู้บริโภค และสร้างช่วงเวลาที่น่ารื่นรมย์และสนุกสนานไปพร้อมกัน เช่น จำลองประสบการณ์โดย ใช้ AI แชทบอท ให้การช้อปปิ้งสนุกขึ้นไปอีกขั้น หรือเปลี่ยนแบรนด์ให้เป็นดิจิทัลสำหรับการเล่นเกม ทำให้ช่วงเวลาในการซื้อสามารถแชร์ได้ จูงใจให้น่ารีวิวผลิตภัณฑ์

5. การช้อปปิ้งออนไลน์ต้องมีความ Personalized 

แบรนด์ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ Customer Experience ที่ชัดเจนในการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคทุกขั้นตอน ตั้งแต่การได้รับแรงบันดาลใจจากวิดีโอยูทูป ไปจนถึงการค้นหาข้อเสนอที่ดีที่สุดในเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา และการส่งมอบสินค้า

สรุป

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงมองเห็นถึงพฤติกรรมการช้อปปิ้งของนักช้อปไทยในปี 2023 กันแล้วนะคะ ว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งไหนบ้าง สำหรับใครที่ทำธุรกิจอยู่หรือกำลังจะเริ่มก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคกันได้นะคะ เพราะยิ่งผู้บริโภคมีประสบการณ์ที่ดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งนำไปสู่การมีความภักดีต่อแบรนด์เรามากขึ้นเท่านั้นค่า

และสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter Youtube และ Blockdit ได้เลยค่า

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *