มาปรับกลยุทธ์อิง Insight Gen Y และ เพศชาย ที่เป็น Risk Lover! – ชิงโชค ลุ้นสุ่ม ลงทุน

มาปรับกลยุทธ์อิง Insight Gen Y และ เพศชาย ที่เป็น Risk Lover! – ชิงโชค ลุ้นสุ่ม ลงทุน

มาปรับกลยุทธ์อิง Insight Gen Y และ เพศชาย ที่เป็น Risk Lover! – ชิงโชค ลุ้นสุ่ม ลงทุน

ข้อมูลวันนี้มีประโยชน์กับแบรนด์มาก ๆ เพราะจะได้ปรับกลยุทธ์ถูกทาง ไม่ต้องมโนหรือคาดเดาข้อมูล มาอิงพฤติกรรมผู้ที่ชอบเสี่ยงกันค่ะ ซึ่งพฤติกรรมรักความเสี่ยงทายเสี่ยใจนี้เปลี่ยนไปตามปัจจัยเศรษฐกิจ-โรคระบาดล่าสุด ยาวหน่อยแต่ตั้งใจนำมาแชร์มาก ๆ ค่ะ

บทความนี้อ้างอิงข้อมูลทั้งหมดจากนักวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เกี่ยวข้อมูลการตลาดรูปแบบเอาใจคนชอบเสี่ยงที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ความตื่นเต้นเร้าใจนี้เข้าแล้วออกยากจริง ๆ ค่ะ

ข้อมูลงานวิจัยเบื้องต้น “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover”

สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก 40 คน โดยกลุ่มตัวอย่าง แบ่งสัดส่วน เพศหญิง 71.5% (จำนวน 716 คน) เพศชาย 23.6% (จำนวน 236 คน) LGBT+ 5% (จำนวน 50 คน) และแบ่งตามเจนเนอเรชัน ดังนี้ Gen Y 54.6% (จำนวน 547 คน) Gen Z 24.8% (จำนวน 248 คน) Gen X 12% (จำนวน 120 คน) และ Baby Boomer 8.7% (จำนวน 87 คน)

เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ชอบเสี่ยงและนำมาสู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค  ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” พบว่า 3 อันดับที่คนไทยชอบเสี่ยงมากที่สุด เทียบเป็นจำนวนประชากรสูงถึง 30 ล้านคน  มีดังนี้

1. เสี่ยงที่จะลุ้น เช่น ลุ้นหวย ลุ้นรางวัลใหญ่จากการชิงโชค 46.2%

2. เสี่ยงที่จะลงทุน เช่น หุ้น ทองคำ กองทุน คริปโต 42.7%

3. เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ เช่น กล่องสุ่ม ร้านอาหารแนว Chef’s Table 11.1%

นักการตลาดทราบไหมคะว่าจริง ๆ แล้วคนชอบเสี่ยงแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ประเภท Rish Lover ชอบความเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย และ Risk Averse หลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยพบว่ากลุ่ม Gen Y และ เพศชาย มีความเป็น Risk Lover ชอบความเสี่ยง กล้าได้กล้าเสียมากที่สุดค่ะ เดี๋ยวเราจะค่อย ๆ มาเจาะผลวิจัยกันแบบละเอียด ไล่ไปทีละความเสี่ยงเลย พร้อมแนะนำกลยุทธ์ที่แบรนด์ควรนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับท้ายบทความ

แนะนำอย่างยิ่งสำหรับนักการตลาด กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารรูปแบบ Chef’s Table และกลุ่มนักลงทุนหรือบริษัทด้านการลงทุน ควรอ่านให้จบน้า

อันดับ 1 ความเสี่ยงที่จะลุ้นหวย เพราะต้องการความตื่นเต้น ใช้เข้าสังคม และหวังจะรวยเร็ว และการลุ้นชิงโชค

เสี่ยงที่จะลุ้นลอตเตอรี่

หลายคนตั้งแต่จำความได้คงเห็นการซื้อหวยของคนรอบข้างบ่อย ๆ เดือนละ 2 ครั้ง ทั้งไปเดินตลาดแม่ค้าก็รอกรี๊ดกันตอนหวยออก เล่นโซเซียลก็เจอคนโพสต์ทั้งถูกโชคและถูก….

จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยซื้อลอตเตอรี่สูงถึง 85.3% แสดงให้เห็นว่า การซื้อลอตเตอรี่เข้าถึงในทุกๆ เพศ ทุกวัย และทุกระดับรายได้ 

โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซื้อลอตเตอรี่งวดละ 1 ใบ อยู่ที่ 51.9% และซื้องวดละ 2-4 ใบ อยู่ที่ 37.1%

เมื่อมาแบ่งตามช่วงอายุแล้วจะเห็นว่า กลุ่มผู้ใหญ่วัย Gen X และ Baby Boomer จะซื้อลอตเตอรี่งวดละ 2-4 ใบ มากกว่ากลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่น อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่จะซื้อเพียงงวดละ 1 ใบเท่านั้น

อาจจะเป็นเพราะว่าวัยอย่าง Gen Y และ Gen Z ให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนมากกว่า เพราะว่าการซื้อหวยเป็นการลุ้น ใช้ความน่าจะเป็น ต่างจากการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าการพึ่งเรื่องโชค เรื่องดวง และพฤติกรรมคนไทย  60.1% มองว่า ลอตเตอรี่เป็นการลงทุนต่ำแต่ได้รับผลตอบแทนสูง

แม้งวดนี้จะไม่ถูกแต่ยังมีงวดหน้าเสมอใช่มั้ยคะ

63.3% มีการไปไหว้พระขอพร ซึ่งส่วนใหญ่ขอให้ถูกหวย ขอให้ร่ำรวยขึ้น โดยสถานที่ที่นิยมไปขอ เช่น ท้าวเวสสุวรรณ หรืออย่างถ้ำนาคา วัดป่าคำชะโนด ศาลแม่นาคพระโขนงและศาลงูจงอาง

3 สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนไทยชอบเล่นหวยคืออะไร?

1. ต้องการความตื่นเต้น: เพราะว่าในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะเครียดจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ด้าน

2. เป็นเรื่องที่ไว้พูดคุยเข้าสังคม: นอกจากเรื่องเมาท์ซุบซิบดาราแล้ว เรื่องหวยที่ออกงวดล่าสุด หรือเรื่องสถานที่ในการหาเลขเด็ด ก็กลายเป็นเรื่องพูดคุยเพื่อเข้าสังคมในกลุ่มคนไทยเป็นอย่างมากค่ะ ใครเป็นบ้างคอมเมนต์มาบอกหน่อยน้า

3. คาดหวังว่าจะรวยขึ้น: ปุ๊ปปั๊ปรับโชคอาจเปิดขึ้นกับเราก็ได้ ใครจะไปรู้ ซื้อติดไว้งวดละใบดีมั้ยนะ~ ส่วนใหญ่คนที่ซื้อหวยมีความคาดหวังว่าจะถูกรางวัลใหญ่ ร่ำรวยกันในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนทำงานและกลุ่มคนใช้แรงงาน ที่มองว่าการทำงานไปวันๆ อยู่แบบนี้ คงไม่มีทางรวยขึ้นมาได้ จึงต้องลองเสี่ยงซื้อหวย เผื่อฟลุคถูกรางวัลที่ 1 ได้เป็นเศรษฐีคนใหม่ง่ายๆ ดังที่เห็นตามข่าวว่าจะมีคนถูกรางวัลที่ 1 กันทุกงวด

เสี่ยงลุ้นจากการชิงโชค

จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย ส่วนใหญ่คาดหวังรางวัลใหญ่จากการส่งชิงโชคสูงถึง 75.3%

การลุ้นโชค เราต่างคุ้นเคยเพราะเห็นกันแทบทุกอาทิตย์จากแบรนด์ทุกอุตสาหกรรม เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่คนไทยและแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจ และทำแคมเปญนี้อยู่เรื่อยมา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา

การทำการตลาดชิงโชคประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนทำให้การแข่งขันค่อนข้างดุเดือดเลยทีเดียว โดยการทำการตลาดชิงโชคในปัจจุบัน ยุคผู้บริโภค New Normal นี้ยังได้รับความนิยมอยู่หรือไม่ ข้อมูลวิจัยพบว่า

จากสถานการณ์การแข่งขันในตลาดปัจจุบัน นอกจากการทำ กลยุทธ์ทำราคาแล้ว การทำการตลาดชิงโชคก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่จำเป็น และหวังผลกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายค่อนข้างมากค่ะ

โปรโมชั่นชิงโชค เป็นการกระตุ้นยอดขายได้อีกทางหนึ่งและเป็นการดึงดูดให้ลูกค้าหันมาสนใจในผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย นอกจากจะเป็นการกระตุ้นยอดขายแล้ว การทำการตลาดชิงโชคยังเป็นเครื่องมือโปรโมทแบรนด์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากบนออนไลน์เช่นกัน 40.9% กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มเข้าร่วมกิจกรรมที่ Like&Share มากกว่าส่งชิงโชคแบบเก่า นุ่นมีความเห็นว่าอาจจะเพราะความง่าย แค่กดไม่กี่ทีด้วยค่ะ 

ยกตัวอย่าง การทำการตลาดชิงโชคที่โด่งดังมากๆ คนไทยรู้จักแน่นอน คือ ศึกแคมเปญชิงโชคระหว่างน้ำชาเชียว 2
แบรนด์ใหญ่อย่างโออิชิ แคมเปญ ไปแต่ตัวทัวร์ยกแก๊ง และอิชิตัน แคมเปญ เปิดฝา รหัสรวยเปรี้ยง

ส่วนตัวอย่างในปัจจุบัน น้ำดื่มสิงห์และน้ำแร่เพอร์ร่า เริ่มหันมาทำกิจกรรมชิงโชค เปิดฝาลุ้นรับรางวัล แต่วิธีการแจกรางวัลคือ ต้องสะสมพ้อยท์เพื่อลุ้นรางวัลใหญ่ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีตามยุคดิจิทัลมาปรับใช้กับแบรนด์นั่นเอง ก็เป็นทางที่น่าสนใจนะคะ

อันดับ 2  ความเสี่ยงที่จะลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัล : คริปโท โทเคนดิจิทัล NFT

ก่อนอื่นนุ่นขอขยายคำว่าสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่เรียกกันวา Digital Asset คือ “สิ่งที่มีมูลค่าและเราสามารถเป็นเจ้าของได้ แต่ไม่สามารถจับต้องได้ สิ่งเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นในระบบดิจิทัล และเก็บไว้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป หรือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลต่างๆ

โดยสามารถแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านการพิจารณาตามลักษณะของการใช้งาน ได้ดังนี้ 

1. คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency)

2. โทเคนดิจิทัล (Digital Token)

เรามาดูผลสำรวจเพิ่มเติมกันค่ะ

ได้ยินกันบ่อย ๆ กับคำว่าวัยรุ่นคริปโทตั้งแต่ปีที่แล้วใช่ไหมคะ จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คิดเป็น 32.9%

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 83.9% ใช้ “เงินออม” ในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะใช้เงินลงทุนต่อ transaction อยู่ที่ 5,000 – 20,000 บาทต่อครั้ง

เหรียญที่คนนิยมลงทุนกันมากที่สุด อันดับ 1 คือ Bitcoin 53% อันดับ 2 Ethereum 25.3% อันดับ 3คือ Dogecoin 4.5% และอื่นๆ ตามลำดับ

และระหว่างการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี (Crypto currency) กับ NFT พบว่า  91.5% ให้ความสนใจการลงทุนในรูปแบบคริปโตฯ มากกว่า การลงทุนในรูปแบบของ NFT

อิทธิพลที่ส่งผลในการซื้อขายหรือลงทุน มี 3 อันดับมากที่สุด คือ ตนเอง 70% ศึกษาหรือซื้อขายตามผู้เชี่ยวชาญ (นักวิเคราะห์และบทวิเคราะห์) 46.7% และ ซื้อขายตามเพื่อน 42.7% โดยพบว่าคนกลุ่ม Gen Z เป็นเจนที่สนใจในการลงทุนคริปโตมากที่สุดโดยให้เหตุผลว่าอยากจะรวยเร็วๆ อันนี้เถียงไม่ออกเลยค่ะ เพราะจริง..

กลุ่มตัวอย่าง 88.8% ทราบดีอยู่แล้วว่าการลงทุนประเภทนี้มีความผันผวนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่ก็ยังตัดสินใจลงทุน เพราะมีความเชื่อว่า ความเสี่ยงสูงมักจะนำมาซึ่งการตอบแทนที่สูงเช่นกัน ก็มาสิคะ อยากรวยแบบซิ่ง ๆ

และคนที่ลงสนามคริปโทต่างยอมรับว่ามีความกังวลมากที่สุดต่อการเคยมีข่าวเรียกเก็บภาษีจากการลงทุนประเภทนี้ ตามด้วยจะสามารถใช้งานหรือไม่ ความรู้เราแน่นพอหรือยังนะ

อันดับ 3 ความเสี่ยงที่เซอร์ไพรส์ กล่องสุ่ม และ Chef’s Table 

เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์: กล่องสุ่ม

ใครเคยซื้อยอมรับมาเดี๋ยวนี้~ เราคือเพื่อนกันค่ะ การตลาดกล่องสุ่ม หรือที่เราเรียกกันว่า Mysterious Box เทรนด์การทำการตลาดที่กำลังมาแรง และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีรูปแบบการขายที่ผู้ขายจะใส่สินค้าต่างๆ ไว้ในกล่อง 

สินค้ามีทั้งแบบแบ่งเป็นหมวดหมู่และแบบคละสินค้า ผู้ซื้อไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าในกล่องมีอะไรบ้าง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเซอร์ไพรส์ตอนที่แกะกล่อง ซึ่งเสน่ห์ของกล่องสุ่มเป็นการเล่นกับ “ความไม่รู้” ที่เป็นตัวช่วยดึงดูดลูกค้าเป็นจำนวนมาก

โดยจากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยซื้อกล่องสุ่มอยู่ที่ 24.9% โดยสินค้ากล่องสุ่มที่นิยมซื้อกันมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 

ขนมทานเล่น 26.8% > เครื่องสำอาง 25.3% > เสื้อผ้า 23% ตามลำดับ 

ซึ่งระดับราคากล่องสุ่มที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมจ่าย จะแตกต่างกันไปตามแต่ละเจเนอเรชั่นค่ะ ข้อมูลวิจัยพบว่า Gen Z มีแนวโน้มซื้อกล่องสุ่มมากกว่าเจนอื่นๆ สูงถึง 49% 

เนื่องจากเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง และเติบโตมากับสมาร์ทโฟน สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีพฤติกรรมต้องตามกระแสสังคม กลัวการตกเทรนด์ โดยจะซื้อสินค้ากล่องสุ่มที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท 

ขณะที่ในส่วนของ Gen Y ที่มีกำลังซื้อมากกว่า Gen Z ตัดสินใจซื้อกล่องสุ่มที่ระดับราคาไม่เกิน 2,500 บาท

แรงจูงใจในการซื้อกล่องสุ่มคือ?

เพราะฉะนั้นถ้านักการตลาดจะทำกล่องสุ่มจะต้องพิจารณาด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ถึงจะทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อ โดยแรงจูงใจในการซื้อกล่องสุ่มส่วนใหญ่เพราะอยากรู้สึกตื่นเต้น ชอบลุ้น ชอบความเซอร์ไพรส์ และมีการคาดหวังว่าสินค้าที่ได้รับจะมีความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป 

 “จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เคยซื้อกล่องสุ่ม ส่วนมากจะมีความรู้สึกไม่ประทับใจกับกล่องสุ่มที่ได้รับ เพราะว่าสินค้าที่ได้รับบางตัวใกล้หมดอายุ ไม่ใช่เป็นของที่อยากได้ เป็นของที่ไม่ได้ใช้ เลยรู้สึกไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แต่ก็สามารถยอมรับได้ เพราะว่ากล่องสุ่มก็เป็นเหมือนการพนันในรูปแบบหนึ่งที่ผู้ซื้อต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ และอย่าคาดหวังว่าสินค้าที่ได้รับจะเหมือนกับการรีวิวในเพจต่างๆ” 

นอกจากนี้การรีวิวกล่องสุ่มจาก Blogger อินฟลูเอนเซอร์ โดยเฉพาะ Youtuber ที่มีการทำคอนเทนต์แกะกล่องสุ่มแต่ละร้าน สร้างยอดวิวสูงแข่งกันมากเพราะคนชอบดูค่ะ ไม่มีเงินซื้อมาแกะเอง ขอดูคนอื่นแกะก็ยังดี ว่าซั่น 

เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์: การทานอาหารรูปแบบ Chef’s Table 

วงการที่เข้าแล้วออกได้เพราะเงินไม่พอ คือวงการทาน Chef’s Table นี่แหละค่ะ ^^’ แต่ต้องยอมรับว่าได้รับความนิยม และน่าสนใจเพราะเล่นกับคำว่า “ไม่รู้” ต่อผู้บริโภค

แต่จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างเคยไปใช้บริการ Chef’s Table อยู่ที่ 28.4% เป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยสูงมากเท่ากับความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เนื่องจาก Chef’s Table เป็นรสนิยมการทานอาหารเฉพาะกลุ่ม

โดยสาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการนี้ ได้แก่

1. เพื่อต้องการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในมื้อพิเศษ 27.1% 

2. เป็นการได้ลุ้นว่าเชฟจะรังสรค์เมนูอะไรมาให้รับประทาน 25.3% 

มาถึงคำถามที่ผู้ประกอบการอยากรู้ควรทำคอร์สประมาณเท่าไหร่ดีลูกค้าถึงยอมจ่ายง่ายที่สุด มีคำตอบมาให้ค่ะ

ส่วนใหญ่ระดับราคาที่กลุ่มตัวอย่างยอมจ่ายจะอยู่ที่ 2,000-4,000 บาท คิดเป็น 58.9% ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่คนส่วนใหญ่ยอมจ่ายเพื่ออาหารมื้อพิเศษ นอกจากนี้กลุ่ม Gen Y ยังเป็นเจนที่ยอมจ่ายมื้ออาหาร Chef’s Table ที่ระดับราคาสูงถึง 6,000 บาท ถ้าร้านนั้นมีรสชาติที่ดี พี่ Gen Y ยินดีเปย์

เมนูอาหารสุดฮิตที่คนนิยมรับประทาน คือ อาหารญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 55.8% ซึ่งที่จักกันดีคือ โอมากาเสะ นุ่นเปิดดูรีวิวบ่อยมาก ดาราเซเลปไปทานกันได้คอนเทนต์ที่ปังมาก

รองลงมาคืออาหารตะวันตก อยู่ที่ 24.2%

อย่างไรก็ตาม ร้าน Chef’s Table มีมากขึ้น จึงทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ได้กินร้านเดิมซ้ำ ๆ มีการค้นหาร้านอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอเลย ถ้าอยากจะมัดใจให้เป็นลูกค้าประจำร้านจะต้องมีการเปลี่ยนเมนูค่ะ

กลยุทธ์ทางการตลาด อย่างกลยุทธ์พิชิตใจคนชอบเสี่ยง “4R”

มาดูกันค่ะ ว่ากลยุทธ์ที่แบรนด์เอาไปปรับใช้ได้เพื่อทำการตลาดกับคนชอบเสียงจะเป็นอย่างไร

R: RANDOM เสี่ยงลุ้น แบรนด์อาจจะต้องมีรางวัลที่น่าสนใจหรือรางวัลใหญ่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความสนใจ และรู้สึกตื่นเต้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างยอดขาย หรือเข้าร่วมแคมเปญนั้นๆ 

R: RELIABLE เสี่ยงเซอร์ไพร์ส แบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจ ในการทำการตลาดประเภทนี้ ว่า สิ่งของที่ผู้บริโภคได้รับมีคุณภาพ เหมาะสมกับราคา 

R: RICHNESS เสี่ยงลงทุน แบรนด์ต้องทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่งคั่งทางการเงิน โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน และมีการสื่อสารออกไปให้ผู้ลงทุนรับรู้ ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ 

R: RISK ความเสี่ยงของผู้ชอบเสี่ยง สมัยนี้อย่าโกหกจะดีที่สุดค่ะ เตือนแล้วน้า แบรนด์ต้องให้ข้อมูลความเสี่ยงที่จะเปิดเผยได้ว่า บางอย่างนั้นมีความเสี่ยงสูง หรือความเสี่ยงต่ำ

เพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นและจริงใจในการทำการการตลาดเพื่อกลุ่มคนชอบเสี่ยง โดยคาดหวังว่าผลการวิเคราะห์งานวิจัยและการเสนอกลยุทธ์การตลาดดังกล่าวนี้จะสามารถสร้างโอกาสให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างสำเร็จ

บางข้อนักการตลาดน่าจะคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่บางข้ออาจจะยังไปไม่สุด เพราะฉะนั้นลองทบทวนโมเดลข้างต้นแล้วพยายามปรับใช้กับแบรนด์กันดูนะคะ

สรุปปรับกลยุทธ์อิง Insight Gen Y และ เพศชาย ที่เป็น Risk Lover! – ชิงโชค ลงทุน ลุ้นสุ่ม

ทั้งหมดข้างต้นนุ่นได้แชร์ข้อมูลไปดังนี้ค่ะ 

3 อันดับที่คนไทยชอบเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ 1. เสี่ยงที่จะลุ้น เช่น ลุ้นหวย ลุ้นรางวัลใหญ่จากการชิงโชค 2. เสี่ยงที่จะลงทุน เช่น หุ้น ทองคำ กองทุน คริปโต 3. เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ เช่น กล่องสุ่ม ร้านอาหารแนว Chef’s Table โดยแต่ละหมวดก็มี Insight แตกต่างกันไป นุ่นพยายามนำมาแชร์ให้ได้ครบหลาย ๆ มุมที่สำคัญ 

รายงานวิจัยครั้งนี้ถือได้ว่าสามารถช่วยให้แบรนด์จับกลุ่มคนชอบเสี่ยง อัปเดต Insight ได้ทันท้วงทีเลย โดยเฉพาะพาร์ทด้านการลงทุน ที่ไม่ห่างไกลจากเทรนด์ในอนาคตอันใกล้อย่าง NFT หรือสินทรัพย์ที่อาจมีบทบาทในโลก Metaverse 

หากนักการตตลาดต้องการหาข้อมูลฉบับเต็ม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) สามารถเข้าไปที่เพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol > https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL

และเพจเฟซบุ๊ก ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง : Marketing to Risk Lover > https://www.facebook.com/MarketingtoRiskLover/ 

อ่านบทความเกี่ยวกับ Data Insight ที่มีประโยชน์กับนักการตลาดและเจ้าของธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ > https://www.everydaymarketing.co/?s=Insight

Noon Inch

นุ่น Business Data Research Analyst Specialist | Martech 🙋🏻‍♀️💻ใช้ชีวิตอยู่กับ Social Listening Tools เกือบทุกวันมาร่วม 6 ปี 🙋🏻‍♀️📈ทำงานด้าน Social Data Research ให้กับหน่วยงานรัฐและแบรนด์เอกชน 6 ปี 🙋🏻‍♀️✈️ชอบทำงานและชอบใช้เงิน แล้วก็เป็น K-POP🇰🇷 & Salmon Lover 🍣

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน