Digital ID กุญแจสำคัญในการก้าวสู่โลกยุคใหม่

Digital ID กุญแจสำคัญในการก้าวสู่โลกยุคใหม่

ปัจจุบัน ภาคธุรกิจด้านการเงิน การให้บริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็กำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หลายหน่วยงานต่างผันตัวเองเข้าสู่ระบบและบริการดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้งานต้องการช่องทาง หรือบริการ ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันดำเนินไปได้อย่างสะดวก ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น 

โดยการผลักดันให้การทำธุรกรรมในยุคดิจิทัลนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกลไกหนึ่งที่สำคัญที่เสมือนเป็นประตูด่านแรกในการเข้าสู่โลกดิจิทัล คือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ ที่เราคุ้นหูกันในนาม Digital ID 

ทำไมต้อง Digital ID  

ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (Electronic Transactions Development Agency) หน่วยงานที่มุ่งผลักดันให้คนไทยเกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือ ด้วย Digital ID กล่าวว่า “เทคโนโลยีทางด้าน Digital ID หรือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลนั้น ได้กลายเป็นรากฐานสําคัญสําหรับทุกๆ ธุรกิจและองค์กรในยุคดิจิทัล ที่ปัจจุบันได้ผันตนเองมาให้บริการผ่านทางออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย Digital ID จะทำให้แต่ละบริการ มีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อให้ผู้ใช้บริการ สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านบริการต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย น่าเชื่อถือ รวดเร็ว สามารถทําได้ ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมาเจอหน้ากัน”

Digital ID ในประเทศไทย พร้อมใช้หรือยัง?

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลเอง ได้มีการผลักดันเรื่อง Digital ID เพื่อให้เกิดการใช้งานในวงกว้างมาหลายปีแล้ว โดยเริ่มให้เกิดการนำเทคโนโลยี Digital ID มาใช้ในภาคธุรกิจ อย่างภาคการเงิน เนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมที่ค่อนข้างสำคัญ ที่ต้องอาศัยกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัย ซึ่งจากการนำเทคโนโลยี Digital ID มาใช้งานไม่นาน ก็ประสบความสำเร็จ มีการนำ Digital ID มาใช้ในการให้บริการหลากหลายบริการด้านการเงินมากขึ้น

อย่างที่เราเห็นว่า วันนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปทำธุรกรรมการเงินที่ธนาคารอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้ผ่านทางออนไลน์ บนสมาร์ทโฟนของเรา โดยที่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่ทำธุรกรรมเป็นเรา ที่มีสิทธิในเงินนั้นจริงๆ  

นอกจากนี้ ยังมีการนำ Digital ID มาเชื่อมต่อกับ Digital Service ที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนคนไทย ได้ใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมมออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย

บทบาทหลักของ ETDA ในการส่งเสริม สนับสนุนการวางรากฐานและเสนอแนะมาตรฐานสำหรับ Digital ID

บทบาทหลักของ ETDA ในการส่งเสริม สนับสนุนการวางรากฐานและเสนอแนะมาตรฐานสำหรับ Digital ID ให้มีความน่าเชื่อถือนั้น ประกอบด้วยบทบาทหลักๆ คือ

เสนอแนะมาตรฐาน กฎหมาย Digital ID

ETDA ได้เดินหน้า จัดทำมาตรฐาน ยกร่างกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อเป็นแนวทางให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน ได้มีกรอบในการใช้งาน Digital ID เพื่อให้การพิสูจน์และการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของสากลและมีกฎหมายรองรับ 

เตรียมพร้อมดูแลระบบผู้ให้บริการ Digital ID 

นอกจากการร่วมกำหนด กฎหมาย มาตรฐานแล้ว ในอนาคตอันใกล้ เมื่อ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. … มีผลบังคับใช้ ETDA จะมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยดูแลผู้ให้บริการ Digital ID เพื่อช่วยลดความเสี่ยง สร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นทั้งในมุมของผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน โดยคำนึงถึงมาตรฐานและความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปสู่การออกใบอนุญาตรับรอง การันตีความพร้อมของการให้บริการแก่ ผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

เร่งสร้างความเข้าใจ ผ่านแคมเปญ MEiD (มีไอดี)

การที่คนไทยจะเกิดการใช้งาน Digital ID ได้ในวงกว้างมากขึ้นนั้น นอกจากประเด็นเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้งานได้แล้ว ความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์จากการใช้งาน Digital ID ก็เป็นอีกตัวเร่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทย ทั้งฝั่งผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน เกิดการใช้งาน Digital ID ได้อย่างเข้าใจ ETDA จึงเดินหน้าสร้างการรับรู้ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้เดินหน้าสานต่อ แคมเปญ MEiD (มีไอดี) บริการไทย…ไร้รอยต่อ  ระยะที่ 2 เพื่อเป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับ Digital ID ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก MEiD มีไอดี เพื่อให้คนไทยได้คุ้นเคยและทำความรู้จักกับบริการที่มีการเชื่อมต่อ Digital ID ที่พร้อมเปิดให้ใช้งานจริงในปัจจุบัน ผ่านกิจกรรมการสื่อสารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ผ่าน Facebook Page: MEiD มีไอดี กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง 

ล่าสุด ETDA ได้จัดงาน The Secret of e-Health : ปลดล็อกการแพทย์ไทย ด้วยดิจิทัลไอดี ในวันที่ 2 กันยายน 65 ที่ผ่านมา สามารถติดตามดูย้อนหลังได้ที่  Facebook LIVE : MEiD มีไอดี https://www.facebook.com/meid.thailand 

บริการกลุ่มไหนบ้าง ที่เชื่อมต่อ DIgital ID 

1. บริการด้านการเงิน

สำหรับบริการด้านการเงิน ในกลุ่ม สถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ตลาดทุน หรือธุรกิจประกันภัย ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มมีการเชื่อมต่อและนำ Digital ID มาใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อให้มั่นใจว่า คนที่ทำธุรกรรมด้านการเงิน โอน ถอน จ่าย เป็นเจ้าของเงินหรือมีสิทธิในเงินนั้นจริงๆ ผ่านบริการที่หลากหลาย ที่เราคุ้นกัน เช่น  promptpay หรือการสแกน QR code เพื่อชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านบัญชีที่มีการที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลด้วยโทรศัพท์มือถือแล้ว โดยที่ไม่ต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนซ้ำๆ ที่ธนาคารอีก   

2. บริการด้านสาธารณสุข

บริการด้านสาธารณสุขไทยก็ไม่แพ้กัน ปัจจุบันนำ Digital ID มาผนวกกับการให้บริการในรูปแบบ e-Health ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้บ้างแล้ว ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ผ่านแอปฯ หมอพร้อม และ แอปฯ ทางรัฐ ที่เราคุ้นเคย ทำให้ปัจจุบันเราสามารถใช้บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น การจองคิวเพื่อรับวัคซีนโควิด ปรึกษาแพทย์ผ่านระบบ Chatbot  ตรวจวินิจฉัยโรค ขอใบรับรองแพทย์ ฯลฯ ด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่าน Digital ID ซึ่งทำให้การใช้บริการมีความเชื่อมั่น ปลอดภัยมากขึ้น

3. บริการต่างๆ ของภาครัฐ

ปัจจุบัน เราจะเห็นว่า บริการภาครัฐที่มีการเชื่อมต่อ Digital ID ได้ทำให้คนไทย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง ซึ่ง Digital ID ของภาครัฐที่เปิดให้ใช้บริการแล้ว เช่น แอปฯ D.DOPA ของกรมการปกครอง ที่ทำให้บัตรประชาชนของเราไปอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถยืนยันตัวตน เข้ารับบริการต่างๆ จากภาครัฐที่เชื่อมต่อระบบกับ D.DOPA ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องไปยืนยันตัวตนซ้ำๆ ที่จุดให้บริการ โดยบริการที่มีการเชื่อมต่อกับ แอปฯ D.DOPA ที่สามารถใช้ได้ปัจจุบัน เช่น  ย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์ ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงเด็กแรกเกิด ตรวจเช็คสิทธิรักษาพยาบาล เป็นต้น 

ถ้าประชาชนต้องการมี Digital ID ทำอย่างไร

ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลอยู่หลายแห่ง สำหรับคนไทยที่อยากมี Digital ID สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับ Digital ID ได้ที่สถาบันการเงิน อย่างเช่น ธนาคารซึ่งมีหลากหลายสาขา ผ่านบริการของ NDID  หรือ สามารถติดต่อ ลงทะเบียนขอรับ Digital ID ได้ที่จุดบริการของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านบริการ Mobile ID  หรือที่ สำนักงานเขตตามพื้นที่ต่างๆ หลายแห่งในประเทศที่พร้อมให้บริการ ผ่านบริการ D.DOPA ซึ่งแต่ละบริการจะมีการเชื่อมต่อบริการจากผู้ให้บริการย่อยๆ หลากหลายประเภท จากหลากหลายหน่วยงาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่มี  Digital ID ได้เข้าถึงและใช้งานได้อย่าง สะดวกรวดเร็ว ยิ่งขึ้น (สามารถเข้าเช็คบริการได้ผ่าน แอปฯ ของ D.DOPA)

จะเห็นได้ว่าบริการที่พร้อมแล้วกับการเชื่อมต่อ Digital ID มีทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของประชาชน เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญของ ETDA ตอนนี้คือ จะต้องขยายเครือข่ายให้มีผู้ให้บริการที่เชื่อมต่อระบบกับผู้ให้บริการ Digital ID เพิ่มมากขึ้น เพื่อครอบคลุมความต้องการในการใช้งานที่สำคัญของประชาชน 

ในมุมของ ETDA มองว่า Digital ID ช่วยยกระดับการให้บริการ และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

การมี Digital ID ไม่เพียงทำให้เราสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ Digital ID ยังถือเป็นบริการพื้นฐาน ที่เปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญ ที่ไขไปสู่ประตูแห่งโลกดิจิทัล ที่ทำให้ทุกการทำธุรกรรมออนไลน์ รู้ว่าเป็นใคร กำลังติดต่ออยู่กับใคร และคนที่กำลังทำธุรกรรมเป็นคนนั้นจริงๆ เพราะเมื่อเกิดเหตุต่างๆ จะช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ เพราะมีขั้นตอนของการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือและมีระดับความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ทำให้การติดต่อซื้อขาย หรือแม้แต่การทำธุรกิจ การรับส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์สำคัญๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถทำได้ทางออนไลน์อย่างปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของสากล 

เมื่อคนไทยเกิดการใช้งาน digital ID มากขึ้น ภายใต้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำธุรกรรมอย่างมีคุณภาพ แน่นอนว่า ในอนาคตอันใกล้ ผลจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยส่งผลต่อมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP ได้มากขึ้น โดยในแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นแผนระดับชาติ ในระยะปี 66-70 ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นเป็น 30% ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี Digital Contribution ต่อ GDP ที่ 12.97% (ข้อมูลล่าสุดในปี 64 จาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช.) ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ช่วยในการคาดการณ์ได้ว่า Digital ID ก็จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ได้

มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนในการเชื่อมโยงการใช้ Digital ID กับต่างประเทศ 

ปัจจุบันเรามีตัวอย่างของการใช้ Digital ID ที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อมต่อกับต่างประเทศแล้วนั่นก็คือ 

“วัคซีนพาสปอร์ต” ที่ QR Code ได้มาตรฐานของ EU และสามารถใช้งานได้ทั่วโลก 

ในอนาคตถ้าจะขยายวงให้กว้างขึ้นคงต้องใช้เวลาเพราะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ระยะเวลาในการกำหนดมาตรฐานร่วมกันอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควรในการหาข้อสรุป

ในยุคที่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล สำหรับ  Digital ID แล้ว เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของโลกอนาคตที่จะทำให้เกิดระบบและบริการใหม่ๆ ตามมาอย่างแน่นอน 

จะดีกว่าไหม หากเราเตรียมพร้อม ทำความเข้าใจกันตั้งแต่วันนี้ เพราะในอนาคตอันใกล้เราทุกคนต้องได้มีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน การปรับตัวจะช่วยให้เราเปลี่ยนแบบมีสติ และรู้เท่าทันได้ดีกว่าการอยู่เฉยๆ แล้วรอให้เทคโนโลยีมาเปลี่ยนเรา เรียกว่า พร้อมก่อน ก็มีสิทธิ์ก่อน 

สําหรับผู้ประกอบการ หรือประชาชนที่สนใจ อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงบริการดีๆ ที่เชื่อมต่อ Digital ID ติดตามได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก MEiD 

ช่องทางการติดตามข่าวสารของแคมเปญ MEiD 

ติดต่อสื่อสารเรื่อง Digital ID ให้เข้าใจมากขึ้น MEiD (มี-ไอดี)

Facebook page: https://facebook.com/meid.thailand

📲 Line @meid_thailand หรือคลิก https://lin.ee/OgxNTzX

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ CALLCENTER: 02-123-1234

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *