4 ข้อแนะนำจาก Google เพื่อการชอปปิงออนไลน์อย่างปลอดภัย

4 ข้อแนะนำจาก Google เพื่อการชอปปิงออนไลน์อย่างปลอดภัย

อย่างที่เรารู้กันดีว่าในปัจจุบันผู้คนหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้น รวมถึงมีเทศกาลแห่งการชอปปิงด้วยการแจกโปรโมชันต่างๆ ตลอดทั้งปี ทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนนักชอปออนไลน์จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว แต่เมื่อการชอปทำได้ง่ายขึ้น ก็อาจทำให้นักชอปทั้งมือเก๋าและมือสมัครเล่นพลาดท่าโดนหลอกได้เช่นกัน 

ดังนั้นก่อนจะถึงช่วงเวลาแห่งการชอปปิงที่จะถึงนี้ Google เขาก็เลยจะมาแบ่งปันเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณชอปออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จะมีข้อแนะนำอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

1 ปกป้องบัญชีสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ของคุณ 

คนส่วนใหญ่มักจะสร้างบัญชีหลายบัญชีเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อซื้อสินค้า และบัญชีเหล่านี้มักจะมีข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น ข้อมูลผู้ติดต่อ และข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น

ดังนั้น ต้องแน่ใจว่ารหัสผ่านที่ตั้งไว้นั้นคาดเดาได้ยากและเป็นเอกลักษณ์ โดยมีความยาวอย่างน้อย 8 ตัวอักษร และควรใช้รหัสผ่านที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละบัญชี เพราะหากบัญชีใดบัญชีหนึ่งถูกแฮ็ค บัญชีที่เหลือก็ยังคงปลอดภัยและสามารถใช้งานได้อยู่

หากคุณออกจากระบบบัญชี และต้องการเข้าถึงบัญชีอีกครั้งอย่างรวดเร็ว การใส่ข้อมูลสำหรับการกู้คืน เช่น เบอร์โทรศัพท์ หรือ อีเมล ก็จะช่วยในการใช้งานได้เป็นอย่างดี

2 ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัย

เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซต่างๆ อาจเชิญชวนให้คุณดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของพวกเขาเพื่อประสบการณ์การชอปปิงที่ดียิ่งขึ้น แต่ควรระวังแอปพลิเคชันชอปปิงปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของคุณด้วย

เพื่อเป็นการป้องกัน คุณต้องแน่ใจว่าคุณได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น Google Play Store ซึ่งจะทำการตรวจสอบแอปพลิเคชันว่าปลอดมัลแวร์หรือไม่ ทั้งก่อนและหลังจากการติดตั้ง

 3 ระวังภัยฟิชชิง(Phishing) บนโลกออนไลน์

การถูกหลอกลวงด้วยการฟิชชิง (Phishing) เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลลวงลักษณะนี้มักสังเกตได้ยาก แม้จะเป็นผู้ที่ใช้งานเว็บไซต์จนคล่องแล้วก็ตาม ดังนั้น การเรียนรู้วิธีจับพิรุธอีเมลและเว็บไซต์ที่น่าสงสัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้คุณเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น รหัสผ่าน เป็นต้น

เพื่อป้องกันการโจมตีแบบฟิชชิง ให้ทำตามคำแนะนำนี้  

  • อย่าคลิกลิงก์ที่น่าสงสัย
  • ตรวจ URL ซ้ำอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเบราว์เซอร์แสดงเครื่องหมายกุญแจล็อก เพื่อเป็นการยืนยันว่าคุณกำลังใส่ข้อมูลลงบนเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ 
  • ก่อนส่งข้อมูลใดๆ ก็ตาม ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า URL ของเว็บไซต์นั้นขึ้นต้นด้วย “https” (ไม่ใช่ “http”) ซึ่งหมายความว่าเว็บไซต์นั้นปลอดภัย 

ควรใช้เว็บเบราว์เซอร์ที่มีขั้นตอนรักษาความปลอดภัยในตัว เพื่อป้องกันผู้ใช้งานจากเว็บฟิชชิง ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเข้าเว็บที่มีมัลแวร์หรือเว็บที่พยายามจะหลอกลวงคุณ Chrome จะทำการเตือนคุณ และพาคุณกลับสู่หน้าเว็บที่ปลอดภัย หรือในกรณีที่คุณใส่รหัสผ่านในเว็บไซต์ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นฟิชชิง Chrome จะแสดงการแจ้งเตือน และเพิ่มการป้องกันเพื่อให้บัญชีคุณปลอดภัย 

ถ้าใครยังไม่มั่นใจ ลองมาทำแบบทดสอบนี้เพื่อวัดทักษะการตรวจจับฟิชชิงของคุณกันค่ะ!

4 ระวังข้อเสนอที่ดูดีเกินความเป็นจริง

ตลาดออนไลน์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่คุณสามารถค้นพบส่วนลด หรือข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามคุณจุต้องคิดให้รอบคอบเกี่ยวกับข้อเสนอที่คุณเห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นจริง

เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลโกงร้านค้าออนไลน์ แนะนำให้ทำตามเคล็ดลับง่ายๆ เหล่านี้

  • ตรวจสอบคะแนนและประวัติของผู้ขายอยู่เสมอ และซื้อสินค้าจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
  • ใช้แพลตฟอร์มช้อปปิ้งที่มีการจ่ายเงินให้กับผู้ขายหลังจากที่คุณได้รับสินค้าเรียบร้อยแล้ว
  • เนื่องจากมีผู้ขายสินค้าออนไลน์หลายล้านราย คุณสามารถดูเว็บไซต์ที่มีความปลอดภัยผ่านทางแท็บ Google Shopping เพื่อเลือกดูผู้ขายที่ได้คะแนนรีวิวถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ เพื่อที่คุณจะสามารถวางใจได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหหรือจะเป็นมือโปรในการชอปปิงออนไลน์ อย่าลืมเอา 4 ข้อแนะนำนี้ไปใช้นะคะ แบมเชื่อว่าถ้าเราเรียนรู้ที่จะฉลาดชอป ฉลาดเลือกแบบรอบคอบ หาข้อมูลอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนซื้อ ก็จะยิ่งทำให้คุณชอปได้สนุกขึ้น ได้ของดี และลดปัญหาเรื่องการถูกหลอกลงได้อย่างแน่นอนค่ะ

Read more: อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดในแง่มุมอื่นๆ จากการตลาดวันละตอนได้ ที่นี่ในบทความหน้าแบมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะคะ

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *