Brand Experience เมื่องานออกแบบที่เลวร้ายแต่กลับส่งผลดี

Brand Experience เมื่องานออกแบบที่เลวร้ายแต่กลับส่งผลดี

งานออกแบบที่ไม่เป็นมิตร แต่สร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เรามาดู Brand Experience ผ่านงานออกแบบแสบๆคันๆกัน

งานออกแบบ คนส่วนใหญ่แล้ว จุดประสงค์ก็เพื่อ ออกแบบให้ใช้แล้วเกิดความสะดวกสบาย เพื่อตอบ Insight และมีเรื่องของความสวยงามเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อตอบทั้งเหตุผลและอารมณ์ แต่ตัวอย่างงานออกแบบต่อไปนี้จะทำให้คุณมองตรงข้ามไปเลย เพราะจะมีแต่งานออกแบบเพื่อให้เกิดความ “ไม่สะดวกสบาย” กีดกัน นางร้าย

Brand Experience Displacement Design

ที่เมือง กลาสโกว์ มีการจัดการกับปัญหายาเสพติดได้อย่างน่าสนใจ เขาออกแบบด้วยการใช้แสงสีน้ำเงินในห้องน้ำสาธารณะ เพราะแสงสีนี้จะทำให้ผู้เสพยาหาเส้นเลือดได้ลำบากขึ้น และในโตเกียวก็ใช้แสงสีเดียวกันนี้ในสถานีรถไฟ ทำให้ตัวเลขของการฆ่าตัวตายลดลง เพราะ สีน้ำเงินทำให้อารมณ์สงบ

นอกจากนี้เมื่อหลายปีก่อน มีงานวิจัยพบว่าแสงสีชมพูทำให้เราเห็นสภาพผิวหน้า และสิวมากกว่าแสงปกติ  ทางนักวิจัยจึงติดแสงสีชมพู บริเวณที่วัยรุ่นชอบไปเที่ยว ซึ่งทำให้ตัวเลขของนักเที่ยวที่เป็นสาวๆลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเห็นหน้าตัวเองที่น่าเกลียด สิวเห่อ จึงงดออกมาเที่ยวซักระยะ เห็นมั้ยครับว่า ถึงจะเป็นงานเพื่อส่งเสริมสังคม แต่ก็ออกแบบมาเพื่อกีดกันใช่มั้ยครับ

งานออกแบบเหล่านี้ เรียกว่า Displacement Design หรือ Hostile design ตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่กีดกันแต่ก็ยังดูเป็นคนดีที่ห่วงใย แต่ตัวอย่างต่อไปนี้ จะทำให้คุณเห็นได้ชัดเจนว่าจงใจกีดกัน เช่น เก้าอี้ยาวๆตามสถานที่สาธารณะ (Bench) ที่มีที่พักแขนกั้นกลางนั่นล่ะครับ
บางคนอาจจะคิดว่า อ้าว ก็เขาออกแบบมาเพื่อให้วางแขนได้ไง ก็สบายดีนี่ แต่จริงๆแล้ว
การมีที่พักแขน ก็เพื่อกันไม่ให้มีคนไปนอนครับ

Brand Experience Displacement Design

งาน Hostile design เป็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมว่า ปิดกั้น ริดรอนสิทธิเสรีภาพมนุษย์เกินไปหรือเปล่า ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวของผมคือต้องดูกันเป็นรายกรณีไป อย่าง ห้องน้ำสาธารณะของเมืองกลาสโกว์เป็นตัวอย่างครับ หรือเราคงไม่ไปต่อต้านเจ้าของบ้าน ที่ทำกำแพงให้เอียงองศาพอดีเพื่อสะท้อนฉี่ เวลาคนเมามาฉี่ใส่กำแพงบ้านเขาใช่มั้ยครับ

งานออกแบบที่กีดกัน มีทั้งโฉ่งฉ่าง และแยบยล ซึ่งกรณีเช่น กรวยกั้นถนน หรือ ไม้กั้น เราคงไม่ไปพูดถึง แต่งานออกแบบที่แยบยลนี่ล่ะ ที่ช่วยเรื่องยอดขายได้ และลูกค้าจะไม่รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี 

Brand Experience Displacement Design
ตัวอย่างงานออกแบบเพื่อไม่ให้เล่นสเก็ตบอร์ดบนราวเหล็ก

เก้าอี้ในร้าน มีผลต่อยอดขาย ลองสังเกตุดูครับว่า เก้าอี้ในร้านอาหารบางประเภทจะไม่ได้เน้นให้นั่งสบาย ทั้งๆที่ดีไซน์ก็สวยดี แบรนด์ก็ดัง (บางที่นั่งแล้วเหมือนดูดวิญญาณไปเลย) เพราะโจทย์ของเขาคือต้องการ traffic เข้าออกในร้านตลอดเวลา

การมีคนนั่งอยู่แน่นร้านนานๆ ไม่ใช่เรื่องดี แต่จะไม่ให้ลูกค้านั่งเลยก็จะใจร้ายไป ดังนั้นการนั่งทานอาหารที่ราคาย่อมเยาให้สบายๆพอหมดแล้วลุกออกไป เพื่อต้อนรับลูกค้ารายใหม่ น่าเป็นโจทย์ที่ดีกว่า และต่างกับร้านอาหารที่ต้องการนั่งชิลๆ นานๆ เพื่อจิบไวน์ราคาแพง ซึ่งโจทย์ และกลุ่มเป้าหมายต่างกัน

ร้านที่พื้นค่อนข้างเสียหายง่าย เช่นลามิเนต เสี่ยงต่อการเป็นรอยจากรองเท้าส้นสูง คงจะไม่ดีแน่ถ้าร้านที่ตกแต่งอย่างสวยงามจะต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งของกำไรมาซ่อมแซมพื้นบ่อยๆ นักออกแบบบางคนใช้วิธี เปลี่ยนพื้นให้มีช่องว่าง เพื่อให้คนหลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง หรือ ถ้าใส่มาแล้วก็จะเดินอย่างระมัดระวังมากขึ้น แถมได้พื้นแปลกๆสวยๆอีกด้วย 

Brand Experience เป็นสิ่งที่ต้อง Balance ให้ดี มันคือความท้าทายมาก ระหว่าง ประสบการณ์ที่ดี กับ การสร้างยอดขาย การที่มุ่งหวังยอดขายเกินไปจนลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกสบายก็จะส่งผลกับยอดขายในอนาคต

แต่ถ้าเรามอบประสบการณ์ที่ดีสุดๆ ถึงลูกค้าจะอยู่กับเรา แต่ก็อยู่แบบไม่ได้สร้างยอดขาย ก็มีผลกับธุรกิจเช่นเดียวกัน  งานออกแบบที่สวยงาม ไม่โฉ่งฉ่างเกินไปกลับได้ความรู้สึก win win กันทั้งสองฝ่าย ตรงกันข้าม หากเราใส่ใจกับงานออกแบบน้อยไป ทำให้คนรู้สึกว่าเราจงใจกีดกัน ก็ทำให้มีผลกับแบรนด์ได้เช่นกัน

หน้าร้าน คือจุดสำคัญที่เจ้าของธุรกิจเข้าใจดี การที่มีอะไรมาบัง ทำให้โอกาสถูกบังเหมือนกัน ยิ่งผู้คนที่ไม่ได้รับเชิญ มานั่งสูบบุหรี่ ยืนเล่นโทรศัพท์ การติดป้าย ห้ามนั่ง อาจทำร้ายงานออกแบบหน้าร้านสวยๆได้ด้วย(ลาย)มือเราเอง วิธีแก้ไขง่ายๆ เช่น หากมีผนังที่สูงพอดีนั่ง เราไม่ต้องทำให้สูงจนนั่งไม่ได้ เพราะก็จะเป็นการบังร้านไปอีก ลองปรับให้ต่ำจนนั่งลำบาก เป็นรั้วเหล็กเส้นเล็กๆ หรือหากเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น

การวางหินแม่น้ำก้อนใหญ่ที่มีลักษณะมนเกลี้ยง ทำให้ยืนลำบาก นั่งก็ไม่ได้ แถมได้อารมณ์แบบ Zen มาด้วย แต่ ทั้งหมดนี้ ต้องทำในเขตร้านตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ฟุตบาธที่เป็นทางสาธารณะนะครับ หากสุดท้ายแล้วในระดับสายตา เราไม่สามารถควบคุมได้ เรามีวิธีเรียกลูกค้าอีกเยอะครับ

สุดท้ายนี้ หวังว่า ป้ายห้ามที่พิมพ์ง่ายๆ ติดด้วยเชือกฟาง/สก็อตเทป จะไม่ใช่ทางเลือกที่จะนำมาใช้ เพราะมันคือการบังคับ ขับไล่ ที่กระทบภาพลักษณ์พอสมควร เว้นแต่คุณจะมีสำนวนในการเขียนป้าย แบบดุเด็ด เผ็ดมัน แต่สร้างความประทับใจได้ก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าลืมว่า ต้องสัมพันธ์กับแบรนด์ที่วางไว้ และอย่าลืมว่า อยากให้เขาจำว่าอะไร ก็ทำแบบนั้นเรื่อยๆครับ 🙂

อ่านบทความที่เกี่ยวกับ Brand Experience ต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/brand-experience/

Brand Experience Displacement Design

Source: https://99percentinvisible.org/episode/unpleasant-design-hostile-urban-architecture/

BX24

BX24 เกิดจากการรวมตัวกันของนักออกแบบหลายแขนง ทั้ง Interior Designer, Architect, Product Designer, Graphic Designer, Creative ที่เชื่อว่า นอกจากโฆษณาแล้ว งานออกแบบ สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับ Brand ได้ (Brand Experience) ถ้าออกแบบให้ถูกที่ ถูกเวลา ด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ทั้งสายงานออกแบบของแต่ละคน การเป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย จึงชวนกัน ผลัดกันแชร์เรื่องราวดีดี เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน