ความสุข vs เงิน ที่เป็นแรงกระตุ้นในการทำงานชั้นดี ‘100 Humans’ – EP.6

ความสุข vs เงิน ที่เป็นแรงกระตุ้นในการทำงานชั้นดี ‘100 Humans’ – EP.6

บทความซีรี่ส์รายการ ‘100 Humans’ จาก Netflix ก็ได้เดินทางมาถึง EP.6 กันแล้วนะคะ ถ้าหากใครยังไม่ได้อ่าน ‘100 Humans’ EP.1 – EP.5 บอกเลยว่าอาจจะพลาดอะไรดี ๆ ไปก็ได้ เพราะรายการนี้ช่างคิดแบบทดสอบที่วัด Insight ของเหล่าผู้ทดสอบทั้ง 100 คนได้สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ใช้ต่อสุด ๆ เป็นรายการที่ควรค่าแก่การดูเพลิน ๆ ในช่วงเวลาพักผ่อนมากค่ะ 

และใน EP.6 นี้มีชื่อว่า How to Be Happy ซึ่งจะเกี่ยวกับความสุขมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทำยังไงถึงจะมีความสุข และจุดสำคัญที่นุ่นนำมาเป็นไฮไลท์ในวันนี้คือ การมาหาคำตอบว่าความสุขเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของผู้คนจริงหรือไม่ถ้าเทียบกับแรงกระตุ้นอื่น ๆ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยว่าผู้ทำสอบ 100 คนจะเจอกับมิชชั่นอะไรบ้างเพื่อหาผลลัพธ์ว่าอะไรทำให้คนเรามีความสุข รวมถึงสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เรามีความสุขค่ะ 

ในช่วงต้นผู้ดำเนินรายการได้พูดคุยกันว่าความสุขนั้นทำงานอย่างไรกับตัวเรา รวมทั้งพูดคุยถึงความเชื่อที่ว่าถ้าคนเรายิ่งมีความสุข จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เกิดความ Productive สูงขึ้นตามสภาพจิตใจจริง ๆ ใช่ไหม หรือที่เราทำงานทุกวันนี้ก็เพื่อเงินเท่านั้น ก่อนเริ่มวิเคราะห์กันนุ่นอยากให้นักการตลาดลองเดาดูเล่น ๆ สักหน่อยว่าผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร โดยให้ถามตัวเองดูว่าเงินหรือความสุขที่เป็นแรงกระตุ้นในการทำงานตอนนี้ ถ้าได้คำตอบแล้วมาดูกันว่าจะตรงกับผลทดสอบของรายการไหม

ความสุขหรือเงิน ที่สร้าง Productive ได้ดีกว่ากัน

ผู้ทดสอบถูกแบ่งออกเป็น 2 รอบในการทดสอบสร้างหอคอยให้สูงที่สุด 

  • รอบที่ 1 Reward Group : ทุกกลุ่มจะต้องแข่งขันกันโดยมีรางวัลเป็นเงิน 400$
  • รอบที่ 2 Fun Group : ทุกกลุ่มจะต้องแข่งขันกันโดยพิธีกรกล่าวว่าทุกคนมา ‘สนุก’ ด้วยกันเถอะ

เพื่อเปรียบเทียบว่าแรงกระตุ้นแบบไหนที่ทำให้คนเรามีความมุ่งมั่นอยากทำงานให้สำเร็จระหว่างความสุขกับเงิน

ระหว่างการแข่งขัน Reward Group ให้กำลังใจกันในแบบที่กดดันเล็กน้อยเช่น ‘เร็วเข้า’ ‘อย่าให้มันพังนะ’ ‘เพื่อเงิน 400$ เลยนะ’ มีหลาย ๆ คนขมวดคิ้วตลอดว่าเพราะอยากจะทำให้สำเร็จไร้ความผิดพลาด เป็นความ Productive ที่แฝงมาด้วยความเครียดเล็กน้อยสำหรับหลายคน ยังไงแล้วทุกคนดูมีสมาธิมาก ๆ ที่จะช่วยให้ทีมชนะ

ในขณะที่ Fun Group มีเสียงหัวเราะระหว่างการทดสอบตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่หอคอยล้มลงก็ขำกันแบบไม่มีใครขมวดคิ้ว ทุกคนพูดในสิ่งที่คิดออกมาให้บรรยากาศที่ครึกครื้นมากทีเดียวค่ะ

ผลออกมาว่าการทำงานเป็นทีม Reward Group มีหอคอยสูงสุดที่ 21 นิ้ว ในขณะที่ Fun Group ได้สูงกว่าที่ 25.25 นิ้ว โดยภาพรวมแล้วความสนุกจะส่งผลดีต่องานกว่าเห็น ๆ เลยค่ะ

ผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่าผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับงานหรือแบบทดสอบคืออะไรเป็นปัจจัยหลักนะคะ การที่มีรางวัลเป็นเงินซึ่งคือเป้าหมายทำให้แรงกระตุ้นที่มีลักษณะเฉพาะมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ทดสอบจะโฟกัสอยู่แค่ไม่กี่อย่าง คือการมีสมาธิ หรือคร่ำเคร่งมากเกินไป ซึ่งสภาวะแบบนี้อาจจะเหมือนกับงานบางประเภทก็จริง แต่ไม่เหมาะกับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ค่ะ เงินรางวัลจะไปบล็อกความคิดที่จะเสี่ยงทำหลาย ๆ รูปแบบ หรือท้าทายตัวเองในแบบอื่น ๆ อีกมากมาย เลยทำให้ทีมสนุกชนะไปในแบบทดสอบนี้ เพราะไม่ต้องโฟกัสกับบางสิ่งที่ทำให้คร่ำเคร่งนั่นเอง

กลับกันถ้าแบบทดสอบเป็นลักษณะการโฟกัสอยู่กับหนึ่งสิ่งเน้น ๆ เช่นงานใช้กำลัง หรือเก็บของลงถุงให้มากที่สุด ทีมที่มีแรงกระตุ้นเป็นเงินชนะขาดลอยได้อย่างแน่นอน เพราะไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความเสี่ยงรูปแบบอื่น 

นุ่นเลยขอสรุปประเด็นเกี่ยวกับความสุขหรือเงินที่เป็นแรงกระตุ้นในการทำงานไว้ว่า เงินสามารถกระตุ้นให้ทำงานบางประเภทเท่านั้นมีประสิทธิภาพ อย่างงานที่ต้องใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออาจจะไปลดประสิทธิภาพลงโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ แต่กับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ควรให้คนในองค์มีความสุขในทุกแง่เท่าที่ทำได้ เพราะเงินไม่สามารถทำให้พวกเขาเสี่ยงทำอะไรมากเกินไป จนทำให้อยู่ในกรอบเดิมแล้วตามคู่แข่งไม่ทันสักที

ความสุขคือสุขภาพจิต

ถ้าเปรียบกับการทำงานด้านการตลาด ทุกคนคิดว่าความสุขหรือเงินที่เป็นแรงกระตุ้นในการทำงานคะ?  ความเห็นส่วนตัวของนุ่นคือ ความสุขบางส่วนเกิดจากสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อนร่วมงาน และเนื้องานที่ต้องทำ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่เครียดจนเกินไป เพราะนุ่นเชื่อว่า ‘ความสุขคือสุขภาพจิต’ ถ้าสุขภาพจิตดี การทำงานเขียนบทความ คิดคอนเทนต์ ใช้ Social Listening วิเคราะห์กี่หมื่น Insight ก็ไม่เกินความพยายาม เพราะไม่มีใครคอยจับผิดและต่อว่าให้เสียหน้า มีแต่คนที่คอยให้คำแนะนำ อยากให้เราเก่งขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่าถ้าติก็ติเพื่อก่อล้วน ๆ ว่ากันไปตามงาน ไม่ Toxic ใส่กันดีกว่าเป็นไหน ๆ 

สำหรับตัวนุ่นและเชื่อว่าหลาย ๆ คนถ้าให้ไปอยู่ในงานที่เงินเดือนดีก็จริง แต่หัวหน้าจิกเรื่องไม่เป็นเรื่องทุกวัน ใช้คำพูดไม่ถนอมน้ำใจคนในทีม สะกิดก็แล้วพูดก็แล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นี่อาจทำให้คนดี ๆ ในองค์กรค่อย ๆ หายไปทีละคนเพราะทนไม่ไหว เพราะเงินซื้อสุขภาพจิตระยะยาวไม่ได้ค่ะ น้อยคนมากที่จะยอมให้เงินเป็นกำลังใจต่อสู้กับความ Toxic ของเพื่อนร่วมงานที่ส่งมาทุกวันเช้าเย็น

ยิ่งการทำงานด้านการตลาดทุกวันนี้ต้องหูตาไว ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปทุกวินาที อย่าอุทิศสุขภาพจิตให้กับเงินเดือนที่ต้องสุดท้ายต้องเอากลับมาใช้บำบัดสุขภาพจิตอยู่ดี สายงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ ไม่ว่าจะในองค์หรือเอเจนซี่ ถ้าเจอลูกค้าที่ Toxic เกินงาน กดเหมือนกับเราเป็นลูกน้องเขาอีกคน นุ่นขอแนะนำให้เลือกเซฟจิตตัวเองดีกว่าค่ะถ้ามีทางเลือกอื่น ในยุคนี้เลือกงานที่ทำให้เราไม่อดตายกับการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพก็พอ เพราะแค่ข่าวสารรอบตัวบนหน้าไทม์ไลน์ก็หดหู่มากพออยู่แล้ว อะไรที่เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็หาทำไว้นะคะ 

และนี้คือแบบทดสอบที่นุ่น pick up มาแชร์กับนักการตลาดในวันนี้ค่ะ และคิดว่านุ่นขอสปอย 100 Human EP.6 ไว้เพียงแค่นี้ดีกว่า แต่ในรายการยังมีแบบทดสอบเกี่ยวกับความสุขในรูปแบบอื่นที่น่าสนใจให้ได้ชมอีกนะคะ ถ้านักการตลาดเข้าไปรับชมแล้วอย่าลืมมาคอมเมนต์พูดคุยเพื่อแชร์กับได้นะคะ จะรออ่านน้า ^^

Noon Inch

นุ่น Business Data Research Analyst Specialist | Martech 🙋🏻‍♀️💻ใช้ชีวิตอยู่กับ Social Listening Tools เกือบทุกวันมาร่วม 6 ปี 🙋🏻‍♀️📈ทำงานด้าน Social Data Research ให้กับหน่วยงานรัฐและแบรนด์เอกชน 6 ปี 🙋🏻‍♀️✈️ชอบทำงานและชอบใช้เงิน แล้วก็เป็น K-POP🇰🇷 & Salmon Lover 🍣

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน