วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านเหรียญเข้าถือหุ้นใหญ่

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านเหรียญเข้าถือหุ้นใหญ่

วิเคราะห์แนวโน้มความน่าจะเป็นของ Twitter หลัง Elon Musk ทุ่มเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์ซื้อหุ้น ทิศทางของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร จะมี Business Model ใหม่หรือไม่ และจะมี Feature อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง หาคำตอบได้จากบทความวิเคราะห์วันนี้ครับ

เชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนคงได้ยินข่าวนี้กันถ้วนหน้า Elon Musk ประกาศขอเข้าซื้อหุ้น Twitter ด้วยจำนวนเงินกว่า 44,000 ล้านดอลลาร์ จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ต่อให้ไม่ได้เล่น Twitter ก็ย่อมต้องได้ยินข่าวนี้ไม่มากก็น้อยแน่

จากเหตุการณ์นี้มีบางคนตั้งคำถามว่า มันเป็นราคาที่ดูสูงเวอร์เกินไปหรือเปล่า แต่บอกได้เลยว่า Elon Musk นั้นไม่ใช่คนโง่ เพราะถ้าอย่างนั้นเขาคงไม่กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก เพราะทุกครั้งที่ตัดสินใจล้วนเป็นก้าวต่อไปที่ดีเสมอ

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิศทางธุรกิจ แนวโน้มของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร

Elon Musk คนนี้สมัครใช้งาน Twitter ตั้งแต่ปี 2009 และจนถึงวันนี้เขาก็มีผู้ติดตามมากกว่า 92.1 ล้านคน เขาเคยบอกว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนี้มีศักยภาพมหาศาล ดังนั้นการที่เขายอมจ่ายในราคา 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับหุ้นส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นราคาที่เขาคิดว่าเหมาะสมในใจแล้ว และตัวเขาเองก็ต้องเชื่อว่าจะสามารถทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อีกมากมายแน่

ตัว Elon Musk เองเคยทั้งชื่นชมและตำหนิต่อว่า Twitter อยู่เป็นประจำ ชอบแสดงความเห็นทางการเมืองโจมตีฝั่งตรงข้ามกับที่ตัวเองเชื่อ และตอนนี้เขาก็กำลังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงถึงการกลั่นกรองเนื้อหา ประกาศว่า Twitter ต้องเป็น Free Speech สุดๆ ใครอยากแสดงความเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะนี่คือความจำเป็นในสังคม

เขาให้เหตุผลเรื่อง Twitter ควรเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่ Free Speech ที่สุดก็เพราะว่าถ้าเรารักบางอย่างมากพอ เราควรปล่อยให้มันเป็นอิสระ แม้เราจะมีแนวคิดอุดมคติทางการเมืองในแบบของเรา

แต่เขาก็ต้องอย่าลืมว่า ใช่ว่าทุกคนจะชอบหรือเหมาะกับ Free Speech เสมอไป และในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่ต้องการ Free Speech ด้วยซ้ำ เพราะนั่นหมายความว่าเราจะพูดอะไร อย่างไร ถึงใครก็ได้ จะสาดเสียเทเสียใส่คนที่เราไม่ชอบได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ในวันที่หลายๆ โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มพยายามทำให้พื้นที่ของตัวเองน่าอยู่ ลดการ Bully หรือ Hate Speech ลง เรียกได้ว่าทาง Elon Musk นั้นอยากปล่อยให้ Twitter เป็นอิสระเสรีแบบสุดๆ ไปเลย เพราะเชื่อว่านั่นจะดีต่อทุกคนจริงๆ แต่มันจะดีกับทุกคนจริงๆ หรือ?

ไม่ใช่ทุกคนจะต้องการ Free Speech สิ่งที่ Elon Musk เห็นว่า “ดี”

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิศทางธุรกิจ แนวโน้มของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร

เพราะอย่าลืมว่าเหรียญมีสองด้าน ข้อดีของ Free Speech คือการมีอิสระในการพูด ในการโพสอย่างเต็มที่ แต่ในอีกด้านก็คือคำพูดที่แย่ๆ ไม่ดี หรือที่เรียกกันว่า Toxic ก็อาจจะถาโถมทะลักโลกออนไลน์มากขึ้นได้

ไม่ใช่ทุกคนจะชอบอะไรแบบนั้น บางคนต้องการเข้ามาเพื่อหาอะไรสนุกๆ ผ่อนคลาย ไม่ได้อยากจะมารับฟังข้อความที่แสดงถึงความเกลียดชังอย่าง Hate Speech มากมาย เพราะไม่ต้องมีการคัดกรองหรือตรวจสอบเนื้อหาแต่อย่างไร

แล้วยิ่งเราถูก Algorithm เลือกเฉพาะคอนเทนต์ที่เราควรจะเห็นเข้ามาเพิ่ม บางครั้งไม่ใช่เรื่องที่เราชอบ แต่ดันเป็นเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นพูดถึงบนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่

อาจยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟสุมเข้าไปให้สถานการณ์แย่ลง เราต้องยอมรับอย่างนึงนะครับว่า Algorithm พวกนี้นั้นทรงพลังมากกว่าที่คิด เราเห็นโพสหรือคอนเทนต์แบบไหนเยอะๆ เราก็ยิ่งจะมีโอกาสเป็นไปตามนั้น เหมือนที่ทาง Facebook เคยทำการทดลองกับผู้ใช้งานที่เรียกว่า Social Experiment ว่าในวันเลือกตั้งของอเมริกา คนที่เห็นโพสว่าเพื่อนตัวเองออกไปใช้สิทธิ์แล้ว จะกระตุ้นให้เกิดการออกไปใช้สิทธิ์แล้วกลับมาโพสตามเพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มที่เห็นแค่การโพสกระตุ้นเชิญชวนให้ออกไปใช้สิทธิ์ทั่วไปครับ

A 61-million-person experiment in social influence and political  mobilization

ซึ่งที่ผ่านมา Twitter เองก็มีข้อจำกัดของสิ่งที่ไม่ควรโพสหรือพูดบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนี้ ใครที่ละเมิดกฏข้อห้ามมากเกินไปก็อาจจะถูกแบนบัญชีได้ในท้ายที่สุด

Elon Musk จึงมองว่าเสรีภาพในการพูดซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าเราจำกัดการพูดเราก็จะไม่สามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่ และนั่นก็อาจจะเป็นการทลายกำแพงของ Echo Chambers หรือ Filter Bubble ในท้ายที่สุด ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นมุมมองความเห็นที่หลากหลาย มากกว่าแค่สิ่งที่เราชอบจนทำให้เราเห็นซ้ำ และก็พาลทำให้เราคิดว่าโลกทั้งใบก็คงกำลังคิดและรู้สึกแบบนี้แหละ

หรือเอาจริงๆ ควรเริ่มจากการปรับ Algorithm การแนะนำคอนเทนต์ใหม่ดีนะครับ ไม่ใช่แค่เลือกในสิ่งที่เราชอบมาให้ แต่ควรทำให้เราเห็นด้านตรงข้ามเพื่อให้เราชั่งใจได้ดีขึ้นกันแน่

หรือบางทีอาจเป็นเพราะแค่ Elon Musk เองเคยถูกศาลสั่งปรับเป็นเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์จากทวีตเดียวของเขา และก็จากข้อหาหมิ่นประมาทมากมายที่ตัวเขาเคยโดนจากการไปคอมเมนต์คนอื่น

แน่นอนว่าการทำให้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนี้หรือแพลตฟอร์มใดก็ตามเป็นพื้นที่เปิดกว้าง และมีเสรีภาพในการพูดอย่างเต็มที่ นั่นหมายความว่ามันคือการรื้อทิ้งวิธีคิดและวิธีการของ Algorithm ทั้งหมด

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิศทางธุรกิจ แนวโน้มของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร
Photo: https://reder.red/filter-bubble-08-01-2022/

ทุกวันนี้เราอยู่ในโลก Echo Chamber โลกที่เต็มไปด้วยเสียงของสิ่งที่เห็นด้วยกับเรา เพราะ Algorithm จะพยายามคัดเลือกเนื้อหาหน้าฟีดให้เราเห็นจากพฤติกรรมของเราที่ใช้งาน ไม่ว่าจะเราชอบหยุดดูคอนเทนต์แบบไหน เราชอบติดตามใคร คนที่เราชอบนั้นชอบคอนเทนต์แบบไหน ทั้งหมดนี้คือการที่โซเชียลมีเดียทำเพราะอยากให้เราใช้เวลากับมันมากที่สุด

และเมื่อเราใช้เวลากับมันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็หมายความว่า จำนวนโฆษณาต่างๆ ก็จะถูกป้อนให้เราเห็นได้มากขึ้น และนั่นก็คือรายได้หลักของ Twitter กับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ในวันนี้ครับ

บางคนเคยทดลองพยายามก้าวออกจาก Echo Chamber ด้วยตัวเองพบว่ามันน่าตกใจมาก เพราะเมื่อข้ามเท้าออกไปดูความเห็นอีกฝั่งที่ตัวเองเชื่อ พบว่ามันช่างเป็นคนละโลกกันเสียจริง

จนทำให้หลายคนต้องกระโดดกลับมาที่เดิม เพราะรู้สึกปลอดภัยกว่าจากความคุ้นเคย มันจึงเป็นเรื่องยากมากถ้าจะออกจากถ้ำตัวเองเป็นครั้งแรก ทางที่ดีคือการค่อยๆ ขยายพาผู้คนออกมายังปากทางเข้าถ้ำทีละน้อย จนพบว่าโลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยความเห็นที่แตกต่างมากมายเหลือเกิน

ดังนั้น Free Speech ที่ควรเป็นคงไม่ใช่การเปิดเสรีให้ใครพูดอะไรก็ได้เสียอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการเปิดกว้างของ Algorithm ที่คัดหน้าฟีดให้เราเห็นเสียมากกว่า โดยเฉพาะให้เราได้เห็นว่ากลุ่มคนที่คิดตรงข้ามกับเราเขาคิดและพูดคุยกันอย่างไร แล้วที่เหลือคือเราต้องตัดสินใจเอาเองว่าเราจะยังสนับสนุนมุมมองใดมากกว่ากัน

เพราะ Free Speech หรือเสรีในการพูดในบริบทการแสดงความเห็นทางการเมืองดูจะเป็นเรื่องที่ดี ดีต่อแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น แต่คงเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อยสำหรับกลุ่มคนอีกมากที่ต้องการเล่นโซเชียลมีเดียแค่ระหว่างช่วงพักเบรกกินข้าวกลางวัน หรือระหว่างเดินทางกลับบ้าน

จากเดิมชีวิตก็เครียดอยู่แล้ว กลายเป็นว่ายิ่งหดหู่เข้าไปใหญ่

บริบททางการเมืองที่หลากหลายกว่าแค่ในอเมริกา

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิศทางธุรกิจ แนวโน้มของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร
Photo: https://depauliaonline.com/24974/nation/facebook-reinforces-political-polarization/

Elon Musk เองก็อาจจะลืมคิดไปว่า Twitter ไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มของคนอเมริกาเท่านั้น เพราะจากผู้ใช้งานกว่า 320 ล้านคนที่กระจายออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกหละ พวกเขาอาจจะไม่ได้มีบริบททางการเมืองที่แบ่งออกเป็นสองขั้วชัดเจนแบบ Democrats กับ Repubricans ของอเมริกาเสมอไป

ลำพังบ้านเราก็มีพรรคน้อยใหญ่มากมายที่แย่งชิงอำนาจกัน ดังนั้นการจะปรับธุรกิจ Twitter ใหม่ให้สอดคล้องทิศทางที่ Elon Musk เชื่อว่าดีในอเมริกา ก็ดูไม่ได้จะดีกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้งาน Twitter เหมือนกัน

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิศทางธุรกิจ แนวโน้มของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร
Photo: https://workpointtoday.com/politics-election-2/

ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีวิธีการคิดและปกครองประชาชนไม่เหมือนกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเน้นการควบคุมมากกว่าเปิดกว้าง หรือเปิดเสรีในแบบที่อเมริกาเป็น อย่างบ้านเราเองก็มี พรบ. คอมพิวเตอร์ ป้องกันการนำเข้าข้อมูลเท็จ (ซึ่งบางครั้งก็ไม่เท็จ แค่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ) และก็พยายามป้องกันการนำเข้าข้อความที่ก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชัง แต่ก็ไม่แน่ว่าการเคลื่อนไหวของ Twitter ครั้งนี้อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศต่างๆ ตามมาก็เป็นได้ครับ

Feature ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นบน Twitter เมื่อ Elon Musk เข้ามา

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิศทางธุรกิจ แนวโน้มของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร

นอกจากในแง่มุมด้าน Free Speech เขาก็ยังมีมุมมองด้านธุรกิจที่จะทำให้ Twitter ดีขึ้นและทำเงินได้มากขึ้นไม่น้อยเช่นกัน

เพราะก่อนหน้านี้ Twitter ดูจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก มีการสร้างสิ่งใหม่ๆ น้อยที่สุด แต่การที่มี Elon Musk เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Twitter ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายชั่วข้ามคืนก็เป็นได้

เพราะเขาก็มองว่า Twitter นั้นดีแต่ปรับตัวช้าไป ยิ่งเทียบกับหลายๆ แพลตฟอร์มแล้วที่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งมีผู้คนหลายร้อยล้านคนบนโลกใช้งาน เรายิ่งต้องพัฒนาให้ทันใจพวกเขามากขึ้น

เทรนด์การมาของเรื่อง Privacy การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลที่แพลตฟอร์มอื่นอย่าง Facebook หรือ Meta ทำได้ดีมาก แต่กับ Twitter ยังคงปล่อยอย่างค่อนข้างอิสระ เขาต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ จะดูแลผู้ใช้งานกว่า 340 ล้านคนให้ปลอดภัยได้อย่างไร

Elon Musk เองก็มีเสนอไอเดียว่า Twitter ควรโพสได้ยาวกว่านี้หรือเปล่า และก็แนะนำว่าควรมีปุ่มให้ Edit แก้ไขข้อความหลังจากโพสไปแล้วด้วยไหม บวกกับการเริ่มมองหาช่องทางเก็บค่าจากฝั่งภาคธุรกิจได้แล้ว

แต่อย่างไรก็ตามก็อย่าลืมว่าการเอาฟีเจอร์จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่คนนิยมใช้งานกันมากใส่ใน Twitter อาจทำให้แพลตฟอร์มนี้ไม่มีเอกลักษณ์เหมือนเดิมที่คนใช้ชอบก็เป็นได้

แต่อีกแง่มมุหนึ่งก็คืออาจจะได้ผู้ใช้ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ผู้ใช้เก่าๆ ที่ออกไปเพราะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

หรือจริงๆ เสน่ห์ของ Twitter คือการที่มันยังคงเป็นอะไรแบบนี้ที่เหมือนวันแรกเกิดมากๆ กันแน่นะ?

สรุปก้าวต่อไปของ Twitter เมื่อ Elon Musk ถือหุ้นใหญ่

วิเคราะห์ทิศทาง Twitter หลัง Elon Musk ทุ่ม 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิศทางธุรกิจ แนวโน้มของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไร

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่การคาดเดาถึงสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ก็ยังคงมีอะไรอีกมากมายที่น่าจะเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่คาดคิดเช่นกัน ใครจะไปรู้ว่า Elon Musk จะใช้ศักยภาพความสามารถที่ตัวเองมีกับ Twitter โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เขาชื่นชอบนี้มากน้อยขนาดไหน

จำนวนเงินกว่า 44,000 ล้านดอลลาร์ก็ถือว่ามหาศาลที่จะเป็นสัญญาณบอกให้คู่แข่งไม่ว่าจะ Facebook ของ Meta หรือ Google รับรู้ว่าต่อไปนี้จะละสายตาจาก Twitter ไม่ได้แล้ว

Elon Musk เองก็มีแผนว่าจะเชื่อมโยงมนุษย์กับคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีเข้าด้วยกันแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ด้วยการลงทุนในบริษัทที่ชื่อว่า Neuralink ที่กำลังหาทางเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง เรียกได้ว่าคงปฏิวัติชีวิตมนุษยชาติไปตลอดกาลยิ่งกว่าอุปกรณ์ใด

ไม่มีใครรู้ว่าแผนการที่แท้จริงของ Elon Musk ในการทุ่มลงทุนกว่า 44,000 ล้านเหรียญกับ Twitter ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร แล้วผลจะออกมาแบบไหน แต่ที่แน่ๆ บอกได้ชัดเจนว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธุรกิจโซเชียลมีเดีย สิ่งที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคนอย่างแยกไม่ออกแล้วจริงๆ ยิ่งในโลก Metaverse ครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวกับ Twitter ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/twitter/

Source: https://wearesocial.com/uk/blog/2022/05/elons-twitter-long-game/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *