บทวิเคราะห์ Libra เงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก จากมุมมองของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย

บทวิเคราะห์ Libra เงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก จากมุมมองของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ดร. สันติธาร เสถียรไทย คิดอย่างไรกับ Libra สกุลเงินดิจิทัลที่กำลังเป็นข่าวเขย่าโลกในตอนนี้ ข้อความจากนี้ไปเป็นข้อความที่โพสที่แฟนเพจของ สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai และผมขออนุญาต ดร.สันติธาร เสถียรไทย เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อในทีนี้เรียบร้อยครับ เพราะในฐานะที่ ดร. สันติธาร เสถียรไทย ผู้แต่งหนังสือ Fururation เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต ผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจและที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลก กับมุมมองที่น่าสนใจจนผมต้องขออนุญาตคัดลอกเพื่อนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆกันอ่านครับ

Libra Facebook ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ปฏิวัติการเงิน2.0? Libra ของเฟสบุ๊คมีความสำคัญอย่างไรต่อแบงค์ชาติและระบบการเงินทั่วโลก

*บทความนี้ยาวหน่อยและอาจมีการปรับและพัฒนาอีกเมื่อข้อมูลความเข้าใจเกี่ยวกับLibra เพิ่มขึ้น
**หากยังไม่คุ้นกับLibra หรือโลกคริปโตขอแนะนำให้อ่านบทความที่อ้างอิงด้านล่างก่อน

Libra เป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาท้าทายระบบการเงินปัจจุบัน ที่มีแบงค์ชาติเป็น”หัวใจ”และธนาคารพาณิชย์เป็น “อวัยวะ”หลัก

-จริงๆมองด้านหนึ่งLibra มีเจตนารมณ์ที่ดูคล้ายกับบิทคอยน์บางประการจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น“ทายาททางอุดมการณ์”ของบิทคอยน์ หากบิทคอยน์เป็นความพยายามในการปฏิวัติระบบการเงินเวอร์ชั่น1.0 อันนี้ก็อาจจะเป็นเวอร์ชั่น2.0

หนึ่ง ทั้งLibraและบิทคอยน์มีแนวคิดที่ว่า“ธนาคารกลาง”อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ตรง”กลาง”ของระบบและมีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในเรื่องนโยบายการเงินเสมอไป ในกรณีของระบบการเงินLibra มีการตั้ง Libra Association มาเป็นองค์กรที่จะมาบริหารระบบโดยใน28 สมาชิกผู้ก่อตั้งนั้นไม่มีภาครัฐและไม่มีธนาคารร่วมด้วยเลย แต่มีเจ้าใหญ่ด้านฟินเทคกับการชำระเงินที่คุ้นชื่อกันดีอยู่เต็มไปหมด

สอง คริปโตทั้งสองระบบมีแนวคิดแบบกระจายอำนาจการตัดสินใจ(decentralisation) แทนที่จะพึ่งองค์กรเดียวเป็นหลัก ในจุดนี้ Libra ต่างจากบิทคอยน์ตรงที่ไม่ได้เปิดให้ “ใครก็ได้”มีสิทธิ์ “โหวต” มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนโยบายและการบริหาร แต่เฉพาะองค์กรที่เป็นสมาชิกของ Libra Association เท่านั้น (ค่าเข้า 10ล้านเหรียญและเฟสบุ๊คก็มีหนึ่งเสียงเท่าคนอื่น)ถึงจะถือว่ามีสิทธิ์เสียง พูดได้ว่ายังเป็นระบบprivate ไม่ใช่เปิดpublicแบบบิทคอยน์ แต่มีการพูดว่าต่อไปจะขยายสมาชิกจาก28 เป็น100 และในอนาคตต้องการจะเปิดกว้างให้คนอื่นมาร่วมได้ 

สาม ต้องการจะสร้างระบบชำระเงินโลกใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและถูกลงสำหรับผู้ใช้ โดยเจตนารมณ์ของLibraในด้านนี้ชัดเจนกว่าของบิทคอยน์ โดยเฟสบุ๊คกล่าวอย่างชัดเจนว่าต้องการช่วยคนที่เข้าไม่ถึงบริการการเงิน และ ลด painpoint เรื่องการโอนเงินข้ามประเทศ (remittance) ที่เป็นประเด็นใหญ่มากสำหรับเศรษฐกิจกำลังพัฒนา

แต่ในขณะเดียวกันLibra ก็มีความแตกต่างและได้เรียนรู้จากปัญหาที่บิทคอยน์เคยเผชิญ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Libra เลือกที่จะเป็น “เงินดิจิทัล” (digital money) ไม่ใช่”สินทรัพย์ดิจิทัล” (digital asset) อย่างชัดเจน แม้ว่าบิทคอยน์อาจไม่ได้ตั้งใจจะเป็นสินทรัพย์แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าดีไซน์และคุณลักษณะของมันเช่น เช่นการถูกสร้างขึ้นมาแบบมีจำนวนจำกัด (Limited supply) และการที่ราคาขึ้นอยู่กับdemand-supply ทำให้บิทคอยน์ (และคริปโตจำนวนมาก) กลายเป็น สินทรัพย์ที่คนซื้อเพราะหวังได้ผลตอบแทนและเก็งกำไรมากกว่าใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขาย (medium of exchange) แบบ “เงินตรา” และจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาผันผวนมาก 

ในทางกลับกัน Libra ถูกออกแบบให้ค่าเงินมีเสถียรภาพตั้งแต่ต้นในรูปแบบStable coin ไม่ใช่ว่ายิ่งคนอยากถือราคายิ่งสูงขึ้นแบบบิทคอยน์ โดยจะมีระบบคล้ายๆกับค่าเงิน fixed exchange rate ที่ผูกกับค่าเงินสกถลหลักเพียงแต่ไม่ได้จะfix อยู่กับค่าเงินประเทศเดียวเช่น ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (แบบฮ่องกง) แต่จะเทียบกับ”ตะกร้า”ที่มีค่าเงินหลายสกุลเช่น ดอลลาร์ ยูโร เยน ปอนด์ โดยทางเจ้าตัวยังไม่ได้บอกว่ามีสกุลใดบ้างและสัดส่วนในตะกร้าเป็นเท่าไร (คล้ายระบบสิงคโปร์)

แม้ระบบจะยังไม่ชัดเจนมากนัก วิธีการคร่าวๆคือ เมื่อเราเอาเงิน(สมมติว่าบาท)ไปแลกLibra มาเก็บไว้ เงินบาทเราจะถูกทางผู้บริหารLibraนำไปซื้อสินทรัพย์ที่ความน่าเชื่อถือและสภาพคล่องสูง (investment grade) เช่นพันธบัตรออกโดยรัฐบาลประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำค่าเงินผันผวนน้อยเช่นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นLibra จึงต่างจากบิทคอยน์ตรงที่มีสินทรัพย์”ในโลกความเป็นจริง”backอยู่เสมอ เหรียญ/token ที่เราถือจึงเป็นเสมือน”หน่วยลงทุน”ในกองทุนที่Libra Association บริหาร เพียงแต่ต่างจากหน่วยลงทุนทั่วไปตรงที่เราสามารถนำมาใช้ซื้อขายสินค้าบริการต่างๆได้โดยตรง

แล้วสมาชิกLibra Association รวมทั้งเฟสบุ๊คได้อะไร?

เมื่อผู้บริหารLibraเอาเงินของเราไปลงในพันธบัตรรัฐบาลย่อมได้ผลตอบแทนเช่น ดอกเบี้ยที่ตราสารเหล่านี้จ่าย แทนที่จะจ่ายผลตอบแทนมาให้กับเราที่ถือLibra เงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้บริหารระบบและจ่ายปันผลให้แก่สมาชิกLibra Association แม้อัตราดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรรัฐบาลเหล่านี้จะไม่สูงแต่หากคนทั่วไปยิ่งใช้Libraมากขึ้น ฐานเงินก็จะใหญ่ขึ้นส่งผลให้สมาชิกสมาพันธ์Libra ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น

Libra Association จึงเหมือนเป็น ธนาคารระดับโลก ที่ดูแลเงินสกุลโลก (global currency)ที่ชื่อ Libra นอกจากนี้ทางผู้บริหารยังได้เห็นข้อมูลการซื้อขายทั้งหมดที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อ การลงทุน การซื้อประกัน โดยอาจจะคล้ายกับโมเดลการต่อยอดธุรกิจpayment แบบที่เทคโนโลยีเจ้าใหญ่ในจีนทำมาแล้ว

ประเด็นท้าทาย+คำถามสำหรับแบงค์ชาติและผู้วางนโยบายในประเทศต่างๆ

เงินอีกสกุลที่ทุกคนถือและใช้ได้? หาก Libra ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ อาจจะมีผลต่อระบบการเงินมากกว่าคริปโตตัวอื่นๆที่ผ่านมา เพราะหากLibra กลายเป็น ”เงิน” (money) จริงๆที่ไม่มี”ชาติ”และไม่ขึ้นกับแบงค์ชาติใดๆ อาจแปลว่าจะมีเงินสกุลใหม่ที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศไม่มีข้อมูลไม่สามารถควบคุมกำกับได้ คล้ายกับในบางประเทศที่มี “Dollarization” เกิดขึ้น (คือคนใช้เงินอีกสกุล เช่นดอลลาร์ควบคู่กับเงินสกุลตนเอง) บวกกับการที่เฟสบุ๊คมีผู้ใช้ถึงกว่า2พันล้านคนรวมถึงคนจำนวนมากที่ไม่มีบัญชีธนาคารและอยู่ในประเทศที่ค่าเงินผันผวน

การคุมการไหลเวียนของเงินทุนออกเข้า-ออกประเทศได้ยากขึ้นหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่สำคัญมากข้อหนึ่งเพราะเป็นประเด็นเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน (financial stability) นึกภาพเราอยู่ในประเทศที่ค่าเงินกำลังอ่อนลงและเงินเฟ้อสูงขึ้น (ไม่ต้องขนาดเวเนซุเอลาก็ได้เอาแค่แบบที่เศรษฐกิจเกิดใหม่มักประสบ) เราอาจไม่อยากถือเงินประเทศตัวเองและแลกเป็นเงินสกุล Libra แทน เพราะเป็นเสมือนหน่วยลงทุนที่ไปลงในเงินสกุลใหญ่ๆอย่างดอลลาร์หรือยูโร อยู่แล้ว แถมยังใช้ซื้อของใช้จ่ายได้อีก หากทุกคนทำเช่นนี้จะไม่เท่ากับเกิดเงินทุนไหลเวียนออก(Capital flight at home) ทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นยิ่งตกหนักหรือ? 

อิสระในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยลดลงไหม? อีกคำถามที่ยังไม่ชัดเจนคือ เมื่อคนที่ถือเงินLibra ไว้จะได้ดอกเบี้ยผลตอบแทนอะไรบ้างไหม ณ วันนี้ดูเหมือนจะไม่เพราะดอกเบี้ยที่ได้จากการที่ผู้บริหาร เอาไปลงมุนในตราสารต่างๆจะถูกนำไปใช้พัฒนาระบบและจ่ายปันผลให้สมาชิกLibra Association แต่ยังไม่ชัดว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลง เช่น มีการเจียดบางส่วนให้กับคนถือเหรียญให้คล้ายๆเหมือนเราฝากเงินในธนาคารหรือไม่ หากมีตรงนี้ด้วยอาจเท่ากับว่าแบงค์ชาติในแต่ละประเทศกำลัง”นำเข้า”นโยบายการเงินจากประเทศอื่นและมีอำนาจในการคุมเงินตนเองน้อยลง ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวและแบงค์ชาติของประเทศนั้นอยากลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ หากดอกเบี้ยในประเทศลดลงต่ำกว่าที่คนจะได้จากการถือLibra (ที่อิงกับดอกเบี้ยสกุลเงินหลักเช่น ดอลลาร์) ย่อมทำให้เงินไหลออกประสบปัญหาเช่นเดียวกับตัวอย่างข้างบน 

การกำกับเรื่อง การฟอกเงิน ทำ KYC ทำอย่างไร? เท่าที่เข้าใจการยืนยันตัวตนและควบคุมการฟอกเงินจะเกิดในระดับของตัว e-wallet ที่ใช้เก็บเงิน Libra (เช่นในกรณีของเฟสบุ๊คจะชื่อ Calibra) หรือพูดอีกอย่างคือ การเอาเงินเข้าออกจากe-wallet อาจถูกควบคุมดูแลโดยผู้กำกับดูแลการเงินที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ e-walletจึงเป็นเสมือน “ประตู” เข้าออกจากโลกเงินธรรมดาสู่โลกLibra ที่น่าจะถูกรัฐบาลกำกับอย่างใกล้ชิด

หากLibra กลายเป็น”เงินสกุลโลก”จริงและLibra Association กลายเป็นเสมือน”ธนาคารกลางโลก” ที่ดูแลเงินตัวนี้จริง สมาพันธ์นี้จะกลายเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญอย่างมาก ทำให้อาจเกิดคำถาม เช่นถือว่า เป็นสถาบันที่ systematically important สำหรับระบบการเงินโลกหรือไม่? ควรอยู่ภายใต้กฎกติกาดูแลอะไรบ้างหรือไม่?

ทั้งหมดนี้เป็นแค่บางส่วนของประเด็นทางนโยบายที่ทุกภาคส่วนในระบบการเงินปัจจุบันคงต้องช่วยกันทำความเข้าใจและหาคำตอบ

ด้วยความที่ Libra อาจเป็นก้าวที่สำคัญสู่การปฏิรูปการเงินโลก หนทางข้างหน้าของเงินสกุลนี้คงไม่ง่ายแน่นอนเพราะเชื่อว่าทางฝั่งนโยบายและผู้เล่นปัจจุบันน่าจะมีปฏิกิริยาที่รุนแรงไม่น้อยอย่างที่พอเห็นบ้างแล้ว อาจต้องมีการวิวัฒนาการไปอีกกว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมใช้ได้จริง

แต่ไม่ว่าโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่แค่ไหนมันได้สะท้อนให้เห็นว่ากระแสการปฏิรูประบบการเงินที่มีธนาคารกลางเป็นหัวใจและธนาคารพาณิชย์เป็นอวัยวะหลักนั้นยังคงมีมาต่อเนื่องหลังจากบิทคอยน์ถือกำเนิดขึ้น_และอาจจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นดังเขียนไว้ในหนังสือ Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต พวกเราคงได้เจอกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

***โดยส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแต่คิดว่าเป็นโครงการสำคัญที่น่าศึกษาและช่วยกันทำความเข้าใจและคิดต่อ

Libra Facebook ดร.สันติธาร เสถียรไทย

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า ตั้งแต่เห็นกระแสข่าวเงิน Libra ครั้งแรก ผมก็มีความคิดว่าอยากจะขอสัมภาษณ์ ดร.สันติธาร เสถียรไทย แต่ด้วยความที่ผมช้าไปไม่ทันการ ทาง ดร.สันติธาร เลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเรียบร้อย ผมเลยขออนุญาตทางผู้เขียนเพื่อนำมาคัดลอกและถ่ายทอดให้เพื่อนๆได้อ่านกัน จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้าการเงินและธุรกิจตัวจริงในระดับนานาชาติ เพื่อที่คุณจะได้เห็นภาพมุมกว้างมากขึ้นครับ

สำหรับคนที่สนใจอยากรู้จัก ดร.สันติธาร เสถียรไทย เพิ่มเติม ผมมีสรุปหนังสือ Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต มาให้คนที่สนใจครับ https://www.summaread.net/digital/futuration/

Libra Facebook

ลิงก์ต้นฉบับบทความเรื่อง “เงินลิบร้าของเฟสบุ๊ค = การปฏิวัติการเงิน 2.0?” https://www.facebook.com/Drsantitarn/posts/492642318171339

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่