Web3 กับ Marketing จะส่งผลต่อการตลาดและ Branding ด้วย DAO

Web3 กับ Marketing จะส่งผลต่อการตลาดและ Branding ด้วย DAO

Web3 กับ Marketing จะเกี่ยวกันมากขนาดไหน และจะส่งผลต่อการทำ Branding ไปได้ในรูปแบบใดบ้าง บทความวันนี้จะพาเพื่อนๆ นักการตลาดมาหาดูความเป็นไปได้ของการตลาดยุตใหม่ ยุค Decentralized Disruption เมื่อการตัดสินใจแบบ DAO Decentralized Autonomous Organizations กำลังก้าวเข้ามาสู่หลายๆ ด้าน

เรื่องนี้อาจส่งผลต่อการสร้างแบรนด์และ Community ในอนาคตไม่มากก็น้อย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนเทคโนโลยีการกระจายศูนย์อย่าง Blockchain ลองมาดูโอกาสและความเป็นไปได้กันดีกว่าครับว่า Marketing ในยุค Web3 จะเป็นอย่างไรครับ

Web3 หรือ Web 3.0 คำนี้เริ่มได้ยินหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ลองมาดูกันดีกว่าว่านอกจากจะเป็น Buzz word แล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่นักการตลาดยุคดาต้าควรรู้ไว้แต่เนิ่นๆ เหมือนกับสมัยเว็บ Web2 ก่อนเข้ามาใหม่ๆ หลายคนยังจินตนาการไม่ออกว่าโลกที่ขาด facebook หรือ social media ไม่ได้จะเป็นอย่างไรครับ

Web3 คืออินเทอร์เน็ตยุคถัดไป ยุคที่เริ่มต้นขึ้นบ้างแล้ววันนี้ ยุคที่สร้างขึ้นบนเทคโนโลยี Blockchain แบบ Decentralized หรือกระจายศูนย์ออกไป และหัวใจสำคัญของ Web3 คือการที่ผู้ใช้กลายเป็นเจ้าของร่วมด้วยได้ ไม่ใช่แค่ User แต่เป็น Owner

เป็นยุค Trustless ยุคที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจหรือไว้ใจจากตัวกลาง เพราะเป็นยุคแห่งความ Transparent ทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้หมด ดังนั้นความไว้ใจแบบ Web2 จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป

DAO Decentralized Autonomous Organizations อีกหนึ่งหัวใจหลักของการตลาดยุค Web3

DAO หรือ Decentralized Autonomous Organizations องค์กรอิสระที่กระจายอำนาจการตัดสินใจแบบไร้ศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่พร้อมแล้วก่อน Web3

เพราะการทำงานแบบ DAO คือหัวใจสำคัญของ Web3 การตัดสินใจแบบไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ทุกคนมีส่วนร่วมกันโดยตรง มี Use Case Study ที่ใช้ DAO เพื่อตัดสินใจในการลงทุนทางการเงิน และเครือข่ายทางสังคมแบบ DAO ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา

DAO จะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจและสร้างแบรนด์ไปอีกมาก จากเดิม Consumer เคยเป็นแค่คนจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการอะไรสักอย่าง เขาจะสามารถก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของแบรนด์ได้จริงๆ และมีพลังในการผลักดันให้แบรนด์ทำในสิ่งที่ทุกคนที่ซื้อแบรนด์นี้เชื่อ

Consumer จะกลายเป็น Investor ได้ เราจะเห็นแบรนด์ในรูปแบบใหม่ ที่มี Customer Centric ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่นโยบายขายฝัน หรือทฤษฎีการตลาดอีกต่อไป

แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันไม่น้อยกว่า การกระจายอำนาจ และการเข้าถึง Web3 นั้นจะสามารถทำได้จริง ใช้งานได้จริงสำหรับทุกคนจริงๆ หรือ?

ก่อนจะไปรู้จัก Web3 มาทำความรู้จัก Web1 กับ Web2 กันก่อน

Web1 Read เข้าถึงข้อมูลได้ผ่านอินเทอร์เน็ต

Web1 เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกของมนุษยชาติ ลักษณะหลักๆ คือเว็บที่มีเนื้อหาแบบนิ่งๆ ตายตัว ใครๆ ก็เข้าไปอ่านได้ แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยน แก้ไข หรือเติมแต่งอะไรได้ ตอบโต้พูดคุยด้วยก็ไม่ได้ ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เช่น Sanook Kapook หรือ Mthai เว็บยอดนิยมคนไทย ที่คนนิยมเข้าไปอ่าน แต่ก็ไม่ได้แสดงความเห็นกันจริงจัง จนกระทั่งเราเริ่มเข้าสู่ยุค Web2 ครับ

สรุปในแง่เทคโนโลยี ดูเหมือนว่าระบบ Server ของ Web1 คือมีความตายตัวไม่ต้องขยายใดๆ เพิ่มบ่อยๆ เพราะข้อมูลถูกควบคุมโดยผู้สร้าง หรือเจ้าของฝ่ายเดียว

Web2 Read & Write สร้างข้อมูลแบบง่ายๆ ยุค Social Network ครองเมือง

Web2 คืออินเทอร์เน็ตที่เราใช้งานอยู่ปัจจุบัน หัวใจหลักของ Web2 คือการโต้ตอบระหว่างกันได้ทันที อย่างใน Facebook ถ้าคุณคอมเมนต์ผมเห็น แล้วผมก็สามารถคอมเมนต์ตอบกลับได้ โซเชียลมีเดียคือตัวอย่างของ Web2 ที่ดีที่สุด

แต่..สิ่งที่ Web2 ขาดไม่เหมือน Web3 คือเนื้อหาทั้งหมดที่โพสไปอยู่กับบริษัทผู้ให้บริการอย่างเด็ดขาด ข้อมูลของเราไม่ใช่ของเรา เกิดเขาจะแก้ไขปรับเปลี่ยนอะไรก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้

เกิดอยู่ดีๆ วันนึง Facebook แบนเราขึ้นมา เราก็จะไม่สามารถสืบสาวถามความได้ว่าตกลงเธอแบนฉันเพราะอะไร

ตัวอย่าง Web2 ของไทยก็ดูจะต้องยกให้ Pantip.com เว็บบอร์ดยอดนิยมของคนไทยที่อยู่ด้วยกันมาช้านาน เรียกว่าเป็นไทยโซเชียลมีเดียอันดับต้นๆ ของประเทศมาหลายสิบปีแล้ว

และในปี 2014 ก็เริ่มมีการพูดถึงคำว่า Web3 ขึ้นมาเป็นครั้งแรกครับ

ปล. ขอสรุปในแง่เทคโนโลยีนิดนึงครับ ดูเหมือนว่า Web2 จะเป็นยุคเริ่มต้นของ Dynamic Server ที่ต้องพร้อมขยายตัวตามปริมาณการใช้งาน โดยเฉพาะการสร้าง Data ของเหล่าผู้ใช้งานที่มีจำนวนมหาศาลตลอดเวลา

Web3 Read & Write & Own ไม่ใช่แค่ใช้ แต่ยังร่วมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบได้ด้วย

Metaverse virtual reality futuristic web3 internet avatar augmented reality technology 3d illustration

Gavin Wood หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum เขียนเรื่อง Web3 ไว้ในบล็อกเขาตอนปี 2014 หลังจากเกิดเหตุการณ์ Snowden ออกมาแฉรัฐบาลสหรัฐที่สอดแนมประชาชนจนกลายเป็นข่าวฉาวทำนองว่า อนาคตของอินเทอร์เน็ตที่จะกลายเป็น Web3 ต้องก้าวข้ามผ่านปัญหาของ Web2 ที่เราเห็นกันคือ Personal Data ของเราที่มอบให้กับบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เก็บรักษาดูแลนั้นไว้ใจไม่ได้อีกต่อไป

ไม่ว่าบริษัทนั้นจะสร้างภาพดูดีแค่ไหน ยิ่งใหญ่แค่ไหน น่าเชื่อถือเท่าไหร่ หรือแม้แต่ยิ่งเป็นรัฐบาลผู้กุมอำนาจเองก็ตาม กลับยิ่งไม่น่าไว้วางใจมากขึ้นเท่านั้น

เบื้องหน้าการใช้งานอินเทอร์เน็ต User Interface ทุกอย่างในยุค Web3 จะไม่ต่างจาก Web2 มากนัก แต่สิ่งที่ต่างออกไปอย่างสุดขั้วคือเบื้องหลัง ระบบพื้นฐานการทำงานของเว็บไซต์และอินเทอร์เน็ตต่างๆ จะไม่เหมือน Web2 ที่เคยรวมศูนย์โดยสิ้นเชิง

คำนิยามสั้นๆ ของ Web3 ที่ Gavin Wood เคยพูดไว้คือ Less Trust, more Truth ไม่ต้องไว้ใจกัน แค่ต้องพิสูจน์ความจริงได้ ไม่ต้องอาศัยความไว้ใจ แต่ใช้ความโปร่งใสแทน

หมายความว่าจากเดิมเวลาเราจะตัดสินใจเลือกอะไร เรามักเลือกจากความน่าเชื่อถือมาก่อน เช่น ถ้าจะฝากเงิน ก็ไม่ใช่ฝากกับใครก็ได้ แต่ต้องเป็นธนาคารที่ดูน่าเชื่อถือ หรือเอาธนาคารที่มันดูเก่าแก่ที่สุด เพราะถ้าไม่ดีจริง คงไม่อยู่มานาน (แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่แบบนั้น) หรือการส่งสินค้า ไม่ต้องฝากบริษัทจัดส่งได้ไหม ฝากใครก็ได้ไปส่งได้ไหม แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสินค้าจะถูกส่งไปถึงมือจุดหมายปลายทาง ถ้าไม่ใช่บริษัทที่น่าเชื่อถือมาส่ง ของที่ส่งไปจะไม่สูญหรอ

Web3 จะเข้ามาทำหน้าที่กำจัดตัวกลางทั้งหลายที่เคยมีให้สูญหายออกไปอีก เหมือนตอนที่ Internet เคยทำได้ ทำให้ตัวกลางที่เป็น Agent ทั้งหลายออกไป ให้ Business สามารถติดต่อตรงกับ Consumer ได้ เกิดเป็นรูปแบบธุรกิจ D2C มากมายในยุค Web2

Web3 จะใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นหัวใจหลัก เทคโนโลยีนี้เป็น Decentralization กระจายอำนาจออกไปไม่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุมมันได้ ผิดกับบริษัทหรือหน่วนงานองค์กรที่เป็นอยู่ มันคือการตัดสินใจแบบกระจายศูนย์ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่อาสาเข้าร่วมกับ Blockchain นี้

การกระทำและการตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นแบบหุนหันพลันแล่น แต่เกิดขึ้นจาก Coding หรือการเขียนโปรแกรมกำกับควบคุมแต่แรกที่มีชื่อว่า Smart Contracts เอาง่ายๆ เลยมันคือกฏหมายที่อยู่ในรูปแบบของโค้ดรหัสคอมพิวเตอร์ ที่ถ้าเรียนรู้ภาษานั้นหน่อยก็สามารถอ่านทำความเข้าใจได้ ก่อนจะยินยอมรับให้ Smart Contract นั้นบังคับใช้กับตัวเองและคู่สัญญา

Photo: https://www.baypayforum.com/blockchain-coins/smart-contract-startup-tapped-by-google-as-blockchain-partner

ดังนั้นจะเห็นว่ากฏหมายจะไม่สำคัญเท่า Smart Contracts หรือจะมองอีกมุมว่า Smart Contracts คือกฏหมายในยุคดิจิทัล ยุคดาต้า ยุคที่เราใช้ชีวิตแบบออนไลน์กับออฟไลน์เป็นเนื้อเดียวกัน ที่เราชอบเรียกกันว่า Metaverse นั่นเองครับ

สมมติว่า ถ้าผมหาคนส่งหนังสือ Personalized Marketing การตลาดแบบรู้ใจ 10 เล่ม ไปจังหวัดปทุม ผมเจอคุณกดรับงานผ่าน dAPP (Decentralized APP) แล้วเราเขียน Smart Contracts กันว่า ทันทีที่ผู้รับปลายทางกดยืนยัน เงินคริปโทผมอย่าง Bitcoin จะส่งเข้า Wallet คุณทันที 1 BTC (ผมเป็นสุลต่านผู้ใจดีครับ) แต่ถ้าภายใน 24 ชั่วโมง คนปลายทางยังไม่ยืนยันการรับสินค้า คุณจะต้องโอนเงินจาก Wallet คุณมาให้ผม 0.5 BTC เป็นค่าเสียหาย

แต่ระบบจะต้องตรวจสอบก่อนว่าคุณมีเงิน 0.5 BTC นั้นจริง และเงินจำนวนนั้นอาจจะถูกล็อคไว้ก่อนเพื่อป้องกันการโอนย้ายเงินออกจากกระเป๋า ของผมด้วยก็เช่นกัน

เมื่อ Mission Complete คุณได้เงินตามที่ตกลงไว้ โดยไม่ต้องมีใครเป็นตัวกลาง ไม่ต้องมีแอปใดมากินค่าส่วนแบ่ง GP แพงๆ 20-30% เหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบน Blockchain บนระบบ Decentralization กติกากฏข้อบังคับใดๆ ล้วนออกแบบได้บน Smart Contracts ครับ

เห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่า Web3 นั้นไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจหรือไว้ใจแต่อย่างไร แต่ใช้ความโปร่งใสที่คุณ ผม และทุกคนมองเห็นตรวจสอบได้ ผิดตรงไหนทัก เอ๊ะ ตรงไหนแก้

เหมือนกับการเล่นเกมออนไลน์ เวลาจะทำเควสอะไรสักอย่างให้สำเร็จเพื่อเปลี่ยนอาชีพ เพิ่มสกิลใหม่ รับไอเท็มพิเศษ เราก็แค่ต้องทำภายใต้กติกานั้น ใครทำได้ก็ได้รับผลประโยชน์ไป ใครทำไม่ผ่านก็ไม่มีเด็กเส้นแต่อย่างไรครับ

แต่ถ้าเป็นเกมออนไลน์ บางที GM อาจจะเสกไอเท็มพิเศษให้กับคนที่ตัวเองชอบแบบลำเอียงได้ นั่นคือข้อจำกัดของ Web2 ที่ข้อมูลถูกเก็บและควบคุมโดยใครสักคน

เขาอยากแก้ก็ทำได้ เราตรวจสอบ Log อะไรก็ยากลำบาก เกิดบอกว่าไม่มี Log ก็ทำอะไรไม่ได้ หรืออาจจะแก้ Log อีกทีก็ไม่ใช่เรื่องยาก

แต่พอเป็น Web3 ที่สร้างบน Blockchain แล้วเสน่ห์คือความ Transparency ความโปร่งใสที่สืบสาวย้อนหลังได้ไปถึงจุดเริ่มต้น เราจะรู้เลยว่าบัญชีนี้เคยทำอะไรมาบ้าง ไอเท็มนี้เคยผ่านมือใครมาบ้าง และกำเนิดเข้ามาในระบบเมื่อไหร่

เรียกได้ว่าเป็นบัญชีหนังหมาบันทึกบาปบุญเวอร์ชั่นออนไลน์ในยุคดิจิทัลก็ได้ครับ ต่อไปนี้ใครทำอะไรไว้บน Blockchain ก็จะกลายเป็นการคงอยู่ถาวรตลอดกาลและตลอดไป

ทั้งหมดนี้เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราไม่จำเป็นต้องไว้ใจกันถึงจะทำธุรกิจธุรกรรมร่วมกันได้ ขอแค่เราโปร่งใสให้ทุกคนตรวจสอบได้ เท่านี้ทุกอย่างก็สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะเราต่างไว้ใจตัวเองที่ตรวจสอบก่อนเริ่มธุรกรรมใดๆ ด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว

และสุดท้ายคือ Data ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ของใคร แต่มันจะกลายเป็นของคุณเพียงคนเดียว คุณจะสามารถเลือกอนุญาตให้ใครเข้าถึงได้ และเข้าถึงไม่ได้บ้างก็ได้ตามใจคุณ หรือคุณจะเลือกเปิดแค่ส่วนไหน ให้ใช้เท่าไหร่ จากนั้นจะปิดไม่ให้ใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งหมดนี้คือของคุณ คุณคือ Own Data ของตัวเองในแบบที่ Web2 ให้ไม่ได้ขนาดนี้

Photo: https://www.arover.net/2021/12/17/what-is-the-nft-collection-bored-ape-yacht-club-bayc/

เมื่อทุกอย่างมีบันทึกจุดเริ่มต้น การเดินทาง การเปลี่ยนผ่าน นั่นหมายความว่าสกุลเงินดิจิทัลก็จะใช้งานได้จริง มันจะไม่ใช่แค่ Code ที่ Copy & Paste กัน แต่มันจะตรวจสอบได้ว่าเงินดิจิทัลบาทนี้มาจากไหน หรือถูกเสกขึ้นมากันแน่ ผลงาน NFT ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีรหัสการแสดงความเป็นเจ้าของ มันก็แค่ไฟล์ JPEG ไฟล์หนึ่งเท่านั้นเอง

และถึงตอนนี้คุณอาจทำไมการเป็นเจ้าของถึงสำคัญ ก็เอาง่ายๆ ลำพังกระเป๋าแบรนด์เนมของแท้กับของทำเทียม แม้ภายนอกจะแยกกันแทบไม่ออก แต่ผู้คนก็ให้ค่ากับของแท้มากกว่าจริงไหมครับ

ทั้งหมดจึงกลับมาที่จิตวิทยาความเป็นมนุษย์ของเรา เมื่อเราโลภ เราอยากได้ เราอยากมี เราอยากแสดงความเป็นเจ้าของ เราอยากเหนือกว่าคนอื่น มันจึงก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดธุรกิจ และก็ก่อให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่จำเป็น กับสิ่งที่ฟุ่มเฟือยมากขึ้นทุกวันครับ

สรุป  Web3 คืออะไร และจะเกี่ยวกับการตลาด Marketing มากขนาดไหน

Web3 คือวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตยุคถัดไป ที่แม้จะใช้คำว่าเว็บที่ดูเหมือนจะสื่อถึงแค่เว็บไซต์ แต่ความจริงแล้วใจความมันคืออินเทอร์เน็ตทั้งหมด หรือดิจิทัลทั้งมวล

ทีนี้สิ่งที่ต่างจริงๆ ไม่ใช่หน้าตา ไม่ใช่ User Interface แต่เป็น Fundamental เบื้องหลังการทำงานของอินเทอร์เน็ตที่ยกเครื่องใหม่หมด

จากเดิมเป็น Centralized อาศัยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่น่าเชื่อถือให้บริหารจัดการให้ มาสู่ Decentralized ที่ไม่ต้องมีใครเป็นตัวกลาง มีแต่ผู้เขียนโปรแกรมบริการ ส่วนการทำงานทั้งหมดก็เกิดขึ้นบน Blockchain เกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ช่วยกันประมวลผลและบันทึกข้อมูล

แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วน Technical ของ Web3 ที่อาจฟังดูไม่ค่อยเกี่ยวกับนักการตลาดหรือแบรนด์เท่าไหร่ ส่วนที่เกี่ยวกับแบรนด์มากๆ จริงๆ คือเรื่องของ DAO Decentralized Autonomous Organizations การบริหารจัดการแบบไร้ศูนย์กลาง เพราะอำนาจการตัดสินใจจะถูกกระจายออกไปยังทุกคนที่มีส่วนร่วมจริงๆ

นั่นหมายความว่าแบรนด์จะถูกขับเคลื่อนโดย Consumer จริงๆ Customer จะกลายเป็น Owner ของแบรนด์ไปพร้อมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกำหนดกติกาของแบรนด์เราผ่าน Smart Contracts อย่างไร

ซูเปอร์แฟนของแบรนด์จะเริ่มมีพาวเวอร์ในการตัดสินใจมากขึ้น ถ้าเรากำหนดกติกาแบบนั้น เสียงโหวต คำตัดสินใจผู้คนจริงๆ จะมีอำนาจมากกว่าบอร์ดบริหาร นี่คือหัวใจสำคัญของ Branding Decentralization แบรนด์ที่ไม่ต้องมีใครคิดให้ แต่ปล่อยให้ผู้คน ผู้ใช้ คิด และตัดสินใจกันเอง

ตำราการสร้างแบรนด์ของต้องถูกรื้อเขียนใหม่อีกครั้ง หลังจาก Digital ได้ทำอย่างนั้นกับโลกการตลาด แต่โลกของแบรนด์ที่ผ่านมาดูยังไม่ค่อยขยับจากอดีตกาลเท่าไหร่

การสร้างแบรนด์ในยุค Web3 ยุค Metaverse หรือยุค Decentralization ที่อยู่บนเทคโนโลยี Blockchain คงจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เราเรียนรู้อีกมาก นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้องระหว่าง Branding Marketing และ Web3 Decentralization มาติดตามและเรียนรู้พร้อมกับปรับตัวไปด้วยกัน เพื่อที่เราจะได้ไม่เป็นนักการตลาดตกยุค เพราะโลกยุคใหม่นั้นหมุนไวเหลือเกิน

ในตอนหน้าเราจะมาย้อนดูอดีตของ Internet กันนิดหนึง ในวันที่ Internet ถือกำเนิดขึ้นมา ในวันที่ Bill Gates ออกมาพูดว่าเจ้าสิ่งนี้จะเปลี่ยนโลกไปได้มากขนาดไหน คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเขาเพ้อเจ้อและเป็นแค่ Nerd รวยๆ คนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีใครคิดภาพออกว่าตัวเองจะอยู่โดยขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้อย่างไร ในวันที่เทคโนโลยีนั้นยังมาไม่ถึงครับ

อ่านบทความเรื่องการตลาด Web3 for Marketing ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/?s=web3

Source:
https://www.coindesk.com/layer2/2022/01/04/what-is-web-3-heres-how-future-polkadot-founder-gavin-wood-explained-it-in-2014/
https://www.wired.com/story/web3-gavin-wood-interview/
https://www.ibm.com/topics/smart-contracts

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่