ล้วงลึก! รายงานผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประเทศไทยในยุค New Normal

ล้วงลึก! รายงานผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประเทศไทยในยุค New Normal

จากสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัส Covid-19 ที่ต่อเนื่องและกินเวลานาน เป็นตัวแปคสำคัญที่ทำให้กิจวัตรและพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไปในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “New Normal” โดยย้ายจากโลกออฟไลน์มาอยู่ในออนไลน์กันมากขึ้น

 การตลาดวันละตอนเลยหยิบเอาผลสำรวจจากโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 มาอัปเดตให้ฟังว่าพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร แล้วนักการตลาดหรือเจ้าธุรกิจจะเอาไปปรับใช้ยังไงได้บ้าง

เก็บผลสำรวจครอบคลุมทั้งประเทศ

‘โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook’ เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลสํารวจ และวิเคราะห์ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดิจิทัลตามแนวทาง Measuring the Digital Transformation และ Digital Economy Outlook ของ OECD เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถนําผลการศึกษามาประเมินและใช้ประกอบการพิจารณา การกําหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

การสํารวจครั้งนี้เป็นการขยายผลจากระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งทำการสํารวจใน 77 จังหวัด โดยมีการเพิ่มตัวชี้วัดมากถึง 57 ตัวชี้วัด และเพิ่มจํานวนกลุ่มตัวอย่างเป็น 39,145 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้งรัฐบาลและเอกชน

คนไทยส่วนใหญ่การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น

เรามาเริ่มดูในฝั่งของประชาชนทั่วไปกันก่อน การสำรวจพบว่าคนไทยมีผู้ที่เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตสูงถึง 85.1% โดยมีพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตวันละมากถึง 6-10 ชั่วโมงต่อวัน 

ด้วยสถานการณ์ที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างนี้ ทำให้การทำงานนอกสถานที่เป็นเรื่องยาก ดังนั้นสถานที่หลักที่คนนิยมใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้จึงได้แก่ ที่พักอาศัยของตนเอง คิดเป็น 70.2% และสถานที่ทำงาน 22.2% ผ่าน 3 Devices หลักคือ โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค และแท็ปเล็ต ตามลำดับ

ย้ายมาดูในฝั่งของผู้ประกอบการกันบ้าง จากผลสำรวจในฝั่งนี้พบว่าภาคธุรกิจเอกชนนั้นมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

WFH ทำยอดการใช้อินเทอร์เน็ตพุ่งถึง 10 ชม./วัน

สำหรับกิจกรรมที่ทำในขณะที่ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตก็มีหลากหลาย ทั้งใช้ในการทํางาน ความบันเทิง รวมถึงการซื้อขายออนไลน์ 

แต่กิจกรรมที่ครองแชมป์ก็เห็นจะเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน เช่น การประชุมออนไลน์ หรือ Work from Home คิดเป็น 75.2% ตามมาติดๆ ด้วยการใช้สําหรับเรียนออนไลน์ คิดเป็น 71.1% ขณะที่การซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็น 67.4% เพื่อการติดต่อสื่อสารสนทนา 65.1% และเพื่อทําธุรกรรมด้านการเงินออนไลน์ 54.7%

ซึ่งผลสำรวจในหัวข้อนี้ก็ไม่หลุดโผจากที่คิดไว้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทเปลี่ยนจากการเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เป็นการ WFH แบบ 100% ทำให้มีการประชุมออนไลน์ หรือพูดคุยเพื่อสื่อสารกันทางออนไลน์อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำยอดการใช้อินเทอร์เน็ตพุ่งถึง 10 ชม./วัน นั่นเอง

แต่สำหรับในองค์กรหรือหน่วยงานเอกชน กิจกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตก็จะต่างออกไป โดยส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการค้นหาข้อมูล และใช้ในการเป็นช่องทางเข้าถึงและดำเนินการธุรกิจทางช่องทางออนไลน์ เป็นหลัก

ชอปปิงออนไลน์ เติบโตไวแบบก้าวกระโดด

จากพิษโควิด19 ที่ทำให้เราต้อง Lockdown หรืออยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติกัน ซึ่งนั่นก็เป็นปัจจัยในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือการชอปออนไลน์

จากสถานการณ์โรคระบาดนี้ส่งผลให้ประชาชนนั้นยอมรับและเชื่อถือในการใช้บริการ E-commerce มากขึ้น จะเห็นได้จากการซื้อสินค้าบริการออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 37.7% เป็น 76.6% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม 

ซึ่งแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์อย่าง Shopee และ Lazada ก็ยังคงรักษาตำแหน่ง E-marketplace ยอดนิยมอันดับต้นๆ ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

นอกจากนี้ผลสำรวจยังบอกอีกว่า 73.9% ของผู้ประกอบการ นั้นมีช่องทางออนไลน์ไว้เพื่อขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Facebook Line YouTube และ Twitter 

โดยช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นได้แก่ธุรกิจทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น 54.6% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 27.4% และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 27.9% 

ในขณะที่การท่องเที่ยวและสันทนาการมีการใช้ออนไลน์ลงลดถึง 76.4% โดยสาเหตุหลักอาจจะเกิดจากการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดอื่นๆได้ ส่วนธุรกิจแฟชั่นลดลง 44.8% และวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรลดลง 36.5% เนื่องจากมีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวมากขึ้น

ซึ่งคำถามสำคัญที่นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจต้องตอบให้ได้คือ สินค้าและบริการของเราพร้อมให้คนซื้อหรือจ่ายได้บนออนไลน์เรียบร้อยแล้วหรือยัง

คนทั่วไปยังไม่เข้าใจ PDPA

ผลการสำรวจยังระบุว่า มีเพียงแค่ 43.6% ของประชาชนที่รู้จัก พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเมื่อไหร่ที่เจอปัญหาในด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี การแก้ปัญหาการป้องการทางเทคโนโลยีโดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนรหัสผ่านในการเข้าระบบเท่านั้น 

ในทางกลับกันภาคธุรกิจเอกชนจำนวน 90.5% มีความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น โดยทำการศึกษาข้อมูลอย่าละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในด้านกฎหมายที่อาจกระทบต่อธุรกิจภาพรวมได้ในภายหลัง ขณะที่ 27.1% ของผู้ประกอบการเคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี โดยการป้องกันส่วนใหญ่จะนิยมใช้ระบบยืนยันตัวตนมากกว่า

การประยุกต์ให้เทคโนโลยีในธุรกิจ

จากผลการสำรวจพบกว่าผู้ประกอบการเอกชนมีการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้งานในธุรกิจมากขึ้นทั้งคลาวด์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการใช้คลาวด์ อยู่ที่ 70.3% และData Analytics อยู่ที่ 61.5% และใช้ AI ในเรื่องของ Chatbot สูงถึง 41%

มีการใช้บริการภาครัฐออนไลน์เพิ่มขึ้น

เนื่องจากเหตุการณ์ Covid-19 ที่ต่อเนื่องและยาวนาน ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเลยทำให้มีคนหันมาใช้บริการภาครัฐผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยการจ่ายค่าน้ำ/ค่าไฟ ยังคงเป็นบริการที่คนนิยมเข้ามาใช้วานมากที่สุด

แต่จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนพนักงานไอทีในหน่วยงานภาครัฐยังมีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพนักงานในแผนกอื่นๆ หรือเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% โดยเจ้าหน้าที่ไอทีส่วนใหญ่จะมีหน้าที่ดูแลและพัฒนาเว็บไซต์เป็นหลัก

ต่อยอดการวางยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล

สำหรับผลลัพธ์ที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้จะถูกนำไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ใน 8 มิติหลัก ได้แก่ 

  1. ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล
  2. ด้านการใช้งาน 
  3. ด้านนวัตกรรม 
  4. ด้านอาชีพและแรงงานดิจิทัล 
  5. ด้านความเชื่อมั่น และความปลอดภัยดิจิทัล 
  6. ด้านการค้าและอุตสาหกรรมดิจิทัล 
  7. ด้านผลจากดิจิทัลด้านสังคม 
  8. การเติบโตและคุณภาพชีวิต 

โดยจะนำไปสร้างตัวชี้วัดในการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย และนําไปพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นกรอบการประเมินด้านการ พัฒนาดิจิทัลฯ ที่เป็นมาตรฐานของประเทศไทยด้วย

และนี่ก็เป็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลจากรายงานของโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3  ซึ่งจากภาพรวมก็ทำให้เราพอรู้ได้ว่าควรจะต้องปรับทิศทาง Business Strategy หรือ Marketing plan ไปทางไหน ทั้งในด้านการนำนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การลงทุนในนวัตกรรมดิจิทัลทั้งในแง่ของผู้ประกอบการและนักการตลาด  เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

Read more: อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดในแง่มุมอื่นๆ จากการตลาดวันละตอนได้ ที่นี่

ในบทความหน้าแบมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะคะ

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน