Graphic Design Trends 2022 ทำกราฟฟิคแบบไหนดี?

Graphic Design Trends 2022 ทำกราฟฟิคแบบไหนดี?

ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากๆ กับงาน Content Marketing รวมไปถึงงาน Digital Communication อื่นๆ ก็คือการทำภาพกราฟฟิค ซึ่งหลายครั้งก็เป็นสิ่งที่คนมักพูดว่า ‘เรื่องดีไซน์มันเป็นงาน Subjective’ คนนึงว่าสวย คนนึงว่าไม่สวยก็มีเยอะถมเถไป วันนี้เพลินก็เลยอยากเอาข้อมูล Graphic Design Trends 2022 หรือของปีหน้ามาฝาก เผื่อทีมกราฟฟิคจะได้มีข้อมูลไปยันว่าคิดมาจากอะไรเพิ่มเติมค่ะ

แน่นอนว่าเรื่องของเทรนด์แบบนี้ ไม่ว่าจะอยู่ๆ ก็จะแต่งเองขึ้นมาได้ แต่มันเกิดจาก Consumers ล้วนๆ ว่าพวกเค้าชอบเสพอะไรกัน สังคมกำลังพูดถึงเรื่องอะไร หรือพวกเค้านิยมเล่น พูดคุยหรือ Interact กันแบบไหนบนออนไลน์บ้าง จนสุดท้ายจบออกมาเป็น 8 Graphic Design Trends 2022 ที่เพลินเห็นแล้วว่าน่าสนใจดีจริงๆ เหมาะแก่การนำไปปรับใช้ในส่วนของ Branded Visuals ต่างๆ ทั้งในส่วนของการทำคอนเทนต์ หรือจะเป็นงานดีไซน์อย่างการคุมธีมแคมเปญ เว็บดีไซน์ แบนเนอร์ ฯลฯ

1. เทรนด์การทำภาพแบบยอมรับความหลากหลาย (Inclusive visuals)

Graphic Design Trends 2022 การยอมรับ Diversity ความหลากหลาย

หนึ่งในกระแสสังคมในช่วงปีที่ผ่านๆ มาก็คือเรื่องของความหลากหลายหรือ Diversity ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเรื่องเพศอย่าง LGBTQQI รวมไปถึงเรื่องของรูปร่าง หน้าตา การท้าทาย Beauty Standard ทางสังคม อย่างเหตุการณ์ #BlackLivesMatter เอย หรือจะเป็นเหตุการณ์ #StopHate ต่างๆ ที่ในไทยเราเองก็เห็นว่ามันเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้เรื่องของการโอบกอดความแตกต่างมันเริ่มแพร่หลายมากขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในเทรนด์ของการทำกราฟฟิคดีไซน์ในวันนี้ค่ะ

สำหรับบางแบรนด์เรื่องของการทำ Inclusive visuals อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการทำภาพเชิงนี้อยู่แล้วมาโดยตลอด อย่างแบรนด์ที่ขึ้นชื่อมากๆ อย่างแบรนด์ United Colors of Benetton ที่เรียกได้ว่า แทบจะทุกภาพเลยต้องมีการผสมผสานของความแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิว รูปร่าง ฯลฯ เข้าด้วยกัน โดยแบรนด์ก็หยิบยกเรื่องนี้ให้เป็นใจกลางสำคัญของแบรนด์มาแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ดังนั้นหากแบรนด์ใดอย่างเรียนรู้การทำภาพเชิง Inclusive เพิ่ม สามารถเรียนรู้ได้จากแบรนด์นี้เลยค่ะ

นอกจากเรื่องของงานภาพถ่ายแล้ว เรื่องของการทำพวกชิ้นงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Infographics หรืออื่นๆ ก็สามารถที่จะดัดให้เข้ากับเทรนด์นี้เช่นกัน อย่างการเลือกใช้ Flat icon ที่อาจจะเริ่มมีมือผิวสี คนผิวสี คนอวบ คนพิการ คนต่างเชื้อชาติ เป็นต้นค่ะ

2. เทรนด์การทำ Data Visualization แบบสนุกขึ้น

Data Visualization

เนื่องจากกระแสเรื่องของ Data มาแรงขึ้นเรื่อยๆ หลายแบรนด์ก็มีการเอาข้อมูลลูกค้าบางส่วนออกมาแชร์ เช่น ขายไปแล้วกว่า 1 ล้านกล่อง หรือการบอกว่าลูกค้ากว่า 57% ใช้แล้วเห็นผลจริง เป็นต้น ยังไม่พอ ยังมีในส่วนของแบรนด์หรือ Blogger ที่เน้นแชร์ข้อมูลจ๋าๆ ไม่ว่าจะเป็นกราฟแท่ง Pie chart หรืออื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้คนเมาข้อมูลไปได้ถ้าต้องเสพข้อมูลในปริมาณมากๆ จนเกิดเป็นการดีไซน์ Data เหล่านี้ให้น่าสนใจและสนุกมากขึ้นนั่นเองค่ะ

สิ่งสำคัญนึงในการแต่งข้อมูลหนักๆ ให้ดูเฟรนลี่ มีไลฟ์สไตล์มากขึ้นก็เพื่อให้เข้าถึงคนได้ง่าย แถมยังเป็น Sharable Content ด้วย ซึ่งก็มีหลายแบรนด์ที่ออกมาปรับข้อมูลกราฟน่าเบื่อๆ ให้ดูมีสีสัน น่าสนใจจนคนอยากหยุดดู ไม่ว่าจะเป็นทีม Twitter ที่ทุกครั้งในการทำ Report สรุปต่างๆ ก็สามารถทำภาพให้น่าชมได้อยู่ตลอด ดังนั้นแบรนด์ใดที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Present ข้อมูลให้น่าสนใจ สามารถเข้าไปดูหรือศึกษาจากเคสของแบรนด์ Twitter ได้เลยค่ะ

นอกจากจากผสมผสานภาพจริงอย่างที่แบรนด์ทวิตเตอร์ทำแล้ว ยังมีเรื่องของการใช้สี ลูกเล่น การดีไซน์อื่นๆ อย่าง Infographics พวกนี้ก็สามารถทำให้มันน่าดึงดูดเพิ่มขึ้นได้เช่นกันค่ะ ซึ่งหากใครที่อยากอ่านเกี่ยวกับการทำ Infographics เพิ่มสามารถอ่านบทความนี้ต่อได้เลยนะคะ

3. การใช้สีสด Contrast เยอะแบบ Bold ๆ เป็นพื้นหลัง

Graphic Design Trends 2022 การใช้สีสดเป็นพื้นหลัง

อีกหนึ่ง Graphic Design Trends 2022 ก็คือเรื่องของการใช้สีสันที่มันสดใสเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะเป็นสีแบบพาสเทลอ่อนๆ ซึ่งการใช้สีเหล่านี้ นอกจากจะไม่ทำให้คนหันเหความสนใจไปที่งานดีไซน์แทนข้อมูลที่เราจะนำเสนอแล้ว ยังช่วยให้ Data ที่เราต้องการพรีเซนต์มันโดดเด่นเพิ่มขึ้น อ่านออกง่าย ชัดเจนด้วย ซึ่งหลักการการดีไซน์กราฟฟิคเชิงนี้ก็ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่ เพียงเลือกสีสดๆ เข้มๆ เป็น Background หรือพื้นหลัง หลังจากนั้นก็เลือกสีโทนอ่อนที่ตัดกับสีสดที่เราเลือกมาทำเป็น Text แค่นี้ภาพเราก็จะ Pop ขึ้นมาให้น่าดูกว่าเดิมแล้วค่ะ

ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้สีสด Bold แบบนี้ในการเสนอข้อมูลและทำกราฟฟิคตลอดก็คือ Spotify เพราะไม่ว่าจะเป็น Chart เพลงฮิต Chart เพลงเข้าใหม่ หรือช่วงสรุปข้อมูลการฟังเพลงรายบุคคลในช่วงสิ้นปีให้ทุกบัญชีนั้น เค้าก็มีการดีไซน์ออกมาเชิง Bold Background ทั้งสิ้น หนึ่งสิ่งที่อาจจะช่วยได้คือเรื่องของการดู Chart สีคู่ตรงข้าม แล้วลองเอามาปรับใช้เพิ่มเติม รวมไปถึงการใช้สีขาวกับสีสดสักสี แบบนี้ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ดีเลย

4. การใช้ Icons สีสันสดใส

ใช้ icon สีสันสดใส

เรื่องของการเลือกใช้ Icon ต่างๆ ไม่ว่าจะในงาน Infographics หรือเว็บไอคอน Application ไอคอนต่างๆ สมัยก่อนอาจจะนิยมทำในเชิงคุมสี คุมโทนแบบใช้สีดำล้วนไปเลยจบๆ แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มสนใจการใช้ Icon หรือภาพ Illustrations สีสันสดใสเพิ่มขึ้นแล้ว ยิ่งถ้าเราเลือกใช้ไอคอนสีสันกับ Bold Background ในข้อ 3 ด้วยแล้ว บอกเลยว่าจะยิ่งทำให้กราฟฟิคของเรา Catchy ขึ้นตั้งแต่แรกเห็นเลยแหละค่ะ

เรื่องของไอคอน ต้องบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงานกราฟฟิคมาโดยตลอด ข้อดีและข้อสำคัญเลยคือมันสื่อสารได้ง่าย และส่วนมากจะเป็น Universal Language ที่คนไม่ว่าจะชาติไหนเห็นสัญลักษณ์แล้วก็จะสามาถเดาได้เลยทันทีว่าเราต้องการจะสื่อสารอะไร หรือเราหมายถึงอะไรกันแน่ หากไอคอนเป็นสีดำล้วนหรือสีอื่นๆ ล้วนไปเลย ก็อาจจะเดาได้ว่ามันคืออะไร แต่หากเป็นสีสันสดใส ก็จะช่วยให้คนเก็ทได้ง่ายกว่าโดยไม่ต้องพยายามเรียนรู้หรือไตร่ตรองให้มากความนั่นเอง

ตัวอย่างแบรนด์ที่มีการใช้ Icon หรือ Illustrations สีสันสดใสบ่อยๆ ก็คือเว็บ Sprout Social ค่ะ ซึ่งหากเข้าไปดูก็จะเห็นว่าเค้ามีการใช้พื้นหลังสีสดตัดกับไอคอนสดใสด้วย ทำให้คนอยากอยู่กับเว็บนี้นานขึ้นไปอีก ใครที่ชอบใช้งานพวกไอคอนบ่อยๆ สามารถเข้าไปดูตัวอย่างในเว็บของเค้าได้เลยนะคะ

5. การใช้ Serif fonts

Serif fonts เป็นเทรนด์งานกราฟฟิค 2022

ต้องบอกว่าวันนี้ Serif fonts หรือฟ้อนท์ภาษาอังกฤษที่มีหางนั้น เหมือนเปิดอัลบั้ม Comeback เลยก็ว่าได้ ซึ่งนอกจากจะกลับมาเป็นที่นิยมในปี 2021 นี้แล้ว ยังดูเหมือนว่ากระแสของมันยังคงดังต่อเนื่องไปถึงปี 2022 ด้วย หากใครไม่แน่ใจว่า Serif fonts คืออะไร ขออธิบายสั้นๆ ว่ามันคือฟ้อนท์ภาษาอังกฤษที่มีหางค่ะ ซึ่งฟ้อนท์นี้จะให้ความรู้สึกคลาสสิค หรูหรา มีรสนิยม แตกต่างกับ Sans Serif ที่จะเป็นตัวหนังสือหางตัดๆ ดูทันสมัยกว่า ขี้เล่น เหมาะกับโลกอนาคตอะไรแนวๆ นั้น

และเพราะช่วงนึงที่ทุกคนไม่ว่าจะแบรนด์ไหน ต่างก็พาตัวเองมาใช้ Sans Serif ที่ไม่มีหางกันหมด บางแบรนด์ที่ใช้ Text Logo เป็นตัวหนังสือ Serif ถึงขั้นมีการ Rebrand Logo ตัวเองให้เป็น Sans Serif ไม่มีหางเพื่อจะสื่อสารว่า ‘ชั้นไม่ล้าหลังนะ’ ด้วย ก็ทำให้ในตลาด ภาพกราฟฟิค ป้ายโฆษณาอะไรต่างๆ มีแต่การใช้ฟ้อนท์ไร้หางทั้งสิ้น สุดท้ายก็พบว่า ท่ามกลางดงฟ้อนท์ไร้หาง เมื่อมีแบรนด์ที่ทำภาพด้วยฟ้อนท์มีหางอยู่ คนก็เลยให้ความสนใจมากขึ้น ดึงสายตาได้มากขึ้น เรียกได้ว่าเหมือน Comeback stage จริงๆ สำหรับ Serif fonts ในปี 2021 นี้ค่ะ

6. การทำ Memes ในเชิงแบรนด์

Graphic Design Trends 2022 ด้วยการทำ Branded Memes

อีกเรื่องนึงที่ปฎิเสธไม่ได้เลยคือสังคมที่ฮิตและนิยมการเล่น Memes ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะมันสื่อสารได้อย่างเสียดสี เข้าถึงความรู้สึกตลกๆ ได้ดีกว่า Emoji การ์ตูนเพียงอย่างเดียว ทำให้ตอนนี้อะไรที่เป็นกระแสอยู่ก็สามารถกลายเป็น Memes ล้อเลียนสนุกๆ ได้ บาง Memes ที่อิงกระแสจัดๆ ก็จะอยู่แปปเดียวเดี๋ยวก็หายไป ในขณะที่บาง Memes ก็ใช้ได้เรื่อยๆ ทำให้ถูกเราเล่นซ้ำๆ Rerun บ่อยๆ ไม่ตายจากไปเสียที

สุดท้ายก็เกิดเป็น Graphic Design Trends 2022 ที่หลายแบรนด์ในต่างประเทศเริ่มหยิบจับภาพนิ่งที่มี มาล้อเลียนเป็น Memes เชิงแบรนด์คอนเทนต์ขึ้นมา ซึ่งสิ่งนึงที่ทำให้ Branded Memes เป็นที่นิยมก็คือ การเข้าถึงได้ง่ายของมัน ยิ่งเป็นการเอาแบรนด์ Presenter เอยหรือนางแบบที่ใช้สินค้าเราเอยมาเล่นด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีรสชาติให้ย่อยได้เพิ่ม แล้วยิ่งถ้าหากเราหยิบภาพดังๆ มาทำ Memes เชิงแบรนด์ด้วยแล้ว เราก็มีสิทธิที่จะเป็น Memes ดังในเรื่องนั้นไปนานๆ เลยก็ได้ด้วยค่ะ ตัวอย่างอย่างองค์กร Foundation Inc. เองก็มีการหยิบจับ Memes มาเล่นเป็น Content อยู่ตลอด  ทำให้คนสนุกอยากแชร์ต่อ ซึ่งตรงนี้บอกเลยว่าหาตัวอย่างคอนเทนต์ไม่ยากเลย ลองไปศึกษาเพิ่มเติมดูได้นะคะ

7. การทำ Quotes

ทำ Quotes เชิง Educational มากกว่า Inspirational

หลังจากอ่านมาได้ถึงข้อเจ็ด หลายคนอาจเริ่มสังเกตว่ามันก็เป็นเรื่องเก่าที่กลับมาฮิตใหม่ ใช่ค่ะ คล้ายกับแฟชั่นเลย เรื่องของการทำ Quotes เองก็เหมือนกัน ช่วงนึงฮิต หลังๆ มาก็เริ่มน่าเบื่อ แต่ล่าสุดก็คัมแบคพอๆ กับ Serif Fonts เลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าการกลับมาคราวนี้ไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว เพราะมันจะไม่ใช่ Quotes ให้แรงบันดาลใจแบบเดิมๆ ที่พอมาขึ้น Feed แล้วคนรู้สึกว่า ‘เคยอ่านไปแล้ว’ ซ้ำๆ แต่มันเป็น Quotes ในเชิงการศึกษาหรือ Educational มากกว่านั่นเอง

อย่าง LinkedIn เองก็พยายามหยิบจับคนที่ประสบความสำเร็จต่างๆ ให้ออกมาพูดอะไรที่เป็นเชิงให้ความรู้ แล้ว Quote คำพูดนั้นซะ แทนที่จะมาให้กำลังใจเชิง Inspirational เหมือนแต่ก่อน ทำให้คนสนใจอ่าน แชร์เก็บไว้ แถมยังเอาไปทำตามได้ด้วยค่ะ จะเห็นได้ว่าคำพูดนั้นเริ่มจับต้องได้มากขึ้น แทนที่จะเป็นการให้กำลังใจแบบลอยๆ เหมือนไม่ต้องสร้างฝัน แต่สอนให้เค้าทำฝันขึ้นมาได้อย่างไรดีกว่าค่ะ

8. การทำ Screenshot จากโซเชียล

Graphic Design Trends 2022 การทำ Screenshot ของโพสต์ลูกค้ามาแปะ

สิ่งนึงที่จะทำให้คนเชื่อเราเพิ่มขึ้นว่ามีคนพูดถึงเราในแง่นี้จริงๆ แบบไม่ใช่เรากุเรื่องขึ้นมาเองก็คือการแคปแชทหรือ Capture Screen ของโพสต์หรือบทสนทนาที่เราเจอมาแชร์ต่อเป็น Content ต่อไป ซึ่งในไทยเองไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่ต้องบอกว่าแบรนด์ที่ทำอยู่ส่วนมากเป็นแบรนด์พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เสียส่วนใหญ่ มากกว่าที่จะเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากการแชร์รีวิวจากลูกค้าแล้ว เรื่องของการแคปหน้าจอยังรวมไปถึงการแคปอะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือสินค้าของเรา แล้วนำมาตัดแต่งใส่ Background พื้นหลังเพิ่มเติม เท่านี้ก็พร้อม Publish แชร์ออกไปแล้ว อย่าง Hubspot เองก็มักจะแชร์เนื้อหาจาก Tweets บน Twitter บนอินสตาแกรมเช่นกัน เพราะคนส่วนมากมักพูด บ่น แชร์อะไรแบบรีวิวจริงๆ บนทวิตเตอร์เสียส่วนใจ ทำให้การแคป Tweets นี้เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การ Cross-platform ที่น่าสนใจเลยทีเดียวค่ะ

ทั้งหมดนี้ก็คือ Graphic Design Trends 2022 ที่เพลินสรุปมาให้แล้วจากทีม Venngage อยากให้นักการตลาดสายคอนเทนต์ กราฟฟฟิค และดีไซน์ได้นำไปใช้ประโยชน์กันในปีหน้า จะลองหยิบมาใช้แค่บางธีม บางข้อ หรือจะหยิบมาผสมผสานระหว่างกันก็ได้นะคะ ลองดูค่ะ

Plearn Wisetwongchai

Marketing Strategic Planner ในเครือการตลาดวันละตอน | A Creator สาวพลัสไซส์ @Fabfatkid | A Travel Lover ที่หมดเงินเกือบ 80% ไปกับการเดินทางแบบแมสๆ | An Instagrammer @theplearn ที่ชอบเล่น Story เป็นชีวิตจิตใจ | สุดท้ายคือ Data Researcher ทั้ง Social และ Search Data etc. ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน