จาก Surveillance สู่ Privacy Economy ธุรกิจยุคใหม่ต้องเคารพความเป็นส่วนตัว

จาก Surveillance สู่ Privacy Economy ธุรกิจยุคใหม่ต้องเคารพความเป็นส่วนตัว

Privacy Economy เศรษฐกิจยุคใหม่ที่จะโตได้ด้วยการเคารพความเป็นส่วนตัว แต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่เราก้าวเข้าสู่ชีวิตยุคดิจิทัล ยุคที่อะไรๆ ก็ออนไลน์ ยุคที่เราต่างพกโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนออกจากบ้านไปทุกที่แบบขาดไม่ได้ ทำให้เกิด Data มากมาย จนนำไปสู่การเกิด Data Business ใหม่ๆ ที่ฉวยโอกาสเอา Personal Data ของเราไปใช้แบบฟรีๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว

หรือต่อให้เรารู้ตัวก็ไม่สามารถปฏิเสธความยินยอมได้ เราจึงต้องจำใจจำยอมให้เขาเก็บ Data ไปเสียอย่างนั้น และนั่นก็ก่อให้เกิดคำศัพท์ใหม่ที่ชื่อว่า Surveillance Economy หรือเศรษฐกิจจากการแอบส่อง ที่บรรดาบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ คอยสอดส่องติดตามเราผ่าน Personal Data หรือ Digital Footprint อยู่ทุกเมื่อเชื่อว่า แต่ทั้งหมดนี้เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่เราก้าวเข้าสู่ยุค Privacy Era จากกฏหมาย GRPD ในยุโรป หรือ PDPA ในหลายๆ ประเทศแม้แต่ไทยเราเองก็ประกาศใช้อย่างเป็นทางการครับ

Internet ควรเป็น Human Rights แล้วหรือยัง?

Photo: https://twitter.com/edri/status/1407602424102199304

องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่าง Amnesty เคยออกมาประกาศเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันแบน หรือไม่สนับสนุนการตลาดแบบ Surveillance Advertising หรือการตลาดแบบที่แอบรู้ใจโดยที่เราไม่ยินยอม

เพราะ Amnesty มองว่า สิทธิการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเสรีควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่บริษัทอินเทอร์เน็ต หรือบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ จะมีอำนาจเหนือผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเราๆ แบบในยุค Surveillance Economy อีกต่อไป

Data ที่มาจากการใช้งานของเรา ก็ควรเป็นของเรา ทำไมจึงกลายเป็นของบริษัทต่างๆ ที่เข้ามารุมทึ้งข้อมูลส่วนตัวเราไปได้ และที่สำคัญคือเราก็เป็นคนจ่ายเงินเพื่อใช้อินเทอร์เน็ตเองทุกบาทด้วยซ้ำ ถ้าบริษัทให้เราใช้เน็ตฟรีเพื่อแลกกับการเก็บข้อมูลนำไปใช้งานต่อ ก็ว่าไปอย่างจริงไหมครับ (ผมคิดแบบนี้นะ)

และจากข่าว Data Breach หรือข้อมูลรั่วไหลที่เห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเคส Cambridge Analytica หรือเคสของบริษัทการเงิน บริษัทสายการบิน บริษัทช้อปปิ้งออนไลน์และไม่ออนไลน์ ต่างก็ทำเอาใจเราตุ้มๆ ต่อมๆ อยู่ตลอด ว่าตกลงข้อมูลบัตรเครดิตจฉันจะรั่วไหม ลำพังทุกวันนี้บัตรก็เติมวงเงินอยู่แล้ว

หรือแม้แต่การบริหารจัดการดูแล Sensitive Personal Data ของพวกเราประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐก็ย่ำแย่เหลือเกิน หลุดไปเป็นสิบๆ ล้านรายบอกว่าไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไรสำคัญ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลการแพ้อาหาร พวกนี้ถ้าถูกผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ ทำเอาเราถึงตายได้ง่ายๆ เลยนะครับ

และนั่นจึงส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกต่างออกมาเรียกร้องให้นักการเมือง หน่วยงานภาครัฐออกกดหมายมากำกับดูแล จึงออกมาเป็น GDPR, PDPA, CCPA ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เลิกแอบตามเก็บ Personal Data เราเป็นปลิงได้แล้ว ถ้าอยากได้ข้อมูลก็ต้องขอ และเจ้าของข้อมูลก็ต้องมีสิทธิในการควบคุมข้อมูลของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วย!

Personal Information Protection Law จีนก็เอาจริงเรื่อง Privacy

หลายคนอาจคิดว่าประเทศจีนคงจะเสรีเรื่องนี้เต็มที่แน่ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่อย่างที่คิดครับ เพราะที่ประเทศจีนก็มีการออกกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่คล้ายๆ กับ GDPR หรือ PDPA ในชื่อว่า PIPL ซึ่งย่อมาจาก Personal Information Protection Law

เป็นกฏหมายเพื่อกำกับดูแลและกำหนดว่าบริษัทต่างๆ ในจีนจะเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนผู้ใช้บริการแบบไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ได้บ้างครับ

ทางยุโรปเองก็ก้าวหน้าในการดูแลคุ้มครองเรื่อง Privacy ไปขนาดที่ว่า ห้ามนักการตลาดและบริษัทต่างๆ ทำการตลาดหรือโฆษณาแบบเจาะกลุ่มไปยังเด็กได้ตรงๆ และต่อไปนี้ถ้าจะเอาข้อมูลของคนที่เป็นผู้ใหญ่ไปประมวลลผ ก็ต้องมีการขออนุญาตและได้รับความยินยอมอย่างชัดเจนก่อนทุกครั้ง

Photo: https://www.businessinsider.com/grindr-dating-app-disappears-from-apple-china-app-store-beijing-2022-1

ที่ประเทศนอร์เวย์เองเคยปรับเงิน Grindr แอพหาคู่ชาว LGBTQ ฐานละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ด้วยการส่งออก User Data ไปให้ Third-Party หรือคนนอกนำไปวิเคราะห์ใช้งานต่อโดยไม่ได้รับ Consent ความยินยอมมาก่อนครับ

ซึ่งข้อมูลที่ถูกส่งออกไปของ Grindr ประกอบด้วย GeoData, IP Address, อายุ, เพศ และ Behavioural Data การใช้งานภายในแอป เพื่อให้ Third-party ไปวิเคราะห์ดูว่าเราควรทำการตลาดแบบไหน กับใคร ถึงจะทำให้เกิด Conversion หรือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ต่อไปนี้ใครทำแอปแล้วคาดหวังว่าจะทำเงินจาก User Data ต้องคิดให้ถี่ถ้วน ขอ Consent เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ไม่งั้นคุณอาจถูกฟ้องรองได้แบบนี้

และเมื่อเทรนด์ Privacy นี้มาชัดเจน จึงกลายเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจและแบรนด์ ที่จะเอาเทรนด์นี้มาสร้างเป็นจุดต่างจากคู่แข่ง ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานรู้สึกว่า เราเป็นพวกเดียวกับเขานั่นเองครับ

สรุป Privacy Economy

ยุคของการทำธุรกิจจากการแอบเก็บข้อมูลจะหมดไป และหมดโอกาสทำเงินมากขึ้นทุกวัน และดูเหมือนว่าธุรกิจยุคใหม่จะไปต่อได้ต้องเข้าใจและใส่ใจเรื่อง Privacy อย่างจริงจัง

Privacy กลายเป็นจุดขายใหม่ของแบรนด์ในยุค PDPA อย่างเห็นได้ชัด เดี๋ยวในบทหน้าเรื่อง Privacy Marketing เราจะมาดู Case Study ของธุรกิจที่สร้างมาเพื่อความ Privacy อย่างจริงจัง ถึงขนาดทำให้พี่มาร์ค Facebook Meta ไม่ชอบใจครับ

Source
https://www.euronews.com/2021/12/15/grindr-fined-over-6-million-by-norway-for-breaking-data-privacy-rules
https://techcrunch.com/2021/06/23/international-coalition-joins-the-call-to-ban-surveillance-advertising/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่