Facebook เผย 10 New Normal Consumer Insight ผู้บริโภคไทยและอาเซียน 2022

Facebook เผย 10 New Normal Consumer Insight ผู้บริโภคไทยและอาเซียน 2022

รายงาน Facebook Consumer Insight ของภูมิภาคอาเซียนรวมถึงข้อมูลของผู้บริโภคชาวไทยในปี 2021 ที่จะส่งผลไปถึงปี 2022 ที่ผมเอามาสรุปและเรียบเรียงให้เพื่อนๆ นักการตลาดได้อ่านอัพเดทกัน เพื่อที่เราจะได้ปรับกลยุทธ์การตลาดในปี 2022 ได้ทันกับโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมมากขึ้นทุกที

ซึ่งทุกปีทาง Facebook จะจัดทำรายงาน SYNC Southeast Asia อยู่เป็นประจำ ซึ่งถ้าเราลองมองย้อนหลังกลับไปก็จะเห็นวิวัฒนาการใหม่ๆ ของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทอย่างเห็นได้ชัด ปี 2018 เป็นปีของการเริ่มต้น Digital World ผ่าน Digital Platform ต่างๆ ที่เริ่มก้าวเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเราชาวไทยและอาเซียน เราเริ่มรู้จักการค้าขายออนไลน์ในแบบของเราที่เรียกว่า Social Commerce มากขึ้น

เราเริ่มรู้จักแอปเรียกรถแท็กซี่อย่าง UBER หรือ GRAB เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายให้คนชนชั้นกลางในเมือง ในปี 2019 เราก็พัฒนาไปอีกขั้นสู่ยุคของ Discovery Generation คนในวันนั้นอยากได้อะไรเสิร์จหาไม่ใช่แค่จาก Google แต่ยังเสิร์จหาจาก Social media ต่างๆ ตลอดเวลา หรือต่อให้ไม่เสิร์จหาด้วยระบบโฆษณาที่แสนจะรู้ใจ Personalization ได้แบบสุดๆ ก็สามารถนำสินค้าที่เรากำลังอยากได้ขึ้นมาแสดงผลให้เห็นตรงหน้า จนส่งผลให้ใครหลายคนรู้จักการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ค่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติ (ปีนี้มีคำว่า CF เพิ่มเข้ามาครับ)

จากนั้นในปี 2020 ก็เกิดสิ่งที่ไม่มีใครบนโลกจะคาดคิดอย่าง Pandemic หรือโรคระบาดขนานใหญ่ที่ทำให้เราทุกคนต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านเสมือนเศรษฐกิจทั้งหมดจะถูกกดปุ่มหยุดเวลาขึ้นมา แน่นอนว่านี่คือช่วงเวลาที่ถูกกล่าวขานกันว่าเป็น Digital Transformation ครั้งใหญ่ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่วันหรือแค่สองสัปดาห์ จากสิ่งที่นักการตลาดบางคนเรียกกันว่า Covid Disruption ถ้าไม่ปรับธุรกิจให้ออนไลน์ก็ต้องพร้อมตายจากตลาดไป

จนคำว่าดิจิทัลไม่ใช่ทางเลือกแต่คือทางรอดกลายเป็นคำที่ได้ยินหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมการตลาดบนออนไลน์หรือการทำ Digital marketing ถูกมองว่าเป็นแค่ออฟชั่นเพิ่มหรือตัวเลือกเสริมไม่ใช่ช่องทางหลักของธุรกิจ แต่พอโลกต้องล็อกดาวน์ก็บีบบังคับให้เราต้องปรับธุรกิจมาอยู่รอดด้วยออนไลน์ให้ได้เร็วที่สุดและมากี่สุด จนพอล็อกดาวน์เริ่มคลายไปในหลายประเทศก็ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มมองอนาคตของตัวเองใหม่ในการปรับตัวเข้าสู่ Digital Business ให้ได้เป็นจริงเป็นจัง

เพราะผู้บริโภคจำนวนมากเรียนรู้การทำหลายสิ่งหรือแทบจะทุกอย่างบนดิจิทัลด้วยตัวเองได้เกือบทั้งหมดแล้ว จากสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะประชุมออนไลน์ เรียนออนไลน์ สัมมนาออนไลน์ การซื้อตั๋วฟังคอนเสิร์ตทางออนไลน์ ตัวผมเองก็ได้ลองซื้อก๊อกน้ำทางออนไลน์ครั้งแรก แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ต้องพูดถึงครับ เข้าสัปดาห์งานหนังสือออนไลน์แล้วก็ล้มละลายช้อปไปหมดเป็นหมื่นเหมือนกันอยู่ในงานออฟไลน์เลย

ดังนั้นคอนเซปของรายงาน Facebook Consumer Insight 2021-2022 ฉบับนี้เลยใช้พาดหัวว่าเป็น The Home of Digital Transformation เพราะคนไทยและชาวอาเซียนเรามีการปรับตัวเข้าสู่การทำทุกสิ่งบนออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วมาก แม้จะมีตะขุกตะขักบ้างในตอนต้นแต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าหลายสิ่งราบรื่นและทำออนไลน์ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มมีการปรับบ้านให้เหมาะกับ Everything from Home เพราะเราพบว่าการทำงานอยู่บ้านก็เป็นไปได้ แม้อาจจะต้องเข้าออฟฟิศบ้างบางครั้ง แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญของบริษัทยุคใหม่อีกต่อไป

Digital Behavior After Pandamic พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด

ในปี 2020 หลังจากเกิดการแพร่ระบาดและรัฐบาลออกมาประกาศล็อกดาวน์พร้อมกันทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย เมื่อร้านค้าออฟไลน์ไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ ภาคธุรกิจต้อง Work from home ผ่านออนไลน์ให้ได้ การเรียนการสอนก็ต้องปรับตัวมาออนไลน์ในทันที ทั้งหมดนี้ส่งผลให้โลกออนไลน์และการตลาดดิจิทัลขยายตัวอย่างมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่วัน

การเติบโตของ Digital Economy ในปี 2020 จะใช้คำว่าก้าวกระโดดก็ยังน้อยไป เพราะจากรายงานของ Facebook Consumer Insight 2022 บอกว่าแค่ปีนี้ปีเดียวก็โตเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

เพราะเราต้องทำทุกอย่างบนออนไลน์ให้ได้มากที่สุดจากการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะซื้อของกิน ของใช้ หรือซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงค์ชีวิตในช่วงดังกล่าว จนทำให้เกิดคำว่า New Normal ขึ้นมา

New Normal คือผลลัพธ์ของพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคโควิด19 โดยไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการซื้อของใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน Work From Home ช่วงแรกกระแสเก้าอี้ทำงานมา ตามาด้วยคอมพิวเตอร์แรงๆ ต้องมา คนที่ยังไม่ซื้อใหม่ก็เพิ่มแรมไปก่อน จากนั้นก็ตามมาด้วยอินเทอร์เน็ตที่ต้องแรงพอจะประชุมออนไลน์ได้ทั้งวัน แล้วก็เริ่มมีอุปกรณ์เครื่องครัวใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าจะต้องมีอย่างหม้อทอดไร้น้ำมันที่กลายเป็นหม้อที่ต้องมีทุกบ้าน

ในช่วงเวลาเดียวกันก็เกิดพฤติกรรม New Normal ในการหาข้อมูลแบบใหม่ๆ เกิดการบูมขึ้นมาของ Facebook Group ขึ้นมาจากเดิมที่ไม่ค่อยมีคนสนใจอย่างจริงจัง เกิดความนิยมเล่น TikTok ขึ้นมาอย่างฉับพลัน จากดาราสวยๆ ดังๆ ที่คีปลุคบน IG ก็กลายมาเป็นหลุดรั่วสุดเหวี่ยงเมื่ออยู่บนแพลตฟอร์มน้องใหม่นี้ครับ

เราเริ่มเห็นความสำคัญของต้นไม้ เก้าอี้ โซฟา แล้วก็ขยายไปยังเครื่องเสียงโฮมเทียเตอร์ภายในบ้าน เราเริ่มมองหาอุปกรณ์การออกกำลังกายภายในบ้านอย่างจริงจัง (ผมซื้อลู่วิ่งมาสองอันครับ) สรุปได้ว่าจากการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภคขึ้นมากมายจาก​ Covid Transformation ในครั้งนี้ และก็ยิ่งเน้นย้ำมากขึ้นในการล็อกดาวน์ระลอกสอง ระลอกสาม จนถึงระลอกสี่ในปัจจุบันที่ดูยังไม่ค่อยเห็นแสงสว่าง

แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังไม่รู้เหมือนว่าเมื่อเราได้วัคซีนที่ดีพอแบบในต่างประเทศแล้วเราจะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมมากน้อยแค่ไหน ร้านอาหารแบบไหนจะได้ลูกค้าเท่าเดิม เพิ่มขึ้น และลดลงบ้าง เพราะสั่งผ่านแอปก็มากแม้จะช่วงเลิกล็อกดาวน์ตัวเลขผู้ใช้งานก็ไม่ได้ย้อนกลับไปเท่ากับช่วงก่อนหน้าแล้วพ

พฤติกรรมการเข้าโรงหนังไม่รู้ว่าจะกลับไปแน่นล้นโรงเหมือนเดิมอีกต่อไปไหม เพราะบางค่ายหนังก็เริ่มปรับมาฉายทางแอปพร้อมกับโรง แต่ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกพอสมควร ซึ่งจากประสบการณ์ได้ทดลองดูแม้จะแพงแต่ก็รู้สึกว่าฟินดีครับ (คุ้มมากที่ซื้อโฮมเทียเตอร์ 5.1 มาไว้ดูหนังที่บ้าน)

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาครึกครื้นเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจากการอัดอั้นของคนชนชั้นกลางจำนวนมากกันแน่ หลายคนบ่นอยากไปเที่ยวโน่นนี่นั่น แต่แน่นอนว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศคงจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนส่วนใหญ่เลือกทำกัน(แต่อย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ)

ฉะนั้นรายงาน Facebook Consumer Insight 2021-2022 ในปีนี้จะพยายามพาเราไปเห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด19 ครั้งแรกและเราก็เริ่มรู้ว่าจะต้องใช้ชีวิตกับเจ้าโรคระบาดนี้อย่างไรกับการล็อกดาวน์รอบสอง รอบสาม และรอบอื่นๆ

แต่แน่นอนว่าไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นจริงๆ กันแน่ แต่รายงานฉบับนี้ก็บอกให้รู้ว่าบรรดาผู้บริหารจำนวนมากที่พวกเขาได้ไปพูดคุยมา และจากการสอบถามจากผู้บริโภคจำนวนหลายพันคนบอกให้รู้ว่าพวกเขาต่างแน่ใจว่า Digital Economy จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ กลายเป็นเศรษฐกิจหลัก

จากการช้อปปิ้งออนไลน์สินค้าฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นสู่การซื้อของกินของใช้ในชีวิตประจำวันทางออนไลน์เป็นปกติ การซื้อของบนโซเชียลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจ่ายเงินผ่านแอปหรือการโอนต่างๆ จะกลายเป็นอะไรที่ขยายไปสู่โลกออฟไลน์ควบคู่กัน (ทุกวันนี้หลายคนก็เลือกสแกน QR Code จ่ายเงินแทนการพกเงินสดแล้ว)

นอกจากเรื่องความกังวลของโรคระบาดแล้วผู้บริโภคทุกวันนี้ยังใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องธรรมาภิบาล ถ้าบริษัทไหนถูกผู้บริโภคจับได้ว่านิสัยไม่ดี ทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำธุรกิจโดยสร้างมลภาวะต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงใช้ความใหญ่ของธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภคหรือโกงสังคม บอกได้เลยว่าผู้บริโภควันนี้พร้อมสู้ตายบนออนไลน์ คุณคงคุ้นเคยกับกระแสแฮชแท็ก #แบน(แบรนด์ที่ตัวเองไม่ชอบ) กลายเป็นแรงกดดันไปยังภาคธุรกิจได้ไม่น้อย บางช่องเสนอข่าวโน้มเอียงไปอย่างไม่เป็นธรรม เหล่าผู้บริโภคยุคใหม่ก็รวมใจกันกดดันไปยังสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนรายการ

บอกได้เลยว่าการทำธุรกิจวันนี้ต้องโปร่งใส มั่นใจว่ามีเจตนาที่ดี เพราะไม่อย่างนั้นแล้วงบการตลาดที่คุณใช้สร้างแบรนด์มานานปีจะกลายเป็นปุ๋ยภายในไม่กี่นาทีได้เลย

ทั้งหมดของรายงานนี้ก็เพื่อทำให้นักการตลาดและแบรนด์ได้เข้าใจถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในปี 2021-2022 ผู้บริโภคยุคใหม่นี้ใช้ชีวตอย่างไร ทำงานอย่างไร คลายเคลียดอย่างไร เพราะผู้คนในวันนี้ไม่ไดแค่ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่พวกเขาเปลี่ยนนิยามการใช้ชีวิตทุกด้านใหม่หมดอย่างที่ไม่เคยมีใครนึกถึงมาก่อน

บ้านจากที่เคยมีไว้แค่พักผ่อนกลายมาเป็นทุกอย่างในชีวิตอย่างแท้จริง เราต้องเรียนในบ้าน ทำงานในบ้าน คนรุ่นใหมจำนวนมากเลยเริ่มนิยามความหมายของคำว่าบ้านเปลี่ยนไป คอนโดอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เป็นตัวเลือกแรกของคนรุ่นใหม่ เมื่อพวกเขาพบว่าบริษัทยุคใหม่เปิดโอกาสให้ Work From Home ได้มากขึ้นแม้จะไม่ใช่ช่วงล็อกดาวน์ เทรนด์การมองหาบ้านจริงๆ ก็เริ่มเพิ่มขึ้นมาก และยังมีอีกมากที่เปลี่ยนไปเพราะโควิด19

ดังนั้นบ้านคือหัวใจสำคัญของโลกการตลาดยุคใหม่ Digital Transformation ในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเราต้องอยู่บ้าน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าสะดวกสบายในการทำด้วยตัวเองภายในบ้าน คนที่สามารถเข้าใจในจุดนี้ได้ก็จะสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ในปี 2022

เพราะนี่คือ Consumer Insight 2021-2022 ที่ Digital Disruption เกิดขึ้นที่บ้าน เราลองมาสำรวจกันต่อว่า 10 Insight สำคัญของผู้บริโภคไทยและอาเซียนในปี 2022 ที่เป็น Next Normal หลัง New Normal คืออะไรครับ

Top 10 Insights Digital Consumer & New Normal 2022

1. New Digital Consumer is New Normal อาเซียนเราโตเร็วมากแต่ยังโตได้อีกเยอะ

Facebook Report เผย 10 Trends New Normal และ Insight Digital Consumer พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียน 2022

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดและล็อกดาวน์มาตั้งแต่ปี 2020 ก็พบว่ามีผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคนในอาเซียนกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์ ซึ่งจากจำนวนคนเท่านี้เทียบเท่ากับประเทศอังกฤษทั้งหมด และกว่า 78% ของประชากรในอาเซียนทั้งหมดที่มีอายุเกิน 15 ปีขึ้นไปกลายเป็น Digital Consumer อย่างจริงจัง และประเทศที่โตอย่างมากในอาเซียนก็คืออินโดนีเซียครับ

แถมการเติบโตที่น่าทึ่งในภูมิภาคอาเซียนนี้ก็คือในกลุ่มธุรกิจ Online retail ที่โตเร็วมากจนมีการคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2021 นี้น่าจะโตไม่น้อยกว่า 85% จากเดิม ซึ่งจากอัตราการโตขนาดนี้ถือว่าสูงกว่าประเทศอินเดียและบราซิลด้วยซ้ำ

2. Ecommerce become Normal โตขึ้นสองเท่าใน 5 ปี

5 ปีที่ผ่านมาการตลาดออนไลน์หรือการค้าขาย Ecommerce ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการเติบโตส่วนใหญ่เกิดขึ้นยังกลุ่มสินค้าที่คุ้มค่าคุ้มราคาเป็นหลัก ไม่เน้นถูกก็เน้นคุ้ม แต่ไม่เน้นแพงและทั่วไป และการซื้อขายออนไลน์ก็เกิดขึ้นบน Marketplace เป็นหลัก และคาดว่าน่าจะสูงถึง 254,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

แต่ในปี 2021 นั้นตัวเลขการค้าขายบนออนไลน์คาดการณ์ว่ามีมูลค่าประมาณ 132,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าแค่ปีเดียวก็มีสัดส่วนเทียบเท่ากับ 5 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 14%

3. Varity is New Normal ซื้อออนไลน์หลากหลายขึ้น 60%

ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนที่เป็น Digital Consumer นั้นมีพฤติกรรมที่ซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีความหลากหลายกว่าก่อนมาก จากเดิมก่อนหน้าเราเคยซื้อโดยเฉลี่ยแค่ประมาณ 5.1 ชนิดประเภทสินค้าเท่านั้น แต่ในปี 2021 มาโดยเฉลี่ยนแล้วผู้บริโภคชาวอาเซียนกล้าซื้อของออนไลน์มากประเภทขึ้น เพิ่มขึ้นกว่า 60% จาก 5.1 ประเภทไปถึง 8.1 ประเภท

เมื่อดูในรายละเอียดคือชาติที่ซื้อของออนไลน์หลากหลายประเภทมากที่สุดคืออินโดนีเซีย โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาซื้อสินค้าทางออนไลน์กว่า 8.8 ประเภทด้วยกัน ส่วนผู้บริโภคชาวไทยนั้นก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยไปอยู่ที่ 8.3 ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าถ้าเป็นเรื่องช้อปปิ้งออนไลน์คนไทยนั้นมีประสบการณ์และความกล้าไม่น้อยหน้าใครในอาเซียนก็ว่าได้ครับ

4. E-wallet is New Normal ถ้าเลือกได้ขอจ่ายผ่านแอปเป็นหลัก

E-wallet หรือการจ่ายเงินผ่านมือถือไม่ว่าจะด้วยแอปใดๆ ก็ตามกลายเป็นวิธีการชำระเงินยอดนิยมไม่ใช่แค่ของคนไทย แต่ยังนิยมกันไปทั่วทั้งอาเซียน ข้อหนึ่งคือเรื่องของความปลอดภัยในการสัมผัสเงินสดจากมือที่อาจจะมีเชื้อโรคแฝงปนมาอยู่ได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนบอกว่าพวกเขาเลือกที่จะจ่ายเงินผ่านแอปหรือการสแกนต่างๆ มากถึง 37%

และมีผู้บริโภคอีกแค่ 28% เท่านั้นที่บอกว่าถ้าเลือกได้ขอจ่ายเงินสดมากกว่า และเมื่อถามลงลึกไปถึงเหตุผลว่าทำไมถึงยังไม่ยอมใช้แอปจ่ายเงินแทนก็ได้ 3 คำตอบสำคัญดังนี้

  1. กังวลเรื่องความปลอดภัย กลัวว่าจะถูกแฮกหรือโกงได้
  2. กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว กลัวหน่วยงานภาครัฐจะรู้ว่าตัวเองใช้เงินกับอะไร
  3. ไม่ชอบที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกับบางช่องทาง (แต่รู้สึกว่าเมืองไทยจะไม่มีในจุดนี้เท่าไหร่ของฟากลูกค้า)

5. Buying Online is New Normal ไม่ใช่แค่ช้อปปิ้งออนไลน์ แต่กลายเป็นซื้อทุกสิ่งบนออนไลน์

Facebook Report เผย 10 Trends New Normal และ Insight Digital Consumer พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียน 2022

แต่เดิมการออนไลน์มีไว้เพื่อแค่ช้อปปิ้งของบางสิ่งสำหรับบางคน แต่เมื่อเราต้องล็อกดาวน์แล้วก็ทำทุกอย่างภายในบ้านแบที่ออกไปไหนไม่ได้ พฤติกรรมการซื้อทั้งหมดก็ต้องถูกย้ายขึ้นมาออนไลน์แบบทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจก็ตาม และนั่นก็ทำให้การซื้อของใช้ที่จำเป็นถูกย้ายขึ้นมาบนออนไลน์ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนที่ต้องการจะซื้อของสักอย่างหรือหลายอย่าง พวกเขาแทบจะไม่ออกจากบ้านถ้าการไปยังร้านค้าไม่ได้ทำให้รู้สึกดีหรือจำเป็นกว่าออนไลน์แต่อย่างไร

ยังไม่นับว่าการส่งสินค้าที่รวดเร็วขึ้นมากจนรู้สึกว่าสั่งคืนนี้ดีไม่ดีพรุ่งนี้บ่ายก็ได้รับของแล้ว จากการสอบถามผู้บริโภคได้ข้อมูลว่ากว่า 80% หาข้อมูลบนออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อทั้งนั้น และมีอีกกว่า 35% ที่บอกว่าพวกเขาเลือกซื้อทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อถามลงไปว่าระหว่างการซื้อออนไลน์หรือออฟไลน์ คุณสะดวกใจเลือกแบบไหนมากกว่ากัน พวกเขาตัดสินใจช่องทางออนไลน์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีมากถึง 7 ใน 10 เลยทีเดียวที่บอกว่าถ้าเลือกได้ขอซื้อออนไลน์แล้วกัน

6. Social Video is New Normal คนดูวิดีโอบนโซเชียลมีเดียเยอะขึ้น 3 เท่า

คอนเทนต์ประเภทวิดีโอบนโซเชียลมีเดียไม่เคยเป็นที่นิยมมากเท่าทุกวันนี้ ตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ของ TikTok ก็ทำให้คลิปวิดีโอสั้นๆ กลายเป็นที่นิยมขึ้นมา Instagram ก็ปรับตัวเข้ามาทำ Reel เพื่อตอบรับกับเทรนด์ใหม่ของ Gen Z ที่เกิดขึ้นแบบปังพร้อมกันทั่วโลก

ล่าสุด YouTube ก็อัพเดทฟีเจอร์นี้เข้ามาพร้อมกับเทคนิคสอนเคล็ดลับว่าจะทำวิดีโอสั้นๆ อย่างไรให้ได้เงินเดือนละ 300,000 บาท และเมื่อทำการสำรวจผู้คนที่นิยมใช้โซเชียลมีเดียในเมืองพบว่ามีมากถึง 22% ที่บอกว่าชอบเสพย์คอนเทนต์ประเภทนี้มาก และตัวเลขนี้ก็สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้าถึง 3 เท่า บอกได้เลยว่านี่คือยุคของ Social Video ที่แท้จริง (ซึ่งสิ่งนี้ไม่เหมือนกับ Video Content ที่ผ่านการปรุงแต่งมาอย่างดีจากแบรนด์นะครับ)

7. Quality is New Normal ผู้บริโภคออนไลน์ยุคใหม่ไม่สนใจแค่ราคาอีกต่อไป

Facebook Report เผย 10 Trends New Normal และ Insight Digital Consumer พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียน 2022

เดิมทีเคยเชื่อกันว่าเวลาคนซื้อของออนไลน์มักจะมองหาแต่ราคาที่ถูกที่สุดเท่านั้น แต่ในวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยและอาเซียนเปลี่ยนไปมาก พวกเขากลับให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและประสบการณ์จากการใช้งานมากกว่าแค่ดูที่ราคาที่ถูกที่สุดเสมอไป

Digital consumer มีเว็บไซต์ในการช้อปออนไลน์โดยเฉลี่ย 7.9 เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์ม สูงขึ้นจากปี 2020 ถึง 52% และกว่า 51% ของผู้บริโภคก็บอกว่าพวกเขาเปลี่ยนใจไปซื้อแบรนดืใหม่ได้ง่ายขึ้น แม้จะเคยซื้อจากแบรนด์นี้หรือคนนี้นี้มาเยอะมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาให้เหตุผลว่าราคาที่ถูกที่สุดไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเสมอไป(ยกเว้นครั้งแรกๆ จนพบว่ามันแย่เกินกว่าจะทนรับได้) พวกเขาเลยขยับไปมองหาของที่ดีขึ้นมากกว่า มองหาว่าซื้อจากร้านไหนแล้วสามารถส่งได้เร็วทันใจมากขึ้น แม้จะต้องจ่ายแพงขึ้นอีกนิดเพื่อความเร็วก็ยอม

8. Consciousness is New Normal ผู้บริโภคยุคใหม่ใช้ใจมากขึ้น

Facebook Report เผย 10 Trends New Normal และ Insight Digital Consumer พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียน 2022

สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบ ธรรมาภิบาล กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคยุคใหม่ชาวไทยและอาเซียนให้ความสำคัญอย่างมาก พวกเขาพร้อมเปลี่ยนใจจากแบรนด์เดิมที่เคยใช้มานานถ้าพบว่าแบรนด์นี้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีที่ไม่เป็นที่ยอมรับในความเห็นของสังคม

9 ใน 10 ของผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งชาวไทยและอาเซียนบอกว่ายินดีจะจ่ายเพิ่มขึ้นถ้าแบรนด์นั้นใส่ใจในเรื่องธรรมาภิบาล และ 8 ใน 10 ก็บอกว่ายินดีจะจ่ายแพงขึ้นอีกถึง 10% ถ้าเห็นว่าแบรนด์นั้นสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนมากกว่าแบรนด์อื่น

9. Home become New Normal เมื่อบ้านเป็นศูนย์กลางของชีวิต

นิยามของคำว่าบ้านเปลี่ยนไปอย่างมากในยุค New Normal หลังจากการล็อกดาวน์อันยาวนานพร้อมกันทั่วโลกทำให้เราทุกคนเรียนรู้ว่าบ้านไม่ใช่แค่ที่นอน ไม่ใช่แค่ที่พักพิงชั่วคราวหลังเลิกงาน แต่บ้านกลายเป็นทุกสิ่งและทุกอย่าง ของทุกคนในบ้านอย่างแท้จริง

เราไม่เคยคิดว่าบ้านต้องมีสิ่งนี้ก็ต้องมี บ้านไม่ต้องมีสิ่งนั้นก็ต้องหามา ใครจะคิดว่าเราจะต้องนั่งทำงานที่บ้านยาวนานกว่า 8-10 ชั่วโมงในแต่ละวัน แล้วใครจะคิดอีกว่าเราจะต้องทำงานไปพร้อมกับช่วยลูกเรียนออนไลน์ไปพร้อมกัน

และนั่นเองก็ทำให้คนจำนวนมากกว่า 9 ใน 10 เชื่อว่าการ Work From Home จะยังคงมีอยู่บ้างแม้สถานการณ์จะดีขึ้น การเข้าออฟฟิศจะลดลงเหลือแค่เท่านี่จำเป็นหรืออาจจะมาจากความจงใจไปเจอเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่การทำงานที่ออฟฟิศตลอด 5 วันเต็ม 8 ชั่วโมงแบบเดิมจะกลายเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

และแม้หลังการล็อกดาวน์ผู้คนจะเลือกออกไปซื้อข้าวของนอกบ้านบ้างเหมือนเก่า แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบก่อนหน้าล็อกดาวน์แต่อย่างไร เพราะกว่า 75% ก็จะยังคงเลือกซื้อของทางออนไลน์แล้วให้มาส่งที่บ้านเมืองเดิม

แถมผู้บริโภคจำนวนมากบอกว่าพวกเขาชอบที่จะซื้อของกิน ของใช้ ข้าวของต่างๆ จากที่บ้านมากกว่าจะออกไปช้อปปิ้งนอกบ้านแบบแต่ก่อน และบ้านก็กลายเป็นทุกสิ่งของเราจริงๆ ตั้งแต่พื้นที่ทำงาน พื้นที่ซื้อของเข้าบ้าน แล้วก็พื้นที่พักผ่อน กับพื้นที่ส่วนตัวของเราในบางครั้ง

10. Investment in New Normal Business

และเรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือการลงทุน เม็ดเงินการลงทุนจาก Venture Capital จำนวนมากถูกย้ายเข้าไปยังกลุ่มธุรกิจ Startup ที่เป็น FinTech, E-learning, Ecommerce และธุรกิจต่างๆ ที่ดูแววว่าจะเข้ามาเป็น Digital Disruption มากมายในภูมิภาคอาเซียนนี้รวมถึงประเทศไทย

กว่า 80% ของเงินทุนจาก Venture Capital ถูกลงทุนไปกับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและออนไลน์เป็นหลัก และก็ดูเหมือนว่าในกลุ่มธุรกิจ FinTech จะได้รับเงินลงทุนไปมากที่สุด ส่วนหนึ่งก็เพราะกระแสของ Cryptocurrency ที่มาแรงมาก มีแอปเทรดมากมาย มี DeFi เกิดขึ้นจนธนาคารยังต้องลงมาเล่นด้วย เชื่อได้ว่าธุรกิจการเงินในภูมิภาคนี้น่าจะเป็นต้นแบบให้หลายๆ ที่บนโลกในอนาคตอันใกล้ครับ

สรุป 10 Insight Digital Consumer และ New Normal 2022 จาก Facebook Report

จะเห็นว่าในภาพรวมวิธีชีวิตเราทุกคนเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับจากเจ้าเชื้อไวรัสตัวเล็กโควิด19 ซึ่งทำให้เราทุกคนบนโลกต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านด้วยความไม่เต็มใจ แต่ก็กลายเป็นว่ามันก็ทำให้เราทุกคนมีพัฒนาการในเรื่องของ Digtial Skills อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

ภาคธุรกิจที่เคยพยายามทำ Digital Transformation มานานหลายปีก็สามารถทำได้ทันทีภายในไม่กี่สัปดาห์ ใครจะคิดว่าเราจะเรียนออนไลน์ได้อย่างจริงจังก็เกิดขึ้นมาแล้ว ใครคิดว่าเราไม่มีทางประชุมออนไลน์กับลูกค้าให้รอดได้แต่ก็รอดกันไม่ได้มากมายกว่าที่คิด

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจนกลายเป็น New Normal ที่แท้จริงในทุกด้าน ที่สำคัญคือพฤติกรรมการซื้อสินค้าของเราที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดไม่น่าเชื่อ จากเดิมกว่าจะทำได้ตัวเลขขนาดนี้ต้องใช้เวลานานหลายปี แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ทุกอย่างที่เป็นดิจิทัลและออนไลน์กลับโตแบบก้าวกระโดดในระดับที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์ได้มาก่อน

ในบทหน้าจะพาเจาะลึก Insight ของธุรกิจ Ecommerce และ Online Retail ในปี 2022 ครับ

Source

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *