รายงาน Consumer Insights การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จากข้อมูล Fairtrade

รายงาน Consumer Insights การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จากข้อมูล Fairtrade

วันนี้ปลื้มจะมาเล่า Consumer Insights จากรายงานของ Fairtrade America เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริโภคใช้วัดใน การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค โดยมี 3 ประเด็นหลักๆ ที่ผู้บริโภคเรียกร้อง เพื่อให้นักการตลาดสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ในการสร้างกลยุทธ์การตลาดต่อไปในอนาคตค่ะ

ก่อนอื่นปลื้มขอพูดถึง Fairtrade ก่อนแล้วกันค่ะ เพราะหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Fairtrade คืออะไร? มันคือเครื่องหมายการค้า ที่แสดงถึงระบบการค้าที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนความยุติธรรมในการค้า ทั้งยังสนับสนุนมาตรฐานสากลในเรื่อง แรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม สำหรับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในประเทศกาลังพัฒนาที่ผลิตสินค้าทั้งใช้เองในประเทศ และ ส่งออก ให้ได้รับความเป็นธรรมในราคาสินค้าค่ะ

รายงาน Consumer Insights การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จากข้อมูล Fairtrade

โดยตั้งแต่ปี 2019 โลโก้ของ Fairtrade International ได้สร้างการจดจำเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ตามข้อมูล ในรายงานของ Fairtrade America เขาได้ทำแบบสำรวจเกี่ยวกับแบรนด์ผู้บริโภคของ Fairtrade ใน 15 ตลาด จากสำรวจผู้บริโภคออนไลน์จำนวน 2,387 คน พบว่าผู้ซื้อในสหรัฐฯ ยอมรับเครื่องหมายการค้าของ Fairtrade ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 41% (2021 GlobeScan) จึงทำให้เห็นว่าผู้บริโภคพร้อมแล้วที่จะสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและโลกใบนี้ค่ะ  ดังนั้นเรามาดู Consumer Insights ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจกันเลยดีกว่าค่ะ 

ผู้บริโภคเรียกร้องสิทธิมนุษยชน 

นอกเหนือจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคก็เริ่มกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและค่าแรงที่เป็นธรรมของคนผู้ผลิตต้นทางมากขึ้นเรื่อยๆ จากการรายงานปี 2021 73% ของผู้ซื้อ Fairtrade เต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรและผู้ผลิตจะได้รับเงินในราคาที่ยุติธรรม โดยเห็นได้ชัดจากการซื้อกาแฟ Fairtrade เพิ่มขึ้น 35% ต่อปอนด์ รวมถึงช็อกโกแลต Fairtrade ก็เพิ่มขึ้น 30% ต่อบาร์ เช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้เหล่าผู้บริโภคของ Fairtrade ยอมรับว่าเวลาที่เขาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก Fairtrade นั้น พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ลุกขึ้นยืนเพื่อปกป้องความเป็นธรรมและความยุติธรรมในสังคมค่ะ 

ซึ่งนักการตลาดสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของเราได้ โดยการสร้างจุดยืนเกี่ยวกับการให้คุณค่ากับผู้ผลิตต้นทางอย่างเกษตรกร ชาวไร่ และชาวสวน เป็นต้น หรือทำ CRM/CSR ที่มุ่งสู่ชุมชนมากขึ้น เพื่อภาพลักษณ์และวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างความยั่งยืนของแบรนด์ได้อีกด้วยค่ะ 

ชอปปิงออนไลน์แบบชาญฉลาด

ในขณะที่โลกกำลังกลับมาเปิดมาอีกอย่างช้าๆ ท่ามกลางโรคระบาดครั้งใหญ่ เกิดเป็นผลทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น จากข้อมูล Digital Commerce 360 บอกว่า มีการใช้จ่าย E-Commerce เพิ่มขึ้นถึง 32.45% ในปี 2020 และมีแนวโน้มที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องต่อไปในปี 2022 การคาดการณ์ของ Fairtrade ค่ะ

Fairtrade เขาพยายามจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เป็นดิจิทัลนี้จะทำให้ผู้ซื้อสามารถเปรียบเทียบสินค้าได้ง่ายขึ้นและผู้บริโภคก็มักจะตรวจสอบเครื่องหมายรับรองเพื่อความสบายใจในการซื้อด้วยเหมือนกัน คงจะเหมือนกับที่เราซื้อเลือกตู้เย็น จากตราประหยัดไฟเบอร์ 5 นั่นเองละมั้งคะ 

ซึ่ง Fairtrade เองก็ได้ร่วมในโครงการ Climate Pledge Friendly ของ Amazon ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และ Amazon เปิดโครงการนี้ขึ้นมาด้วยสาเหตุที่ว่าผู้คนกำลังค้นหาทางเลือกที่ยั่งยืนในชีวิตประจำวันของตัวเองมากขึ้น ดังนั้นจากข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นว่า  Insights ที่ Fairtrade รายงานก็สอดคล้องกับสิ่งที่ Amazon ได้เริ่มทำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าสินค้าที่เขานำมาขายนั้นได้เครื่องหมายการค้ารับรองจะองค์กรที่เกี่ยวข้องจริงๆ 

นักการตลาด สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์สินค้าเราได้อีกขั้นจากเครื่องหมายการค้าที่รับรองสินค้าของเราว่าปลอดภัย ถูกต้อง โปร่งใส ปลื้มเองก็มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลดีต่อแบรนด์ด้วย เพราะมันสามารถลดคำถามที่ลูกค้าสงสัยไปได้เยอะมากค่ะ และยังเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นให้กับแบรนด์ของเราด้วย

ต้องการความโปร่งใสของแบรนด์

อย่างไรแล้วผู้บริโภค ก็คงไม่ต้องการให้ใครมาเอาเปรียบจริงไหมคะ ซึ่งมีผลสำรวจของ Zeno Group พบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีจุดประสงค์ที่มีความยั่งยืน ถึง 6 เท่า และบวกกับข้อมูลของ IBM Research Insights ที่บอกว่า 71% ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับ หรือ  Traceability เพื่อให้การติดตามแหล่งที่มาของสินค้าเป็นไปได้เร็วขึ้น  และยินดีที่จะจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับแบรนด์ที่ให้บริการอีกด้วย

นี่หมายความว่าแบรนด์ต่างๆ มีโอกาสที่จะดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ รวมถึงรักษาลูกค้าเก่าที่มีอยู่ได้โดยการส่งเสริมเรื่องความโปร่งใสอย่างแท้จริง และทำการสื่อสารออกไปเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความตั้งใจที่ดีของแบรนด์ ทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้แบรนด์อื่นๆ ให้มีอุดมการณ์ที่ถูกต้อง เพราะเรื่องความโปร่งใสมันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและโลกใบนี้มากๆ ค่ะ 

สุดท้ายนี้ Consumer Insights จากรายงานของ Fairtrade ทำให้เห็นว่า การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ในตอนนี้ เขาค่อนข้างที่จะเลือกแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นธรรม โปร่งใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นอย่างมาก เนื่องจากวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น และภัยธรรมชาติภาวะโลกร้อนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มันทำให้พวกเขาต้องระวังตัว ใส่ใจตัวเองและสิ่งรอบข้างมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเองค่ะ

สำหรับนักการตลาดที่อยากให้ปลื้มมาอัปเดต Trends & Insights แบบนี้อีกสามารถกดติดตามเพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนไว้ได้เลยค่ะ

Source : https://www.foodnavigator-usa.com/Article/2021/12/22/Air-fryers-are-fueling-frozen-snack-sales-says-Wholly-Veggie

Yoswimol

🎡PLEUM | Data Research Executive ในเครือการตลาดวันละตอน | สนใจเรื่องการตลาด ชอบดูการแข่งขันทางการตลาด และเป็นทาสตลาด... ทุกบทความตั้งใจเขียนมาก ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคะ มันเป็นกำลังใจที่ทำให้อยากเขียนต่อไปเลย☺️

One thought on “รายงาน Consumer Insights การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จากข้อมูล Fairtrade

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *