รู้จัก Bragger Marketing กลยุทธ์จัดการพฤติกรรมขี้อวดของคนไทย

รู้จัก Bragger Marketing กลยุทธ์จัดการพฤติกรรมขี้อวดของคนไทย

หลังจากที่ปลื้มได้ฟัง Live สด หัวข้อ “Bragger Marketing รู้ก่อนใครได้ใจคนชอบอวด” ที่จัดขึ้นโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) มาแล้ว ปลื้มก็เลยจับประเด็นที่น่าสนใจมาให้นักการตลาดได้นำไปปรับใช้กันค่ะ และยิ่งเป็น Insights พฤติกรรมของคนไทยด้วยแล้วปลื้มไม่อยากให้พลาดเลย

ต้องบอกว่าการอวดเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์สังคมที่บ่งบอกถึงการมีตัวตน แสดงสถานะทางสังคม รวมถึงการแสดงรู้สึกถึงความสุข เพื่อให้คนอื่นอิจฉาในสิ่งที่เรามีหรือสิ่งที่เราได้รับ อาจจะเป็นสิ่งของ การบริการ หรือ หน้าตา รูปร่างของเราเองก็ได้ เพราะทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่พฤติกรรมของการซื้อได้ค่ะ 

ซึ่งเห็นชัดจากเคส กล่องสุ่มพิมรี่พายที่เป็นกระแสหนักมาก เพราะคนที่สุ่มได้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ ทอง ของแบรนด์เนม โทรศัพท์ และเงินสด ต่างก็ออกมาอวด มาโชว์บนโซเชียลถึงความโชคดีนั้น ทำให้คนที่เห็นอดใจไม่ไหว ที่จะรอ CF กล่องสุ่มพิมรี่พายครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังมีกระแสสะสมแก้วน้ำจากร้านกาแฟชื่อดังอเมซอน ที่คนออกมาโพสต์อวดถึงความพยายามในการตื่นมาต่อคิวซื้อตั้งแต่เช้ามืด หรืออวดที่สามารถซื้อแก้วได้ครบทุกสี

เป็น​อย่างไรบ้าง​คะ? นักการตลาดเห็นถึงพลังความชอบอวดของผู้คนแล้วหรือยังคะ มันเป็น Positive กับแบรนด์ได้จริงๆ

แต่ก่อนที่จะไปดู Insights แบบเจาะลึก เรามาทำความรู้จัก Bragger Marketing กันสักเล็กน้อยค่ะ มันเป็นวิธีการช่วงชิงพฤติกรรมการอวดของผู้บริโภค หากแบรนด์ไหนทำให้ลูกค้าโพสต์อวดได้ ก็จะสร้างการรับรู้และการมองเห็นให้แบรนด์ได้ เปรียบเสมือนการรีวิวโดยที่แบรนด์ไม่เสียเงินจ้างรีวิวนั่นเองค่ะ แถมได้รับการโฆษณาโดยที่แบรนด์ไม่รู้ตัวอีกด้วยนะ ส่วนประเภทของการอวดจากข้อมูลวิจัยเขาบอกว่าการอวดมี 2 ประเภทหลักๆ ก็คือ การอวดแบบเปิดเผย อวดแบบให้โลกรู้ว่าเราต้องการอวด เรียกว่า Bragger และ การอวดแบบถ่อมตน อวดแบบไม่อวด เรียกว่า Humble Bragger ค่ะ ซึ่งปลื้มคิดว่าตัวเองเป็นกลุ่ม Humble Bragger แต่ไม่ใช่เพราะอยากอวดแบบถ่อมตนหรอกนะคะ เพราะไม่มีอะไรให้อวดต่างหาก // 😂 ขำๆ นะคะ

ส่วนนี้เป็นข้อมูลประชากรศาสตร์ที่ CMMU เขาได้ไปเก็บมาทั้งหมดจำนวน 810 คน แบ่งเป็นวิจัยเชิงปริมาณ ใช้วิธีสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 750 คน และวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง 60 คน จากข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง รายได้อยู่ที่ 25,001 – 50,000 บาทต่อเดือน และเป็นกลุ่ม Gen Y ซึ่งปลื้มอยากให้นักการตลาดได้ทราบถึงที่มาของข้อมูล จะได้ไม่เกิดความสงสัยในผลวิจัยที่ออกมาค่ะ ดังนั้นเรามาดูผลวิจัยในแต่ละหัวข้อกันเลยค่ะ

สิ่งที่คนอยากจะออกมาอวดกัน

โดยเหตุผลหลักๆ ที่คนอยากอวดก็คือ ‘การที่อยากให้คนอื่นรู้ว่า เรามีสิ่งที่ดีที่สุด’ ซึ่งสิ่งที่คนอยากจะอวดกันก็หนีไม่พ้นของแบรนด์เนม เพราะว่าราคาสูงและเป็นที่ต้องตาต้องใจของใครหลายๆ คน ถ้ามีของแบรนด์อยู่กับตัวใครจะไม่อยากอวดจริงไหมคะ ต่อมาก็คือการบริการ พวกเขาจะอยากอวดก็ต่อเมื่อไปใช้บริการมาแล้ว แล้วมันดี ประทับใจ ก็เลยอยากจะแชร์หรือบอกต่อคนอื่นๆ 

และสุดท้ายคือเรื่องของไลฟ์สไตล์ ชีวิตประจำวันที่คนอยากจะอวด ไม่ว่าจะถ่ายรูปที่ไหน กินอะไร ใช้อะไรในแต่ละวัน หากถ้าโพสต์มากๆ จะทำให้ผู้คนจดจำถึงรสนิยม ความชอบของเราได้เอง สังเกตได้จาก Influencer หรือ KOL ที่มักจะตั้งใจให้เรารู้ว่าเขาเป็นแบบไหน เพื่อให้แบรนด์เลือกให้เขารีวิวสินค้าและบริการได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

คนชอบโพสต์หรือแชร์อะไรมากที่สุด

สิ่งที่คนชอบโพสต์หรือแชร์มากที่สุดคือ เรื่องของการท่องเที่ยวมากที่สุดถึง 33% อันดับต่อมาเป็นของกินของใช้อยู่ที่ 25.5% ร้านอาหารร้านกาแฟ 19.2% เรื่องข่าวสารทั่วไป 10.8% พวกเทคโนโลยี  4.8% และสุดท้ายการลงทน 4% ตามลำดับค่ะ จาก 3 อันดับแรกที่กล่าวมาทำให้เห็นว่านักการตลาดหรือธุรกิจประเภทเหล่านี้ สามารถใช้กลยุทธ์ Bragger Marketing เพื่อเพิ่มการมองเห็นจากผู้บริโภคได้ง่ายกว่าธุรกิจอื่นๆ 

ยิ่งธุรกิจท่องเที่ยว ผู้คนชอบที่จะเช็กอิน ถ่ายรูป โพสต์อวดบนโซเชียลอยู่แล้ว ดังนั้นการจัดมุมถ่ายรูป ความสวยงามเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงหน้าโปรโฟล์ของร้านด้วย เมื่อผู้คนเกิดความสนใจก็จะคลิกเข้าไปดู และตัดสินใจในที่สุดค่ะ

นอกจากนี้ ปลื้มขอแทรกธุรกิจที่สามารถใช้โอกาสจากความขี้อวดของคนมาเป็นกลยุทธ์การตลาดได้ตั้งแต่การสร้าง Awareness จากการเลือกใช้ Influencer หรือ KOL ที่มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสม รวมถึงการออกแบบบริการที่มีความพิเศษและก็มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น เพื่อสร้าง Engagement ที่ดีจากผู้คนที่เริ่มเข้ามาสนใจแบรนด์ จนพวกเขาเกิด loyalty ต่อแบรนด์ในที่สุด มาเริ่มจากธุรกิจประเภทแรกเลยค่ะ

  • Brandname กลยุทธ์จับกลุ่มผู้คลั่งไคล้สินค้าแบรนด์เนม อย่างที่ปลื้มได้บอกตั้งแต่แรกว่าของแบรนด์เนมมันเป็นสินค้าที่ราคาสูง คนก็เลยชอบเอามาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอกสถานะทางสังคมของตัวเอง 

โดยกลยุทธ์ที่แนะนำธุรกิจแบรนด์เนม ดังนี้

1. เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ และ KOL ที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมกับสินค้า และกลุ่มเป้าหมาย

2. นำเสนอความคุ้มค่า 

3. ใช้วิธีการสื่อสารที่สะท้อนถึงความสำเร็จในชีวิต 

4. มอบของขวัญพิเศษ สำหรับลูกค้าคนสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อหรือแชร์

  • Restaurant เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันมันทำให้เห็นไลฟ์สไตล์ คนก็เลยอยากแสดงออกให้เห็นถึงการได้รับประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างและเหนือกว่าผู้อื่น เช่น การกินอาหารหรูๆ​ ร้านอาหารดีๆ แพงๆ เป็นต้นค่ะ

โดยกลยุทธ์ที่แนะนำธุรกิจร้านอาหาร ดังนี้

1. มีเมนูและการตกแต่งร้านที่สวยงามให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียลได้

2. สร้างความยากในการเข้าถึง ไม่ได้ทานได้ง่ายๆ 

3. รักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับที่สูงอยู่เสมอ

4. การได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีชื่อเสียง แต่ให้ระวังการกดไลก์หรือแชร์เพจ เพื่อแลกรับส่วนลด ไม่สามารถดึงลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์ได้ตลอด

  • Accommodation ที่พักที่ราคาแพง ใครๆ​ ก็อยากอวดอยู่แล้ว ยิ่งถ้าได้รับการบริการที่ดีและก็การดูแลที่ดี คนก็อยากจะ เช็กอิน รีวิว กันทั้งนั้นค่ะ

โดยกลยุทธ์ที่แนะนำธุรกิจที่พัก ดังนี้

1. มีจุดถ่ายรูปตามธีมเทศกาลต่างๆ 

2. จัดกิจกรรมตามสิ่งที่กำลังเป็นกระแส 

3. มอบสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมที่จะได้รับการบริการเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป 

4. ให้ความสำคัญกับรีวิวใน Travel Booking Platform ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น โรงแรม The Peninsula เทศกาลจุดพลุเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ไอคอนสยาม เป็นต้น

  • Gym ซึ่งคนที่อวดในธุรกิจประเภทนี้ คือพวกเขาอยากอวดรูปร่างที่ดีจากความพยายามของตนเอง เหตุผลที่ต้องการอวดเพื่อให้ตนเองดูดีในสายตาผู้อื่น คนก็เลยจะชอบถ่ายรูปเวลาที่ตัวเองเข้าฟิตเนสอยู่บ่อยๆ 

กลยุทธ์ที่แนะนำธุรกิจยิม ดังนี้ 

1. คอยติดตามกระแสที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่เสมอ และมีส่วนร่วมกับกระแสให้ทันอยู่ตลอดเวลา 

2. สร้างเทรนด์การออกกำลังกาย หรือการปั้นหุ่นในฝัน โดยทางฟิตเนสอาจสร้างชาเลนจ์เพื่อให้เกิดกระแสไวรัล (Viral) ในโซเชียลมีเดีย ระวังคนมักจะไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรม ถ้ามีโอกาสสำเร็จน้อย

แพลตฟอร์มที่คนนิยมใช้มากที่สุดในการอวด

สำหรับช่องทาง หรือ Platform ที่คนนิยมใช้มากที่สุดในการอวด มงได้ลงที่ Instagram ค่ะ เพราะว่าผู้คนมักจะโพสต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เช่นวันนี้กินข้าวที่ไหน ร้านอะไร แต่งตัวอย่างไร และชอบทำอะไรประมาณนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วฟีเจอร์ Instagram ที่ผู้คนใช้ในการอวด ก็คือ IG Story นั่นเองค่ะ 

พฤติกรรมคนไทยที่ชอบอวดมากที่สุด

สรุปผลวิจัยพฤติกรรมคนไทยชอบอวดมากที่สุด พบว่าเป็นเพศทางเลือก LGBTQ+ รายได้อยู่ที่ 15,001 – 25,000 บาทต่อเดือน และเป็น Gen Z ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่พวกเขาต้องการให้คุณค่ากับตัวเองมากขึ้น มันเป็นการอัปสกิล Level ในชีวิตบางอย่าง และในสังคมไทยผู้คนชอบอวดแบบ Humble Bragger หรืออวดแบบถ่อมตนมากกว่าค่ะ ทั้งนี้การอวดด้วยการรีวิว หรือแชร์ มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อ เพราะว่าพอเห็นคนอื่นเขาอวดเขาโพสต์กันมากๆ คนที่เห็นก็จะรู้สึกอยากได้ขึ้นมา อยากไปซื้อมาอวดแบบเขาบ้างแบบนี้ค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ Insights พฤติกรรมที่ชอบอวดของคนไทย เป็นผลดีกับแบรนด์มากๆ เลยใช่ไหมค่ะ และปลื้มเชื่อว่า Bragger Marketing จะเป็นการทำการตลาดที่นักการตลาดสามารถหยิบเอาไปปรับใช้ได้มากทีเดียว เพราะทุกวันนี้ ใครที่มีโซเชียลในมือก็สามารถเป็น Influencer ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์อวดเฉยๆ บอกต่อ รีวิว และ แชร์ ล้วนแต่ทำให้แบรนด์ได้รับ Awareness ทั้งนั้นค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Yoswimol

🎡PLEUM | Data Research Executive ในเครือการตลาดวันละตอน | สนใจเรื่องการตลาด ชอบดูการแข่งขันทางการตลาด และเป็นทาสตลาด... ทุกบทความตั้งใจเขียนมาก ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคะ มันเป็นกำลังใจที่ทำให้อยากเขียนต่อไปเลย☺️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *