การตลาดครีมซอง Skin Care 2022 ที่แบรนด์ไหนก็หันมามอง

การตลาดครีมซอง Skin Care 2022 ที่แบรนด์ไหนก็หันมามอง

สวัสดีครับ บทความนี้จะขออนุญาตมาถอดรหัสการทำ การตลาดครีมซอง ให้คุณสามารถนำไปเป็น Case Study หรือ Marketing Model เพื่อต่อยอดในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดกันครับ

งั้นก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นจากการค้นหาต้นตอของตลาดครีมซองกันก่อน ว่าครีมซองเริ่มเป็นกระแสขึ้นมาได้อย่างไร โดยเราสามารถเริ่มต้นง่ายๆ จากการหาคำค้นหา Keyword ใน Google Trends ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ฟรีเลยครับ

จุดเริ่มต้นของครีมซอง

Cream sachet search volume in Thailand

ครีมซอง เป็นสินค้าที่ทุกวันนี้ ถ้าเรานั่งดู Reviewer หรือ Influencer ที่รีวิวสินค้าประเภท Skin Care สัก 10 รีวิว จะเห็นว่าอย่างน้อยสัก 5-6 รีวิว จะมีการพูดถึงครีมซอง 1 แบรนด์เสมอ 

จากภาพจะเห็นว่า ครีมซอง เริ่มเป็นคำที่ถูกค้นหาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2552 (2009) จากการค้นหาข้อมูลในช่วงเวลานั้น พบว่าการค้นหาข้อความนี้เริ่มมี Search Volume จากการที่ร้านสะดวกซื้อ มีการนำสินค้าประเภทSkin Care มาจัดจำหน่ายในปริมาณที่ย่อส่วนลงจากปกติที่จัดจำหน่าย

แต่ตัวสินค้าที่นำมาขายนั้นมีราคาค่อนข้างสูง จึงอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไร สำหรับร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านที่ควรจะขายสินค้าในราคาที่จับต้องได้ง่าย ซึ่งในเบื้องต้นครีมซองในช่วงเวลานี้ยังถูกมองอยู่ในบริบท ครีมซอง ที่เป็นครีมขนาดทดลองมากกว่า มาถึงตรงนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจเท่าไรนัก ว่าทำไมครีมซองถึงเป็นที่นิยมขึ้นมา

เพื่อให้เข้าใจตลาดมากขึ้น ผมเลยลองใส่ Keyword ในส่วนของแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าเป็นประเภทครีมซองเพิ่ม โดยเลือกจากสินค้าที่เห็นวางจำหน่ายบนร้านสะดวกซื้อในปัจจุบัน ซึ่งจะขอหยิบแบรนด์ที่น่าสนใจมาประมาณ 4 แบรนด์ด้วยกันครับ ได้แก่ Smooto, Skinsista, Ponds (แบบซอง), Olay (แบบซอง)

(Ponds กับ Olay ผมเลือก Keyword เป็นคำภาษาไทยมาใส่เนื่องจากคน Search จำนวนมากกว่า)

Search Volume of 4 brands in Cream sachet market.

จะเห็นว่า Smooto มี Search Volume ที่ค่อยๆสูงขึ้น ในปี พ.ศ.2556 (2013) และพุ่งสูงมากในช่วงปี พ.ศ. 2559 (2016) และยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง

ผมเลยลองเอาคำว่า Smooto ไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่คำว่า ครีมซอง เริ่มมี Search Volume ที่สูงขึ้นด้วย แล้วก็ได้พบว่าเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันพอดี

Comparing Search Volume between 2 keyword search.

จากที่ได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมคาดว่า ในเวลานั้นแบรนด์ Smooto อาจมองเห็น Painpoint เรื่อง Skin Care ในร้านสะดวกซื้อที่ราคาค่อนข้างสูง จึงกระโดดเข้ามาเปิดตลาด สำหรับการขายSkin Care ราคาย่อมเยารูปแบบซองเป็นกลุ่มแรกๆ ในราคา 39 บาท

ด้วยราคาที่ถูก รูปแบบ Packaging ที่พกพาง่าย ได้ปริมาณที่สามารถทดลองใช้ได้ แถมมีจุดเด่นคือใช้ความเป็นเซรั่มมะเขือเทศที่ 1 ซองเหมือนใช้มะเขือเทศ 10 ลูกเป็นจุดขาย และที่สำคัญคือหาซื้อได้ง่าย เพียงแค่เดินไปที่ร้านสะดวกซื้อก็สามารถซื้อได้แล้ว ทำให้ครีมซองของ Smooto สินค้าได้รับความนิยมอย่างมาก

สิ่งที่ตามมาคือ เกิดกระแสการรีวิวบน Social Media มากมาย จนเกิดเป็นกระแสคอนเทนต์ประเภท Skin Care ดี มีอยู่ใน  7-11 อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

เมื่อผมเริ่มเข้าใจที่มาทั้งหมดแล้ว ผมก็เลยเริ่มหาข้อมูลตลาดครีมซองต่อ ว่าในตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

การแข่งขันของ การตลาดครีมซอง ในปัจจุบัน

หลังจากที่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติม ก็พบว่า ปัจจุบันตลาดครีมซอง กลายเป็น Red Ocean เรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าหลังเกิดกระแสครีมซองฟีเวอร์ขึ้นมา หลายแบรนด์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ในตลาด Skin Care ก็ลงมาเป็นผู้เล่นในตลาดอย่างดุเดือด

เห็นได้จากการเกิดครีมซองใหม่ๆมากมายในช่วงราคา 39-79 บาท ที่ไม่ได้มีเจลว่านห่างเป็นส่วนผสมหลัก แต่เป็นจำพวก ไฮยาลูรอนิค วิตซี กัญชง และอีกมากมาย รวมถึงการถูกค้นหาที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการเปิดตลาด

Advertising bidding Competition in Cream Sachet market keyword.

นอกจากนี้ในเชิงการยิงคำโฆษณาผ่าน Keyword โดย Google Adwords หรือที่เรียกอีกชื่อง่ายๆว่า การทำ Google SEM ก็พบอีกว่าคำ Keyword ที่เกี่ยวกับครีมซองนั้น มีการแข่งแข่นที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียวรวมถึงมีราคา Bidding Min-Max เพื่อทำโฆษณาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน

Search Volume of 4 brands in Cream sachet market.

จากการแข่งขันที่สูง ผมเลยลองย้อนกลับไปดู Search Volume ชุดแรกที่คัดเลือกแบรนด์ต่างๆ มาใส่ที่ก็เจอสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือแบรนด์ที่ชื่อว่า Skinsista ที่คิดว่าน่าจะเป็นความท้าทายใหม่ของ Smooto ในปัจจุบัน

เนื่องจาก Search Volume ของชื่อแบรนด์นี้ เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 (2016) จนมาถึงปัจจุบันก็มี Volume ที่ใกล้เคียงกับ Smooto มากเลย

จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า Skinsista เป็นครีมซองที่ตามหลัง Smooto มาโดยมีจุดขายของสินค้าและวิธีทำการตลาดที่ค่อนข้างน่าสนใจ (ถ้าสนใจผมจะนำมาขยายความเล่าให้ฟังในบทความหน้านะครับ) ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค และมีกระแสตอบรับที่ดี

เพื่อให้แน่ใจอีกครั้งใน Trend ที่เกิดขึ้นของ Skinsista ผมเลยเข้าไปดูจำนวนการถูก Search บน Market Place ก็ได้พบว่า Skinsista ถูกค้นหามากกว่า Smooto เกือบเท่าตัว และมีราคาการ Bidding โฆษณาที่สูงมากเช่นกัน

จึงอาจกล่าวได้ว่า Smooto อาจไม่ใช่แบรนด์ที่โดดเด่นที่สุดของตลาดครีมซองเหมือนในอดีตแล้วก็เป็นได้

Search Volume of Cream Sachet brand in market place.

ความท้าทายและแนวทางในการวงกลยุทธ์ใน การตลาดครีมซอง

Skin Care ในรูปแบบครีมซอง เดิมเป็นสินค้ามีขึ้นเพื่อตอบโจทย์การขายสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ที่เน้นการให้ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า และมีราคาที่สามารถจับต้องได้จริง

หมายความว่าคนที่ซื้อสินค้าชนิดนี้จะเป็นใครก็ได้ที่เดินเข้ามาในร้านสะดวกซื้อและพกเงินประมาณ 30-50 บาท ก็สามารถได้ Skin Care มาดูแลผิวหน้าตัวเองได้แล้ว แถมยังมีหลายประเภทให้เลือกตามปัญหาผิวหน้า หรือ โจทย์ของการดูแลผิว

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของสินค้าของตลาดครีมซองค่อนข้างชัดเจน คือ กลุ่ม Mass Market โดยเป็นบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับผิวหน้าหรือมีความต้องการดูแลผิวหน้า ที่มีกำลังซื้อในราคาขายเท่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วย วัยเรียน และวัยทำงาน ช่วงอายุประมาณ 15-35 ปี

แต่กรณีนี้ ช่วงวัยทำงาน ที่มีกำลังซื้อคนข้างสูงอาจมองหา Skin Care ในรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามาดูแลผิวหน้าแทนครีมแบบซอง กลับกันวัยเรียน อย่างเด็กมัธยมปลาย หรือ นักศึกษาที่อาจจะมีกำลังซื้อไม่สูงมากแต่ยังต้องการรักษาหรือดูแลผิวหน้าของตนเองอยู่

ดังนั้น Potential Customer ของครีมซองจึงอาจเป็นคนกลุ่มช่วงวัยเรียนเป็นหลักก็เป็นได้

เมื่อเรารู้กลุ่มเป้าหมายของเราแล้ว หากเราต้องการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย เราจะต้องรู้ให้ได้ว่าลูกค้าเหล่านั้นจริงๆแล้วมี Digital Touchpoint ใน Social Media ไหน สื่อใดบ้าง

ในเบื้องต้นเราลองทำการ Explore ช่องทางสื่อสารต่างๆได้ทั้งหมด แต่ในกรณีที่มีงบประมาณจำกัดให้เน้นเลือกที่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่มั่นใจว่ากลุ่มลูกค้าเราอยู่ในนั้น

ซึ่งในกรณีตลาดครีมซอง สามารถวางช่องทางสื่อสารหลักเป็น Instagram, Twitter, TikTok อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมของเด็กวัยเรียน (Gen Y, Gen Z) ในสมัยนี้ก็ได้

นอกจากนี้การเข้ามาในตลาดของหลายแบรนด์ ราคาที่จับต้องได้ง่าย และการแซงหน้า Smooto (ในแง่การถูกค้นหา) ของ Skinsista สะท้อนให้เห็นว่า ลูกค้าสามารถเลือก หรือ ทดลองสินค้าจากแต่ละแบรนด์ได้อย่างอิสระและหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงไม่มีใครเป็นผู้นำได้ตลอดกาล

ดังนั้นหากแบรนด์ไหนขาดความโดดเด่นเฉพาะของตัวเอง รวมไปถึงคุณภาพสินค้าที่ไม่ดี ก็อาจจะถูกปัดออกจากตลาดไปได้อย่างง่ายดาย

หมายความว่าแบรนด์จะต้องทำให้สินค้าของตนเองโดดเด่น มีคุณภาพ มีผลลัพธ์ที่ใช้งานได้จริง และมีตัวตนในสายตาขอผู้บริโภคอยู่เสมอ เพื่อให้ถูกจดจำและการซื้อสินค้า เช่น การนำสารสกัด หรือส่วนผสมที่กำลังเป็นเทรนด์ในต่างประเทศ หรือ เป็นที่นิยมอยูในประเทศ ณ เวลานั้น มาใส่อยู่ในครีมซองของเราเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า

รวมถึงการทำ Customer Relationship (CRM) อย่าง Loyalty Program, Special Offer Promotion, Retention Campaign และอื่นๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและช่วยให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำด้วย

*ข้อมูลที่น่าสนใจอีกเรื่องที่ได้จากการหาข้อมูลตลาดครีมซองนี้ พบว่าในบรรดาหัวเมืองใหญ่ทั้งหมด กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีคนค้นหาคำว่า ครีมซอง มากที่สุด ที่ 25% แต่ส่วนที่น่าสนใจคือส่วนของ Other provinces ที่เป็นหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย มีอัตราการ Search ถึง 59.3% เลยทีเดียว

(ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงและอาจมีโอกาสในการขายซ่อนอยู่ก็ได้ ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลนี้ไปประยุกต์ใช้ในการตั้งแคมเปญเพื่อยิงโฆษณาได้ )

บทส่งท้าย

อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองว่า กุญแจสำคัญที่จะสามารถชนะในศึกการตลาดนี้ได้ คือความเข้าใจในลักษณะเฉพาะที่เป็นแก่นของครีมซองที่สามารถนำไปประกอบกับการวางกลยุทธ์ได้อย่างจริงจังคือ 

“ความง่ายและความสบายใจ”

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า หลายแบรนด์มักจะเริ่มการทำอะไรจากสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าง่าย สามารถทำได้เลยมาเพื่อบริการลูกค้า

ซึ่งเป็นแนวคิดที่อาจจะไม่ผิดเสียทีเดียว เพียงแต่ในกรณีที่ตลาดนั้นเป็น Mass Market หรือ เป็น Red Ocean ที่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดของแต่ละแบรนด์ นอกจากสินค้าจะมีคุณภาพแล้ว การบริการอาจต้องคิดบนพื้นฐานความง่ายและความสบายใจของลูกค้าที่จะมาซื้อสินค้าเป็นหลัก

ลูกค้าจะซื้อของเราได้ง่ายที่สุดที่ไหน สะดวกที่สุดได้อย่างไร ช่วยลูกค้าลดความยุ่งยากด้วยการลดลำดับขั้นตอนในการซื้อสินค้าให้น้อยที่สุดได้ยังไง

ทั้งหมดนี้ยิ่งมีขั้นตอนน้อยเท่าไร ลูกค้าจะยิ่งสบายใจและยินดีที่จะซื้อสินค้าจากทางเราได้ง่ายขึ้นมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าในปัจจุบันเราจะสามารถขายของออนไลน์ได้บน Social Media หรือ บน Market Place แต่สินค้าอย่าง “ครีมซอง” สินค้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อ จุดนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้ลูกค้าได้รู้จักกับเราก็ได้

ขอบคุณที่อ่านจนจบ แล้วเจอกันในบทความหน้านะครับ

Source :
https://www.sentangsedtee.com/career-channel/article_157172
https://zilingotrade.com/th-th/blog/BLGBENEFITSOFUSINGCREAMSACHET
https://www.bangkokbiznews.com/business/690842?fbclid=IwAR3bNbAZmzrZvNsuuw1o-WLbcbVMdgT7PvaIp4Un0KSt3DAlnTYfwN8elaw

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่