ทำความรู้จัก Target Group ติ่งเกาหลี ติ่งศิลปิน ติ่งคู่จิ้น คู่วาย

ทำความรู้จัก Target Group ติ่งเกาหลี ติ่งศิลปิน ติ่งคู่จิ้น คู่วาย

ออกตัวก่อนเลยว่า เรื่องนี้เกิดจาก Insight ความชอบส่วนตัวหลังจากเป็นผู้ติดตามศิลปิน ไอดอลมาตั้งแต่ยุค JPOP ข้ามมา KPOP วงฮิต TVXQ / Super Junior จนมาถึงปัจจุบันที่มีวง Debut ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน ไหนจะกระแส BLACKPINK / กระแส CPOP จากรายการแข่งขันประเทศจีน และ / TPOP / คู่วาย Yaoi ที่มีมาให้เราเห็นเรื่อยๆ จนเรือ Ship เต็มมหาสมุทรไปแล้ว วันนี้เพลินเลยเก็บ ‘เกร็ดข้อมูลน่าสนใจ’ ของ ติ่งเกาหลี ติ่งศิลปิน ติ่งคู่จิ้น คู่วาย เหล่านี้ ที่จะมีประโยชน์กับนักการตลาดมาฝากกันค่ะ

สิ่งแรกที่นักการตลาดที่ไม่ได้เป็นติ่งควรรู้ก่อนเลยก็คือ หลายๆ วงศิลปินไอดอลนอกจากจะมีชื่อวงแล้ว ยังมีชื่อกลุ่มแฟนคลับเป็นของตัวเองด้วย โดยแฟนๆ ก็จะเรียกสั้นๆ ว่า ‘ด้อม’ ที่ย่อมาจาก Fandom ด้วย หรืออาจจะเรียกชื่อด้อมเต็มๆ ไปเลย หรือจะเรียกเป็นสีประจำวงก็ได้เช่นกัน เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างวง BLACKPINK ชื่อแฟนด้อมก็คือ BLINKS สีประจำกลุ่มก็คือสีชมพูนั่นเองค่ะ

ต่อมาก็คือคำว่า ‘เมน’ ที่ล้อมาจากภาษาอังกฤษคำว่า Main แปลว่าคนที่ชอบมากที่สุดในวงนั่นเอง เพราะหนึ่งวงมีสมาชิกหลายคน บางวงล่อไป 13 คนหรือมากกว่า แถม KPOP / TPOP / คู่วายยังมีหลายวง หลายคู่ เราก็ไม่จำเป็นต้องชอบใครหรือติ่งใครแค่คนเดียว แต่เราสามารถชอบได้หมด อย่างไรก็ตามจากทั้งหมดนั้น เราก็เลือกแล้วว่าจะขอมี ‘เมนหลัก’ ที่ชอบมากแบบถวายขึ้นหิ้งไว้คนหรือสองคน เป็นต้นค่ะ

อีกคำที่ควรรู้ เมื่อเข้าวงการนี้ ก็คือคำว่าคู่จิ้น คู่ชิป ที่แปลว่าคู่มโน หรือการที่แฟนคลับอยากให้ศิลปินตัวเองคู่กับใคร เป็นแฟนกันจริงๆ แต่ถ้าคู่ไหนที่ส่อแววไม่ใช่แค่คู่จิ้นแบบ #บิวกิ้นพีพี แฟนคลับก็จะเรียกว่า ‘คู่เรียล’ ค่ะ ซึ่งเรื่องคู่ชิปเนี่ย ก็จะล้อไปถึงคำว่า Ship ที่มาจาก Relationship แต่เพราะเรียกสั้นๆ ว่า Ship เฉยๆ คนเลยเอามาขยายเป็นคำแปลว่า ‘เรือ’ เช่น ลงเรือคู่นี้ เรือแล่นแล้วเมื่อมีโมเมนต์หวานๆ ของคู่ที่ตัวเองชอบ และน่าเศร้าที่สุดคือ ‘เรือแตก’ เมื่อคู่นั้นไม่เป็นอย่างที่มโนเอาไว้ อย่างมีใครคนใดคนนึงดันประกาศคบแฟนอย่างเป็นทางการค่ะ

เอาจริงๆ ที่เกริ่นมาด้านบน เป็นแค่ภาษาวงการติ่งเบื้องต้นเท่านั้น เตือนก่อนว่าวงการนี้เข้าแล้วออกยากมากนะคะ และต่อไปนี้จะเป็นความรู้ที่น่าสนใจ ว่าวงการ ติ่งเกาหลี ติ่งคู่จิ้น เหล่านี้เค้าทำอะไรกันบ้าง มี impact ขนาดไหน แล้วทำไมนักการตลาดต้องศึกษากลุ่มนี้เอาไว้ และถ้าแบรนด์ไหนมีโอกาสได้ใช้ Influencer / Presenter หรือ Brand Ambassador เป็นกลุ่มไอดอลนี้ อย่าจ้างพวกเค้าแค่ลอยๆ แล้วให้พวกเค้าทำอะไรที่มันตอบโจทย์แบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะตอบโจทย์กลุ่ม Fandom ด้วยค่ะ

1. รู้จักโปรเจคแฟนคลับที่เริ่มจากการ Donate ในสื่อโซเชียล

สิ่งนึงที่ติ่งอยากทำให้ไอดอลที่ชื่นชอบในวันพิเศษ โอกาสสำคัญคือเรื่องของการเซอร์ไพรส์หรือ Fan Project ไม่ว่าจะเป็นงานแฟนโปรเจคในคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง / งานแฮปปี้เบิร์ดเดย์วันเกิด / หรือจะเป็นวันเฉลิมฉลองจากการที่ศิลปินได้รับรางวัล / วันครบรอบ Debut / วันที่ศิลปิน Comeback / วันที่ศิลปิน Go Inter หรือไอดอลมาไทย ประสบความสำเร็จไปอีกหนึ่งขั้น เป็นต้น วันสำคัญเหล่านี้แหละ ที่แฟนๆ อยากทำให้มันเป็นวันดีๆ ของศิลปินที่จะไม่ลืม และรับรู้ว่ายังมีคนที่ Support และยืนอยู่ข้างๆ พวกเขาเสมอๆ

ซึ่งแฟนโปรเจคก็มีหลากหลายแบบเลยนะคะ ตั้งแต่การร้องเพลงให้ ทำป้ายไฟ ซื้อป้าย Light Box รวมเงินไปทำบุญบริจาค ไปจนถึงการทำ Cup Sleeve ตามคาเฟ่ ซื้อดาวจาก NASA ก็ทำมาแล้ว ดังนั้นเราไม่สามารถดูถูกพลังอำนาจหรือ Purchasing Power ของกลุ่มติ่งเป็นอันขาดเลยละค่ะ มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า เอ้า… แล้วเอาเงินมาจากไหนกันอะ ยังเด็กๆ กันอยู่เลยไม่ใช่หรอ? ข้อแรกต้องบอกว่า กลุ่มติ่งไม่ใช่เด็กอย่างเดียวนะคะ ขนาดเพลินแก่แล้วยังเป็นติ่งอยู่เลย ข้อสองคือเด็กสมัยใหม่มีวิธีในการหาเงินในแบบของตัวเอง ตั้งแต่ Bitcoin ไปจนถึงการขายของออนไลน์ด้วย และสามคือพวกเค้าใช้วิธีการ Donate เงินหรือเรี่ยไรคนละเล็กละน้อย ใครไหวเท่าไรก็จะส่งเงินไป ประหนึ่งว่านี่คือ Crowdfunding Project เลยก็ว่าได้ 

ซึ่งตัวตั้งตัวตีก็จะมาจากบ้านแฟนคลับใหญ่ๆ ที่อาจจะมีหลายบ้าน ถ้าไม่ร่วมมือกัน ก็เป็นการทำโปรเจคแยกกันหลายๆ อันค่ะ แล้วบ้านหัวใหญ่เหล่านี้ก็จะระบุเลยว่า จะทำโปรเจคอะไร ใช้เงินประมาณเท่าไร ถ้าได้ 10,000 นึงจะทำโปรเจคนี้ได้ แต่ถ้าปลายทางได้ 50,000 ก็จะทำโปรเจคที่ใหญ่ขึ้นนั่นเอง เห็นไหมคะ Crowdfunding จริงๆ นะ

เห็นแบบนี้แล้วนักการตลาดอาจจะลองเอาไอเดีย Crowdfunding ไปใช้บ้างก็ได้นะ เพราะนอกจากจะเป็นการคุมทุน คุมงบแล้ว เราก็ยังไม่เสี่ยงที่จะลงทุนผลิตสินค้าที่คนอาจจะไม่ชอบมันก็ได้ด้วย ส่วนโมเดลที่นักการตลาดสามารถไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ก็คือ โมเดลระดมทุนของ Xiaomi และกลุ่ม Kickstarter ต่างๆ ค่ะ

ส่วนถ้าอยากได้กลุ่มแฟนคลับเป็น Consumer ด้วย ก็อาจจะลองเข้าใจ Pain point ด้านการ Donate ดู เช่น ทำยังไงให้การบริจาคเป็นไปได้ปลอดภัยขึ้น มั่นใจว่าบ้านแฟนคลับที่เป็นตัวตั้งตัวตีจะไปยักยอกเงินไปเองบางส่วน? หรือใครสนใจทำแพลตฟอร์ม Crowdfunding ของไทยสำหรับโปรเจคแฟนคลับเลยดีไหม? รวมไปถึงการสนับสนุนเหล่าแฟนคลับให้ได้ทำโปรเจคไปได้ราบรื่น ไม่ว่าคุณจะช่วยเป็นสปอร์นเซอร์ สนับสนุนของทานเล่น หรือทำ Cup Sleeve และ Stickers แจกด้วยก็ย่อมได้ค่ะ

2. แต้มบุญสูงสุดของแฟนคลับ อยากใช้ไปกับการได้คุยกับไอดอลที่ชื่นชอบ

จุด Peak ของความเป็นติ่งคือการได้คุย ได้แชทกับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ หรือการที่ไอดอลตัวเอง Reply Message ของเราบนสื่อโซเชียล ซึ่งช่องทางที่เหล่าติ่งจะอยู่กันหลักๆ ก็คือ Twitter ที่รอว่าเมื่อไร ไอดอลตัวเองจะ Online แล้วทวีตข้อความสัก 280 ตัวอักษรก็ยังดี อย่างไรก็ตามนอกจาก Twitter แล้วยังมี Instagram Story / LINE Open Chat และ Clubhouse ที่ทำให้แฟนๆ รู้สึกว่าการได้พูดคุยกับไอดอลนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แล้วเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นหากคุณจ้างไอดอลหรือคู่วายมาเป็น Presenter โปรโมตแคมเปญ ก็อย่ามัวแต่พาพวกเค้าออกงาน ทำหนังโฆษณา แต่หากเป็นการซื้อเวลาไอดอลเหล่านี้ ให้พูดคุยกับแฟนๆ ให้ได้มากที่สุดต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นการ LIVE สดคุยกัน หรือจะเป็นการ Reply Tweets ขายของไปเรื่อยๆ แค่นี้ก็เป็นการเอาชนะใจแฟนคลับจนอยากจะเหมาซื้อของที่แบรนด์ขายหมดร้านแล้วค่ะ

ซึ่งในตรงนี้ แบรนด์สามารถออกกติกาในการเข้าร่วม Real Time Talk ได้ด้วย เช่น ซื้อสินค้าเพื่อคุยกับศิลปินที่ชื่นชอบในห้องลับ Clubhouse หรือ LINE Chat เป็นต้น แค่นี้ก็เป็นการดันยอดขายไปพร้อมกับการ Service กลุ่มติ่งให้ได้อะไรที่อยากได้ แบบไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย แค่ซื้อครบ 500 บาทก็ได้เข้าห้องทันที บอกเลยว่าแค่ได้เข้าห้อง สำหรับกลุ่มแฟนๆ ก็คือการใช้แต้มบุญแล้วนะ

3. ความภูมิใจของ ติ่งเกาหลี คือการที่ศิลปินตัวเองประสบความสำเร็จ

แน่นอนว่าเวลาเรารักใครสักคน เราก็อยากรู้สึกภูมิใจที่ได้รักเค้าเนอะ อยากเห็นเค้าได้ดี มีคนรักเยอะๆ คว้ารางวัลได้มากๆ เวลาบอกว่าคนนี้คือคนของชั้น เราก็จะไม่เขิน ไม่อาย ดังนั้นอีกสิ่งนึงที่คนกลุ่มแฟนๆ ต้องการคือ อยากให้คนรู้จักศิลปินของเค้ามากขึ้น มีงานเยอะขึ้น ไม่แพ้วงรุ่นพี่วงอื่นๆ ซึ่งไอ้ความอยากเห็นศิลปินตัวเองได้ดีเนี่ยมันเริ่มตั้งแต่การสนับสนุน Build คนรอบข้างให้ชอบด้วย ไปจนถึงการ Support เชิงซื้อของ ให้แบรนด์รู้สึกว่าคุ้มแล้ว ที่จ้างไอดอลของชั้นเป็นพรีเซนเตอร์ นอกเหนือจากนี้ ยังรวมถึงพิธีกรรมเพื่อพากลุ่มศิลปินไปถึงดวงดาวหรือคว้ารางวัลต่างๆ ได้ในแต่ละปีด้วย เช่น

  • Album: รู้หรือไม่ว่า ติ่งเกาหลี ต้องแห่แหนกันซื้อ Album มากแค่ไหน ไม่ใช่แค่อยากฟังเพลง อยากสะสมเท่านั้น แต่เป็นเพราะยอดการซื้อของ Album นั้นส่งผลต่อคะแนน Vote ตามรายการ Comeback Stage ต่างๆ ในประเทศเกาหลีด้วย  นอกเหนือจากนั้นก็คือการเก็บ Card รูปหน้าศิลปินที่ตัวเองอยากได้ ถ้าซื้อมา 2 อัลบั้มยังไม่ได้การ์ดรูป ‘เมน’ ตัวเองก็มีโอกาสสูงมากที่จะซื้อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ ดังนั้นถ้านักการตลาดอยากสนับสนุนพวกเค้า สนับสนุนด้วยการซื้อ Album วงมาแจกตามการ์ดที่อยากได้อีกที จะเป็นอีกหนึ่ง Tactics ที่เอาใจกลุ่มติ่งมากๆ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มยอดขาย Album แล้ว คะแนนโหวตก็จะสูงขึ้น แถมเมื่อแบรนด์เอามาแจกแบบคัดการ์ดแล้ว ก็จะเป็นการลดปัญหาสุ่มซื้ออัลบั้ม เพื่อหารูปเมนไอดอลตัวเอง และแฟนคลับก็ได้ของที่ตัวเองอยากได้จากแบรนด์ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องการได้อัลบั้มจากแบรนด์ยังไงก็เป็น Positive relationship ระหว่างแฟนคลับ-แบรนด์แน่นอน เผลอๆ Engagement ก็พุ่งตามไปเช่นกันนะ
  • Streaming project: นอกจากเรื่องอัลบั้ม บอกเลยว่าการปั่นยอดวิว MV เพลงใน YouTube หรือปั่นจำนวนการฟังเพลงจนจบในระบบฟังเพลงของเกาหลี แบบ JOOX หรือ Spotify นั่นก็เป็นอะไรที่เหล่าติ่งต้องทำเป็นพิธีกรรมทุกครั้งที่ศิลปินตัวเอง Comeback หรือออกเพลงใหม่ค่ะ เอาจริงๆ เพลินบอกเลยนะว่า ถ้าใครทำแพลตฟอร์มหรือ Service ช่วยปั่นวิว ปั่นยอดการฟังได้ รุ่งแน่นอน เพราะคะแนนจากยอดวิวหลัง Published 24 ชั่วโมงเนี่ยแหละ จะถูกรวมเป็นคะแนนโหวตบนเวทีรางวัลเกาหลีด้วยนั่นเองค่ะ เห็นลู่ทางทำเงินเลยไหมคะ
  • Voting project: เรื่องของการโหวตในวงการเกาหลี ถ้าไม่รักจริงอยู่ไม่ได้นะ เพราะการโหวตเนี่ย ไม่ได้มีแค่ช่วง Comeback เท่านั้น แต่ยังมีทั้งโหวต Artist of the Year อะไรทำนองเหมือนคมชัดลึก Award ในบ้านเราด้วย ดังนั้นการโหวตช่วงเวทีรางวัลต่างๆ จึงเป็นเทศกาลไม่ได้นอนของเหล่าแฟนๆ เลยก็ได้ เพราะบาง Award นับคะแนนโหวตจากจำนวน Tweets พร้อม Hashtag ใน Twitter และบางเวทีสามารถโหวตซ้ำได้ทุกๆ ชั่วโมง พอครบชั่วโมงแล้ว แฟนๆ ก็จะเข้าไปกระทืบปุ่มโหวตซ้ำๆ ดังนั้นบอกเลย ใครอ่านแล้วอยากทำธุรกิจรับจ้างกดโหวตหรือ Streaming ต้องรีบแล้วนะ ส่วนแบรนด์ไหนที่ทำ Twitter Marketing อยู่แล้ว ก็สามารถช่วนปั่น Tweets ช่วงโหวตด้วยจำนวนทวีตเหมือนกันนะ รับรองแฟนคลับมีซึ้งใจอะ

4. ติ่งเกาหลี ติ่งไอดอลคือแม่ทุ่ม เหมาได้เหมา

ข้อดีหลักของการใช้ Macro Influencer Marketing คือการได้ Awareness ความน่าเชื่อถือกว้างขวาง แต่ถ้าแบรนด์ใช้ไอดอล ศิลปิน คู่จิ้น จะได้ยอดขายพุ่งขึ้นแบบพรวดพราดตามมาด้วย ยิ่งเป็นสินค้าที่ซื้อตามได้ง่ายอย่างขนม เครื่องสำอางคแล้วละก็ ยังไงก็มีขายหมด มีสินค้าไม่พอมั้งแหละ แต่ Insight นึงที่น่าสนใจคือ ถ้ามีสินค้าที่ไอดอลพวกเค้าเป็นฟรีเซนเตอร์หลายๆ ชิ้น ติ่งก็จะซื้อให้ครบทุกชิ้นด้วยนั่นเองค่ะ เช่น GOT7 ที่เป็นแบรนด์พรีเซนเตอร์ให้แบรนด์เครื่องสำอางแบรนด์นึง เหล่าแฟนคลับจะไม่ซื้อแค่ Lipstick แต่จะซื้อทั้งแป้ง ทั้งที่เขียนตา ที่ปัดแก้ม เป็นต้น

ติ่งเกาหลี Pepsi Max BLACKPINK

ดังนั้นหากแบรนด์ไหนใช้ Presenter เป็นกลุ่มไอดอล อย่าลืมจัด Pack Set ขายใน Basket Size ใหญ่ขึ้นไปเลย เพื่อกระตุ้นให้แฟนๆ อยากได้ไปครอบครองมากขึ้น นอกจากนั้นคือการขายแบบเหมาทั้งวงในราคาพิเศษก็ช่วยได้ ดูอย่าง Pepsi ที่ล่าสุดใช้ BLACKPINK ทำเซ็ทสะสมครบ 4 คน Jennie / Lisa / Jisoo / Rose ไว้พร้อมในราคาพิเศษ เป็นต้นค่ะ

5. พลังไอดอลที่แฟนอยากทำตาม

นอกจากข้อ 4 ที่เราพูดถึงความเป็นแม่ทุ่ม แบรนด์ไหนจ้างไอดอลชั้น ชั้นพร้อมซื้อแล้ว ยังมีเรื่องของพลังไอดอลอื่นๆ ที่แฟนคลับเห็นแล้วอยากซื้อตาม ใช้ตามด้วย อย่างกรณีทรงผม สีผมที่เราสังเกตได้ตั้งแต่ ทรงผมคุณ Wendy วง Red Velvet ไปจนถึงสีผม Highlight แบบ Jennie BLACKPINK 

ติ่งเกาหลี โทนเนอร์พี่จุน

นอกจากนี้พลังยังล้นเหลือไปถึงการที่ศิลปินออกมาไลฟ์สดบอกถึงสินค้าที่ตัวเองใช้ จนสินค้านั้นถูกพูดถึงในนามศิลปินไปเลย เช่น โทนเนอร์ของแบรนด์ ANUA ที่ปัจจุบันถูกเรียกว่า ‘โทนเนอร์พี่จุน’ ไปแล้ว เนื่องจากซูโฮ วง EXO หรือคิม จุน มยอนออกมา LIVE ว่าเค้าใช้โทนเนอร์ของ ANUA อยู่ ทำเอางานนี้แฟนคลับตามหาโทนเนอร์ ANUA กันให้ควั่ก จนมีคนเริ่มหิ้วแบรนด์มาขายในไทยเลยทีเดียวค่ะ

ดังนั้นหากนักการตลาดรู้แบบนี้แล้ว บอกเลยว่าการที่เราอยากให้คน Register Brand ในนามพรีเซนเตอร์ของศิลปิน ต้องอาศัยเวลาระยะยาวพอสมควร แต่ถ้าอยากจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายสั้นๆ และรวดเร็ว จัดเป็นแคมเปญ โปรเจคได้เลย แต่ถ้าอยากได้ความเรียล นอกจากจะเป็นการจ้างศิลปินไอดอลให้ใช้แล้ว ยังต้องเป็นการพูดถึงแบรนด์ในเชิง Unbranded Content ประนึงศิลปินพูดว่าเค้าใช้เองแบบไม่อิงโฆษณาจ๋าด้วยนั่นเองค่ะ

6. เรือจะแล่นได้ ต้องมีคลื่นลมช่วย

หากเจาะลึกลงเรื่องของติ่งคู่จิ้นแล้วละก็ บอกว่าเลยสิ่งที่กลุ่มนี้ต้องการคือ Service Moments เล็กๆ น้อยๆ จากคู่จิ้นที่ตัวเองชอบ ยิ่งหากไอดอลเหล่านี้มีโอกาสได้ออกรายการ ออกอีเวนท์ด้วยกันละก็ แค่ไอดอลคู่จิ้นมองตากันตอนตอบคำถามจากพิธีกร ก็ฟินจิกหมอนขาดได้ 4 ใบแล้ว ดังนั้นหากแบรนด์ไหนเลือกใช้คู่จิ้นโปรโมตแคมเปญ ก็อย่าพลาดการสร้าง Moments เหล่านี้เพื่อ Service แฟนคลับด้วย เรือจะได้แล่นได้ไกลๆ ค่ะ

แต่การสร้าง Moments มันก็มีเรื่องของข้อควรระวังนะคะ อย่างบางคู่ที่อาจจะแสดงออกมากเกินไปจนมันไม่ธรรมชาติ หรือดูฝืนๆ แบบนี้ก็ต้องระวังให้มาก แค่ให้คู่จิ้นเค้าสร้างโมเมนต์กันเองแบบที่แบรนด์ไม่ต้องบรีฟว่าให้ทำก็พอแล้ว เพราะสิ่งนึงที่กลุ่มติ่งคู่จิ้นเก่งมากเลยคือ ‘การเชื่อมโยง’ แบรนด์ไม่ต้องเสียเวลาบรีฟให้เค้าทำจนเป็นการแสดง แต่ปล่อยไปเดี๋ยวแฟนคลับก็เอา Shot ในงานหรือในรายการมามโนเป็นเรื่องเป็นราวได้เอง แถมไอ้ความคิดมโนเหล่านี้เนี่ยแหละ คือ Fun Part ของการจิ้นคู่ใครสักคู่ค่ะ มันก็จะคล้ายๆ กันความตื่นเต้นในช่วงเวลาที่เราจีบใครหรือใครจีบเรา แต่พอเป็นแฟนกันก็จะเริ่มเฉยๆ ลงนั่นเองค่ะ

@forbkpp

ไม่ต้องเถียงกันว่าเขาเป็นคู่จิ้นหรือคู่จริง เขาเป็นคู่ชีวิตกันค่ะ❤💙 #bkpp#บกพพ #บิวกิ้นพีพี

♬ เสียงต้นฉบับ – คุณหนูมากาฮอง – คุณหนูมากาฮอง

ส่วนใครที่อยากรู้ว่าไอ้ Skills เชื่อมโยง มันคืออะไร? อธิบายง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คงจะเหมือนงานของนักสืบ Pantip มั้งคะ ที่สามารถจับตรงนู้น มาเชื่อมตรงนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมคนนี้ถึงทำแบบนั้น ทำแบบนี้ เป็นต้นค่ะ อย่างกรณีคู่ #บิวกิ้นพีพี ที่แฟนคลับขุดบทสัมภาษณ์ของบิวกิ้นจากเทปรายการนึง มาเชื่อมกับอีกเทปนึง เพื่อมโนว่าบิวกิ้นหมายถึงพีพีแน่นอน หรือการขุดรูป คลิปเก่าๆ ว่า 2 คนนี้เคยเป็นแฟนกันมาก่อนแน่ๆ จากการที่สองครอบครัวสนิทกัน ไปทานด้วยกัน เป็นต้นค่ะ ใครที่อยากเห็นคลิปเหล่านี้ เพลินบอกเลยนะว่า ขอเชิญที่ TikTok หรือช่องทางบ้าน FC คู่บิวกิ้นพีพีได้เลยค่ะ

อ่านครบ 6 ข้อแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เข้าใจหัวอกแฟนคลับ ติ่งเกาหลี ติ่งคู่จิ้นกันมากขึ้นหรือเปล่า? ทั้งหมดนี้เพลินพยายามใส่รายละเอียดให้ได้มากที่สุดแล้ว แต่เนื่องจาก Detail มันเยอะมากๆ ในแต่ละเรื่อง เอาเป็นว่าหากนักการตลาดมีคำถามในจุดไหน หรืออยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่ม Target นี้ที่เพลินไม่ได้เขียนลงไป สามารถ Comment เอาไว้ได้ แต่ทั้ง 5 ข้อนี้ เน้นย้ำว่าเป็นเรื่องหลักๆ ที่เราอยากให้นักการตลาดเข้าใจกลุ่มติ่งมากขึ้น เพื่อทำการตลาดกับพวกเค้าได้ดีขึ้น ตรงใจพวกเค้ามากขึ้นด้วย

อย่าลืมว่าช่องทางการเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับหลักคือ Twitter พูดคุยกับพวกเค้าในเรื่องที่พวกเค้าสนใจบ้าง อย่าพูดถึงแต่เรื่องแบรนด์และสินค้าของตัวเองเพียงอย่างเดียว อาศัย Opportunity การเล่นกับ Hashtag ศิลปิน ไอดอลประจำวัน ในการสร้างคอนเทนต์ขายของบ้าง เชื่อเถอะว่ามีแฮชแท็กใหม่เกิดขึ้นทุกวัน รวมไปถึงการสร้าง Relationship ที่ดีกับแฟนคลับเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นยอดขาย สร้างภาพจำ ความทรงจำดีๆ ไปยาวๆ ด้วยค่ะ ลองดูกันนะคะ

ศึกษาข้อมูล Demographics กลุ่มคู่จิ้นที่ดูหนัง Yaoi ผ่าน LINE TV ได้ที่บทความนี้ >> CLICK HERE

ศึกษาไอเดียทำ Short Campaign ด้วยการใช้คู่จิ้น Promote ของแบรนด์ Potato Corner >> CLICK HERE

อ่าน Case Study แบรนด์ Oishi Gold ที่ใช้ไอดอล เป๊ก ผลิตโชค เป็นแบรนด์พรีเซนเตอร์ >> CLICK HERE

Plearn Wisetwongchai

Marketing Strategic Planner ในเครือการตลาดวันละตอน | A Creator สาวพลัสไซส์ @Fabfatkid | A Travel Lover ที่หมดเงินเกือบ 80% ไปกับการเดินทางแบบแมสๆ | An Instagrammer @theplearn ที่ชอบเล่น Story เป็นชีวิตจิตใจ | สุดท้ายคือ Data Researcher ทั้ง Social และ Search Data etc. ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน