Data Privacy บทความพิเศษเรื่อง Data ของเราเป็นของใคร

Data Privacy บทความพิเศษเรื่อง Data ของเราเป็นของใคร

บทความพิเศษเรื่อง Data Privacy ที่ผมเคยเขียนให้ Rabbit Today พิมพ์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2018 ที่อยากเอามาให้เพื่อนๆที่ติดตามการตลาดวันละตอนทุกคนได้อ่านกันอีกครั้ง เพราะตอนนี้ผมกำลังดูสารคดีเรื่อง The Great Hack ทาง Netflix อยู่ เลยอยากให้ทุกคนรู้เท่าทันและระมัดระวังการสร้าง Data มากกว่าเดิม

ตัวอย่างสารคดี The Great Hack

ในยุคของสังคมที่อุดมไปด้วย Data หรือข้อมูลมากมายที่รายล้อมอยู่รอบตัวที่เรามองข้าม และมองไม่เห็น ไม่ว่าจะทั้งข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากการเสิร์ชหาเส้นทางขับรถไปร้านกาแฟเก๋ๆ บนกูเกิล หรือ Data ที่คุณสร้างขึ้นมาจากการรีวิวหลังกินเสร็จ จะให้กี่ดาวบน Facebook ก็ว่าไปตามความรู้สึกที่ได้รับ พร้อมกับรูปสวยๆ ที่โพสต์ลง Instagram หรืออาจถึงขั้นโพสต์คลิปสั้นๆ ในร้านบน Twitter ก็ตาม

แต่คำถามใหญ่ที่ผมอยากถามทุกคนในวันนี้คือ คุณรู้ไหมว่า Data หรือทุกสิ่งอย่างที่คุณโพสต์ หรือแชร์ออกไปนั้นเป็นของคุณหรือของใครจริงๆ กันแน่

Data ไม่รู้ตัว

Data Privacy Data ของเราเป็นของใคร

ในแต่ละวันเราทุกคนต่างสร้าง Data หรือข้อมูลขึ้นมาทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวจากการโพสต์รูป หรือคอมเมนต์กับเพื่อน หรือโพสต์คลิปวิดีโอ หรือแชร์อะไรออกไปก็แล้วแต่ โดนกูเกิลแมพแอบเก็บข้อมูลระหว่างขับรถว่าถนนเส้นไหนรถติดเป็นสีแดง หรือโล่งเป็นสีเขียว หรือโดนเฟซบุ๊กแอบเก็บข้อมูลความสนใจจากการที่เราไปกดถูกใจเพจ หรือสถานที่ที่เรากำลังเปิดเฟซบุ๊กคุยกับเพื่อนอยู่ตอนนั้น แล้วส่งโฆษณาที่ไม่น่าเชื่อว่าเรากำลังจะหาอยู่พอดีมาให้เรา แล้วก็ทำให้เราพาลคิดไปว่า “แหม ช่างบังเอิญเห็นโฆษณาร้านอาหารเปิดใหม่แถวบ้าน ในตอนเย็นหลังเลิกงานที่เรากำลังคิดว่าจะกินอะไรก่อนเข้าบ้านพอดีเชียว”

โดยเฉลี่ยแล้วในทุกๆ วัน เราสร้าง Data ที่มากกว่า 500 Megabyte ในแต่ละวัน และมีการประมาณการเอาไว้ว่าในชีวิตคนหนึ่งคนสร้างข้อมูลขึ้นมามากกว่า 6 เทระไบต์ ถ้าถามว่าเยอะแค่ไหนก็ราวๆ หนังสือ 3 ล้านเล่มเองครับ

DATA เพราะภาพ

Data Privacy Data ของเราเป็นของใคร

ในยุคที่เราชอบโพสต์รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอต่างๆ นานา คุณอาจจะคิดว่าถ้าคุณไม่ได้ใส่ชื่อของภาพ หรือใส่คำอธิบายในคลิปวิดีโอนั้นลงไปว่าเกี่ยวกับอะไร ก็คงไม่มีใครรู้ เข้าใจ หรือเสิร์ชหาเจอหรอก

เมื่อก่อนอาจจะใช่ครับ แต่วันนี้โปรแกรมหรือ AI ฉลาดพอที่จะเข้าใจเรื่องราวในภาพได้ไม่แพ้คนแล้ว อย่างบริษัทสตาร์ตอัพที่ชื่อว่า Picasso Labs ได้สร้าง AI ที่ดูภาพแล้วเข้าใจความหมายของภาพได้เหมือนคนเห็นแล้วตีความ ไม่ต้องรอให้คนมาดูแล้วเขียนคำอธิบายรูปภาพที่ละรูป แต่ AI ที่ชื่อ Picasso Labs นี้สามารถทำได้เป็นพันๆ รูปพร้อมกันในครั้งเดียว หรือเอาง่ายๆ ระบบแทคหน้าอัตโนมัติบนเฟซบุ๊กที่เรามักโดนถามเวลาเพื่อนถ่ายติดเราแล้วแทคเราให้อัตโนมัติ นั่นก็เป็นความฉลาดของโปรแกรมในการพยายามสร้าง Data จากภาพมากขึ้น

แล้วยิ่งทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่มีอากู๋กูเกิลเป็นเพื่อนคู่ใจ คิดอะไรไม่ออกบอกกูเกิล แป๊บเดียวก็รู้แล้ว โดยเฉพาะในวันที่ใครหลายคนมักชอบค้นหาด้วย ‘ชื่อคน’ ที่ตัวเองกำลังสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรากำลังจีบ เราอยากรู้ว่าเขามีแฟนไหม หรือชอบโพสต์รูปเกี่ยวกับอะไร หรือชอบไปเช็กอินที่ไหน เพื่อจะได้ชวนไปเที่ยวได้ถูกที่ 

หรือในกรณีการทำงานที่ผู้สมัครงานร้อยทั้งร้อยจะต้องถูก HR เอาชื่อไปค้นในกูเกิลดูเพื่อประกอบการตัดสินใจอีกทีหนึ่ง ทั้งก่อนเรียก และหลังเรียก ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏขึ้นมา ก็คือ Data ที่คุณสร้างเอาไว้ทั้งนั้น

DATA ควบคุมไม่ได้

Data Privacy Data ของเราเป็นของใคร

แล้วทีนี้ Data ของคุณทั้งหมดที่อยู่บนออนไลน์ คุณกลับไม่สามารถควบคุมมันได้ทั้งหมด ถ้ามันอยู่ในเฟซบุ๊กของคุณเองก็แล้วไป คุณอาจยังพอลบออกไปได้ แต่ถ้าข้อมูลนั้นไปอยู่กับคนอื่นแล้วล่ะ เช่น ถ้ามีคนแคปหรือเซฟไปแชร์ต่อ หรือหลายครั้งข้อมูลอาจถูกลบไปแล้ว แต่ทำไมเวลาค้นหาบนกูเกิลถึงยังเจออยู่ล่ะ

นั่นแหละครับคือที่มาของคำถามที่ว่า “คุณแน่ใจแล้วหรือว่า Data ของคุณนั้นเป็นของคุณจริงๆ” ถ้าคุณได้ใช้เวลาอ่านกฎกติกาก่อนการใช้งาน ไม่ว่าจะ Facebook Instagram หรือโซเชียลมีเดีย หรืออื่นๆ เขามักจะบอกคล้ายกันว่า ข้อมูลทุกอย่างที่คุณสร้างขึ้น ไม่ว่าจะรูปภาพ หรือวิดีโอบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นน่ะไม่ใช่ของคุณนะ แต่เป็นของเขา ดังนั้น ข้อมูลของคุณจึงไม่ใช่ของคุณจริงๆ

ในยุโรปยังพอมีกฎบางข้อที่เรียกว่า Right to Forgetten หรือเราสามารถขอให้กูเกิลไม่โชว์ข้อมูลที่เราไม่ต้องการในอดีต อย่างการกระทำที่ไม่รอบคอบในวัยรุ่น ที่อาจจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานถ้า HR มาค้นเจอ แต่ขั้นตอนก็ไม่ง่ายเหมือนการลบรูปภาพในมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ของเราสักนิด 

เพราะคุณต้องส่งจดหมายร้องเรียนเข้าไป แล้วกูเกิลก็จะขอข้อมูลว่าคุณเป็นเจ้าของข้อมูลนั้นจริงๆ ถึงจะอนุมติคำขอในการลบของคุณให้เป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลต้นฉบับของคุณนั้นจะหายไปนะครับ แต่หาด้วยกูเกิลไม่เจอเท่านั้นเอง

DATA กับสติ

Data Privacy Data ของเราเป็นของใคร

ดังนั้น กลับมาที่คำถามต้นเรื่องคือ ‘Data ของเราเป็นของใคร’ คุณตอบตัวเองได้แล้วใช่ไหมครับ ดังนั้น ในวันที่ Data ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่ง่ายต่อการเข้าถึง และง่ายต่อการแจกจ่าย ต้องมีสติในการสร้าง Data ต่างๆ ออกมาให้มากขึ้น สเตตัสที่ไม่ดีก็ไม่ควรโพสต์ หรือถ้าจะโพสต์ก็ควรตั้งส่วนตัวไว้ ภาพที่ไม่ดีก็ไม่ควรถ่าย อะไรที่ไม่ดีก็ไม่ควรพูด ถ้าไม่อยากจะโดน Data ของเรากลับมาทำร้ายตัวเอง

สมัยก่อนโบราณท่านว่าไว้ ‘ก่อนพูดเราเป็นนายมัน หลังพูดมันเป็นนายเรา’ แต่มาวันนี้ผมขออัพเดทเป็น ‘ก่อนโพสต์เราเป็นนายมัน หลังโพสต์มันเป็นนายเรา’ ไม่งั้นกรรมจะไม่ติดจรวด แต่มันจะติดหน้าค้นหากูเกิลตลอดไปและตลอดกาลครับ

Data Privacy Data ของเราเป็นของใคร

สุดท้ายแล้วประเด็นเรื่อง Data Privacy คงจะต้องมีการถกเถียงและพัฒนาไปอีกมาก ผมอยากให้ทุกคนใส่ใจกับทุก Data ที่สร้างออกมากันมากขึ้นครับ

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน