Mobility Data Dashboard เปิดข้อมูลการท่องเที่ยวของคนไทย สู่การต่อยอดเพื่อพัฒนาเชิงนโยบายและธุรกิจท้องถิ่นเมืองรอง

Mobility Data Dashboard เปิดข้อมูลการท่องเที่ยวของคนไทย สู่การต่อยอดเพื่อพัฒนาเชิงนโยบายและธุรกิจท้องถิ่นเมืองรอง

เมื่อไม่นานมานี้นุ่นได้เข้าร่วมงาน เปิดตัว Mobility Data Dashboard แพลตฟอร์มเจาะลึกการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านข้อมูลมือถือ ที่ต่อยอดมาจากงานวิจัย “Mobility Data เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง” โดยดีแทค-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ

ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักออกแบบนโยบายสาธารณะ ผู้สนใจด้านข้อมูล ผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านการเดินทางท่องเที่ยวคลอบคลุม 77 จังหวัดของคนไทยได้ฟรี 

จุดเด่นของเครื่องมือ

อย่างที่นักการตลาดทราบดีว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน จะขายของก็ต้องมีวิธีการที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ที่คงไม่ใช่ทุกจังหวัดจะเหมาะกับนโยบาย 1 นโยบายร่วมกับจังหวัดอื่น ๆ จริงไหมคะ 

เพราะศักยภาพของแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน เจ้าเครื่องมือ Mobility Data Dashboard จะทำให้เราเห็นถึงข้อมูลแบบเจาะลึกรายพื้นที่ ละเอียดถึงระดับอำเภอ รวมถึงบทวิเคราะห์ศักยภาพเมืองรอง พร้อมกับข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดเพื่อให้เมืองรองทราบถึงจุดแข็งของตนเอง และสามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะและบริการด้านการท่องเที่ยวอย่างแม่นยำและมีประสิทธฺภาพมากยิ่งขึ้น เราไม่เพียงแค่รู้ว่าคนไทยท่องเที่ยวอย่างไร แต่จะรู้ด้วยว่าแต่ละจังหวัดเหมาะจะส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบใด

ข้อมูล 3 ส่วนสำคัญของแต่ละจังหวัด ที่แสดงผลบนเครื่องมือ 

หลังเข้าไปที่ Dashboard แล้วให้จิ้มเลือกจังหวัดที่ต้องการอ่านข้อมูล ซึ่งจะมี 3 ส่วนสำคัญ ๆ ที่อยากให้ลองเข้าไปอ่านกันค่ะ นุ่นขอยกตัวอย่างจังหวัดเชียงรายนะคะ 

1. ภาพรวมจังหวัด

ภาพรวมจังหวัด ประกอบด้วยข้อมูลดังนี้

  • 10 จังหวัดภูมิลำเนาของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงราย 
  • 10 อันดับปลายทางที่คนในจังหวัดออกไปท่องเที่ยว 
  • ปริมาณการท่องเที่ยวแบบไป-กลับและค้างคืน คำนวนระยะทางให้พร้อม มีค่าเฉลี่ยอย่างละเอียดในแต่ละหัวข้อ
  • รวมถึง โปรไฟล์นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกจากจังหวัด

หากคุณเป็นนักการตลาดหรือผู้ประกอบการท้องถิ่นที่กำลังวางแผนโปรโมทสินค้า ข้อมูลชุดนี้จะทำให้คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมายได้ทันที ว่าต้องใช้เม็ดเงินลงทุนโปรโมทสินค้าไปที่จังหวัดใด

  • เมื่อเลื่อนลงมาอีกนิด ทุกคนจะเห็นดัชนีชี้วัดศักยภาพ ในรูปแบบกราฟประเมิน ทั้ง 3 ด้าน และข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพที่ต่างกันของเชียงราย เมื่อดูจากจำนวนดาวจะเห็นว่า จ.เชียงรายเหมาะกับการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro Tourism หรือการท่องเที่ยวแบบไป-กลับ และ การพัฒนาการพักค้างแบบใหม่

หมายความว่า หากจังหวัดเชียงรายต้องการจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวในจังหวัดอาจทำได้โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบไป-กลับ และกระตุ้นให้เกิดการมาเที่ยวซ้ำ หรือ พัฒนารูปแบบการพักค้างที่แปลกใหม่ เช่น แคมป์ปิ้งคาร์ เพื่อดึงดูดให้เกิดการพักค้างในจ.มากขึ้น

ซึ่งหากนักการตลาดหรือนักธุรกิจอยากอ่านผลสรุปแนวทางเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองจากการวิเคราะห์ Mobility data สามารถดาวน์โหลดเอกสาร Infographic งานวิจัย “Mobility Data เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง” เพิ่มเติมได้เลยค่ะ 

2. เจาะลึกระดับอำเภอ

เจาะลึกระดับอำเภอ ประกอบด้วยข้อมูลดังนี้

  • 5 อำเภอที่มีการกระจุกตัวนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางวันสูงสุด (06.01-22.00 น.) 
  • 5 อำเภอที่มีการกระจุกตัวนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางคืนสูงสุด (22.01–06.00 น.) 
  • หรือเลือกแบบดูละเอียดได้ถึง 7 ช่วงเวลา ได้แก่ 06.01-10.00 น. 10.01-14.00 น. 14.01-18.00 น. 18.01-22.00 น. 22.01-23.59 น. 00.01-02.00 น. และ 02.01-06.00 น. 

นอกจากนี้ ยังระบุข้อมูลการกระจุกตัวตามช่วงวันหยุด ซึ่งแบ่งเป็นประเภทวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดยาว และวันหยุดเทศกาลได้อีกด้วยค่ะ 

เราจะเห็นเลยว่าอำเภอของเราฮอตฮิตในช่วงเวลาไหน เทศกาลใดกันแน่ ถ้าสถิตินักท่องเที่ยวจะไปกระจุกตัวอยู่อำเภอใกล้ ๆ พอที่เราจะเดินทางไปขายของในวันหยุดได้ ก็เพิ่มโอกาสทางการค้าได้ดีขึ้นมากเลยค่ะ 

3. ท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์หรือกลุ่มจังหวัด

ท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์หรือกลุ่มจังหวัด ประกอบด้วยข้อมูลแสดงปริมาณทริปการเดินทางระหว่างกันของกลุ่มจังหวัดหรือคลัสเตอร์ที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางไปเยือนในทริปเดียวกัน 

ซึ่งในแต่ละจังหวัดนั้น สามารถจับกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อออกแบบนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันได้ตั้งแต่ 1-3 กลุ่ม ของเชียงรายจะมีจังหวัด ลำพูน-ลำปาง-เชียงใหม่ค่ะ (หากย้อนกลับไปดูดาวแสดงศักยภาพของเมืองเชียงราย จะเห็นว่า จ.เชียงรายไม่เหมาะกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์หรือท่องเที่ยวเป็นกลุ่มจังหวัดค่ะ)

ใครทำบริษัททัวร์ สามารถใช้ข้อมูลในแพลตฟอร์มนี้วางทริปลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ได้เลย เพราะเห็นสถิติการเดินทางของคนไทยมาซัพพอร์ตแผนทัวร์ท่องเที่ยวแล้ว เป็นต้นค่ะ 

แนะนำสำหรับผู้อ่าน ใช้วิเคราะห์คู่กับการใช้เครื่องมืออื่น ๆ ได้

ใครมีเครื่องมืออื่น ๆ หรือข้อมูลของตัวเองอยู่แล้ว นุ่นอยากให้ลองมาอ่านคู่กับ Mobility Data Dashboard เพื่อให้เรามีขิมทิศธุรกิจที่ดีอย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกค่ะ

นุ่นขอปิดท้ายด้วยการเอาข้อมูลจาก Social Listening Tools จังหวัดเชียงรายมาอธิบายคู่กันนะคะ 

ที่พักที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมากที่สุด จับโดย Social Listening Tools คือประเภทโรงแรมค่ะ โดยเฉพาะอำเภอเมืองเชียงราย และอีก 4 อันดับที่วิเคราะห์จาก Mobility Data การันตีได้ว่าการทำโรงแรมและรีสอร์ทใน 5 อำเภอนี้เริ่มมาถูกทางแล้วนั่นเอง 

จะสร้างที่พักบนดอยวิวสวยเพิ่มเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็มีแนวโน้มในทางที่ดีค่ะ 

นี่คือวิธีอ่าน ข้อมูลการท่องเที่ยว คู่กับเครื่องมือประเภทอื่น ๆ เพื่อตัดสินใจในการธุรกิจ และเชื่อว่าในเชิงนโยบายก็สามารถวางแผนสำหรับจังหวัดเชียงรายได้โดยเฉพาะได้แม่นยำถูกใจคนเที่ยวและคนในพื้นที่มากขึ้นแน่นอน 

หวังว่าจะเต็มอิ่มและได้ทำความรู้จัก Mobility Data Dashboard แพลตฟอร์มเจาะลึกการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านข้อมูลมือถือ ที่นำทีมพัฒนาโดยดีแทค-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ กันนะคะ แล้วพบกันในบทความหน้าค่ะ 

สนใจอยากลองใช้เครื่องมือเพิ่มเติม คลิกที่นี่

Noon Inch

นุ่น Business Data Research Analyst Specialist | Martech 🙋🏻‍♀️💻ใช้ชีวิตอยู่กับ Social Listening Tools เกือบทุกวันมาร่วม 6 ปี 🙋🏻‍♀️📈ทำงานด้าน Social Data Research ให้กับหน่วยงานรัฐและแบรนด์เอกชน 6 ปี 🙋🏻‍♀️✈️ชอบทำงานและชอบใช้เงิน แล้วก็เป็น K-POP🇰🇷 & Salmon Lover 🍣

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ทุกวันนี้ใช้งบยิงแอดเดือนละเท่าไหร่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอ 1 คำถามให้เอาไปทำโพลแชร์ลงหน้าเพจหน่อยนะ

อยากรู้ว่าทุกวันนี้คุณใช้เงินยิงแอดโฆษณาเดือนละประมาณเท่าไหร่ครับ ?

ทุกวันนี้ใช้งบยิงแอดเดือนละเท่าไหร่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอ 1 คำถามให้เอาไปทำโพลแชร์ลงหน้าเพจหน่อยนะ

อยากรู้ว่าทุกวันนี้คุณใช้เงินยิงแอดโฆษณาเดือนละประมาณเท่าไหร่ครับ ?