เจาะวิธีคิด แคมเปญระดมทุน ‘ถาดหลุมที่ไม่รักแต่คิดถึง’ ของ FOOD FOR GOOD

เจาะวิธีคิด แคมเปญระดมทุน ‘ถาดหลุมที่ไม่รักแต่คิดถึง’ ของ FOOD FOR GOOD

แคมเปญล่าสุดของ FOOD FOR GOOD (ฟู้ดฟอร์กู๊ด) โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่ชวนคนในโลกออนไลน์กลับมาคิดถึงถาดหลุมในวัยเด็กอีกครั้ง ด้วยการตอบคำถามสั้นๆ ไม่กี่ข้อ เพื่อหาคำตอบว่า ‘คุณเป็นเด็กแบบไหน ตอนกินถาดหลุมโรงเรียน’ ในสไตล์แบบฝึกหัดที่เคยทำสมัยเด็กประถมค่ะ นี่ก็เป็นที่มาของการทำ แคมเปญระดมทุน # ถาดหลุมที่ไม่รักแต่คิดถึง นั่นเองค่ะ

โดยแบบฝึกหัดดังกล่าวก็จะมีการเติมคำในช่องว่าง หรือเลือกคำตอบจากตัวเลือก ก. ข. ค. และ ง. เแล้วลุ้นผลลัพธ์ที่ได้ว่าจะตรงกับสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นน้องๆ คาแรกเตอร์น่ารัก (ติดกวน ๆ ) ที่ทำให้ได้คิดถึงตัวเองตอนเป็นเด็กแล้ว อาจจะพาให้ทุกคนได้ ‘คิดถึง’ ปัญหาโภชนาการเด็กที่ยังคงอยู่และใกล้ตัวกว่าที่คิด

#ถาดหลุมที่ไม่รักแต่คิดถึง คำถามง่ายๆ แต่จี้ไปถึงใจคนตอบ

คำถามใน Online Quiz ถูกออกแบบผ่านอินไซต์ของกลุ่มเป้าหมายที่มีประสบการณ์วัยเด็กเกี่ยวกับถาดหลุมอาหารที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งกลุ่ม GenX ที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างช่องทางเฟซบุ๊กเป็นหลักและชอบแชร์เรื่องย้อนวัยกับกลุ่มเพื่อน และกลุ่ม GenY/GenZ ที่แอคทีฟอยู่ในโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง และเห็นความสำคัญว่าช่องทางเหล่านี้มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมได้ผ่านการส่งเสียง

เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เล่นควิซ คำถามง่ายๆ อย่างเมนูโปรด เมนูที่อยากเขี่ยทิ้ง หรือถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากบอกอะไรกับคุณครูที่โรงอาหาร เลยรวมไปถึงชอยส์ที่ทุกคนมักมีความทรงจำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเต้าส่วนเหลวๆ ที่ใครๆ ก็อี๋ เพราะเหมือนขี้มูกเพื่อนที่นั่งข้างๆ

หรือต้มจืดวิญญาณไก่ที่ใครๆ เป็นต้องได้เจอ รวมถึงไส้กรอกแดงทอดกรอบๆ ที่โปรดปราน ฯลฯ ก็ชวนให้พวกเขาย้อนกลับไปคิดถึงคุณภาพชีวิตในวัยเด็ก และอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตและโภชนาการของเด็กๆ ในวันนี้ที่อาจจะไม่ได้แตกต่างกับตอนที่พวกเขาเป็นเด็กเท่าไหร่

ผลลัพธ์ที่ทำให้อยากร่วมแก้ปัญหา

น้องถั่วงอกจอมเขี่ย (ผัก) น้องเต้าส่วนช่างเลือก เจ้าซาลาเปาพุงโต หรือน้องกุ้งแห้งผู้หิวโหย คือตัวแทนของปัญหาโภชนาการเด็กที่มาพร้อมกับสถิติที่ชวนตระหนัก จากผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เรื่องภาวะทุพโภชนาการในเด็ก (พ.ศ. 2562) ในระดับประถมศึกษา

พบว่ามีนักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 297,072 คน หรือ 9.63% นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 243,047 คน (7.88%) นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วนและอ้วน) 583,831 คน (18.93%) ซึ่งจำนวนเด็กเหล่านี้อาจไม่ใช่ภาพจำเดิมๆ ของเด็กในชนบทหรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ห่างไกลเท่านั้น แต่เด็กทุกคนมีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการเช่นเดียวกันจากพฤติกรรมหรือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของครอบครัวและโรงเรียนที่ดูแลจัดการอาหารให้เด็กๆ ด้วย

คุณทิพย์ชยา พงศธร ผู้ร่วมก่อตั้ง FOOD FOR GOOD บอกว่า เพราะ FOOD FOR GOOD เชื่อว่า โภชนาการที่ดีคือรากฐานของการเจริญเติบโต เด็กทุกคนควรได้รับอาหารและสารอาหารที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมตามวัย เพื่อมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

งานที่ FOOD FOR GOOD มุ่งมั่นและทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปี คือการทำหน้าที่เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนโภชนาการที่ดีและขจัดปัญหาเด็กทุพโภชนาการให้หมดไปจากประเทศอย่างยั่งยืน มากกว่าการเลี้ยงอาหารให้เงินอุดหนุนเป็นมื้อ ๆ ไป ด้วยการสร้างความรู้ และมอบเครื่องมือให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้นำไปปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายพื้นที่ทำงานให้ครอบคลุมปัญหาได้มากขึ้น

ปลายทางของควิซนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ ‘เข้าใจ’ และตระหนักถึงปัญหาโภชนาการเด็ก ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ผ่านการร่วมสนับสนุนกลไกของ FOOD FOR GOOD ด้วยการบริจาคที่ทั้งสะดวกและง่ายแบบ e-Donation บัตรเครดิต และช่องทางอื่นๆ และขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถร่วมส่งเสียงให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหา โดยร่วมแชร์และสะท้อนความคิดเห็นของตัวเองผ่านผลลัพธ์ที่ได้จากควิซในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ได้ด้วย

#การให้ที่ไม่จบแค่มื้ออาหาร วิธีทำงานของ FOOD FOR GOOD

จากการทำงานอย่างต่อเนื่องและหาวิธีที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้มากที่สุด FOOD FOR GOOD ได้ออกแบบวิธีการทำงานผ่านแนวคิด 4GOOD ซึ่งแบ่งเนื้องานออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ ดังนี้

  • GOOD FOOD งานระดมทรัพยากรเพื่อนำไปสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมแก่โรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนหลากหลาย ปริมาณเพียงพอ ต่อการเจริญเติบโตและมีภาวะโภชนาการที่ดี งบประมาณที่สนับสนุน เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบ ทำการเกษตร ดูแลระบบน้ำดื่มสะอาด ในโรงเรียนที่มีปัญหาซ้ำซ้อน และงบประมาณไม่เพียงพอ เช่น โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนขนาดเล็ก มีต้นทุนสูง มีภาระค่าขนส่งและแม่ครัว และโรงเรียนขยายโอกาสที่นักเรียนมัธยมไม่ได้รับงบประมาณรายหัวค่าอาหารกลางวัน  
  • GOOD KNOWLEDGE งานความรู้และเครื่องมือด้านโภชนาการ เพื่อให้ครูและแม่ครัวสามารถจัดการงานอาหารและโภชนาการในโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง มีนักโภชนาการคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา คำแนะนำ รวมถึงการทำให้เกิดคู่มือการจัดการอาหารและโภชนาการของโรงเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือการทำงานในกรณีที่เกิดการโยกย้ายของครูที่รับผิดชอบ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการกระบวนการถ่ายทอดความรู้ไปสู่บุคลากรทั้งโรงเรียน แม่ครัว เด็กนักเรียน และผู้ปกครอง
  • GOOD FARM งานสนับสนุนเกษตรปลอดภัยเพื่อให้เกิดแหล่งอาหารในโรงเรียนและกองทุนหมุนเวียน สร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
  • GOOD HEALTH งานติดตามภาวะโภชนาการของเด็ก ดูแลภาวะโภชนาการเด็กทั้งโรงเรียน ทำงานร่วมกับบุคลากรในโรงเรียนและสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อลดจำนวนเด็กทุพโภชนาการ และเฝ้าระวังป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ

ส่งเสียงให้ดังผ่านอินฟลูเอนเซอร์ที่อินกับปัญหา

นอกจาก แคมเปญระดมทุน ที่ขอพลังคนในโลกออนไลน์มามีส่วนร่วมในการแชร์ปัญหาโภชนาการเด็ก ผ่านแฮชแท็ก ถาดหลุมที่ไม่รักแต่คิดถึง แล้ว แคมเปญนี้ยังได้รับความร่วมมือจากอินฟลูเอนเซอร์หลากหลายที่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาร่วมส่งเสียงให้ดังขึ้นผ่านการเล่นและแชร์ควิซ เลยรวมไปถึงการให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเรื่องอาหาร ที่พวกเขายืนยันว่าไม่ใช่เรื่องของเด็กเท่านั้น

และเหล่าคนดังที่เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ มีทั้ง อเล็กซ์ เรนเดล ครูลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ เชฟฟาง (ณัฐพงศ์ หน่อชูเวช) Mark Kidchen (ภาวริสร์ พานิชประไพ) สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ (PEAR is hungry) ครูทอม (จักรกฤต โยมพยอม)

มีวงดนตรี Stoondio ศิลปินสายแอคทีฟอย่าง Juli Baker and Summer เหล่าคุณแม่เจ้าของเพจ ทั้งตามติดชีวิตแม่บ้านแขก MOM DIARY คุณแม่เลอค่า Nidnok Happy Mommy Diary และ Rocky Journey เลยรวมไปถึงเพจสายกิน อย่าง แม่ เมนูนี้ทำไง วุ้นแปลอาหาร กินกับพีท และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Gluta Story Bird Eye View และ Offtography

และจากบทสัมภาษณ์ที่ FOOD FOR GOOD รวบรวมมา พบว่าสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน คือการเน้นย้ำว่าปัญหาโภชนาการเด็กไม่ใช่เรื่องของเด็กเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและอนาคตของประเทศ ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม  

“ประเทศเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรามองการศึกษาคือการเรียน อยู่ในห้อง หนังสือ ตำรา หรือชุดนักเรียน แต่จริงๆ แล้วมันคือการพัฒนาคน ซึ่งต้องรอบด้านกว่านี้ อาหารควรถูกมองในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาการศึกษา มันคือองค์ประกอบสำคัญมากๆ ในการสร้างรากฐานชีวิตที่แข็งแรง

เพื่อให้เขาพร้อมที่จะไปเรียนรู้หรือไปทำอะไรอย่างอื่น มันเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ของรัฐหรือว่าของสังคมที่ต้องช่วยกัน เพราะพ่อแม่ก็จ่ายภาษีแล้ว และเด็กก็ได้จ่ายภาษีทางอ้อมอย่าง VAT ด้วย เราก็ควรจะได้รับสิ่งที่มันมีคุณภาพที่ดีกลับมา” นิดนก–พนิตชนก ดำเนินธรรม เจ้าของเพจ Nidnok กล่าว

คุณ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อ “ผมว่าทุก ๆ อย่างก็มีที่ทางของมัน บ้านนี้เมืองนี้อาจจะต้องมาไพออริตี้เรื่องการจัดการเชิงโครงสร้างก่อน อะไรคือต้นเหตุของปัญหา ต้องมานั่งคุยกัน เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องกฎหมาย เรื่องสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้คนในสังคม แต่ถามว่า งั้นเราไม่ควรบริจาคเลยไหม ก็อาจจะไม่ใช่ อย่างเรื่องที่รัฐควรรับผิดชอบโดยตรงอย่างเรื่องอาหารในโรงเรียน

การบริจาคก็อาจจะต้องทำไปพร้อมกับการรณรงค์เชิงโครงสร้างไปด้วย เพราะถ้าเรางดการบริจาคไปเลย เน้นการรณรงค์เชิงโครงสร้างอย่างเดียว บางทีความช่วยเหลือที่จำเป็นต้องมีในตอนนี้ ก็จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราบริจาคไปเรื่อย ๆ โดยไม่พูดเรื่องโครงสร้างเลย เราจะต้องทำไปอีกกี่ปีก็ไม่รู้”

และ ตูน-โชติกา คำวงศ์ปิน นักดนตรีวง Stoondio กล่าวปิด “เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน และความโชคดีของยุคนี้คือเราส่งเสียงได้ เราเห็นอะไรไม่แฟร์เราก็โพสต์ ซึ่งแรงกระเพื่อมมันทำให้ปัญหาถูกแก้ได้เร็วขึ้น ถ้าเราเงียบ มันเหมือนว่าเรายอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เหมือนกัน

เราคิดว่าเรื่องนี้ควรยกมือขึ้นเพื่อบอกว่าควรมีการจัดการนะ เพราะอาหารเป็นเรื่องสำคัญ มนุษย์เราขับเคลื่อนด้วยอาหาร ทั้งร่างกายและจิตใจ เรากินไม่สมบูรณ์มันมีผลเสีย พัฒนาการมันก็ไม่ดี เห็นด้วยตา ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเลย”

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Yoswimol

🎡PLEUM | Data Research Executive ในเครือการตลาดวันละตอน | สนใจเรื่องการตลาด ชอบดูการแข่งขันทางการตลาด และเป็นทาสตลาด... ทุกบทความตั้งใจเขียนมาก ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคะ มันเป็นกำลังใจที่ทำให้อยากเขียนต่อไปเลย☺️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *