ปลดล็อกการแพทย์ไทยด้วย Digital ID

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคการแพทย์และสาธารณสุขก็เป็นอีกบริการหนึ่งที่เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านการใช้บริการอยู่ในรูปแบบ e-Health ที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่จำเป็นต้องพบแพทย์โดยตรง แต่สามารถรับคำปรึกษา หรือรักษาทางไกลเบื้องต้นได้ทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงและความหนาแน่นในโรงพยาบาล
ETDA จับมือ 2 แอปฯ ดัง กระตุ้นการใช้ e-Health ด้วย Digital ID
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA หน่วยงานที่มุ่งให้คนไทยเกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ในทุกกิจกรรม อย่างมั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือ ด้วย Digital ID ที่เข้ามาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จึงเดินหน้าจัดงานเสวนาออนไลน์ ME(i)D Talk : The Secret of e-Health ปลดล็อกการแพทย์ไทย ด้วยดิจิทัลไอดี ภายใต้แคมเปญ MEiD (มีไอดี) บริการไทย…ไร้รอยต่อ ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยชวนผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital ID และ e-Health นำโดย คุณศุภโชค จันทรประทิน ทีมยกระดับมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย ศูนย์นโยบาย พัฒนามาตรฐาน และหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ETDA พร้อมด้วย 2 หน่วยงานผู้พัฒนาแอปฯ ดัง อย่าง คุณสุพัชรินทร์ กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลแลกเปลี่ยนข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ผู้ร่วมพัฒนาแอปฯ ทางรัฐ, นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศทางระบาด (EIU) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมพัฒนาแอปฯ หมอพร้อม พร้อมด้วย นพ.นิมิตร์ ศิริธนากิจ เพจหมอหมี เม้าท์มอย มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง พาไปเจาะลึกเกี่ยวกับบริการ e-Health ที่เข้ามาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของ บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ด้วยการนำเทคโนโลยี Digital ID เข้ามาช่วยทำให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของ e-Health ให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
โควิด-19 เร่งให้คนไทยใช้ e-Health และ Digital ID
“โควิด-19 เร่งให้คนไทยใช้งาน e-Health เกิดการลงทะเบียน Digital ID มากขึ้น” นี่คือเสียงสะท้อนจากวงเสวนา ME(i)D Talk : The Secret of e-Health ที่วิทยากรทุกคนต่างแชร์มุมมองไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสถานการณ์ของโควิด-19 ได้ทำให้การไปโรงพยาบาลอย่างที่เราเคยทำก่อนหน้านี้ ทำได้ยากขึ้น เพราะต้องรักษาระยะห่างระหว่างการบริการ e-Health ซึ่งมี Concept หลัก เน้นให้บริการทางการแพทย์และด้านสาธารณสุขในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนไทย และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น เข้าถึงกระบวนการรักษาในรูปแบบเบื้องต้น เช่น การรับคำปรึกษา การสอบถามอาการเพื่อวินิจฉัยอาการขั้นต้น การสั่งจ่าย-รับยา การเช็คสิทธิรักษาพยาบาลหรือประวัติการรักษา ทางออนไลน์ในรูปแบบแพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชัน ซึ่งบริการ e-Health ที่เราเริ่มคุ้นเคยกัน ได้แก่ แอปฯ หมอพร้อม และ แอปฯ ทางรัฐ
ดังนั้น การมี e-Health เข้ามาแทนที่การรักษาทางการแพทย์แบบปกติในยุคที่ความปกติเริ่มกลายเป็นความคุ้นชิน ได้ทำให้ ผู้ป่วยและแพทย์เอง นอกจากจะสะดวกแล้ว ยังช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าไปแออัดรอคิวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล อีกทั้ง การที่ผู้ป่วยและแพทย์ไม่ได้มาเจอหน้ากันเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมั่นใจได้ว่า คนที่เข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยตัวจริง และแพทย์ที่ให้คำปรึกษาวินิจฉัยโรค ก็เป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพจริง ทั้งในกระบวนการรักษาและการจ่ายยา นี่จึงทำให้ ผู้ให้บริการ e-Health ต้องนำเทคโนโลยี Digital ID เข้ามาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อให้บริการทางการแพทย์มีความปลอดภัย ตรวจสอบได้ และมั่นใจได้ว่ากระบวนการรักษาทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ ETDA ก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของการใช้งาน Digital ID ในทุกธุรกรรมออนไลน์ ที่น่าเชื่อถือ ผ่านมาตรฐาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาอย่างต่อเนื่อง
ทางลัดสุขภาพ ที่ไม่ลับ กับ “ทางรัฐ”
แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ถือเป็นแพลตฟอร์มกลาง ที่เชื่อมโยงทุกบริการของภาครัฐ หลากหลายมิติ รวมถึงบริการด้านสุขภาพ อย่าง การตรวจสอบประกันสังคม เช็คสิทธิรักษาพยาบาล ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด หรือแม้แต่ RDU รู้เรื่องยา ที่เปรียบเสมือนมีเภสัชกรส่วนตัว มาไว้ในแอปเดียว เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อที่จุดให้บริการ หรือ ดาวน์โหลดแอปฯ จำนวนหลายๆ แอปฯ และยืนยันตัวตนลงทะเบียนกับแอปฯ ของหน่วยงานนั้นๆ ซ้ำๆ เพื่อเข้าใช้บริการ เพราะแค่มีแอปฯ ทางรัฐ แอปฯ เดียว และยืนยันตัวตนลงทะเบียนด้วย Digital ID เพียงครั้งแรกเท่านั้น ก็สามารถเข้าใช้บริการจากภาครัฐ ในเครือข่ายทางรัฐได้เพียงคลิกเดียว
“ทางรัฐ” เปิดให้บริการเกือบ 2 ปี มียอดดาวน์โหลดแล้ว 3 แสนครั้ง มีผู้ใช้ลงทะเบียนด้วย Digital ID แล้วหลักแสนคน มีการทำธุรกรรมแล้ว 2.4 ล้าน Transaction เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ แล้วราว 2 แสนครั้ง ซึ่งติด Top 5 ของแอปพลิเคชันด้านบริการสุขภาพที่ให้บริการในรูปแบบ e-Health
“หมอพร้อม” e-Health ทางเลือกสุขภาพ เพื่อคนทุกกลุ่ม
หมอพร้อม เริ่มต้นจากการพัฒนาขึ้น เพื่อมุ่งให้บริการเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งการจองคิวและตรวจสอบจุดให้บริการฉีดวัคซีน เป็นหลัก ก่อนเริ่มขยายไปสู่บริการด้านสุขภาพอื่นๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การมีบันทึกข้อมูลประวัติผู้ป่วยที่สำคัญๆ เพื่อช่วยให้แพทย์ทำการรักษาต่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น การจองคิวเพื่อรับวัคโซีนโควิด-19 หรือ การขอรับใบรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ และบริการใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ซึ่งในทุกบริการจาก “หมอพร้อม” ได้นำ Digital ID เข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยในการตรวจสอบและยืนยันสถานะของแพทย์ทำการรักษา หรือ ที่ออกใบรับรองสุขภาพต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วด้วย ภายใต้มาตรฐานที่ทางหมอพร้อมได้จัดทำขึ้น เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับหมอพร้อม ได้มีกรอบในการปฏิบัติ พัฒนาบริการทางการแพทย์ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน อย่างเท่าเทียม สอดคล้องกับแนวคิดของการดำเนินงานที่ว่า “ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง” เพราะหมอพร้อมรู้ดีว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าใคร อายุ หรือรายได้เท่าไหร่ก็เสี่ยงไม่ต่างกัน
การพัฒนาแอปฯ หมอพร้อม จึงต้องเน้นการใช้งานที่ง่าย ดังนั้น หมอพร้อมจึงให้บริการผ่านทั้งแอปฯ และ LINE เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกที่สุด โดยในอนาคตตั้งเป้า อยากจะเห็น “หมอพร้อม” กลายเป็นแอปฯ ที่ใช้ยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชน ที่สามารถยืนยันตัวตน เพื่อเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยไม่ต้องพกบัตร หรือลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ทุกๆ ครั้งที่เปลี่ยนโรงพยาบาล
e-Health แบบไหน? ที่คนไทยต้องการ
จากข้างต้นนี้ จึงกล่าวได้ว่า บริการ e-Health มีความสำคัญมาก ๆ ต่อระบบสาธารณสุขบ้านเรา ที่ไม่เพียงช่วยให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกเท่านั้น แต่ประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ดีๆ ด้านสุขภาพ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสุขภาพที่ดีด้วยตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย และหากทุกคนมีสุขภาพดี ก็ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล ช่วยลดภาระทั้งบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเลือกใช้บริการ e-Health ในวงกว้างมากขึ้น มีหลักๆ 4 เรื่อง ได้แก่
1. ความสะดวกสบาย ที่ใช้บริการแล้ว ก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ก็สามารถพบแพทย์ ปรึกษาแพทย์ได้ที่บ้านได้
2. ความรวดเร็วในการส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษา ระหว่างสถานพยาบาล ที่สามารถส่งต่อหรือเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วย ที่ครอบคลุมทั้งในระบบสารสนเทศส่วนกลางหรือในแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน e-Health ต่างๆ ที่ผู้ป่วยมี ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถดูได้และทำการรักษาต่อได้ทันที โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องหอบเอกสารประวัติการรักษาเป็นร้อยๆ หน้ามายื่นที่โรงพยาบาลที่รับช่วงต่อ ซึ่งใช้เวลานานนับวัน
3. รูปแบบของแพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชัน จะต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ใช้งานง่าย เมื่อคนทุกกลุ่มสามารถใช้ได้ บริการ e-Health ก็จะเกิดการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น
4. ความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งต้องยอมรับว่า มีบางคนที่ยังไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัว กลัวจะถูกแฮกบ้าง หรือนำข้อมูลไปทำอะไรที่ไม่ได้รับการยินยอมบ้าง จึงทำให้บริการอิเล็กทรอนิกส์หลายๆ บริการยังถูกใช้งานไม่มากนัก แต่ด้วยเทคโนโลยี Digital ID ที่ปัจจุบันเข้ามาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทำให้การทำธุรกรรมผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงทำให้ประชาชนเบาใจในเรื่องนี้ไปได้พอสมควร และเกิดการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นว่าการมี Digital ID นั้นไม่ใช่แค่การพิสูจน์และยืนยันตัวตน ด้วยข้อมูลส่วนตัวของเรา เพื่อความสะดวก สบายในการใช้งานบริการทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังทำให้สาธารณสุขไทย ตลอดจนการให้บริการทางการแพทย์ มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด และชมย้อนหลังได้ฟรี ที่ เพจเฟซบุ๊ก MEiD มีไอดี https://www.facebook.com/meid.thailand/videos/749564992690335