ปลดล็อกการแพทย์ไทยด้วย Digital ID

ปลดล็อกการแพทย์ไทยด้วย Digital ID

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคการแพทย์และสาธารณสุขก็เป็นอีกบริการหนึ่งที่เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านการใช้บริการอยู่ในรูปแบบ e-Health  ที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่จำเป็นต้องพบแพทย์โดยตรง แต่สามารถรับคำปรึกษา หรือรักษาทางไกลเบื้องต้นได้ทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงและความหนาแน่นในโรงพยาบาล

ETDA จับมือ 2 แอปฯ ดัง กระตุ้นการใช้ e-Health ด้วย Digital ID

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA หน่วยงานที่มุ่งให้คนไทยเกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ในทุกกิจกรรม อย่างมั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือ ด้วย Digital ID ที่เข้ามาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จึงเดินหน้าจัดงานเสวนาออนไลน์ ME(i)D Talk : The Secret of e-Health ปลดล็อกการแพทย์ไทย ด้วยดิจิทัลไอดี ภายใต้แคมเปญ MEiD (มีไอดี) บริการไทย…ไร้รอยต่อ ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยชวนผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital ID และ  e-Health นำโดย คุณศุภโชค จันทรประทิน ทีมยกระดับมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย ศูนย์นโยบาย พัฒนามาตรฐาน และหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ETDA พร้อมด้วย 2 หน่วยงานผู้พัฒนาแอปฯ ดัง อย่าง คุณสุพัชรินทร์ กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลแลกเปลี่ยนข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ผู้ร่วมพัฒนาแอปฯ ทางรัฐ, นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ  หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศทางระบาด (EIU) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมพัฒนาแอปฯ หมอพร้อม พร้อมด้วย นพ.นิมิตร์ ศิริธนากิจ เพจหมอหมี เม้าท์มอย มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง พาไปเจาะลึกเกี่ยวกับบริการ e-Health ที่เข้ามาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของ บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ด้วยการนำเทคโนโลยี Digital ID เข้ามาช่วยทำให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของ e-Health ให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น 

โควิด-19 เร่งให้คนไทยใช้ e-Health และ Digital ID 

“โควิด-19 เร่งให้คนไทยใช้งาน  e-Health เกิดการลงทะเบียน  Digital ID มากขึ้น” นี่คือเสียงสะท้อนจากวงเสวนา  ME(i)D Talk : The Secret of e-Health ที่วิทยากรทุกคนต่างแชร์มุมมองไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสถานการณ์ของโควิด-19 ได้ทำให้การไปโรงพยาบาลอย่างที่เราเคยทำก่อนหน้านี้ ทำได้ยากขึ้น เพราะต้องรักษาระยะห่างระหว่างการบริการ e-Health ซึ่งมี Concept หลัก เน้นให้บริการทางการแพทย์และด้านสาธารณสุขในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนไทย และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น เข้าถึงกระบวนการรักษาในรูปแบบเบื้องต้น เช่น การรับคำปรึกษา การสอบถามอาการเพื่อวินิจฉัยอาการขั้นต้น การสั่งจ่าย-รับยา การเช็คสิทธิรักษาพยาบาลหรือประวัติการรักษา ทางออนไลน์ในรูปแบบแพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชัน ซึ่งบริการ e-Health ที่เราเริ่มคุ้นเคยกัน ได้แก่ แอปฯ หมอพร้อม และ แอปฯ ทางรัฐ  

ดังนั้น การมี e-Health เข้ามาแทนที่การรักษาทางการแพทย์แบบปกติในยุคที่ความปกติเริ่มกลายเป็นความคุ้นชิน ได้ทำให้ ผู้ป่วยและแพทย์เอง  นอกจากจะสะดวกแล้ว ยังช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าไปแออัดรอคิวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล อีกทั้ง การที่ผู้ป่วยและแพทย์ไม่ได้มาเจอหน้ากันเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมั่นใจได้ว่า คนที่เข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยตัวจริง และแพทย์ที่ให้คำปรึกษาวินิจฉัยโรค ก็เป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพจริง ทั้งในกระบวนการรักษาและการจ่ายยา นี่จึงทำให้ ผู้ให้บริการ e-Health ต้องนำเทคโนโลยี Digital ID เข้ามาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน  เพื่อให้บริการทางการแพทย์มีความปลอดภัย ตรวจสอบได้ และมั่นใจได้ว่ากระบวนการรักษาทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ ETDA ก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของการใช้งาน Digital ID ในทุกธุรกรรมออนไลน์ ที่น่าเชื่อถือ ผ่านมาตรฐาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาอย่างต่อเนื่อง

คุณศุภโชค จันทรประทิน,ETDA

ทางลัดสุขภาพ ที่ไม่ลับ กับ “ทางรัฐ”

แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ถือเป็นแพลตฟอร์มกลาง ที่เชื่อมโยงทุกบริการของภาครัฐ หลากหลายมิติ  รวมถึงบริการด้านสุขภาพ อย่าง การตรวจสอบประกันสังคม เช็คสิทธิรักษาพยาบาล ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด หรือแม้แต่ RDU รู้เรื่องยา ที่เปรียบเสมือนมีเภสัชกรส่วนตัว มาไว้ในแอปเดียว เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อที่จุดให้บริการ หรือ ดาวน์โหลดแอปฯ จำนวนหลายๆ แอปฯ และยืนยันตัวตนลงทะเบียนกับแอปฯ ของหน่วยงานนั้นๆ ซ้ำๆ เพื่อเข้าใช้บริการ เพราะแค่มีแอปฯ ทางรัฐ แอปฯ เดียว และยืนยันตัวตนลงทะเบียนด้วย Digital ID เพียงครั้งแรกเท่านั้น ก็สามารถเข้าใช้บริการจากภาครัฐ ในเครือข่ายทางรัฐได้เพียงคลิกเดียว 

“ทางรัฐ” เปิดให้บริการเกือบ 2 ปี มียอดดาวน์โหลดแล้ว 3 แสนครั้ง มีผู้ใช้ลงทะเบียนด้วย Digital ID แล้วหลักแสนคน มีการทำธุรกรรมแล้ว 2.4 ล้าน Transaction เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ แล้วราว 2 แสนครั้ง ซึ่งติด Top 5 ของแอปพลิเคชันด้านบริการสุขภาพที่ให้บริการในรูปแบบ e-Health

คุณสุพัชรินทร์ กิ่งแก้ว,DGA

“หมอพร้อม” e-Health ทางเลือกสุขภาพ เพื่อคนทุกกลุ่ม 

หมอพร้อม เริ่มต้นจากการพัฒนาขึ้น เพื่อมุ่งให้บริการเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งการจองคิวและตรวจสอบจุดให้บริการฉีดวัคซีน เป็นหลัก ก่อนเริ่มขยายไปสู่บริการด้านสุขภาพอื่นๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การมีบันทึกข้อมูลประวัติผู้ป่วยที่สำคัญๆ เพื่อช่วยให้แพทย์ทำการรักษาต่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น การจองคิวเพื่อรับวัคโซีนโควิด-19 หรือ การขอรับใบรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ และบริการใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

ซึ่งในทุกบริการจาก “หมอพร้อม” ได้นำ Digital ID เข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยในการตรวจสอบและยืนยันสถานะของแพทย์ทำการรักษา หรือ ที่ออกใบรับรองสุขภาพต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วด้วย ภายใต้มาตรฐานที่ทางหมอพร้อมได้จัดทำขึ้น เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับหมอพร้อม ได้มีกรอบในการปฏิบัติ พัฒนาบริการทางการแพทย์ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน อย่างเท่าเทียม สอดคล้องกับแนวคิดของการดำเนินงานที่ว่า  “ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง” เพราะหมอพร้อมรู้ดีว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าใคร อายุ หรือรายได้เท่าไหร่ก็เสี่ยงไม่ต่างกัน 

การพัฒนาแอปฯ หมอพร้อม จึงต้องเน้นการใช้งานที่ง่าย ดังนั้น หมอพร้อมจึงให้บริการผ่านทั้งแอปฯ และ LINE เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกที่สุด โดยในอนาคตตั้งเป้า อยากจะเห็น “หมอพร้อม” กลายเป็นแอปฯ ที่ใช้ยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชน ที่สามารถยืนยันตัวตน เพื่อเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยไม่ต้องพกบัตร หรือลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ทุกๆ ครั้งที่เปลี่ยนโรงพยาบาล

ดร.นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ, กรมควบคุมโรค

e-Health แบบไหน? ที่คนไทยต้องการ

จากข้างต้นนี้ จึงกล่าวได้ว่า บริการ e-Health มีความสำคัญมาก ๆ ต่อระบบสาธารณสุขบ้านเรา ที่ไม่เพียงช่วยให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกเท่านั้น แต่ประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ดีๆ ด้านสุขภาพ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสุขภาพที่ดีด้วยตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย และหากทุกคนมีสุขภาพดี ก็ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล ช่วยลดภาระทั้งบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเลือกใช้บริการ e-Health ในวงกว้างมากขึ้น มีหลักๆ 4 เรื่อง ได้แก่ 

1. ความสะดวกสบาย ที่ใช้บริการแล้ว ก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ก็สามารถพบแพทย์ ปรึกษาแพทย์ได้ที่บ้านได้ 

2. ความรวดเร็วในการส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษา ระหว่างสถานพยาบาล ที่สามารถส่งต่อหรือเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วย ที่ครอบคลุมทั้งในระบบสารสนเทศส่วนกลางหรือในแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน  e-Health ต่างๆ ที่ผู้ป่วยมี ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถดูได้และทำการรักษาต่อได้ทันที โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องหอบเอกสารประวัติการรักษาเป็นร้อยๆ หน้ามายื่นที่โรงพยาบาลที่รับช่วงต่อ ซึ่งใช้เวลานานนับวัน

3. รูปแบบของแพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชัน จะต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ใช้งานง่าย เมื่อคนทุกกลุ่มสามารถใช้ได้ บริการ e-Health ก็จะเกิดการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น

4. ความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งต้องยอมรับว่า มีบางคนที่ยังไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัว กลัวจะถูกแฮกบ้าง หรือนำข้อมูลไปทำอะไรที่ไม่ได้รับการยินยอมบ้าง จึงทำให้บริการอิเล็กทรอนิกส์หลายๆ บริการยังถูกใช้งานไม่มากนัก  แต่ด้วยเทคโนโลยี Digital ID ที่ปัจจุบันเข้ามาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทำให้การทำธุรกรรมผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงทำให้ประชาชนเบาใจในเรื่องนี้ไปได้พอสมควร และเกิดการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ 

นพ.นิมิตร์ ศิริธนากิจ เพจ หมอหมีเม้าท์มอย

ทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นว่าการมี Digital ID นั้นไม่ใช่แค่การพิสูจน์และยืนยันตัวตน ด้วยข้อมูลส่วนตัวของเรา เพื่อความสะดวก สบายในการใช้งานบริการทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังทำให้สาธารณสุขไทย ตลอดจนการให้บริการทางการแพทย์ มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด และชมย้อนหลังได้ฟรี ที่ เพจเฟซบุ๊ก MEiD มีไอดี https://www.facebook.com/meid.thailand/videos/749564992690335

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่