ไอเดียเก็บ Data ผ่าน Influencer Marketing

ไอเดียเก็บ Data ผ่าน Influencer Marketing

ปกติเวลาเราเห็นการใช้ Influencer Marketing ก็มักจะมาใน รูปแบบของการรีวิวซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการ ถ่ายสินค้าคู่อินฟลูหรือการเขียนแคปชั่นขายของเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะใช้อินฟลูเพื่อเพิ่ม Awareness แล้ว ก็เน้นเฉพาะในส่วนของ Attention ไปเลย หรือบางรายก็ข้ามขั้น อยากเพิ่มยอดขายด้วย ก็จัดไปเลยแคมเปญยิ่งซื้อยิ่งมีลุ้น meet & greet บางอย่าง เพราะฉะนั้นในวันนี้เพลินจะมาแชร์อีกหนึ่งไอเดียการทำ Influencer marketing นั่นก็คือ ไอเดียเก็บ Data ให้กับแบรนด์นั่นเองค่ะ

นักการตลาดและเจ้าของแบรนด์ต้องกลับไปถามตัวเองแล้วแหละว่า วันนี้เราใช้เครื่องมือของ Social Media Platform ต่างๆ ได้ครบแล้วหรือยัง? เพราะไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหน เค้าก็มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้เจ้าของแบรนด์หรือนักธุรกิจเก็บข้อมูลได้แล้วทั้งนั้น แต่วันนี้เพลินไม่ได้จะมาพูดในส่วนของการเก็บข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มตัวเอง แต่เป็นการเก็บข้อมูลผ่าน Idol หรือ Celeb ที่มี Persona หรือกลุ่มแฟนคลับที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราค่ะ

ข้อดีของการให้ Influencers ช่วยเก็บข้อมูลให้ก็คือ เหล่าแฟนคลับที่เป็น Target ของเรานั้น จะพร้อมใจ และยินดีอย่างมากที่จะตอบ Survey นั้น เพราะมันเป็นเหมือนกับ Interaction Bonding บางอย่าง ระหว่างอินฟลูและแฟนคลับ ดังนั้นข้อมูลที่จะได้กลับมาก็จะมี Participant จำนวนมาก เน้น Quantity เป็นหลักค่ะ

แต่ถ้าพูดถึงข้อเสีย ก็ต้องบอกว่าเพราะเน้น Quantity ปริมาณจำนวนคนตอบ ทำให้ Quality ก็อาจจะไม่ได้คุณภาพ 100% แต่อย่างน้อยเราก็สามารถเอาข้อมูลนั้นมาต่อยอดได้ หรือเน้นการ Design คำถามให้เหมาะมากขึ้น เช่น การ Survey หาไอเดียสินค้าใหม่ๆ อย่างคำถามว่า “อยากได้เจลลี่รสไหนเพิ่มบ้าง?” เป็นต้น ไม่ใช่การถามกว้าง ตอบ Yes-No เช่น ชอบสินค้านี้ไหม เป็นต้นค่ะ

อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ฟีเจอร์บนสื่อโซเชียลก็เป็นอะไรที่สำคัญเพราะ เราต้องคำนึงถึงการ Export Data ที่เหล่าไอดอล อินฟลูสามารถทำให้แบรนด์ได้อย่างง่ายๆ ด้วย อย่างการใช้ฟีเจอร์ Instagram Question หากมีคนตอบมาเป็น 300-400 คน เราก็ไม่สามารถดึงข้อมูลออกมาได้ว่ามีคนพิมพ์ตอบข้อมูลเข้ามาว่าอย่างไรบ้างค่ะ เนื่องจากไอจียังไม่มีฟังก์ชัน Export Data จากการทำ Question แบบนี้นั่งเอง

อีกหนึ่งข้อควรระวังในการใช้ Influencer เพื่อเก็บข้อมูลก็คือ คำตอบที่ Bias เช่น หากเรากำลังใช้ Idol A ในการโปรโมตสินค้าอยู่ แล้วให้เค้าถามคำถามบนโซเชียลที่เป็นคำถามเปิดกว้างอย่างเช่น “ไปซื้อทานกันหรือยัง?” คำตอบก็อาจจะเป็นการตอบว่า “ซื้อแล้ว” ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ซื้อก็ได้ เพราะใจแฟนคลับไปกับไอดอลมากกว่าแบรนด์นั่นเองค่ะ ดังนั้นอย่าลืมเรื่องการตั้งและดีไซน์คำถามมากๆ เลยนะคะ พยายามตั้ง Objective ในการเก็บข้อมูลให้มั่น แล้วลองดูว่าต้องถามยังไง ใช้ฟีเจอร์ไหน แพลตฟอร์มไหนถึงจะเหมาะกับการได้ข้อมูลตาม Objective ที่ตั้งไว้ค่ะ

ถึงตอนนี้เรามาดูฟีเจอร์ต่างๆ ของ Social Media Platform ที่แบรนด์สามารถให้อินฟลูใช้ในการเก็บข้อมูลกันค่ะ

1. Instagram

แน่นอนว่าอินสตาแกรมจะต้องติด 1 ในโซเชียลมีเดียอันดับต้นๆ ที่เพลินแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Instagram Poll เพื่อโหวตคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในต่างประเทศเค้าก็มีการใช้ฟีเจอร์ Poll นี้ ในการ create สินค้าใหม่ด้วย ตัวอย่างเช่นเควของ Adidas ค่ะ เพียงแต่เป็นการทำผ่านแบรนด์ค่ะ 

นอกเหนือจากนี้ก็คือการสร้างโพสต์คำถามหน้าฟีด แล้วติด hashtag บางอย่างที่เป็น Specific แล้วตั้งกติกาการนับคำตอบผ่าน Hashtag ที่ทำให้เราสามารถดึงข้อมูลคำตอบผ่านเครื่องมือ Social listening ได้เลย อันนี้ก็เป็นอะไรที่ทำได้ง่ายและทำได้จริง แถมยังได้ข้อมูลแบบเปิดกว้างด้วยค่ะ

อย่างไรก็ตามฟีเจอร์อย่าง IG Question และ Quiz ก็ต้องบอกว่าปล่อยผ่านไปก่อน เพราะดึงข้อมูลยาก ควรทำในช่องทางของแบรนด์มากกว่า และ Quiz เองก็เหมาะกับการสร้าง Engagement มากกว่าเก็บข้อมูลค่ะ

2. TikTok

รู้หรือไม่ว่า TiKTok เองเค้าก็มีฟังก์ชัน Poll ที่ให้คนโหวตอันใดอันนึงได้แล้วแบบใน Instagram Story เลย แถมนับเปอร์เซ็นต์ออกมาให้แบบเสร็จสรรพด้วย ดังนั้นใครที่มีการใช้ Influencer Marketing บนติ๊กต่อก อย่าลืมลองนำไปปรับใช้ดูว่า จะถามคำถามแบบไหน ที่เป็นประโยชน์และนำมาต่อยอดได้จริงๆ บ้างค่ะ ตัวอย่าง Poll บนติ๊กต่อกคลิก

3. Twitter

Twitter บอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่คนใช้งาน platform ค่อนข้าง Embrace การตอบ Poll มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ การเมืองหรือไลฟ์สไตล์ โหวตศิลปินที่ชื่นชอบและอีกมากมายที่ทรงพลังเหลือล้น ดังนั้นช่องทางนี้ ด้วยความคุ้นชินของ Users ก็จำทำให้เราได้ข้อมูลมาเพิ่มได้เยอะค่ะ

อีกหนึ่งวิธีการเก็บข้อมูลบนทวิตเตอร์ที่เน้น Quality ขึ้นมามากกว่าแค่การกดตอบส่งๆ ไปก็คือการใช้ฟีเจอร์ Retweet และ Favourite อย่างคำถามเช่น อยากได้หมูกรอบกดรี อยากได้หมูแดงกดเฟบ เป็นต้น แล้วยิ่งคนไหนที่อยากได้ทั้งสอง ก็จะมีการ Mention กลับมา ทำให้เราเห็น Context ของคำตอบได้เพิ่มเติมด้วยค่ะ

4. Facebook

ต้องบอกว่า Facebook ยังมีระบบ Hashtag ที่ไม่มั่นคงเท่า Instagram และ Twitter ดังนั้นการเก็บข้อมูลแบบอิงกติกาการติด Hashtag คงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ทำได้คือการตอบคำถามใต้โพสต์แล้วแบรนด์หรือนักการตลาดเข้าไป Monitor เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการดูผ่านหน้าฟีดหรือจะดูผ่าน Social Listening ก็ได้ค่ะ

ทั้งหมดนี้ก็คือฟีเจอร์และ ไอเดียเก็บ Data ด้วย Influencer Marketing ง่ายๆ ที่แบรนด์และนักการตลาดนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง แถมมีประโยชน์ในการนำข้อมูลที่ได้ ไปต่อยอด ช่วยตัดสินใจอะไรบางอย่างได้แม่นยำขึ้น

อย่าลืมว่า ต้องเลือกตั้งคำถามให้ดี ระวังคำถามที่ Bias หรือติดไอดอลมากเกินไป รวมไปถึงการเลือกใข้ไอดอลที่ใช่ มีคนตามเป็นกลุ่ม Target เราจริงๆ ด้วย เพราะไอดอลบางคน Character อย่างนึงแต่คนติดตามอาจไม่ได้ตรงกับ Character นั้นๆ ค่ะ ลองดูนะคะ

Plearn Wisetwongchai

Marketing Strategic Planner ในเครือการตลาดวันละตอน | A Creator สาวพลัสไซส์ @Fabfatkid | A Travel Lover ที่หมดเงินเกือบ 80% ไปกับการเดินทางแบบแมสๆ | An Instagrammer @theplearn ที่ชอบเล่น Story เป็นชีวิตจิตใจ | สุดท้ายคือ Data Researcher ทั้ง Social และ Search Data etc. ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่