Facebook Watch Co-Watching Space ดูด้วยกันมันส์กว่าเยอะ

Facebook Watch Co-Watching Space ดูด้วยกันมันส์กว่าเยอะ

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา การตลาดวันละตอนได้รับเชิญจาก Facebook ประเทศไทยให้เข้ามาอัพเดทว่าก้าวต่อไปของ Facebook Watch นั้นจะเป็นอย่างไร เลยถือโอกาสนี้สรุปประเด็นสำคัญที่ไม่ใช่นักการตลาดควรรู้ แต่ผู้ที่เป็น Content Creator ทั้งหลายต้องรู้ คุณจะได้เข้าใจว่าเกมใหม่นี้มีกติกาอย่างไร และคุณจะเล่นเกมใหม่นี้ให้ชนะเหนือคู่แข่งที่ทำ Video Content มากมายในวันนี้

ก่อนอื่นขอนิยามก่อนว่า Content Creator ที่ผมพูดถึงผมหมายถึงคนที่สร้างเนื้อหาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ หรือวิดีโอ โดยคนที่น่าจะเกี่ยวกับ Facebook Watch มากที่สุดคงหนีไม่พ้นคนที่ทำ Video Content อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Influencer อิสระ หรือจะเป็น Production House หรือผู้ผลิตรายการทีวีรายใหญ่ หรือแม้แต่ช่องทีวีในวันนี้ก็ตาม

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า Facebook ยังคงเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาด้วยไม่น้อยในแต่ละวัน ดังนั้นถ้าใครเข้าใจกติกาในเกมนี้ก่อนก็จะได้เปรียบครับ

Facebook Watch Ad Breaks

เริ่มต้นที่ Facebook ประเทศไทยแชร์ให้ฟังว่า ตอนที่เปิดตัวทั่วโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2018 นั้นมีผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ 400 ล้านคนต่อเดือน หรือ 75 ล้านคนต่อวัน ซึ่งผู้ใช้งานทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการดูไม่น้อยกว่า 1 นาทีครับ

Facebook Watch Ad Breaks

และผ่านมาถึงวันนี้ยังไม่ครบหนึ่งปีดี ตัวเลขผู้ใช้งานรายเดือนก็เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวไปอยู่ที่ 720 ล้านคนต่อเดือน ส่วนตัวเลขผู้ใช้งานรายวันทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวไปอยู่ที่ 140 ล้านคนครับ

พอลงให้ลึกมาที่ผู้ใช้งาน Facebook Watch รายวันทั้ง 140 ล้านคนนี้ ใช้เวลาในการดูโดยเฉลี่ย 26 นาที ตัวเลขนี้อาจจะยังไม่ว้าวถ้าเทียบกับแพลตฟอร์มเจ้าตลาดวิดีโอเดิมอย่าง YouTube แต่แน่นอนว่าก็ไม่สามารถมองข้าม Facebook Watch ไปได้ง่ายๆอีกต่อไป

โดยข้อดีของ Facebook Watch ที่ไม่เหมือนแพลตฟอร์มวิดีโออื่นคือมีการ interactive และ engagement ที่สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นชัดเจน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเพราะ Facebook เองเป็นแพลตฟอร์มที่คนชอบเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่างๆกันอยู่แล้ว ผิดกับ YouTube ที่ส่วนใหญ่ก็ดูแล้วจบไป แม้จะดูเป็นเวลานานกว่าแต่การ engagemet ใน content นั้นก็ต่ำกว่าครับ

Facebook Watch Ad Breaks
Facebook Watch Ad Breaks

Facebook บอกว่าจุดต่างของ Facebook Watch ของเค้ากับแพลตฟอร์มวิดีโออื่นคือเป็น Co-Watching คือมีการดูร่วมกัน และแสดงความคิดเห็นร่วมกันครับ เพราะผู้ชมมีแนวโน้มที่จะแสดงความคิดเห็นผ่านคอมเม้นท์บนวิดีโอที่ตัวเองดูแบบ Watch Party มากกว่าการดูคนเดียวถึง 8 เท่า

เห็นมั้ยครับว่าการรับรู้ว่ามีคนอื่นดูไปพร้อมกับเรามันกระตุ้นให้เรา engage ได้ดีขนาดไหน

Facebook Watch Ad Breaks
Facebook Watch Ad Breaks

เราจะเห็นว่าพฤติกรรมของผู้คนในการดูวิดีโอเหมือนกันกลับแตกต่างกันไม่น้อยเมื่ออยู่ต่างแพลตฟอร์ม และส่วนสำคัญของงานในวันนี้ก็คือการที่ Facebook มาบอกว่าสื่อต่างๆหรือคนที่เป็น Content Creator จะหาเงินผ่าน Facebook Watch อย่างไรให้เป็นเรื่องเป็นราวได้บ้าง

เพราะข้อดีของ Facebook Watch คือเราสามารถเลือกใส่โฆษณาเข้าไปได้เองว่าจะให้อยู่ในช่วงไหนของคลิปวิดีโอเราบ้าง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องคิดดีๆว่าจุดสมดุลย์ของการใส่โฆษณาที่ดีโดยที่คนไม่รำคาญคือเท่าไหร่กันแน่

หรือถ้าคิดเองไม่ออกอยากให้ Facebook คิดให้ก็ได้ เพราะ Facebook Watch มี Algorithm ที่จะช่วยคิดให้ว่าควรใส่โฆษณาไปตรงไหนของวิดีโอคุณบ้าง ที่พอใส่ไปแล้วคนจะไม่รำคาญมากเกินไปนัก ซึ่งจุดนี้ผมคิดว่า ถ้าคุณมั่นใจว่า Content คุณดีจนคนต้องดูก็ใส่เข้าไปเถอะ แต่ถ้า Content ยังไม่ดีก็ขอให้กลับไปตั้งต้นที่การทำ Content ให้ดีก่อน ดีในที่นี้คือน่าดู ไม่ใช่ต้องถ่ายให้สวย ถ่ายให้คราฟนะครับ

ซึ่งจากโมเดลการให้ใส่โฆษณาได้เองนั้นส่งผลให้มีเพจที่มีรายได้จากการทำ Facebook Watch มากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่า และมีเพจที่มีรายได้มากกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ซึ่งตัวเลขจำนวนเพจทางเฟซบุ๊กไม่ได้บอกว่ามีเท่าไหร่ แต่คาดได้ว่าน่าจะยังไม่เยอะมากในตอนนี้ครับ แต่ก็ทำให้เห็นโอกาสในการจะสร้างรายได้หรือ Monitize จากการทำ Video Content ผ่าน Facebook Watch กันได้ไม่ยากใช่มั้ยครับ

โดยเงื่อนไขการทำ Video ใน Facebook Watch ก็ง่ายมาก ขอแค่มีความยาว 3 นาทีขึ้นไป ส่วนจะไปจบที่กี่นาที กี่ชั่วโมง หรือจะยาวกี่ปีนั้น ก็สุดแล้วแต่ความสามารถในการลากคนดูให้ถึงเลยครับ เพราะวันนี้ผมว่าหมดยุคแล้วนะครับกับการถามว่า “เราควรทำ Content ให้ยาวกี่นาทีดี?” คุณควรตั้งคำถามใหม่ว่า “เราจะทำ Content ยังไงให้คนอยากดูเรายาวๆดี?” แบบนี้ดีกว่าครับ

เพราะต่อให้คุณทำสั้นไปแต่มันไม่น่าสนใจ ต่อให้จะสั้นแค่ 3 นาทีเป๊ะ หรือแม้แต่สั้น 3 วินาที คนก็ไม่อยากดูอยู่ดีครับ แต่ถ้าคุณสามารถทำให้คนอยากดูคุณได้ตลอด แล้วคุณทำคลิปยาว 30 นาที หรือ 3 ชั่วโมง แบบนี้ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะถ้ามานั่งคิดว่าคนสมัยนี้ไม่ชอบดูอะไรยาวๆ โรงภาพยนต์หรือ Netflix คงเจ๊งไปแล้วมั้งครับผมว่า

สิ่งสำคัญของคนที่เป็น Content Creator ในวันนี้ คือทำอย่างไรที่จะสร้าง Content Ecosystem ของตัวเองขึ้นมามากกว่า ในวันที่คนไม่ได้ยึดตึดกับแพลตฟอร์ม แบบว่าต้องดูช่องไหน คนมองหาแค่เนื้อหาหรือรายการที่ใช่เท่านั้น ทำให้รายการนั้นสามารถย้ายไปช่องไหนก็ได้ หรือแม้แต่ไม่ต้องพึ่งช่องทำแค่รายการออนไลน์ของตัวเองก็ได้

สุดท้ายนี้ผมคิดว่า Facebook Watch จะดึงความเป็น TV แบบเดิมกลับคืนมา ในแง่ที่ว่าให้คนดูสามารถแชร์ความเห็นร่วมกันได้ จากเดิม YouTube นั้นคนดูด้วยพฤติกรรมแบบต่างคนต่างดู แต่คนเดียวกันเมื่อดู Facebook Watch นั้นจะมีการปฏิสัมพันธ์หรือ Engagement ด้วยกันที่สูงกว่าครับ

ต้องรอดูว่าวิดีโอแพลตฟอร์มอื่นโดยเฉพาะ YouTube นั้นจะจัดกระบวนทัพกลยุทธ์อย่างเพื่อรับมือ Facebook Watch ที่เริ่มดึงเวลาจากคนดูได้มากถึง 26 นาทีในวันนี้

ปล. Facebook ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ใช้งาน Facebook Watch ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะยังไม่สูงพอที่จะเร้าใจในตอนนี้ แต่ก็คิดว่าจากการมุ่งปั้น Facebook Watch ให้เกิดด้วยการมีพาร์ทเนอร์มากมาย งานนี้คงได้เกมกระดาน Video Content ขยับอย่างสนุกแน่นอนครับ

Facebook Watch Ad Breaks

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงพักโฆษณา (Ad Breaks) และการสร้างรายได้

เกณฑ์คุณสมบัติในการใช้ช่วงพักโฆษณา

  1. ผ่านมาตรฐานคุณสมบัติการสร้างรายได้:การคุ้นเคยกับมาตรฐานเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพื่อมีสิทธิ์สำหรับช่วงพักโฆษณาแต่เพื่อรักษาสิทธิ์ในการสร้างรายได้ไว้อยู่เสมอ
  2. ผู้ติดตาม 10,000 คน:ต้องเผยแพร่วิดีโอจากเพจที่มีผู้ติดตามอย่างน้อย 10,000 คน ไม่ใช่จากโปรไฟล์
  3. การรับชมวิดีโอ 1 นาทีสำหรับวิดีโอที่มีความยาว 3 นาที: เกณฑ์ชี้วัดนี้จะช่วยกำหนดวิธีที่คุณสามารถสร้างรายได้จากช่วงพักโฆษณาได้สำเร็จ คุณต้องมียอดการรับชม 1 นาทีให้กับวิดีโอที่มีความยาวอย่างน้อย 3 นาทีถึง 30,000 ครั้งในช่วง 60 วันที่ผ่านมา
  4. ประเทศที่พร้อมให้บริการ: ประเทศไทยสามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้

สำหรับผู้ที่มีเพจอยู่ในปัจจุบัน สามารถตรวจสอบว่าตนเองมีคุณสมบัติในการใช้ช่วงพักโฆษณาหรือไม่ที่ลิงค์นี้https://www.facebook.com/business/m/join-ad-breaks

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงพักโฆษณา กรุณาเยี่ยมชมที่ลิงค์นี้ (มีให้บริการเป็นภาษาไทย ด้วยการเลือกใช้งานFacebookเป็นภาษาไทย): https://www.facebook.com/help/publisher/943230709179046

อ่านข่าวอัพเดทตรงจาก Facebook ประเทศไทยต่อ https://www.everydaymarketing.co/category/update-news/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่