VRIO Framework เครื่องมือช่วยวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนที่ธุรกิจควรรู้
สวัสดีครับเพื่อน ๆ นักการตลาดและผู้อ่านทุกคน ผมเชื่อว่าหลายคนต้องเคยเจอปัญหาเวลาที่วิเคราะห์ SWOT ในหัวข้อจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจกันไหมครับ บางครั้งเราอาจเลือกสิ่งที่ไม่ใช่จุดแข็งมาเป็นจุดแข็ง และมองข้ามสิ่งที่ควรจะเป็นจุดอ่อน หรือแม้แต่การวิเคราะห์ที่เป็นภาพกว้างมากเกินไป วันนี้ผมเลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จัก VRIO Framework ที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถวิเคราะห์ว่าอะไรคือจุดแข็ง และจุดอ่อนของธุรกิจได้อย่างลึกซึ้งและตรงไปตรงมาครับ
VRIO Framework คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญ?
VRIO Framework เป็นกรอบแนวคิดที่ช่วยวิเคราะห์ทรัพยากรหรือปัจจัยภายในของธุรกิจ เพื่อที่จะระบุข้อได้เปรียบและทรัพยากรที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงข้อจำกัดภายในต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ นอกจากนี้ กรอบแนวคิดนี้ยังเป็นเป็นเหมือนเข็มทิศที่ช่วยกำหนดทิศทางกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ ในการบริหารและจัดการทรัพยากรภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
โดย VRIO ย่อมาจาก Value (มูลค่า) , Rareness (ความหายาก) , Imitability (การลอกเลียนแบบ) , และ Organization (การจัดการ) เป็นกรอบการทำงาน 4 คำถามที่ใช้ในการประเมินทรัพยากรและความสามารถของธุรกิจ ซึ่งเราก็สามารถนำกรอบแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับ SWOT Analysis เพื่อวิเคราะห์สิ่งที่จะนำมาเป็นจุดแข็ง (Strength) และ จุดอ่อน (Weakness) ลงลึกมากขึ้น เพราะเป็นการวิเคราะห์โดยมีพื้นฐานมาจากทรัพยากรภายในของธุรกิจนั่นเอง
โดยในการวิเคราะห์ธุรกิจจะต้องลิสต์ทรัพยากรภายในต่าง ๆ เช่น ความสามารถในการผลิต ทรัพยากรบุคคล การเงิน รูปแบบสินค้าและบริการ เป็นต้น โดยเราจะต้องนำแต่ละเรื่องที่ลิสต์ออกมาไปตอบคำถามทั้ง 4 ประเด็นว่าเป็น “Yes or No”
#V Value คุณค่า
เป็นคำถามที่ว่า ทรัพยากรภายในที่มีนั้นทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขันใช่หรือไม่ และมีคุณค่าพอที่จะตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายใช่หรือไม่
ตัวอย่างเช่น Apple เราอาจมองว่าทรัพยากรภายในเป็นในเรื่องของระบบปฏิบัติการ iOS แล้วถามว่ามันมีคุณค่าและแตกต่างจากคู่แข่งไหม แน่นอนครับ (Yes) ด้วยการทำงานของมันที่ทำให้การใช้งานอย่างบน Iphone หรือ MacOs มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะในเรื่องของความลื่นไหลในการใช้งาน ความเร็ว ความเป็นส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอีกทั้งยังแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดอีกด้วย
#R Rareness เป็นสิ่งที่หายาก
เป็นคำถามที่ว่า ทรัพยากรนั้นคู่แข่งคนอื่น ๆ ภายในอุตสาหกรรมหรือตลาดเดียวกัน มีหรือไม่ ซึ่งก็เป็นการลงลึกจากตัวอย่างเมื่อสักครู่ แต่มองในแง่ที่ว่าระบบปฏิบัติการ iOS คู่แข่งในตลาดมีไหม คำตอบก็คือไม่มี และถึงแม้ว่าในตลาดจะมีสิ่งที่ใกล้เคียงอย่างระบบ Android แต่มันก็คนละระบบกับที่ Apple ได้พัฒนาขึ้น
นอกจากนี้ในแง่ของการพัฒนาระบบ ด้วยการควบคุมทั้งบุคลากรและข้อมูลภายในองค์กรที่เข้มงวด และการบูรณาการเชิงลึกในการสร้างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่จะต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญของวิศวกรหรือบุคลากรภายในองค์กร ยิ่งทำให้การที่คู่แข่งจะสร้างมาได้นั้นอาจมีความเสี่ยงในการลงทุนมากเกินไป ซึ่งก็หมายความว่าระบบปฏิบัติการ iOS เป็นสิ่งที่หายาก (Yes)
#I Imitability ความสามารถในการลอกเลียนแบบ
เป็นคำถามที่ว่า ทรัพยากรนั้นคู่แข่งสามารถเลียนแบบได้หรือไม่ ซึ่งจะแตกต่างจาก Rareness โดยเน้นที่ความสามารถของคู่แข่งในการทำซ้ำ ถามว่าระบบปฏิบัติการ iOS คู่แข่งสามารถเลียนแบบได้หรือไม่ ถ้ามองในตลาดเทคโนโลยี Smartphone Tablet และ Notebook ก็ยังไม่มีใครทำได้ (Yes)
อีกทั้ง Apple ก็ยังมีการจดสิทธิบัตรมากมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ใช้งานในระบบ ซึ่งสิทธิบัตรเหล่านี้ครอบคลุมหลายด้าน ซึ่งช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของ Apple และทำให้บริษัทสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันได้
#O Organization การสนับสนุนที่เกิดจากโครงสร้างขององค์กร
เป็นคำถามที่ว่า ทรัพยากรนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ คำตอบก็คือแน่นอน (Yes) ด้วยโครงสร้างองค์กรของ Apple ที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างทีมต่าง ๆ และมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรม ช่วยให้พนักงานจากหลากหลายฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ iOS มีฟีเจอร์ที่โดดเด่นและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น
แน่นอนว่าหลังจากที่เราได้ลองตอบคำถาม “Yes or No” กันไปแล้วเรา ต่อไปเราก็จะมาวิเคราะห์ว่าเรื่องหรือประเด็นที่เราลิสต์ไว้นั้นมันจะเป็นสิ่งที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันหรือเปล่า
โดยจะไล่เรียงเป็นลำดับตามนี้
- ถ้า No ตั้งแต่ Value หมายความว่า Competitive Disadvantage ประเด็นนั้น ๆ ไม่สามารถใช้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้
- ถ้า Yes ใน Value แต่ No Rareness หมายความว่า Competitive Parity หรือประเด็นนั้นมันตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แต่คนอื่นก็ทำได้
- ถ้า Yes ทั้ง Value และ Rareness แต่ No Imitability หมายความว่า Temporary Competitive Advantage หรือ ประเด็นนั้น ช่วงแรกธุรกิจอาจจะได้เปรียบ แต่พอสักพักมีคนอื่นทำได้ ธุรกิจก็จะกลับไปเป็น Competitive Parity
- ถ้า Yes ทั้ง Value Rareness และ Imitability แต่ No Organization หมายความว่า Unused Competitive Advantage ง่าย ๆ ก็คือมีดีแต่โชว์ไม่ได้ เพราะโครงสร้างและระบบภายในองค์กรไม่สนับสนุน
- แต่ถ้า Yes ทั้งหมด Sustainable หมายความว่า Sustainable Competitive Advantage หรือก็คือประเด็นนี้แหละที่ธุรกิจจะเหนือกว่าคู่แข่งและไม่ใช่แค่ในระยะเวลาสั้น ๆ แต่จะยาวไปอีกนาน
พอมาถึงตรงนี้แล้วย้อนกลับไปมองตัวอย่างแบรนด์ Apple จะเห็นเลยว่า แค่ประเด็นระบบปฏิบัติการ iOS ที่ได้รับ Yes ทั้งคุณค่า ความหายาก การเลียนแบบยาก และการสนับสนุนจากโครงสร้างองค์กร ก็สามารถแตกต่างและเหนือคู่แข่งได้
ที่ผมยกตัวอย่างแบรนด์ Apple ก็เพราะว่ามันพิสูจน์ได้ง่ายนี่แหละครับ ว่าหากธุรกิจต้องการที่จะเติบโตการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนที่ตื้นเขินเกินไปอาจจะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นไปไม่ถึงเป้าหมายของตัวเอง ดังนั้น VRIO Framework จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถวิเคราะห์จุดแข็งที่ไม่ใช่แค่ชั่วขณะแต่เป็นจุดแข็งที่จะพาธุรกิจให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน
ข้อดีของกรอบแนวคิด VRIO
- แน่นอนว่ากรอบแนวคิด VRIO ช่วยให้ธุรกิจสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน
- ช่วยให้ธุรกิจจัดสรรทรัพยากรภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
- ทำให้มั่นใจได้ว่าทรัพยากรทั้งหมดได้ใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจ
- กรอบแนวคิดนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถประเมิน Positioning ในการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ทำให้เข้าใจว่าตัวเองได้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ข้อเสียของกรอบแนวคิด VRIO
- กรอบแนวคิดนี้เป็นการประเมินทรัพยากรและความสามารถในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถสะท้อนถึงลักษณะที่เปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของธุรกิจในอุตสาหกรรมได้
- ขาดการจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากไม่มีวิธีในการช่วยให้องค์กรจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรได้ ซึ่งอาจทำให้บริษัทพบความยากลำบากในการตัดสินใจทิศทางในการวางแผนและจัดสรรทรัพยากร
สรุป
VRIO Framework ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจมองเห็นถึงจุดแข็งและข้อจำกัดของตัวเองได้อย่างละเอียดและลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งการประเมินตามหลัก Value, Rarity, Imitability, และ Organization ทำให้ธุรกิจสามารถวิเคราะห์ได้ว่าทรัพยากรและความสามารถของตัวเองนั้นสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนหรือไม่
นอกจากนี้ เรายังสามารถวิเคราะห์ร่วมกับ PESTEL Analysis เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ปัจจัยระดับมหาภาค (Macro Factor) ร่วมกันได้ เพราะจะทำให้เราเห็นโอกาส (Opportunities) และ อุปสรรค (Threats) ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้วย ซึ่งมันก็กลับไปที่ SWOT Analysis นั่นแหละครับ แต่การวิเคราะห์ประเด็นภายในนั้นจะมีกรอบที่ชัดเจนขึ้นทำให้ข้อมูลที่วิเคราะห์มีความลึกซึ้งมากกว่านั่นเอง
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่