AIDA Model ถอดรหัสการตัดสินใจซื้อและความต้องการของ Customer
AIDA Model เป็นโมเดลที่ช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้ดีขึ้นค่ะ ตั้งแต่การดึงดูดความสนใจ สร้างความชอบ กระตุ้นความต้องการ ไปจนถึงการปิดการขายในที่สุด ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่จึงนำ AIDA ไปใช้วางแผนและออกแบบกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้สามารถเข้าถึงใจลูกค้าและเปลี่ยนความสนใจให้กลายเป็นยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเองค่ะ
AIDA คืออะไร ทำไมถึงสำคัญในการทำการตลาด
AIDA ย่อมาจาก Attention (ดึงดูดความสนใจ), Interest (สร้างความสนใจ), Desire (กระตุ้นความต้องการ) และ Action (ลงมือทำ ในที่นี้หมายถึงการตัดสินใจซื้อ) ซึ่งเป็นขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจ และ นักการตลาดนำไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด และสร้างสรรค์โฆษณามานานแล้วค่ะ
ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการทำการตลาดออนไลน์ยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายและมีความสนใจที่สั้นลง การใช้ AIDA จะช่วยให้ธุรกิจและนักการตลาดสามารถ วางกลยุทธ์ได้ถูกต้อง และสามารถสร้างความแตกต่าง น่าสนใจ และกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
มาดูกันว่าแต่ละขั้นตอนของ AIDA Model มีความสำคัญอย่างไรบ้าง
Attention (ดึงดูดสร้างการรับรู้) : ในขั้นตอนแรก เราต้องหาวิธีดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ใช้ภาพที่โดดเด่น หัวข้อที่น่าสนใจ หรือ ข้อความที่สะดุดตา เพื่อให้ผู้บริโภคหยุดและสนใจโฆษณาของเราค่ะ
Interest (เพิ่มความสนใจให้มากขึ้น) : เมื่อได้รับความสนใจแล้ว เราต้องเพิ่มความสนใจให้มากขึ้นด้วยการให้ข้อมูลที่น่าสนใจ มีประโยชน์ และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้พวกเขาอยากติดตามเนื้อหาต่อไปค่ะ
Desire (กระตุ้นความต้องการ) : ขั้นตอนนี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการในสินค้าหรือบริการ ด้วยการเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ความแตกต่างจากคู่แข่ง และเหตุผลที่ควรเลือกซื้อสินค้านั้น ๆ ค่ะ
Action (ลงมือทำ): สุดท้าย เราต้องชักจูงให้ผู้บริโภคลงมือทำตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า สมัครสมาชิก หรือดาวน์โหลดข้อมูล โดยเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่าของข้อเสนอค่ะ
นอกจากนี้ เรายังสามารถนำไปใช้ร่วมกับ Marketing Funnel ซึ่งอธิบายถึงเส้นทางของผู้บริโภคตั้งแต่เริ่มรับรู้แบรนด์ไปจนถึงกลายเป็นลูกค้าประจำได้อีกด้วยค่ะ
AIDA Model และ Marketing Funnel
โดยทั่วไป Marketing Funnel มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับ AIDA คือ Awareness (การรับรู้), Consideration (การพิจารณา), Decision (การตัดสินใจ) และ Retention (การรักษาลูกค้าไว้) แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อยค่ะ
AIDA Model จะเน้นการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อเป็นหลัก ส่วน Marketing Funnel จะให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว เช่น การสร้างความภักดีในตราสินค้า(Loyalty) และการนำลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำค่ะ
ซึ่งการใช้ร่วมกับ Marketing Funnel จะช่วยให้เราวางแผนกลยุทธ์การตลาดได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ โดยเราจะนำ AIDA มาเป็นแนวคิดหลักในการสื่อสารในแต่ละขั้นตอนของ Funnel เพื่อนำลูกค้าไปสู่การซื้อในที่สุด ลองมาดูกันค่ะว่าแต่ละขั้นตอนเราจะประยุกต์ใช้ AIDA ได้อย่างไรบ้าง
- Awareness (การรับรู้): ในขั้นแรกของ Funnel เราต้องสร้าง Attention ด้วยเนื้อหาที่โดดเด่น สะดุดตา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์ของเรา เช่น ใช้ภาพและหัวข้อที่น่าสนใจในโฆษณา content ต่าง ๆ
- Consideration (การพิจารณา): เมื่อเราได้รับความสนใจแล้ว ต่อไปต้องสร้าง Interest ด้วยการให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ น่าเชื่อถือ เพื่อให้ลูกค้าสนใจสินค้าและแบรนด์ของเรามากขึ้น เช่น รีวิว บทความ คลิปวิดีโอที่ให้ความรู้
- Decision (การตัดสินใจ): ในขั้นนี้เราต้องกระตุ้น Desire ให้ลูกค้าอยากได้สินค้า โดยเน้นย้ำจุดเด่น ประโยชน์ที่จะได้รับ พร้อมข้อเสนอพิเศษที่จูงใจ เช่น ส่วนลด ของแถม การรับประกัน เพื่อให้พวกเขาตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
- Action (การซื้อ): เมื่อลูกค้าพร้อมซื้อแล้ว เราต้องทำให้ขั้นตอนการซื้อเป็นเรื่องง่ายและสะดวก เพื่อให้พวกเขาลงมือซื้อจริง ๆ เช่น มีหลายช่องทางการชำระเงิน มีบริการจัดส่ง ติดต่อฝ่ายขายได้ตลอดเวลา เป็นต้น
- Retention (การรักษาลูกค้า): หลังจากซื้อไปแล้ว เราต้องรักษาลูกค้าเอาไว้ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พวกเขา ตั้งแต่การให้บริการหลังการขาย ไปจนถึงการสร้างความผูกพันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้พวกเขากลายเป็นลูกค้าประจำ และช่วยแนะนำแบรนด์ของเราต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องสำอางค์แห่งหนึ่งต้องการเปิดตัวครีมบำรุงผิวหน้าสูตรใหม่ Funnel จะเป็นได้ดังนี้ค่ะ
- Awareness: ปล่อยโฆษณาที่มีภาพสะดุดตา พร้อมข้อความตัวใหญ่ว่า “เผยผิวใสใน 7 วัน ด้วยครีมบำรุงผิวสูตรใหม่จากแบรนด์ ABC”
- Consideration: ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับส่วนประกอบสำคัญ และผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ พร้อมรีวิวจากบิวตี้บล็อกเกอร์
- Decision: จัดโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษ 30% สำหรับ 100 คนแรกที่ซื้อผ่านเว็บไซต์ พร้อมของแถมเป็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ใน Set
- Action: เพิ่มความสะดวกในการสั่งซื้อด้วยระบบ สั่งผ่าน Chatbot และให้สามารถผ่อนชำระ 0% นาน 3 เดือนได้
- Retention: ส่งอีเมล/ข้อความ ข้อมูลวิธีการใช้ครีมที่ถูกต้องหลังจากซื้อไป 7 วัน พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์เสริมอื่น ๆ ที่ใช้คู่กันได้ดี ชวนให้ร่วมกิจกรรมถ่ายภาพลุ้นรางวัล และให้ Points สะสมในการซื้อครั้งต่อไป
เห็นไหมคะว่าการใช้ AIDA ร่วมกับในแต่ละขั้นตอนของ Marketing Funnel จะช่วยให้เราวางแผนเนื้อหาและกิจกรรมทางการตลาดได้อย่างเหมาะสม ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วง ทำให้สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการกลับมาซื้อซ้ำในระยะยาวนั่นเองค่ะ
อย่างที่บอกเราต้องวางแผนเนื้อหาและกิจกรรมทางการตลาดได้อย่างเหมาะสม ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วง ยังงั้นรามาเจาะลึกความต้องการของลูกค้ากันด้วยทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดของ Maslow กันค่ะ
ดังนั้น เราเลยจะพูดถึงทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิด Maslow’s hierarchy of needs กันค่ะ เพื่อเข้าใจความต้องการและนำความต้องการนั้นมาวางแผนการตลาดต่อค่ะ
Maslow’s hierarchy of needs
Abraham Maslow เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้เสนอทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ หรือ Maslow’s hierarchy of needs โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
- ความต้องการทางสรีระ (Physiological Needs) เช่น อาหาร น้ำ ที่พักอาศัย
- ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) เช่น ความมั่นคงในชีวิต การป้องกันภัย
- ความต้องการทางสังคม (Social Needs) เช่น มิตรภาพ ความรัก การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
- ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง (Esteem Needs) เช่น ความภาคภูมิใจ การยอมรับนับถือ
- ความต้องการความสมบูรณ์แบบในชีวิต (Self-Actualization Needs) เช่น การบรรลุศักยภาพสูงสุด ความสำเร็จในชีวิต
แนวคิดของ Maslow มีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักการตลาด เพราะช่วยให้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคในแต่ละระดับ และสามารถวางแผนการตลาด สร้างโฆษณาสื่อสารไปยังลูกค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังขายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เราอาจใช้หลัก AIDA ร่วมกับแนวคิดของ Maslow แบบนี้ค่ะ
Attention: เริ่มต้นด้วยข้อความว่า “คุณต้องการมีสุขภาพที่ดีและดูดีได้ในเวลาเดียวกันไหม?”
Interest: ให้ข้อมูลว่า “อาหารเสริมตัวนี้มีส่วนผสมจากธรรมชาติที่ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมภูมิคุ้มกัน และชะลอวัย”
Desire: กระตุ้นความต้องการด้วยประโยคว่า “ให้อาหารเสริมนี้เป็นตัวช่วยให้คุณมีสุขภาพดี มั่นใจ พร้อมใช้ชีวิตได้เต็มที่ในแต่ละวัน”
Action: ปิดท้ายด้วย “สั่งซื้ออาหารเสริมวันนี้ เริ่มต้นเส้นทางสู่สุขภาพที่ดีและชีวิตในฝันของคุณได้แล้ว!”
จากตัวอย่างจะเห็นว่า เราเริ่มต้นจากความต้องการพื้นฐานด้านสุขภาพ ก่อนจะค่อย ๆ เชื่อมโยงไปสู่ความต้องการระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไปจนถึงการไขว่คว้าความฝัน ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคอยากซื้ออาหารเสริมตัวนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองในทุกระดับนั่นเองค่ะ
ลูกค้าจะยอมจ่ายเงินให้กับความต้องการที่สูงขึ้น
เราจึงต้องทำให้ลูกค้าซื้อด้วยความรู้สึกที่มากกว่าแค่เป็นปัจจัย 4
และอีกสิ่งที่น่าสนใจคือ มนุษย์เราจะยอมจ่ายเงินที่มากขึ้นตามความต้องการ เพราะเราเข้าใจว่าในระดับความต้องการที่สูงขึ้น แล้วจ่ายในราคาที่มากกว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจได้ค่ะ ทำให้มนุษย์เรามักยอมจ่ายเงินเพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน และยิ่งความต้องการอยู่ในลำดับขั้นที่สูงมากเท่าไหร่ เรามักยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเท่านั้น
The higher the demand, the higher the price. มนุษย์จะยอมจ่ายเงินที่มากขึ้นตามความต้องการ
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ที่ระบุว่า เมื่อความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์จะมุ่งไปสู่ความต้องการในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีฐานะดี มีบ้านอยู่อาศัย มีอาหารกินอิ่มท้องแล้ว เขาจะมุ่งไปสู่การตอบสนองความต้องการทางสังคม เช่น ต้องการเป็นที่ยอมรับนับถือของคนรอบข้าง ต้องการสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น เขาอาจจะซื้อบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หรู ใช้สินค้าแบรนด์เนม เพื่อแสดงถึงฐานะและรสนิยมที่ดีค่ะ
หรือในกรณีของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด ก็พร้อมจ่ายค่าเทอมที่แพงกว่าโรงเรียนทั่วไปหลายเท่า เพราะเชื่อว่าการให้การศึกษาที่ดีแก่ลูก จะช่วยสร้างอนาคตที่สดใสและเป็นที่ยอมรับในสังคมได้
ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์กับตัวลูกแล้ว ยังส่งผลให้พ่อแม่ภูมิใจและได้รับการชื่นชมว่าเป็นผู้ปกครองที่ดี เสียสละเพื่อลูก ก็ถือเป็นการตอบสนองความต้องการการยอมรับของพ่อแม่เองด้วย
หรือแม้แต่ในกรณีของคนรักสัตว์เลี้ยง การซื้ออาหารสัตว์เกรดพรีเมี่ยม ของเล่นราคาแพง หรือพาน้องหมาน้องแมวไปใช้บริการสปาสุดหรู ก็เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนค่ะ เพราะการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าของมีความสุขที่ได้ตอบแทนความรักที่สัตว์เลี้ยงมอบให้เท่านั้น
แต่ยังแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเขามีความรับผิดชอบ เป็นคนใจดี รักและเอาใจใส่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งนำมาซึ่งการได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้างว่าเขาเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ดีอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อสินค้าหรือบริการสามารถเชื่อมโยงกับความต้องการในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความภาคภูมิใจ การเป็นที่ยอมรับ หรือแม้กระทั่งความรักที่มีต่อคนหรือสัตว์ที่เรารัก มันจะทำให้ผู้คนเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นค่ะ
ดังนั้นถ้านักการตลาดสามารถสร้างการเชื่อมโยงระหว่างความต้องการระดับสูงเหล่านี้กับสินค้าหรือบริการของตนได้ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการขายสูงขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
เพราะถ้าเราสามารถโน้มน้าวใจลูกค้าได้ว่า สินค้าของเราสามารถตอบสนองความต้องการในระดับที่สูงของพวกเขาได้ เช่น ช่วยเสริมภาพลักษณ์ ตอกย้ำสถานะ หรือนำไปสู่เป้าหมายในอุดมคติ ลูกค้าก็มักจะยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพราะรู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นมีคุณค่าและสมควรแก่การจับจ่ายนั่นเองค่ะ
ด้วยเหตุนี้ นักการตลาดจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แล้วกระตุ้นความต้องการของลูกค้าในแต่ละระดับ ทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก และเหตุผล จนเกิดเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ครอบครองสินค้านั้น ๆ ค่ะ ซึ่งการวางแผนการตลาดเพื่อสื่อสารและกระตุ้นความต้องการของลูกค้า อาจต้องใช้ Funnel หรือ AIDA ช่วยในการวางแผนเพื่อสร้างประสิทธิการสูงสุดและสามารถจับลูกค้าได้อยู่หมัดค่ะ
เป็นไงบ้างคะ AIDA Model ถอดรหัสการตัดสินใจซื้อและความต้องการของ Customer ที่ผู้เขียนมาเล่าให้ฟังในวันนี้ ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ
สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะヽ(•‿•)ノ
Source Source Source Source Source
อยากอ่านบทความการตลาดเพิ่มเติม ลองเลือกอ่านบทความด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ