YouTube Analytics 2022 วิเคราะห์หลังบ้านด้วย YTStudio

YouTube Analytics 2022 วิเคราะห์หลังบ้านด้วย YTStudio

YouTube Analytics 2022 ใช้ให้เป็น สามารถทำให้เราเกิดไอเดียที่จะไปปรับหน้าปกของคลิปและเนื้อหาภายในคลิปวิดีโอ รวมถึงภาพรวมของช่องเพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาชมช่องของเรา สำหรับใครที่เพิ่งจะเริ่มวิเคราะห์สามารถเข้าไปอ่านการวิเคราะห์เบื้องต้นได้ที่บทความนี้ แต่สำหรับบทความนี้จะเจาะลึกการวิเคราะห์ในแต่ละ Part อย่างละเอียด ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นแต่ละ Tap ดังต่อไปนี้

1. Overview ภาพรวมของช่อง

ข้อมูลการวิเคราะห์ของช่อง YouTube Analytics

พาร์ทนี้ตามชื่อเรียกเลยคือการดูภาพรวมโดยสรุปของช่องยูทูป มีสรุปให้ดูในช่วงเวลาที่เรากำหนด ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะดูในช่วงตั้งแต่ 7 วันที่ผ่านมาหรือตลอดอายุของช่องเลยก็ได้เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบช่วงเวลาของการลงคลิปต่าง ๆ ได้ ว่าการลงวิดีโอคลิปไหนส่งผลให้คนเข้ามาดูช่องของเรามากที่สุดหรือจำนวนชั่วโมงการรับชม และสามารถใช้ดูได้อีกว่าช่วงไหนของการลงวิดีโอส่งผลให้คนเข้ามากดติดตามเรามากที่สุด สามารถคลิกไอคอนที่อยู่เหนือวันที่ด้านล่างเพื่อสังเกตว่าคลิปไหนหรือไลฟ์ไหนที่ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมกับช่อง สำหรับอันที่ขึ้นเป็นตัวเลขแสดงว่าในวันนั้นหรือในช่วงเวลานั้นมีการลงคลิปวิดีโอหรือไลฟ์มากกว่า 1 อย่างขึ้นไป เมื่อเรานำเคอร์เซอร์ไปใกล้บริเวณนั้นมันก็จะโชว์ Content ให้เราดู

Overall ภาพรวมสำหรับ YouTube Analytic

และหากเราลงมาบริเวณด้านล่างของภาพรวมก็จะโชว์วิดีโอยอดนิยมของคนในช่วงเวลานี้ไว้ซึ่งคุณสามารถสังเกตจากระยะเวลาการดูโดยเฉลี่ยและจำนวนการเข้าดูเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่น่าสนใจของคลิปนั้นและยิ่งระยะเวลาการดูโดยเฉลี่ยยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของคลิปวิดีโอที่สามารถดึงให้คนอยู่กับเราได้นาน สามารถนำไปประยุกต์ทำคลิปที่มีเนื้อหาใกล้เคียงหรือต่อยอดจากเนื้อหาเดิมได้

2. Reach การเข้าถึง

Reach การเข้าถึงสำหรับการวิเคราะห์

สำหรับพาร์ทการเข้าถึงจะแสดงให้เห็นถึงแหล่งการเข้าถึงของผู้ชมทั้งการเข้าถึงช่องและการเข้าถึงคลิปวิดีโอโดยในแต่ละแท็บย่อยมีความหมายดังต่อไปนี้

การแสดงผล

ยอดตรงนี้แสดงถึงการที่คลิปวิดีโอของเราขึ้นไปโชว์ในหน้าการค้นหาและหน้าแรกของยูทูป รวมถึงคลิปที่โชว์ขึ้นในวีดิโอแนะนำด้วย สำหรับหน้าการค้นหาของ YouTube จะนับการแสดงผลก็ต่อเมื่อหน้าปกคลิปของเรามีการโชว์ให้เห็นมากกว่า 50% ดังนั้นหากเราเปิดหน้าจอแล้วเห็นภาพปกของเราไม่ถึง 50% ก็จะไม่ขึ้นโชว์ในส่วนของการแสดงผล

อัตราการคลิกผ่านการแสดงผล

หัวข้อนี้ค่อนข้างตรงตัว ดู YouTube จะนำยอดการแสดงผลหารด้วยจำนวนคนที่คลิกเข้ามาดูเพื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เห็นว่าเมื่อคนเห็นปกคลิปรวมถึงชื่อคลิปเราแล้วกดเข้ามาดูคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกได้ถึงความน่าสนใจของชื่อคลิปและปกคลิปได้ อัตราการคลิกผ่านการแสดงผลควรไม่ต่ำกว่า 4% จึงจะวงบอกถึงชื่อคลิปและปกคลิปที่ดี

จำนวนการดูและผู้ชมที่ไม่ซ้ำกัน

สองส่วนนี้เหมาะสำหรับการใช้ดูควบกันเพื่อที่จะได้เปรียบเทียบจำนวนการเข้าดูและผู้ชมที่ไม่ซ้ำกัน ในช่วงเวลาที่เราเลือกไว้ เพื่อต่อยอดในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวีดิโอและจำนวนผู้เข้าชมใหม่ที่ไม่ได้เข้ามาดูซ้ำ

ประเภทแหล่งที่มาของการเข้าชมคลิป

ประเภทแหล่งที่มาของการเข้าชม

ส่วนนี้จะบ่งบอกว่าผู้ชมนั้นเข้ามาชมคลิปเราได้อย่างไรโดยภายนอกจะหมายถึงการที่คลิปของเราถูกกดเข้ามาชมผ่านช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ YouTube อาจจะเป็น Facebook Instagram หรือ TikTok ที่เราได้นำลิ้งค์ไปแนบไว้ ส่วนฟีเจอร์การเรียกดู การค้นหา หน้าช่องและวิดีโอแนะนำเป็นการนับจากการที่ผู้เข้าชมเข้ามาชมคลิปของเราผ่านช่องทาง YouTube

การแสดงผลและวิธีที่การแสดงผลนำไปสู่เวลาในการรับชม

สำหรับสองคอลัมน์บนเป็นตัวประเมินว่าปกคลิปหรือ Thumbnails ของช่อง YouTube เรามีประสิทธิภาพในการเรียกให้คนเข้ามาชมคลิปของเรามากน้อยแค่ไหนหรืออย่างที่บอกไปว่า เปอร์เซ็นต์ของอัตราการคลิกไม่ควรต่ำกว่า 4% ส่วนสามคอลัมน์ล่างเป็นตัวประเมินเนื้อหาของคลิปวิดีโอของเราว่ามีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใดซึ่งสามารถนำไปปรับประยุกต์กับการเรียบเรียงเนื้อหารวมถึงการตัดต่อคลิปวิดีโอได้ด้วย

ประเภทของแหล่งที่มาของการเข้าชม

ประเภทของแหล่งที่มาควรเริ่มต้นจากการดูแหล่งที่มาการเข้าชมภายนอกว่าส่วนใหญ่แล้วนอกเหนือจากช่องทาง YouTube คนเข้ามาชมคลิปเราผ่านช่องทางไหนเยอะที่สุดโดยสามารถดูได้จากเปอร์เซ็นต์ในแต่ละช่องทางอย่าง ในรูปตัวอย่างจะเห็นได้ว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการเข้าชมได้ดีในช่วงเวลา 28 วันที่ผ่านมา ถัดมาสามารถดูว่าคนเข้ามาชมคลิปเราจากการค้นหาของ YouTube ด้วยคำว่าอะไร อย่างในตัวอย่างจะเห็นได้ว่าคนเข้ามาด้วยการพิมพ์คำว่าการตลาดวันละตอนเป็นอันดับที่ 1 ต่อมาเป็นคำว่า NFT คืออะไร? และต่อมาคือคำว่า Marketing 5.0 ส่วนนี้จะทำให้เห็นประสิทธิภาพที่สำคัญของ Keyword และสิ่งที่ทำให้คนดูสนใจ ต่อมาสามารถดูได้จากวิดีโอแนะนำว่าคลิปของเราไปขึ้นในวิดีโอแนะนำของใครหรือมาจากวิดีโอแนะนำของคลิปไหนมากที่สุด สำหรับประเภทของแหล่งที่มาสามารถเลือกดูตามลำดับความสำคัญได้จากเปอร์เซ็นต์สัดส่วนของการเข้าชมทั้งหมด หากบางช่องมีการค้นหาของ YouTube ในเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าก็ควรให้ความสำคัญในส่วนนี้มากกว่าแหล่งที่มาอื่น ๆ หรือสามารถคิดอีกแง่หนึ่งได้ว่าจะต้องไปพัฒนาในส่วนของแหล่งที่มาอื่น ๆ ที่มีเปอร์เซ็นค่อนข้างน้อยกว่า ถือเป็นอีก 1 สิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ YouTube Analytic

3.การมีส่วนร่วม Engagement

Engagement การเข้าถึงสำหรับการวิเคราะห์ YouTube Analytic

สำหรับพาร์ทนี้เป็นการสังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เข้ามาชมช่องของเรา โดยในส่วนแรกจะดูที่เวลาในการรับชม สามารถใช้ในการสังเกต ว่าในช่วงเวลาการลงคลิปของเรามีผลต่อเวลาในการรับชมหรือไม่หรือสามารถดูได้ว่าคลิปไหน ที่ส่งผลต่อเวลาในการรับชมมากที่สุดก็สามารถใช้คลิปนั้นเป็นตัวต่อยอดและเป็นมาตรฐานของการทำคลิปต่อไปได้ ต่อมาการดูระยะเวลาการดูโดยเฉลี่ยก็จะเหมือนที่กล่าวไปด้านบนคือการวัดประสิทธิภาพเนื้อหาภายในคลิปวิดีโอ

เลื่อนมาดูด้านล่างในส่วนของการมีส่วนร่วมหรือ Engagement ภาพฝั่งซ้ายทำให้เราเห็นว่าวิดีโอไหนบ้างที่ผู้ชมยังคงดูวิดีโออยู่ในช่วง 30 วิแรกและมีเปอร์เซ็นต์บ่งชี้ไว้ วีดิโอก็จะเรียงลำดับลงมาตามเปอร์เซ็น รวมถึงหากมองลงมายังกราฟด้านขวาล่างของรูปฝั่งซ้ายจะแสดงถึงการคงผู้ชมในวิดีโอนั้นหรือเรียกอีกอย่างว่า Retention ยิ่งค่านี้มีค่าสูงเท่าไหร่ยิ่งแปลว่าผู้ชมอยู่ดูวิดีโอของเราอย่างมีประสิทธิภาพหรือ วิดีโอของเราสามารถคงผู้ชมให้ดูได้เป็นระยะเวลานานส่วนภาพฝั่งขวาทำให้เราเห็นวีดิโอยอดนิยมโดยวัดจากเวลาในการรับชมวิดีโอเป็นหลัก

การสร้าง Timestamp หรือการแบ่งช่วงเวลาในคลิปวีดิโอก็มีส่วนช่วยทำให้ Retention เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

4.Audience ผู้ชมหรือกลุ่มคนดู

การวิเคราะห์กลุ่มคนดูเหมือนการทำ Market Research เพื่อศึกษา Target Group ของเราว่ากลุ่มผู้ที่เข้ามาชมนั้นเป็นอย่างไร โดยอย่างแรกเราสามารถดูได้จากกลุ่มผู้ชมที่กลับมาเทียบกับกลุ่มผู้ชมใหม่ที่ไม่ซ้ำกันเพื่อมาดูว่ามันส่งผลหรือสัมพันธ์กับผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นอย่างไร อีกทั้งสามารถดูความสัมพันธ์ของผู้ติดตามที่มาจากแต่ละคลิปวิดีโอได้ ส่วนช่องสมาชิกจะมีก็ต่อเมื่อช่องของคุณผ่านเกณฑ์ได้รับรายได้ นอกจากนี้ในพาร์ทของผู้ชมยังสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ตามหัวข้อด้านล่างดังนี้

วีดิโอที่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ชมให้กับช่อง

ส่วนนี้จะทำให้เห็นว่าวิดีโอไหนทำให้จำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นและยังสามารถบอกได้อีกว่าผู้ชมใหม่ที่กลับมาดูใหม่ดูวิดีโอไหนในช่องบ้าง คำว่าผู้ชมใหม่ที่กลับมาในที่นี้หมายความว่าผู้ชมที่เค้าเห็นช่องของคุณแล้วกลับมาดูคลิปวิดีโอถัดไป

ช่องที่ใกล้เคียงกับช่องเรา

ส่วนนี้จะสามารถใช้ในการวิเคราะห์ว่าผู้ชมที่มาดูช่องของเราไปดูช่องไหนบ้างเพื่อหาความใกล้เคียงและเราสามารถนำส่วนนั้นมาพัฒนาช่องให้ดีขึ้นหรือดีกว่าช่องที่ผู้ชมของคุณไปดู

Traffic YT Analytics

ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญเนื่องจาก YouTube จะช่วยวิเคราะห์แล้วว่าผู้ชมของคุณใช้ YouTube ในช่วงเวลาไหนบ่อยที่สุดโดยยิ่งสีม่วงมีความเข้มมากเท่าไหร่ก็แสดงถึงความหนาแน่นของผู้ชมในช่วงเวลานั้น ส่วนนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการลงคลิปวิดีโอว่าเราควรจะลงในช่วงเวลาไหนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมของเรามากที่สุด

การติดตามผู้ชม

สองอย่างนี้อาจจะมีความคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันโดยด้านบนจะเป็นการบอกว่าผู้ติดตามช่อง เปิดการแจ้งเตือนของช่องคุณแต่ไม่ได้เปิดแจ้งเตือนของ YouTube แสดงว่าเค้าจะเห็นการแจ้งเตือนก็ต่อเมื่อเค้ากดเข้ามาใน YouTube เท่านั้น ต่างจากด้านล่างที่ผู้ติดตามเปิดการแจ้งเตือนทั้งหมดและเปิดการแจ้งเตือน YouTube เมื่อคุณลงคลิป มันจะทำการแจ้งเตือนให้กับผู้ติดตามแม้ว่าผู้ติดตามจะไม่ได้เปิด เข้ามาในแอพ YouTube ก็ตาม ส่วนนี้สามารถใช้ในการพัฒนาการพูดปิดท้ายคลิปได้ว่า “อย่าลืมเปิดการแจ้งเตือนของช่องและเปิดการแจ้งเตือนของ YouTube” เพื่อให้ผู้ติดตามไม่พลาดการลงคลิปใหม่ของคุณ

การวิเคราะห์ผู้ติดตาม

ในการวิเคราะห์ส่วนนี้จะเห็นได้ว่าเวลาในการรับชมของผู้ที่ยังไม่ติดตามมีเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าผู้ที่ติดตามแล้ว ดังนั้นควรจะพัฒนาคลิปวิดีโอในการชักชวนให้คนมากดติดตามเพิ่มขึ้น โดยตอนแรกคุณอาจจะพูดแค่ตอนท้ายวิดีโอ ต่อไปคุณสามารถพูดเพิ่มในส่วนของตอนต้นวีดีโอและตอนกลางวิดีโอได้เพื่อให้คนไม่ลืมที่จะกดติดตามคุณ

การวิเคราะห์แบบ Demographics

การวิเคราะห์อายุและเพศสามารถนำไปพัฒนาทำเนื้อหาภายในคลิปวิดีโอโดยนำไปเชื่อมโยงในการวิเคราะห์หา Trend หรือความสนใจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายของช่อง มากไปกว่านั้นสามารถนำไปพัฒนาปกคลิป รวมถึงชื่อของคลิปให้ตรงกับ Keyword ที่กลุ่มคนเหล่านี้สนใจหรือหากคุณต้องการศึกษาเชิงลึกสามารถคลิกเข้าไปในคำว่าเพิ่มเติมคุณจะสามารถเลือกดูได้เลยว่า กลุ่มคนเพศไหนอายุเท่าไหร่มีระยะเวลาเฉลี่ยในการดูคลิปของเราหรือใช้เวลาอยู่กับช่องของเรานานกว่ากัน

สรุป YouTube Analytics 2022 ด้วย YTStudio

การวิเคราะห์ YouTube Analytics 2022 โดยการใช้ YTStudio ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ไปต่อยอดพัฒนาไอเดียต่าง ๆ ให้กับช่องของคุณเพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มากยิ่งขึ้น และในท้ายที่สุดจะทำให้ช่องของคุณผ่านไปถึงเกณฑ์การสร้างรายได้กับ YouTube หลาย ๆ คนอาจจะเคยอ่านข้อมูลการวิเคราะห์มาในช่องตัวเองมาบ้างแล้วแต่ยังไม่เคยลองเอามาคิดต่อยอดจริง ๆ หวังว่าบทความนี้จะช่วยสร้างไอเดียในการวิเคราะห์และต่อยอดให้กับคนที่กำลังทำ YouTube ด้วยนะคะ

เนื้อหาในบทควาเนื้อหาในบทความนี้เป็นการสรุปบางส่วนมาจากคอร์สเรียน YouTube For Brand ของคุณก้าวโรจน์ สุตาภักดี ปัจจุบันเป็นคนดูแลช่องทาง YouTube ให้กับทางช่อง TNN ที่มีผู้ติดตามช่องอยู่ที่ 4.28 ล้านคน หากใครสนใจเรียนสามารถติดต่อได้ที่ลิงก์นี้เลย

Lin

หลินผู้รักกการกิน MoMo Paradise และการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน