4 Stickyness Strategy กลยุทธ์เบื้องหลังทำให้คนติด TikTok

4 Stickyness Strategy กลยุทธ์เบื้องหลังทำให้คนติด TikTok

TikTok กลายมาเป็น Mainstream Platform ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกแซงหน้าพี่ใหญ่อย่าง Facebook เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยจำนวน Active user ราว 800 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างมากเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของ Social Media เจ้าอื่น ๆ

dowloaded apps ranking jan 2022
cr. Appfigures

เรียกได้ว่า การเล่นแอพพลิเคชั่น TikTok กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครหลายคนไปแล้วก็ว่าได้ จากที่เบสได้คุยคนรอบตัวหลายคน ก็พบว่า สิ่งที่ทุกคนมักทำเป็นประจำในช่วงเวลาก่อนนอน คือการเปิดดูแอพนี้แล้วเพลินมากเกินกว่าที่จะรู้ตัวอีกทีว่า เลยเวลานอนไปเกือบชั่วโมงแล้ว มีใครที่กำลังอ่านบทความนี้เป็นกันบ้างมั้ยครับ

นอกเหนือจากนี้แล้วหากเราลองสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว หรือ บทสนทนาที่เราพูดคุยกันกับเพื่อน ๆ มักจะมีการอ้างอิงถึงคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นใน TikTok อยู่เสมอ อย่างที่เราเห็นได้จากคอนเทนต์ที่ดังขึ้นมาจนเป็นกระแสในรูปแบบต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็น ละครคุณธรรม, การเต้นประกอบเพลงต่าง ๆ, การแสดงละครตามเสียงพากษ์, การเล่นหันตามจังหวะของเพลง, คลิปหมาแมว, และอื่น ๆ อีกมากมายเลย

Tiktok content feed
Cr.Forbes

คำถามที่น่าสนใจที่เบสอยากเอามาเล่าให้ทุกคนได้ฟัง คือ เจ้าแอพนี้ ทำอย่างไรถึงเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเราได้แถมยังทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไป แล้วทำไมเราถึงได้ติดมันได้อย่างงอมแงมขนาดนี้

วันนี้มีเบสมีบทความที่ใช้วิธีการทางจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม มาอธิบายให้ทุกคนได้รู้กันครับ

โดยสิ่งที่เบสกำลังจะเล่าให้ทุกคนฟังต่อไปนี้ ไม่มีขึ้นเพื่อที่จะพยายาม Disclaim หรือ Discredit ของ Social Media Platform ใด ๆ นะครับ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการศึกษาเพื่อความเข้าใจในระบบการทำงานของ Social Media และหวังให้เกิดการใช้ Social Media ที่ Healthy กับทุกคนมากขึ้น

รวมไปถึงช่วยให้นักการตลาดสามารถเข้าใจพฤติกรรมของ User ที่อยู่ใน Platform เพื่อการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพขึ้นครับ

และที่ทุกคนกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ คือ 4 Stickyness Strategy กลยุทธ์เบื้องหลังที่ทำให้เราติด TikTok อย่างงอมแงมครับ

Stickyness Strategy : Why TikTok is so addictive ?

เป็นปกติธรรมดาของ Social Media ที่มีความพยายามอยากจะให้ User ใช้เวลากับ Platform ของตัวเองให้นานที่สุด ด้วยความพยายามในการผลักดันและสนับสนุนให้เหล่า Content Creator สร้างสรรค์และผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาใน Platform ของตัวเอง รวมไปถึงฟีเจอร์พิเศษต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของบรรดา User ที่มาใช้บริการ

นอกเหนือจากนั้นยังมีการนำ AI ที่เป็นระบบปฏิบัติการมาทำความรู้จักกับพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของเราเพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และส่งคอนเทนต์ที่เราพึงพอใจที่สุดที่จะช่วยดึงให้เราเล่น Social Media นั้นอยู่เรื่อย ๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากเราดูวิดีโอ A นานกว่า Video B ที่ 25% แปลว่าเรามีโอกาสที่จะต้องการเสพวิดีโอ A มากกว่า ระบบก็จะนำคอนเทนต์ที่หน้าตาคล้ายวิดีโอ A มาให้เราดูครับ

อีกทั้งเมื่อเราออกจากการใช้แอพพลิเคชั่นนี้ไป ก็ยังมีกลยุทธ์ในการส่ง Notification ต่าง ๆ เพื่อดึงให้เรากลับมา Active อีกใครด้วย

ทั้งหมดนี้เป็น Concept เบื้องต้นของ Social Media ที่ใครหลายคนอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่หากใครอยากจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เบสอยากให้ทุกคนลองไปหาหนังสารคดีที่ชื่อว่า The social dilemma ดูครับ จะเข้าเรื่องนี้ได้ง่ายมากขึ้นเยอะเลย

หรือ เราลองสังเกตตัวเองดูเล่น ๆ ก็ได้ครับว่า เวลาที่เราเล่นแอพใดแอพหนึ่งบ่อย ๆ ช่วงแรกจะมีคอนเทนต์ที่เรารู้สึกว่าน่าเบื่อ และไม่สนใจปะปนอยู่ด้วย แต่พอเราเล่นไปนาน ๆ เข้า เราก็จะเริ่มเจอแต่คอนเทนต์ที่เรามักจะไป Engage หรือดูมันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้เราพึงพอใจที่จะเสพมัน

เมื่อทุกคนพอจะเข้าใจ Concept นี้แล้ว เบสคิดว่าทุกคนน่าจะเริ่มรู้สึกแล้วว่า แท้จริงแล้วพฤติกรรมในการใช้ Social Media ของเรานั้นมีคนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีการวางแผนกลยุทธ์ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่มีการวิเคราะห์ ประมวลผลและทำนายเอาไว้ล่วงหน้าเอาไว้อย่างดี เพื่อดึงดูดให้เราใช้ Platform ของพวกเขา

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเบสคิดว่าแต่ละ Platform ก็จะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไปครับ ซึ่งในวันนี้เรากำลังพูดถึงแอพ TikTok ตามหัวของบทความที่ทำให้ทุกคนกดคลิกเข้ามาอ่านแล้ว

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูกันครับว่า มีกลยุทธ์อะไรบ้างที่แอพพลิเคชั่นนี้วางเอาไว้จนทำให้เราติดมันอย่างงอมแงมมากกว่า Social Media Platform อื่น ๆ บ้าง

1.การข้ามผ่านกฎของการตัดสินใจ (Decision Point)

กรณีนี้เบสจะขออนุญาตเปรียบเทียบ TikTok กับ Youtube ที่เป็น Platform ในการดูวิดีโอเหมือนกันนะครับ โดยจะเห็นว่า ความแตกต่างหนึ่งระหว่างการดูวิดีโอของทั้ง 2 Platform

คือ บน Youtube นั้น User จะต้องมีการ Click เข้าไปที่คอนเทนต์ที่พวกเขาสนใจอยากจะดูก่อน ซึ่งในบ้างครั้งเราเคยลองสังเกตตัวเองกันมั้ยครับว่า มันช่างใช้เวลานานเหลือเกินในการเลือกคลิปดี ๆ ที่ถูกใจสักคลิปมาดู

(เหมือนเวลาเลือกหนังใน Netflix เพื่อดูระหว่างกินข้าว ที่ไม่รู้ว่าระหว่างกินข้าวกับหาหนังอะไรนานกว่ากัน)

ส่วนแอพที่ขึ้นต้นด้วย Tik ลงท้ายด้วย Tok นี้ เมื่อเราเข้าแอพพลิเคชั่นเข้าไปแล้วตัวแอพจะนำเสนอคลิปวิดีโอให้เราทันทีโดยที่เราไม่ต้องเลือกเอง เพียงแค่หากเราไม่ชอบคลิปตัวไหนเราก็แค่ปัดให้มันผ่านไปเท่านั้นเอง

ความแตกต่างเล็ก ๆ นี้เอง มีผลทำให้แอพที่เกิดขึ้นมาทีหลัง เอาชนะ Youtube ไปได้

ด้วย กฎของการตัดสินใจ หรือ Decision Point ที่ความหมายในเชิงของเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมนั้น เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการตัดสินใจของสมองมนุษย์ที่แล้วมักจะใช้อารมณ์ หรือความรู้สึกในการตัดสินใจเสมอ หรือในส่วนที่เบสเคยเขียนไปในบทความ Neuromarketing ในสมองส่วน Limbic System ที่อยู่คู่กับมนุษย์มานาน

โดยสมองของเรานั้น มักจะเลือกสิ่งที่สมองเข้าใจว่าง่ายมากที่สุดเสมอ กล่าวคือ ยิ่งทำให้สมองมีกระบวนการในการคิดน้อยมากเท่าไร สมองก็จะเลือกในสิ่งนั้นมากขึ้นเท่านั้น

อีกทั้งในเรื่องของการการตัดสินใจนั้น ในครั้งแรกของสมองมนุษย์นั้นมักจะเป็นส่วนที่ผ่านไปได้ยากที่สุด เพราะมนุษย์จะใช้เวลาและปัจจัยต่าง ๆ มาประกอบการตัดสินใจเยอะมาก แต่เมื่อผ่านไปได้แล้วนั้นสมองมนุษย์จะมีประสิทธิภาพในการพิจารณาการตัดสินใจนั้นน้อยลง

เนื่องจาก Youtube มีข้อมูลหลายส่วนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ค่อนข้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น การต้อง Search หาคลิปประเภทที่ตัวเองสนใจ แล้วต้องพิจารณาการเลือกวิดีโอต่อด้วยชื่อคลิป รวมไปถึง Thumnail ที่เป็นปกของคลิป ที่มีส่วนในการตัดสินใจของ User ว่าจะดูหรือไม่ดูคอนเทนต์นี้ดี

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อเปรียบเทียบด้วยคลิปวิดีโออื่น ๆ ที่มีให้เลือกวางอยู่ข้าง ๆ หรือในลำดับถัดไปอีกมากมาย

ในทางกลับกันของแอพอีกตัว ที่ตัดกระบวนการตัดสินใจเลือกนี้ออกไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการนำเสนอคลิปวิดีโอ จากอัลกอริทึ่ม (Algorithm) ของ Platform ที่รู้ใจเราและมั่นใจว่า นั่นจะเป็นคลิปวิดีโอที่ทำให้เราพึงพอใจอย่างแน่นอน

จุดนี้เองทำให้แอพนี้ผ่านกระบวนการตัดสินใจในส่วนแรกของการเลือกดูวิดีโอ รวมไปถึงการดูวิดีโอตัวถัดไปต่อได้เลยอย่างง่ายดายเลยล่ะครับ

2.การสอนให้สมองรับรู้ถึงการได้รับรางวัล (Rewarding)

behaviors in nonhuman animals
Cr.brainstuff

ทุกคนเคยได้ยินเรื่องของการฝึกสัตว์ทดลองของหนูที่ถูกสอนให้เรียนรู้จากการกดปุ่มเพื่อที่จะได้รับอาหารเป็นชีสที่พวกมันชื่นชอบกันมั้ยครับ สิ่งที่จะเบสกำลังจะเล่าให้ทุกคนฟังต่อไปนี้มีส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่ครับ

อย่างที่เบสได้เล่าไปก่อนหน้านี้ในพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของเรา ด้วย AI ที่จะช่วยให้ Platform สามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่ทำให้เราพึงพอใจได้ใช่มั้ยครับ

ในส่วนของความพึงพอใจของเราที่เกิดขึ้นจากการเสพคอนเทนต์นี่แหละครับ ที่เป็นส่วนที่ทำให้เราจมอยู่กับการใช้คอนเทนต์นี้ไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานานอย่างไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

โดยจากการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในเชิงจิตวิทยาพบว่า สมองและร่างกายของมนุษย์จะหลั่งสารที่มีชื่อว่า โดพลามีน (Dopamine) ออกมาเมื่อทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ หรือ สิ่งที่มนุษย์คนนั้นชอบ ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกมีความสุขและกระปรี้กระเปร่า

และนั่นเปรียบเหมือนการได้รับรางวัลจากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่มาทำให้เรารู้สึกดีมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปครับ

doplamine access
Cr.verywellmind

ในมุมมองของเบส ปณิธานของ TikTok ที่มีความพยายามอยากสร้างความบันเทิงและความรู้สึก Positive ให้กับผู้ชมอยู่เสมอ หมายความว่าเราจะมีเปอร์เซ็นที่น้อยมากที่จะเห็นคอนเทนต์ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึก Negative เพราะ Platform พายาม Censor เนื้อหาส่วนนี้ออกไป ซึ่งมันยิ่งตอกย้ำแนวคิดนี้ให้มีน้ำหนักขึ้นมากเลยครับ

การที่เราได้เสพคอนเทนต์ที่เราชอบใน Platform นี้ ทำให้สมองและร่างกายของเราจะมีการหลั่งสารโดพลามีน ออกมาเช่นกัน และจะเป็นเช่นนี้ไปตลอดเพราะคอนเทนต์ที่ Platform ได้ตั้งโจทย์เอาไว้ครับ

นอกจากนี้แล้วยังมีส่วนที่น่าสนใจมากกว่านั้นที่ไม่ใช่การหลั่งโดพลามีนด้วยครับ แต่เป็นกลยุทธ์ที่ Platform วางไว้กับเราในเรื่องนี้

สังเกตกันมั้ยครับว่า ทำไมวิดีโอของ TikTok ถึงมีความยาวได้เพียงแค่ 15 วินาทีเท่านั้น … จุดนี้เป็นจุดที่จริง ๆ แล้วมันมีเหตุผลในตัวเองอยู่ครับ คล้ายกับการจำกัดตัวอักษรในการ Tweet ของ Twitter ที่เป็นการจำกัดให้คอนเทนต์ที่จะถูกนำเสนอในข้อจำกัดนี้ จะต้องมีความกระชับ ได้ใจความและทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกให้ได้มากที่สุด

และช่วงเวลาที่จำกัดนี้เอง ถือเวลาเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่สามารถทำให้เกิด Impact ต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราได้ง่ายมากที่สุดด้วย นำไปสู่การทำให้สมองและร่างกายของเราถูกกระตุ้นให้หลั่งโดพลามีนออกมาได้ง่ายดายมากขึ้นด้วย เพราะสมองของเราไม่ต้องทำงานหนักมากแต่ยังสามารถจับใจความทุกอย่างเพราะเนื้อหาไม่เยอะและเสพง่าย

ถึงแม้ว่าในบางครั้ง จะมีคลิปวิดีโอที่ Platform ลองนำเสนอ แล้วมันอาจจะไม่ใช่คลิปที่ทำให้เราพึงพอใจมากนัก แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้สมองและร่างกายของเราหลั่งสารโดพลามีนออกมาอยู่ดี

และถึงแม้ว่า จะมีคลิปที่ทำให้เราไม่พอใจเลย เราก็เพียงแค่ปัดมันทิ้งเพื่อไปเจอคลิปวิดีโอที่เราพอใจตัวใหม่ได้อย่างง่ายดายนั่นเองครับ

3.จากวิธีการเสพนำไปสู่กิจวัตรในการเสพ (Habits)

habits loop
Cr.healthline

ไม่ชอบก็แค่ปัดขึ้น อยากย้อนกลับไปดูต่อก็แค่ปัดลงหรือปัดขึ้นแล้วปัดกลับมาที่คลิปเดิม ชอบก็กดปุ่มไลค์ หรือ ถ้าอยากคอมเมนต์หรือแชร์ก็แค่กดที่ปุ่มทางด้านขวาที่ใกล้มือเราด้วยมือขวาข้างที่เราถนัดที่สุด มีใครที่คุ้นกับการขยับนิ้วโป้งในรูปแบบนี้กันบ้างมั้ยครับ

การออกแบบ User Experience ของ TikTok ไม่ใช่แค่วิธีการเสพเท่านั้น แต่มันเป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อให้เราสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่มีในแอพพลิเคชั่นในง่ายมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าในช่วงแรกเราอาจจะไม่ค่อยชินเท่าไรนัก แต่พอเสพไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มมีชินและคล่องมากขึ้น เปรียบเหมือนการออกกำลังกายยกเวท ที่ในช่วงแรกเราอาจจะยังโฟกัสส่วนของกล้ามเนื้อได้ไม่ถูกต้อง แต่พอได้ทำบ่อย ๆ จนร่างกายเคยชิน ร่างกายของเราก็จะสามารถทำสิ่งนั้นได้อัตโนมัติเมื่อเราเริ่มออกกำลังกายครั้งถัดไป

ด้วยความคุ้นชินที่เกิดขึ้นนี้ ประกอบกับ Concept การนำเสนอคอนเทนต์ของ Platform และการเสพติดโดพลามีนในข้อ 2. นำไปสู่การเลือกเสพคอนเทนต์จากแอพพลิเคชั่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ทำให้พฤติกรรมการเสพของเราจากเดิม กลายเป็นกิจวัตรของเราไปโดยอัตโนมัติ

หากจะเปรียบให้เห็นภาพชัดก็คือ กว่าจะรู้ตัวอีกทีการตื่นนอนตอนเช้าของเรา ก็กลายเป็นการเปิด Facebook หรือ Line ขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผลอย่างเป็นประจำ แม้ว่ามันจะไม่มีการแจ้งเตือน (Notification) อะไรเลยของเรานั่นแหละครับ

4.คอนเทนต์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด (Endless Scroll)

Cr.economicsdiscussion

นับตั้งแต่ข้อ 1-3 ที่ผมได้อธิบายมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการตัดสินใจที่ถูกตัดออกไปในการเลือกเสพของสมองที่ง่ายขึ้น, ความรู้สึกได้รับรางวัลหรือความพึงพอใจในการเสพคอนเทนต์ รวมไปถึงการเสพคอนเทนต์ที่ง่ายและสะดวกจนกลายเป็นกิจวัตรของเรา

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยพอครับ หมายความว่าเมื่อเกิดกลไกของข้อ 1-3 ขึ้นแล้ว Platform ยังออกแบบให้เราถูกตอบสนองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยคอนเทนต์ปริมาณมหาศาลที่ Content Creator หรือ User ด้วยกันเองของเรานั่นแหละที่สร้างขึ้นมาด้วยครับ

โดยความไม่มีที่สิ้นสุดนี้เล่นกับความคาดหวังและความคาดเดาไม่ได้ของเราครับ เพราะในการเล่นเราจะไม่มีวันรู้ว่าคลิปต่อไปจะเป็นอย่างไร และความอยากรู้อยากเห็นนั้นเองก็จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เราเลือกที่จะปัดมันขึ้นมาดู เพื่อตอบสนองความต้องการของเรานั่นเองครับ

ซึ่งนี่เป็นกระบวนการสุดท้ายที่จะดึงให้เราเกิดพฤติกรรมอยากใช้ Social Media นี้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนรู้ตัวอีกเราก็เสียเวลาไปเป็นชั่วโมงในการเล่นมันไปแล้วล่ะครับ

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ลองเปลี่ยนจากการอ่านแคมเปญการตลาดที่น่าสนใจ มารู้เรื่องราวเกี่ยวกับกลยุทธ์ของ Platform มากยิ่งขึ้น ทุกคนชอบกันมั้ยครับ เบสเองในฐานะคนเขียนก็รู้สึกทึ่ง สนุก ตื่นเต้น แล้วก็หวาดหวั่นไปด้วยในเวลาเดียวกันครับ

ว่าต่อไปในอนาคต Platform จะเจอพฤติกรรมอะไรที่น่าสนใจของมนุษย์จนนำไปสู่ Service ที่ตอบสนองความต้องการเราอีกบ้าง และที่ทำให้รู้สึกหวาดหวั่นนิดหน่อยก็คือการที่ Platform นั้นนอกจากจะรู้จักเรามากกว่าตัวเองเองแล้ว มันยังหันมาทำหน้าที่ชักจูงพฤติกรรมในการเสพ หรือ การทำสิ่งต่าง ๆ ของเราอีกด้วย

อย่างไรก็ตามหากจะให้คำแนะนำในฐานะ User ด้วยกัน คงจะขอพูดถึง การใช้ Social Media ที่ดีที่สุด คือ การใช้อย่างมีสติและรู้สึกถึงที่ตัวเราเองต้องการจากการเล่นมันอยู่เสมอครับ จุดนี้จะทำให้เราเสียเวลากับมันน้อยลง แต่ยังคงให้มันสามารถทำหน้าที่ให้ความบันเทิงหรือตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการอยู่ได้ครับ

ส่วนในมุมมองในฐานะนักการตลาดคนหนึ่งก็มองว่า การที่ Platform หนึ่งมีการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบนี้ ประกอบกับการที่นักการตลาดสามารถเข้าใจ Customer Insight ในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างดี ก็จะสามารถทำให้เราสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ที่เรามีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นแคมเปญการตลาดที่จะเกิดประสิทธิภาพได้อย่างดีเลยทีเดียวครับ

จริง ๆ จากข้อมูลที่เบสหามาพบว่า Tinder เองก็มีหลักการที่น่าสนใจในการคัดเลือกฝ่ายตรงข้ามมานำเสนอให้กับพวกคุณทุกคนอยู่เหมือนกันนะครับ โดย AI จะสังเกตจากการปัดเลือก หรือการกด Superlike กับคน ๆ นั้น ที่ AI จะนำไปวิเคราะห์เรื่องของใบหน้าและ Identity ของคนที่เราสนใจมาเสนอให้กับเราด้วย

หากใครสนใจเรื่องนี้อย่าลืมคอมเมนต์ไว้ด้านล่างโพสต์ของบทความนี้ แล้วเบสจะเอามาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ

ขอบคุณที่อ่านจนจบ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ
หากมีจุดไหนประการใดที่ผิดพลาด เบสรบกวนขอคำแนะนำจากผู้อ่านทุกคนและขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ 🙂

สามารถอ่านบทความการตลาดของการตลาดววันละตอนได้ที่ คลิก

Ref.

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *